Alice, Why would You Leave Wonderland? เป็นงานนิทรรศการศิลปะที่ผสานศิลปะแขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวหรือข้อความบางอย่างแก่ผู้รับชม โดยภายในงานประกอบไปด้วยการจัดแสดงภาพถ่าย, งาน Calligraphy และงานศิลปะการแสดงสด ที่ร่วมกันจูงมือผู้ชมให้ออกเดินทางเข้าสู่โลกวันเดอร์แลนด์ในประสบการณ์การรับชมที่แปลกใหม่ซึ่งพาเราไปได้ไกลมากกว่าแค่ภาพชวนฝันอันสวยงาม

งานนิทรรศการในครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่ม Toxiphilia ซึ่งเคยจัดนิทรรศการศิลปะผสมผสานในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อปีก่อน โดยในครั้งนั้น Toxiphilia ได้หยิบเอาบทกวีของคาลิล ยิบราน นักเขียวชาวเลบานอน อันว่าด้วยความรักที่แสนสวยงามและเจ็บปวด จากหนังสือ The Prophet หรือหนังสือปรัชญาชีวิต มาเป็นแรงบันดาลใจ ส่วนในครั้งนี้ Toxiphilia กลับมาอีกด้วยธีมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานอมตะขึ้นหิ้งของลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll) ที่มีชื่อว่า ‘Alice’s Adventures in Wonderland’ การผจญภัยของสาวน้อยในดินแดนมหัศจรรย์

โดยวรรณกรรมอมตะนี้เริ่มต้นจากเรื่องราวของสาวน้อยนามว่า ‘อลิซ’ ซึ่งได้พบเข้ากับกระต่ายสีขาวซึ่งถือนาฬิกาพก และเมื่อเธอออกวิ่งตามเจ้ากระต่าย เธอก็ตกลงไปในโพรงขนาดใหญ่ และหลุดไปยังดินแดนอัศจรรย์ จากนั้นเรื่องราวการผจญภัยที่สุดป่วงและหลุดโลกของอลิซก็เริ่มต้นขึ้น…

วรรณกรรมสุดคลาสสิกเรื่องนี้พูดถึงเรื่องการสูญเสียความใสซื่อบริสุทธ์ในวัยเด็กที่น่าเศร้าและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตที่เป็นเหมือนกับชิ้นส่วนที่ไร้ความหมาย และความตายซึ่งเป็นสิ่งแน่นอน และเป็นภัยคุกคามที่ทุกคนต้องประสบพบเจอ ในงานนิทรรศการ Alice Why would You Leave Wonderland ก็ได้หยิบยกธีมเรื่องการสูญเสียวัยเด็กและชีวิตที่ไร้ความหมายมาถ่ายทอดให้กับผู้ชมนิทรรศการได้ขบคิด โดยเฉพาะคำถามที่ว่า Wonderland หรือดินแดนมหัศจรรย์ของทุกคนคืออะไร และทำไมเราถึงเลือกที่จะละทิ้งมัน

Welcoming Tea Party ปาร์ตี้น้ำชาของเหล่าแขกรับเชิญ

เมื่อก้าวเข้าไปใน Speedy Grandma สถานที่จัดนิทรรศการในครั้งนี้ เราจะได้พบกับห้องโถงที่รายล้อมไปด้วยภาพถ่ายพร้อมแคปชั่นบรรยายเรื่องราวเบื้องหลังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ พร้อมโต๊ะน้ำชาปูด้วยผ้าลายน่ารักๆ ซึ่งเป็นงาน Calligraphy ซึ่งบรรจงเขียนขึ้นโดย sorravis p. ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง โต๊ะน้ำชาของเราเต็มไปด้วยคุกกี้แสนอร่อยให้แขกรับเชิญได้ลิ้มลอง ปะปนไปกับ ถ้วย แก้ว และกาน้ำชาที่บรรจุกากเพชรหลากหลายสีสัน และแจกันบรรจุดอกไม้แห้ง แต่นอกจากการกินขนมและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวเสมือนปาร์ตี้น้ำชาทั่วไปแล้ว ที่นี่ยังมีกล่องกระดาษพร้อมตัวอักษรสุดเชื้อเชิญอย่าง “Leave me here” ที่รอให้เหล่าแขกรับเชิญของปาร์ตี้นี้อย่างเราๆ นำบางสิ่งที่อยากทิ้งมาใส่ โดยของที่เราทิ้งไว้นั้นจะถูกนำมาใช้เป็นพร็อพในการแสดงอีกด้วย

การนั่งรอการแสดงเริ่มในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหนๆ เพราะเราจะได้รับเชิญให้มานั่งร่วมโต๊ะน้ำชาพร้อมกับเล่นเกมสนุกๆ ที่ช่วยให้เราคุ้นเคยกับแขกรับเชิญแปลกหน้าด้วยการเล่นเกม ใครคืออลิซ เกมที่ใช้อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างไพ่หนึ่งสำรับ ในการตามหาอลิซซึ่งซ่อนตัวอยู่ในหมู่ผู้ชม จนรู้สึกเป็นกันเองคล้ายสภากาแฟหรือบอร์ดเกมคาเฟ่ มากกว่าจะเป็นการมารับชมการแสดงทั่วไป โดยสิ่งที่รออลิซหลังถูกจับได้อยู่ก็คือ ‘การเปิดเผยความลับ’ ให้เพื่อนร่วมโต๊ะได้รู้ ซึ่งเป็นเสมือนการค่อยๆ นำเราเข้าไปทำความรู้จักกับ ‘วันเดอร์แลนด์’ ของใครสักคน

And Then We are here, Wonderland การเดินทางเข้าสู่วันเดอร์แลนด์

เมื่อปาร์ตี้น้ำชาจบลง เวลาของการออกเดินทางเข้าสู่วันเดอร์แลนด์ของทุกคนก็เริ่มต้นขึ้น แต่วันเดอร์แลนด์ที่รอเราอยู่ในครั้งนี้ไม่ได้มีพืชพรรณไม้และบรรดาสัตว์ที่แปลกตา กระต่ายน้อย หรือคาแรคเตอร์ที่คุ้นเคยแต่อย่างใด แต่กลับเต็มไปด้วยชิ้นส่วนของความทรงจำที่ถูกทอดทิ้งอย่างสิ่งของ คำพูด รูปภาพ หรือความรู้สึก ที่กระจัดกระจายอยู่ตามมุมต่างๆ

ทันทีที่แสงไฟสีรุ้งและเสียงเพลงดังขึ้น นักแสดงทั้งสามก็เริ่มร่ายรำไปรอบๆ ห้อง พร้อมกับทำท่าทางตามคนดูที่ยืนอยู่ตามมุมต่างๆ ก่อนจะเริ่มชี้ชวนให้คนดูชมงานศิลปะที่พวกเขาอ้างว่าเป็นสิ่งที่จัดแสดงในวันนี้อย่างผ่านๆ ราวกับว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่สลักสำคัญอะไร นอกจากนั้นคำบรรยายต่องานชิ้นใดๆ ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เปรียบเสมือนกับว่าคนที่อยู่ในวันเดอร์แลนด์เท่านั้นถึงจะเห็นสิ่งนี้ได้ ในช่วงแรก สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าช่างหวือหวา มีสีสัน และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนชวนให้สับสนมึนงงและยากจะทำความเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ไม่ต่างจากครั้งแรกที่อลิซเดินทางเข้าสู่โลกวันเดอร์แลนด์ของเธอ

แต่หลังจากที่เต้นรำอย่างสนุกสนานไปไม่นาน เสียงเพลงพลันเงียบลงและหลงเหลือเอาไว้เพียงไฟโรงละครที่จืดชืดไม่ต่างจากโลกแห่งความจริง ความสนุกสนานของเหล่าอลิซค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นความขัดแย้งทุรนทุรายที่แสดงออกมาผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายและสีหน้าของนักแสดง นอกจากนี้การที่นักแสดงสวมใส่เสื้อเดรสเปรอะสีฟูฟ่องชวนฝันทับเสื้อที่เว้าแหว่งขาดวิ่นไม่ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง ก็ยังชวนให้นึกถึงการที่คนเราเลือกใช้โลกวันเดอร์แลนด์เพื่อครอบทับหรือปิดบังความเป็นจริงเอาไว้ ทว่าแม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นเกราะป้องกันที่ทำให้เราเชื่อว่าตัวเองสามารถบ้าคลั่งในโลกใบนั้นได้เพียงใด แต่ภายในใจเราก็รู้ดีว่าโลกแห่งความเป็นจริงช่างแตกต่างกับสิ่งที่เราวาดฝันไว้ในวันเดอร์แลนด์มากเหลือเกิน

ในช่วงที่สองของการแสดง นักแสดงปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับกระดาษสีขาวปึกใหญ่ที่บรรจุทั้งคำและวลีต่างๆ เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไม่มีศาสนา, พุทธแท้, นัดเย็ดเป็นเรื่องปกติ, วางบิล 2 เดือน, เผด็จการประชาธิปไตย, อยากให้แท็กซี่ไม่ปฏิเสธ, Bitch, ยูนิคอร์น, ไม่มีบ้าน, เบียร์ ฯลฯ และเริ่มส่งเสียงถามผู้ชมทีละใบด้วยคำถามที่เรียบง่ายอย่าง “ใช่หรือไม่ใช่?” โดยหากทุกคนตอบว่าไม่ใช่ก็โยนทิ้งไป แต่ถ้ามีใครสักคนตอบว่าใช่ กระดาษใบนั้นก็ถูกส่งมอบให้กับผู้ที่ตอบทันที ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาประหลาดที่เราถูกผลักให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่และไม่ใช่สำหรับตัวเองกันแน่ และถ้าใช่ หากสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ขัดแย้งและไม่ตรงกับใครเลยในห้องหรือในสังคม ไม่เท่ ไม่เก๋ ไม่สวย ไม่หล่อ เราจะกล้ายอมรับออกมาไหมว่ามันคือสิ่งที่ ‘ใช่’ สำหรับเรา และช่วงนี้แหละคือช่วงที่ก่อเกิดความรู้สึกแปลกใหม่ในใจเรา เพราะการแสดงที่ดึงเราเข้าไปมีส่วนร่วมขนาดนี้มีไม่มากนัก ก่อนที่ในช่วงสุดท้ายสิ่งของและความลับต่างๆ ซึ่งเราทิ้งไว้ในกล่องตั้งแต่ช่วงปาร์ตี้น้ำชาจะถูกหยิบขึ้นมาใช้ในบอกเล่าเรื่องราวของความ “ใช่หรือไม่ใช่?” และ “ทิ้งหรือไม่ทิ้ง?” อีกครั้งเช่นกัน ไม่ว่ามันจะเป็นเพียง แสตมป์เซเว่นที่ไม่เคยถูกใช้, นามบัตรลูกค้าที่ไม่พึงปรารถนา, พวงกุญแจอันเก่าที่แม่ซื้อให้, ลิปสติกที่ทาทีไรก็ได้ผู้ชายตลอด หรือรองเท้าบัลเล่ต์ที่เต็มไปด้วยร่องรอยของการตามหาความฝัน ฯลฯ

การแสดงชุดนี้ไม่ได้แค่ชวนให้เราตั้งคำถามถึงวันเดอร์แลนด์ของแต่ละคน แต่ยังชวนให้คิดต่อไปว่า หากเราพบแล้วว่าวันเดอร์แลนด์ของตัวเองคืออะไร เราจะดีลกับมันยังไงต่อ อะไรคือวันเดอร์แลนด์ที่เราควรเก็บเอาไว้ลึกๆ เพื่อให้ตัวเองยังสามารถเดินทางกลับไปพักใจในนั้นได้เสมอ อะไรคือสิ่งที่เราอาจจะหลอกตัวเองตลอดมาว่ามันคือแดนมหัศจรรย์ แต่แท้จริงกลับเป็นแค่ขยะบั่นทอนใจที่ควรโยนทิ้งไปได้ตั้งนานแล้ว ฯลฯ

สำหรับเราสิ่งที่สำคัญของการแสดงนี้ไม่ใช่เนื้อเรื่องที่รอให้คนดูมาทำความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งว่าในแต่ละช่วงแต่ละตอนตั้งใจจะสื่อสารถึงอะไร แต่เป็นกระบวนการที่นักแสดงค่อยๆ ใช้องค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยับร่างกาย การพูดคุยสื่อสาร ภาพ เสียง แสงไฟ เสื้อผ้า เพื่อนำผู้ชมไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเองว่า “แล้ววันเดอร์แลนด์ของฉันคืออะไรและฉันลืมมันไปแล้วหรือยัง?” ซึ่งเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยที่ผู้ชมอาจจะยังไม่ทันรู้สึกตัวต่างหาก สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดในการชมการแสดงนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่แม้ว่าเราจะสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือในหัวจะเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความหวาดกลัวและความเศร้าที่ผลิดอกออกผลขึ้นมาในใจ เพราะเมื่อวันเดอร์แลนด์หรือสถานที่ที่เราสามารถปลดปล่อยตัวตนได้อย่างเต็มที่แม้ตัวตนนั้นจะเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับถูกค้นพบ เราก็จะพบความจริงที่ว่า สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในวันเดอร์แลนด์ได้ตลอดไป แต่ต้องเลือกซ่อนวันเดอร์แลนด์ของตัวเองเอาไว้ลึกๆ ในใจ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตในความเป็นจริงต่อเสียที

Fact Box

ALICE, WHY WOULD YOU LEAVE WONDERLAND by TOXIPHILIA x SPEEDY GRANDMA 

จัดแสดงวันที่ 25-28 กรกฎาคม และ 1-4 สิงหาคมนี้
เวลา 18.00 - 22.00 สถานที่ Speedy Grandma 2 รอบการแสดงต่อวัน (19.00 และ 20.30)

ราคาบัตร โอนเงิน 400 บาท จ่ายหน้างาน 450 บาท
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Alice, why would you leave Wonderland และ Toxiphilia

Tags: , , ,