ภาพจำของอุตสาหกรรมโรงงานมักจะเป็นภาพของโรงงานที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ผลิตฝุ่นควัน พร้อมกับการปล่อยมลพิษทางน้ำ เสียง และอากาศ ทำให้เมื่อพูดถึงโรงงานอุตสาหกรรม ผู้คนต่างจะเกิดความรู้สึกที่เป็นลบก่อนเสียเป็นอย่างแรก
แต่ตั้งแต่ที่ได้ก้าวเข้ามายังโรงงานผลิตเหล็กของบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือมิลล์คอน กลับให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป ถึงแม้จะเป็นโรงงานเหล็กที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรเหมือนอย่างเดิม แต่กลับไม่มีมลพิษทางด้านฝุ่นอย่างที่คาดไว้ อีกทั้งยังมีพื้นที่สีเขียว ที่ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่อุตสาหกรรมโรงงานเหล็กจะมีได้
ด้วยความประหลาดใจต่อ ‘โรงงานที่ดูไม่เหมือนโรงงาน’ แห่งนี้ The Momentum จึงได้จับเข่าคุยกับ ‘หมิว’ – สุรีรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น Chief People and Innovation ของ ‘มิลล์คอน’ เพื่อที่จะทราบถึงแนวทางการทำงานของโรงงานเหล็กในยุคใหม่ว่า เธอทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมโรงงานและสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถไปด้วยกันได้ โดยไม่ทำให้สิ่งใดต้องเสียหายไปจากแนวทางของมิลล์คอน
‘มิลล์คอน’ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร และคุณมีบทบาทอย่างไรภายในบริษัท
บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเหล็กหลายประเภท เช่น เหล็กเส้นก่อสร้าง ที่มีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่นำเศษเหล็กเข้ามาหลอมใหม่จนกลายเป็นเหล็กเส้นที่สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้ และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา ปัจจุบัน เราเป็นบริษัทรุ่นใหม่ที่ได้เติบโตในเส้นทางของอุตสาหกรรมโรงงานเหล็กมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว
จุดเปลี่ยนของมิลล์คอนที่หันมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เบื้องต้นในตอนแรก บริษัทของเราเริ่มต้นจากตัวโรงรีดเหล็กก่อน และเราก็ขยายขึ้นมาสู่ต้นน้ำมากยิ่งขึ้นโดยเพิ่มโรงหลอมเหล็กและเครื่องจัดการเศษเหล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเหล็กเหล็กเส้น เนื่องจากตัวอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างแข่งขันอย่างดุเดือด เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาจากการรวมทีมที่เป็นมืออาชีพและเต็มไปด้วยคุณภาพ
เราได้ขยับตัวเองโดยการเพิ่มโรงหลอมเหล็กเข้ามาในกระบวนการผลิต โดยนำเครื่องเตาหลอมที่มีคุณภาพจากยุโรปและได้ออกแบบกระบวนการผลิตภายในที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเรายังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจคัดแยกเศษเหล็ก เนื่องจากโรงหลอมเหล็กของเราจะใช้วัตถุดิบจากเศษเหล็กที่ไม่ใช้งานแล้ว เข้ามาคัดแยกนำสิ่งแปลกปลอมออกจนเหลือเศษเหล็กบริสุทธิ์ และหลอมกลับให้กลายเป็นเหล็กที่มีคุณภาพอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้จะเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างระหว่างมิลล์คอนและโรงเหล็กอื่นๆ
เทคโนโลยีอะไรในกระบวนการที่ทำให้มิลล์คอนสามารถสร้างความแตกต่างจากโรงงานอื่น
ในกระบวนการของเรา เราใช้เตาหลอมที่มีชื่อเรียกว่า EAF หรือ Electric Arc Furnace ซึ่งเตาหลอมตัวนี้ความพิเศษ คือสามารถนำเศษเหล็กที่เราคัดแยกไว้แล้วมา ‘ปรุงแต่ง’ ให้กลายเป็นเหล็กที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งเราสามารถที่จะดักจับฝุ่นละอองที่ออกมาจากกระบวนการผลิตเหล็กเส้นของเราได้
ประการที่สองคือเราใช้เครื่อง Pre-Shredder และ Shredded ในการแยกเศษเหล็ก ทั้งเศษเหล็กทั่วไป เศษเหล็กจากอุตสาหกรรม หรือเศษเหล็กจากรถยนต์ จากเหล็กที่เป็นก้อนใหญ่ให้กลายเป็นเหล็กชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ได้เหล็กที่บริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น และให้กระบวนการหลอมเหล็กมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ เรายังมีกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอย่างที่ได้บอกไป ภายในโรงงานของเรามีกระบวนการดักจับฝุ่น และการบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยน้ำออกสู่ภายนอกโรงงาน
การสร้างมูลค่าเพิ่ม ‘เหล็ก’ ของมิลล์คอนคืออะไร
ตัวเตาหลอมของเรามีการคัดแยกชั้นเหล็กที่มีคุณภาพและค่าเคมีได้ดีกว่าเตาหลอมแบบอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถนำสิ่งแปลกปลอมออกจากเหล็กได้ ทำให้การปรุงน้ำเหล็กของเรามีความบริสุทธิ์มาก ส่งผลให้ตัวผลิตภัณฑ์สุดท้ายอย่างตัวเหล็กของเรามีคุณภาพสูง และสามารถที่นำไปใช้ได้หลากหลายทาง
โดยตัวเหล็กของเรานอกจากจะเป็นวัสดุก่อสร้างแล้ว เหล็กของเรายังสามารถที่จะใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้อีกด้วย ซึ่งเหล็กที่จะเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะต้องเป็นเหล็กที่มีความบริสุทธิ์อย่างมาก เนื่องจากต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยของตัวรถเป็นพิเศษ โดยในปัจจุบัน เหล็กเส้นของเราเป็นส่วนหนึ่งในการใช้สร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีนอีกด้วย
การทำธุรกิจอุตสาหกรรมควรจะควบคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุดในการผลิต การนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลพิษเข้ามาเป็นสิ่งที่คุ้มค่าจริงหรือ
จริงๆ ในทุกการลงทุนเราต้องการผลตอบแทนอยู่แล้ว แต่การที่เราเลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบอย่างเศษเหล็ก รวมไปถึงเตาหลอมที่มีประสิทธิภาพ และลดปริมาณมลพิษตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถผลิตเหล็กเส้นได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งยังทำให้เราประหยัดพลังงานในการผลิตได้มากกว่าโรงงานอื่นๆ
กระบวนการผลิตเหล็กดั้งเดิมจำเป็นที่จะต้องใช่แร่เหล็กนำมาถลุงเพื่อให้ได้เหล็กที่สามารถนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมได้ แต่ว่าเทคโนโลยีกระบวนการผลิตเหล็กของเราเป็นการนำเศษเหล็กเข้ามาเป็นตัวตั้งต้นในการทำเหล็กเส้น วิธีการของเราคือการรีไซเคิลเศษเหล็กทั้งหมด 100% ตั้งแต่การเอาเศษเหล็กที่คนไม่ใช้แล้วเข้ามาหลอมใหม่ และมีการปรับปรุงน้ำเหล็กของเราให้กลายเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ ไม่ใช่การเอาเศษเหล็กที่ไร้คุณภาพกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ เรายังมีการลงทุนในเทคโนโลยีในการลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยก่อนที่เราจะปล่อยควันพิษจากการทำอุตสาหกรรมออกไป เรามีการบำบัดก่อนที่จะปล่อยออกไป รวมถึงในส่วนของน้ำเสียด้วย
ถามว่าคุ้มค่าหรือเปล่า เรามองว่านี่คือกระบวนการที่ทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งในส่วนของกระบวนการผลิตของเราด้วย การลดมลพิษนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนของเราเท่านั้น เพื่อที่เราจะได้ผลิตเหล็กเส้นที่มีคุณภาพสูงที่ไม่สร้างมลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกมาให้แก่ลูกค้าของเราได้
แนวทางการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้นนั้น หมายความว่าต้องการที่จะลดแรงงานคนลงไปอย่างนั้นหรือ
คนชอบเข้าใจผิดว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อทดแทนคน แต่จริงๆ แล้วตัวเทคโนโลยีนั้นนำมาเพื่อให้สามารถพัฒนาทั้งคนและองค์กรไปได้พร้อมๆ กันต่างหาก ดังนั้น แนวทางในองค์กรของเราคือการที่จะพัฒนาคนเพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีมาใช้คน เพื่อที่เขาจะได้เติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กรของเราได้
แล้วทางมิลล์คอนพัฒนาคนอย่างไรให้ไปในถึงจุดนั้นได้
มุมมองการพัฒนาคนของเราแบ่งเป็น 2 อย่าง อย่างแรกคือเทคโนโลยีในส่วนหน้างาน ซึ่งก็คือทางฝั่งของโรงงาน เรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการ การทำงานของเราจึงมีความราบรื่นมากขึ้นกว่าเดิม เพราะความแม่นยำจากเทคโนโลยีที่ควบคุมได้
อีกฝั่งคือฝั่งการทำงานในรูปแบบของออฟฟิศ เราจะพัฒนาการทำงานในรูปแบบออนไลน์โดยไม่เก็บข้อมูลไว้เป็นแฟ้มหรือเป็นกระดาษ เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลหรือการเก็บฐานข้อมูลของเราง่ายต่อการรักษา หรือการให้ฝ่ายอื่นนำไปใช้ต่อ
ยกตัวอย่างเช่น มิลล์คอนมีออฟฟิศอยู่หลายที่ ทั้งที่ระยองและในกรุงเทพ ในสมัยก่อนการติดต่อสื่อสารหรือการส่งข้อมูลจะทำได้ค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยของเราจะให้การทำงานของเราเร็วขึ้น และเกิดผิดพลาดน้อยลง
การนำเทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนการอุตสาหกรรมมีความยากอย่างไร
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปกติมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าสำหรับคนทำงานการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ทำให้ชีวิตของเขาต้องปรับตัว เราพยายามคุยกับพนักงานของเราอยู่ตลอด ว่าการที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามานี้เป็นการที่จะให้เขาสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นขึ้น เลยต้องการที่จะให้เขาปรับตัวตาม และเทคโนโลยีที่เรานำมานั้นไม่ได้เอามาทดแทนเขา แต่ทำให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่าง Smart Process
ตอนนี้เราก็ค่อยๆ พัฒนา เราไม่ได้หักดิบให้เขาต้องเปลี่ยนเลยในทันทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเป้าหมายของเราคือการให้ ‘คนสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีได้’ เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีที่มาทีหลังจำเป็นที่จะต้องรอให้คนของเราสามารถปรับตัวเข้าหาได้
เพราะการที่เราเปลี่ยนองค์กรของเราทันทีเลยมันทำให้คนเราไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และกระบวนการในการทำงานของเราก็จะหยุดชะงักลงไปด้วย เราเลยต้องปรับไปให้ควบคู่กับการพัฒนาคน
ทำไมอยู่ดีๆ มิลล์คอนถึงกลายมาเป็นบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
จริงๆ เรามีนโยบายที่จะพัฒนาทั้งคนในโรงงาน โรงงาน และคนรอบโรงงานให้เติบโตไปพร้อมกัน และการที่เราจะทำเช่นนั้นได้ เราจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการการทำงานที่นำปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย เพราะทั้งองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างนี้สำหรับมิลล์คอน เรามองว่าเรายังต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน
คำว่า ‘ยั่งยืน’ ของมิลล์คอน มีคำนิยามไว้อย่างไรบ้าง
คือการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับมิลล์คอนทั้งหมดได้รับประโยชน์มากกว่าเสียผลประโยชน์ ทั้งในส่วนของโรงงานเราที่ได้ผลผลิตที่ดีกว่าเดิม พนักงานในองค์กรที่ทำงานง่ายขึ้นจากการที่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้และใส่ใจสิ่งแวดล้อม และบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมของเรา ให้ทั้งสามสิ่งนี้สามารถที่จะเติบโตไปพร้อมกันได้โดยไม่ทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไป
สิ่งที่กล่าวไปเป็น Brand Identity ของมิลล์คอนตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า หรือว่ามันเกิดขึ้นเพราะว่าเป็นสิ่งที่รู้สึกว่า ‘คนทำอุตสาหกรรมโรงงานอย่างเราต้องรับผิดชอบ’
เรามีนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ว่าทางวิธีการของเราจะมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะเราต้องคุยกับบุคคลที่อาศัยรอบๆ โรงงานของเราด้วยว่าปัญหาของเขาคืออะไร และต้องการอะไร เราถึงปรับตัวเข้าหาเขา แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการของเรา ไม่ใช่ว่าเราแค่คิดว่าอยากจะทำแล้วเราถึงทำเลย
แสดงว่ารูปแบบการทำธุรกิจของมิลล์คอนคือ Social Enterprise หรือเปล่า
ตอนนี้เรายังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราคือ Social Enterprise แต่ว่าเราก็ยังคงพยายามที่จะให้ธุรกิจของเรามีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และหวังว่าในวันหนึ่งเราจะสามารถเป็น Social Enterprise ที่ทำให้องค์กรของเราสามารถสร้างรายได้ รวมถึงช่วยเหลือคนทั้งในและนอกองค์กรของเราให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นคือมาตรฐานของเราที่เราตั้งใจที่จะทำให้ได้
มิลล์คอนได้ลงทุนกับสตาร์ทอัพต่างๆ มากมาย สตาร์ทอัพแบบไหนที่มิลล์คอนสนใจที่จะลงทุน
เรามองหาและลงทุนในธุรกิจที่มาช่วยเหลือการดำเนินการธุรกิจของเรา ซึ่งก็คือตัว ‘เหล็ก’ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านโลจิสติกส์หรือทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้มิลล์คอนสามารถทำตามมาตรฐานที่เราได้ตั้งไว้ให้ได้ ซึ่งก็คือการทำเหล็กเส้นคุณภาพสูง ลดต้นทุนในการผลิตและการขนส่งไปพร้อมๆ กับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้น้อยที่สุด
อุตสาหกรรมเหล็กจริงๆ แล้วอาจจะเป็นธุรกิจของโลกยุคก่อน แล้วมิลล์คอนจะวางตัวเองไว้ตรงไหนในโลกยุค New Normal
โดยส่วนตัวมองว่าธุรกิจเหล็กยังคงเป็นธุรกิจที่สามารถพัฒนาได้ต่อ เพราะการที่เราจะสร้างเมืองหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีเหล็กเป็นรากฐานในการก่อสร้าง แต่กระบวนการทำงานเราต้องปรับให้เข้ากับโลกยุคใหม่ที่หมุนไปอย่างรวดเร็วในทุกๆ วัน อย่างการนำเทคโนโลยีหรือว่านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพื่อพัฒนาให้องค์กรของเราไม่ล้าสมัย และสามารถแข่งขันได้ในโลกยุคนี้
สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กจริงๆ หรือ
การทำอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่หนัก และส่งผลต่อการทำร้ายสิ่งแวดล้อม แต่การที่เรามีการบำบัดหรือการที่นำเทคโนโลยีลดมลภาวะเข้ามาใช้ในกระบวนการ จะทำให้เราอยู่ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน เพราะเราต้องการที่จะให้โรงงานของเราและบริเวณโดยรอบมีพื้นที่สีเขียวเกิดขึ้นได้ สร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม การที่เราไม่ได้หันมาใส่ใจเรื่องนี้ก็เหมือนกับเป็นการทำลายพื้นที่ที่เรากำลังยืนอยู่ ซึ่งวันหนึ่งผลกระทบก็จะหันกลับมาสู่ตัวอุตสาหกรรมของเราเองอยู่ดี
แสดงว่ามิลล์คอนในตอนนี้คือการแสดงมาตรฐานใหม่ของวงการอุตสาหกรรม ว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็น
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่วงการอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเท่านั้น แต่เราต้องการที่จะกระตุ้นและสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่วงการอุตสาหกรรมในทุกๆ รูปแบบให้มาสนใจสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบทุกด้าน ทั้งการพัฒนาชุมชนและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
แล้วการเริ่มแยกขยะตั้งแต่ภาคครัวเรือนมีผลต่อการช่วยสิ่งแวดล้อมจริงหรือ
มีส่วนมาก จริงๆ มันต่อเนื่องกันตั้งแต่ภาคครัวเรือนมาจนถึงภาคอุตสาหกรรมเลย ขยะที่ทิ้งแบบปะปนกันจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งขยะเปียกและขยะแห้ง ไม่ว่าจะเป็นตัวพลาสติกหรือว่าตัวเหล็กก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการแยกขยะตั้งแต่ตอนต้น เพราะจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอย่างมิลล์คอนหรือโรงงานอื่นๆ สามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้มากกว่าเดิม ไม่เกิดขยะในส่วนที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้
จากแนวทางที่ได้กล่าวไป มองมิลล์คอนในอีก 5 ปี ไว้อย่างไร
สิ่งที่เราทำและมุ่งเน้นมาตลอด คือการที่เราต้องการให้บริษัทของเราเติบโตและเป็นมากกว่าเหล็ก เราพยายามพัฒนาและลงทุนไปกับการพัฒนาตัวโรงงานและคนของเราอยู่เสมอ ด้วยคอนเซ็ปต์ของเราที่บอกอยู่เสมอว่า เราคือเหล็กที่มากกว่าเหล็ก ‘Think Beyond Steel’
หากถามว่าอีก 5 ปีต้องการที่จะเห็นอะไร อยากเห็นมิลล์คอนเป็นบริษัทที่ครบวงจรทางด้านเหล็ก และเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเหล็ก ที่จะเป็นต้นแบบและมาตรฐานให้โรงงานอื่นๆ และมองว่าเราคือมาตรฐานสำหรับการทำอุตสาหกรรมเหล็ก
เพราะหากเราไม่เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้ เราอาจจะไม่เหลือวันนี้ให้เราเริ่มอีกแล้ว
Tags: The Chair, Factory, Think Beyond Steel, Millcon