ในวิธีวิจัยทางสังคมวิทยา อีมิล เดิร์คไฮม์ นักสังคมวิทยาที่เป็นประดุจบิดาแห่งวงการ ผู้วางรากฐานทางสังคมวิทยาร่วมกับคาร์ล มาร์กซ์ และแม็กซ์ เวเบอร์ เคยบอกว่า ในทางสังคมนั้น เป็นเรื่องจำเป็นทีเดียวที่เราต้องหาวิธีนำเสนอ ‘ตัวแปร’ หรือพารามิเตอร์ต่างๆ เพื่อแยกแยะสิ่งที่เรียกว่า ‘ความปกติ’ หรือ Normality ออกจากพยาธิสภาพแห่งความป่วยไข้ไม่ปกติ

หากเดิร์คไฮม์ได้มาอยู่ในสังคมไทย (คือสถาน) ในยุคปัจจุบัน (คือกาล) ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะดีใจที่มีตัวแปรมหาศาลให้คิดค้นทำงานด้วย หรือเสียใจ – ที่ได้เห็นความถดถอย สับสน พลิกกลับ เหง้าถูกขุดขึ้นไปชูอยู่บนยอดอย่างพิสดาร จนแทบไม่ต้องมองหาพารามิเตอร์ใดๆ เลย เนื่องจากการกล่าวหากันและกันว่าผิดปกติมีมากมายเกลื่อนกล่นไปหมด

มาก, เสียจนพยาธิสภาพแห่งความป่วยไข้ไม่ปกติ – ได้กลับกลายมาเป็นสภาพปกติไปแล้ว

อาชญากรรมถูกกระทำในนามของศีลธรรม 

ความถ่อยเถื่อนถูกกระทำในนามของความรัก

การเหยียดหยามทรามถ่อยถูกกระทำในนามของความสูงส่ง

และความทุรยศลึกซึ้งถูกกระทำในซากร่างของความจงรักภักดี

นั่นเอง – จึงเป็นที่มาของงานเขียน 15 เรื่อง ที่รวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เล่มที่มีชื่อว่า ‘สถาน ณ กาล ไม่ปกติ’

ที่จริง นี่ไม่ใช่หนังสือ มันคือนิตยสาร ทว่าคราบไคลความเป็นนิตยสารถูกขัดล้างออกไปจนหมดสิ้น ภาพที่เห็นคือพ็อคเก็ตบุ๊คขนาดเหมาะมือเล่มหนึ่ง แต่เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คที่มีไซส์พิเศษแตกต่างไปจากพ็อคเก็ตบุ๊คทั่วไป หากนำหนังสือเล่มนี้ไปจัดวางเข้าในชั้น เราจะพบว่า – หากไม่สูงเกินไปก็เตี้ยเกินไป หากไม่แคบเกินไปก็กว้างเกินไป

ไซส์ ‘พิเศษ’ ที่ว่า จึงไม่ใช่เป็นเพียงความพิเศษเท่านั้น ทว่ามันยังเป็นไซส์ ‘ไม่ปกติ’ ด้วย ซึ่งนักสะสมหนังสือไว้บนชั้นอาจไม่ค่อยชอบใจนัก ค่าที่เรียงแล้วไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยใดๆ

แต่มีอะไรเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่จริงหรือ?

รูปลักษ์ของหนังสือเล่มนี้คล้ายตั้งคำถามเช่นนั้น

แต่มีอะไร ‘ปกติ’ อยู่จริงหรือ?

ความผิดปกติเริ่มขึ้นตั้งแต่แนวคิดที่ีจะทำนิตยสารให้เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค ความผิดปกติได้เริ่มขึ้นตั้งแต่แนวคิดจะเชื้อชวนนักเขียนมาเขียน ‘เรื่องสั้น’ ในนามของนิตยสาร โดยไม่มีสิ่งอื่นใดในความเป็นนิตยสารหลงเหลืออยู่อีก สวภาวะแห่งนิตยสารถูกรื้อทิ้ง กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างองคาพยพของส่วนต่างๆ ในนิตยสารก็ไม่หลงเหลืออยู่

ไม่ปกติแน่ๆ – หากมองในแง่ของนิตยสาร

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อนิตยสารกลายร่างมาเป็นหนังสือ มันกลับเป็นหนังสือที่เนียนกลืนไปกับหนังสืออื่นๆ ไซส์พิเศษที่พิสดารนั้น แท้จริงก็ไม่ได้พิสดารอะไรมากนัก มันต่างออกไป แต่ไม่ได้ต่างมากจนยัดลงไปบนชั้นหนังสือไม่ได้ อาจกระโดดกระดอนออกมาบ้าง แต่มองเผินๆ ก็กลมกลืนสอดคล้องไปได้

เพียงรูปลักษณ์ของมัน จึงคือคำประกาศว่า – ความผิดปกติของกรอบหนึ่ง ของสวภาวะหนึ่ง อาจกลายมาเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งในอีกกรอบหนึ่งก็ได้ และ/หรือ ถึงที่สุดแล้ว, ก็ไม่มีอะไรในโลกนี้หรอกที่จะปกติเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด

หากดูหนังสือแต่ละเล่มที่พยายามเจียนไซส์ให้ ‘ได้มาตรฐาน’ ของความเป็นหนังสืออย่างละเอียด เราจะพบว่าเครื่องจักรแต่ละเครื่อง มือแต่ละมือ การขนส่งแต่ละคราว ได้กระทำกระแทกกับหนังสือ จนไม่มีหนังสือเล่มไหนบนชั้นมีไซส์เดียวกันเลยแม้แต่เล่มเดียว แต่ที่เรา ‘เห็น’ ว่ามันแลดูเป็นระเบียบ แลดู ‘สงบเรียบร้อย’ อย่างเหลือเกินในสังคมแห่งหนังสือบนชั้นนั้น ก็เพราะ ‘ความหยาบ’ ในการมองของเราต่างหาก เราไม่ได้มีสายตาละเอียดมากพอจะเห็นได้ว่า แต่ละอณูของหหน้าหนังสือที่ถูกเจียนขอบออกนั้น มีระดับหนาบางต่างกันไปในระดับเซนติเมตร มิลลิเมตร หรือกระทั่งไมโครเมตร อย่างไรบ้าง

แต่แล้ว – มนุษย์อย่างเราๆ ก็กลับพึงใจจะเรียก ‘ความหยาบ’ นั้นว่า ‘ความปกติ’

หากผู้ใดมีสายตาละเอียดอ่อนกว่ามาตรฐาน – เขาอาจกลายเป็นคนบ้า อาจกลายเป็นมนุษย์ผู้ถูกพารามิเตอร์อื่นๆ ชี้วัด – ว่าเขาเป็นคนไม่ปกติ

แล้วเดิร์คไฮม์ก็อาจต้องพลิกตัวอยู่ในหลุมศพด้วยความอึดอัด

เมื่อโควิด-19 มาเยือนโลก มนุษย์พยายามยืนยันความปกติในวิสัยคับแคบของตนด้วยการบอกว่า – โรคระบาดคือความไม่ปกติ พร้อมทั้งพยายามสร้าง ‘ความปกติใหม่’ ขึ้นมาซ้อนทับหมักหมมลงไปบนความปกติที่ไม่ปกติทั้งปวงนั่น พวกเขาคาดหวัง ฝัน รอคอย – ใช่, บ่อยครั้งเป็นความหวังที่สิ้นหวัง ว่าสักวันหนึ่ง พวกเขาจะได้กลับไปมีชีวิตอัน ‘ปกติสุข’ อย่างที่เคยเป็นอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว แทบไม่มีใครในหมู่พวกเขาเลยที่เคยสัมผัสกับสภาวะ ‘ปกติสุข’ เกินเสี้ยวส่วนเล็กๆ ของชีวิตอันยาวนานจนน่าเหนื่อยหน่ายนี้สักเท่าไหร่นัก

มีแต่โลดเต้นไปกับความเหนื่อยหน่าย โดยรังสรรค์สภาวะชั่วคราวขึ้นมากลบฝังมันไว้

นักเขียนและนักวาดภาพในหนังสือเล่มนี้มีอยู่ด้วยกัน 15 คน พวกเขาแสดงให้เราเห็นสภาวะชั่วคราวเหล่านั้นในลักษณาการต่างๆ ตั้งแต่การฉายภาพราวภาพยนตร์ของผู้กำกับอย่าง คงเดช จาตุรันต์รัศมี วิวเมืองที่ควรจะสวย แต่มีผ้าขนหนู กางเกงในของคุณเองตากแขวนอยู่ระเกะระกะจนไม่สามารถเรียกเฟรมภาพแทนสายตานั่นว่าวิวได้เต็มปาก (หน้า 19) จนถึงการตั้งข้อสังเกตเรื่องการดำรงอยู่ผ่านการกระแทกกระทั้นกันของชนชั้นในแก้ววิสกี้ของ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์  ไอ้ที่ลอยเท้งเต้งอยู่ในนี้ไม่ใช่วิสกี้สั่วๆ แต่ก็ไม่ใช่วิสกี้ราคาแพงระยับเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะผลิตจากไหนเมื่ออยู่ในแก้วใบนี้ก็ดูจะมีตัวตนขึ้นมาทันที (หน้า 184) จนถึงความรักบางประเภทที่เจ็บปวดอยู่ใต้การถูกชชำเราของโลกและสังคมที่เราอยู่จนชำรุดเว้าแหว่งในความเป็นมนุษย์ของ ปราบดา หยุ่น เมื่ออรรณพกลับออกมา. หมุดมักเข้าไปหาเงียบๆ เพื่อเดินเป็นเพื่อน. ทั้งสองดูเหมือนจะไม่เคยสนทนากันเลย. (หน้า 127) จนถึงการตกผลึกบ่มเพาะวันเวลาแห่งชีวิตจนเลือนลางบางสูญของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข “เดิมก็ลงมาจากตึกบ้างบางที จนมาไม่ได้อีก แต่เดี๋ยวนี้มาได้ทุกครั้งที่นึกอยากจะมา” (หน้า 205) จนถึงการตั้งคำถามเรื่องปกติไม่ปกติวิปลาสไม่วิปลาสของอุทิศ เหมะมูล เขาหรือใครจะมีชีวิตธรรมดาก็มีไป แต่ชีวิตที่เหล่าคนธรรมดาเรียกว่าแปลกก็มีอยู่ถมเถ (หน้า 229) จนถึงการสร้างเรื่องราวซับซ้อนของผู้คนชนชั้นกลางธรรมดาขึ้นมาเพื่อประโยคจบประโยคเดียวของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ระยำสัตว์ (หน้า 77) จนถึงการสร้างจักรวาลวิทยาและประวัติศาสตร์ทางเลือกขึ้นใหม่ในทางแพร่งของกาลเวลาเพื่อนำมารับใช้ความรักของหญิงหนึ่งที่ถูกขังอยู่ในความเป็นนิรันดร์ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท การเดินทางไปสู่ปี 2021 ทำให้เธอได้พบเหตุการณ์ใหม่อีกครั้ง (หน้า 49) จนถึงการไปไกลถึงดาวอังคารแต่ไม่ได้ไปไหนเลยของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ การอดทนต่อความเจ็บปวดก็เป็นดังการฝึกฝนตนเองอีกแบบหนึ่ง (หน้า 165) จนถึง ฯลฯ ฯลฯ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คือนิตยสาร a day ประจำเดือนกันยายน ปี 2020 ปีที่แปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของมวลมนุษยชาติ

ปีที่ทำให้นิตยสารกลายร่างเป็นหนังสือ

ปีที่ผู้คนข้นแค้นคุคลั่ง

ปีที่การเปลี่ยนผันพลิกผ่านปะทุ

ปีที่เหง้าถูกขุดขึ้นไปฝังทูนอยู่เหนือยอดที่กำลังผลิใบอ่อน

ปีแห่งการประกวดประขันความโง่และฉลาดอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ปีที่ปกติคือแปลกประหลาด และวิปลาสคือปกติ

แต่มันแปลกประหลาดจริงหรือ?

มันไม่ปกติจริงหรือ?

และเราอยู่ร่วมกับสภาวะปกติมาตลอดก่อนหน้านี้จริงหรือ?

เมื่ออ่านก้อนกระดาษที่เรียกตัวเองว่านิตยสารเล่มนี้จบลง,

บางทีคุณอาจจำเป็นต้องนึกถามตัวเองอย่างนั้น