โควิด-19 ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง แต่ในด้านหนึ่งยังเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน เมื่อเราพยายามจะลดการสัมผัสกัน เราก็หันมาจ่ายเงินแบบไร้การสัมผัสแทน ส่วนภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็เพิ่มช่องทางขายของออนไลน์ เป็นการดันอีคอมเมิร์ชให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก 

นายธนาคารรายหนึ่งเคยบอกผมว่าโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดสังคมไร้เงินสดได้จริง เพราะคนก็เริ่มปรับตัวและมีความเข้าใจกับการจ่ายเงินแบบดิจิทัลแล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของภาคการเงินและการธนาคารว่าจะต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้อย่างไร

ไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด

เพื่อให้เห็นภาพเหล่านี้ชัดมากขึ้น เราคุยกับ ไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด ที่มองในทิศทางเดียวกันว่าโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมของคนเข้าสู่การชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น 

โควิด-19 คือตัวเร่งให้คนชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น 

ไอลีนบอกว่าการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless) เป็นวิธีที่คนเลือกใช้จ่ายตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผู้บริโภคมองว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว

ขณะที่วิกฤตโควิด-19 ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งการเติบโตและเพิ่มความต้องการของการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่

1.เร่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้วิธีชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้น

เนื่องจากผู้บริโภคหันมาชำระเงินแบบไร้เงินสดมากกว่าที่เคยเพื่อความปลอดภัยและเลือกช่องทางออนไลน์ในการใช้บริการและตอบสนองความต้องการ โดยไม่ต้องออกนอกบ้านหรือสัมผัสกับเงินสดที่ผ่านการสัมผัสมาแล้วมากมาย 

2.ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กปรับใช้ช่องทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว

โควิด-19 ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหนึ่งใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการสร้างรายได้และเข้าถึงลูกค้า ลดผระทบที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาได้ 

โดยในช่วงโควิด-19 ไอลีนบอกว่ามองเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนไป 3-4 ข้อ เช่น ปริมาณการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น แม้แต่ในกลุ่มลูกค้าสูงวัย และมีความต้องการความบันเทิงออนไลน์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น หนัง กีฬา วิดีโอเกม เป็นต้น 

ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ระมัดระวังการใช้จ่าย โดยแบ่งรายได้ต่อเดือนไปยังอาหารสดหรือของใช้ที่มีอายุสั้นและผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัยมากขึ้น

ชำระเงินแบบไร้สัมผัสไปต่อในระยะยาว

จากผลการสำรวจของมาสเตอร์การ์ดระบุว่า การชำระเงินแบบไร้สัมผัสจะกลายเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย สะอาด และเป็นวิธีการจับจ่ายที่รับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าเงินสด โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจจากการสำรวจคือ

  • 91% ของคนในเอเชียแปซิฟิกระบุว่า ตอนนี้พวกเขาได้หันมาใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสแล้ว

  • 75% ของผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่าพวกเขาจะใช้การชำระเงินแบบไร้สัมผัสแม้พ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว

  • ในช่วงเดือนเมษายน ผู้บริโภคชาวไทยมีการใช้บัตรคอนแทคเลสที่เป็นบัตรเครดิตมากขึ้น 18% และบัตรเดบิต 15%

  • ในช่วงเดือนเมษายน ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้น 15% (รวมถึงการชำระผ่านโทรศัพท์และคิวอาร์โค้ด) แม้แต่ในเดือนมีนาคม เราพบว่ามีผู้ใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้นถึง 39% เห็นได้ชัดว่าบัตรเดรดิตและบัตรเดบิตแบบคอนแทคเลสได้รับผลประโยชน์จากพฤติกรรมการชำระเงินที่เปลี่ยนไป

  • ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 ผู้บริโภคชาวไทย 37% เลือกช้อปออนไลน์ และ 37% เลือกสั่งซื้ออาหารและของใช้ในครัวเรือน ในขณะที่เดือนเมษายน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 43%

ซึ่งทางผู้บริหารมาสเตอร์การ์ดมั่นใจว่าการชำระเงินแบบไร้เงินสดจะดำเนินต่อไปในระยะยาวเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้บริโภคแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะผ่านไปแล้วก็ตาม

ความกังวลต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว 

เมื่อคนชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล หรือไร้เงินสดมากขึ้น ก็จะมีความกังวลต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ในเรื่องนี้ทางผู้บริหารมาสเตอร์การ์ด ก็ย้ำว่ามาสเตอร์การ์ดเป็นหนึ่งในผู้นำในการพัฒนามาตรการเพื่อความปลอดภัยในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อปกป้องผู้ถือบัตร ร้านค้า และธนาคารซึ่งเป็นผู้ออกบัตรให้ทุกฝ่ายปลอดภัยจากการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพเมื่อทำธุรกรรมทางการเงิน

แม้ปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์มาในหลากหลายขนาดความเสียหาย ความซับซ้อนและความถี่บ่อย ในขณะที่การจ่ายเงินและการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลผ่านทาง IoT ต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น มาสเตอร์การ์ดมีโซลูชั่นที่ช่วยให้ธนาคาร ผู้ค้าและผู้ถือบัตรสามารถจัดการกับปัญหาด้านความปลอดภัยในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โทรศัพท์มือถือไปจนถึงอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ ทั้งก่อนและหลังจากการทำธุรกรรมแล้ว ทำให้การโอนเงินผ่านจุดชำระเงินและอุปกรณ์รับชำระเงินต่างๆ ปลอดภัย

ตัวอย่างโซลูชั่นต่างๆ จากมาสเตอร์การ์ด

Mastercard’s Digital Enablement Service (MDES) ช่วยให้ผู้ออกบัตรและร้านค้าสามารถบริหารระบบ Tokenization และการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้จ่ายทุกครั้งที่มีการจับจ่ายผ่านอุปกรณ์มือถือต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยที่มีลักษณะคล้ายกับเทคโนโลยี EMV

โซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยระดับองค์กร – Safety Net – ช่วยเสริมระบบความปลอดภัยของธนาคารขึ้นไปอีกต่อหนึ่ง โดยจะปกป้องทั้งธนาคารผู้ออกบัตรและธนาคารที่ร้านค้าใช้บริการจากการถูกโจมตีขนาดใหญ่ๆ โดยทำการตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั่วทั้งเน็ตเวิร์ก และใช้อัลกอริทึมที่มีความซับซ้อนรวมทั้งการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยับยั้งการโจมตี

NuDetect  ช่วยในการระบุตัวตนของผู้ที่ทำธุรกรรม โดยผสมผสานข้อมูลของอุปกรณ์ที่ใช้ อุปนิสัยหรือวิธีในการใช้หรือถืออุปกรณ์นั้นๆ และระบบไบโอเมทริกที่สามารถระบุตัวผู้ใช้งานในแบบเรียลไทม์

Tags: ,