ก่อนการมาถึงของทศวรรษที่ 1950s เช่นเดียวกันกับประเทศแถบละตินอเมริกาจำนวนมาก โคลอมเบียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เผชิญกับปัญหารัฐบาลเผด็จการและความรุนแรง หลังพรรคเสรีนิยมเรืองอำนาจจนพรรครัฐบาลฝั่งอนุรักษนิยมต้องป้องกันการสั่นคลอนของอำนาจในมือกวาดล้างนักศึกษาและปัญญาชน ทรมานและกุมขังผู้เห็นต่าง นำมาสู่การเข้ายึดอำนาจของกองทัพในนามของความสงบเรียบร้อยในปี 1953 จนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยต้องขาดสะบั้นลง

ช่วงเวลานั้น หลายปีกว่าจะแจ้งเกิดอย่างเป็นปรากฏการณ์ด้วย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) และท่วงท่าลีลาการเล่าเรื่องที่ผสานรวมเอาความจริงปนกลิ่นอายความฝันที่ถูกนิยามขึ้นเสียใหม่ในเวลาต่อมาว่า ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ (magical realism) กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นอดีตนักข่าวชาวโคลอมเบียที่ชีวิตล้มลุกคลุกคลานและเต็มไปด้วยบาดแผลจากการใช้อำนาจล้นเกินของรัฐบาลเผด็จการที่เบ่งอำนาจอยู่ในประเทศบ้านเกิด

พ้นไปจากหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดจะถูกสั่งปิด เขายังต้องระหกระเหเร่ร่อนอพยพไปอยู่ปารีสเพื่อรักษาชีวิต และเผชิญภาวะแร้นแค้นอย่างรุนแรงอันเป็นประตูบานสำคัญที่เปิดให้เขาได้เรียงร้อยเรื่องราวที่เขาพบเจอมาเมื่อสมัยยังเด็ก —เรื่องราวของ ‘บัตรสนเท่ห์’ ที่แพร่กระจายอย่างลึกลับในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ถ้อยคำป้ายสีผู้คนโดยไม่ระบุชื่อผู้เขียนนั้นก่อให้เกิดบรรยากาศระแวงระไว เลยเถิดไปจนกระทั่งไม่ไว้วางใจกันและนำไปสู่การทะเลาะวิวาทจนชาวบ้านต้องอพยพย้ายที่อยู่กันครั้งใหญ่… โดยไม่มีใครสืบทราบหรือจับมือคนร้ายดมได้เลยไม่ว่าเวลาจะผ่านมาอีกกี่ปี หรือแม้แต่มาร์เกซเติบใหญ่กลายเป็นผู้สื่อข่าวแล้วก็ตาม

และนั่นเองที่เป็นร่างแรกของ เมืองโสมม (In Evil Hour) เรื่องราวของผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ ในวันที่ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา วันที่บาทหลวงอังเคิลตื่นขึ้นและแว่วเสียงคลาริเน็ตของปาสเตอร์ นายกเทศมนตรีผู้อมทุกข์กับฟันกรามที่ปวดร้าวและเหงือกบวมเป่ง แซซาร์ มอนเตโร ขี่ฬ่อตรงไปยังจัตุรัส สาดกระสุนปืนลูกซองจากรังเพลิงใส่เข้ากลางอกของปาสเตอร์ ร่างฝ่ายหลังทิ้งตัวลงกลางกองเลือดและขนนก —ขาดใจตายในทันที

การสอบสวนหาข้อเท็จจริงของคดีฆาตกรรมนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง นายกเทศมนตรีผู้หัวเสียกับอาการปวดฟันวิ่งวุ่นถามหาสาเหตุของความคับแค้นในครั้งนี้ และเป็นที่รู้กันว่า เชื้อเพลิงชั้นดีนั้นมาจาก ‘บัตรสนเท่ห์’ ที่แปะร่อนไปทั่วทั้งหมู่บ้านโดยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนและไม่ระบุตัวเป้าหมาย ‘คำกล่าวลอยๆ’ ในกระดาษเพียงไม่กี่ประโยคนั้นถึงที่สุดแล้วได้ออกดอกผลเป็นเลือดเนื้อและความตาย ควบคู่กันไปนั้น มันได้สร้างบรรยากาศหวาดระแวงขึ้นมาในหมู่บ้าน และเพื่อจะสืบสาวราวเรื่องทั้งหมด ตลอดจนปิดฉากช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ นายกเทศมนตรีจึงใช้ความรุนแรงทุกทางเพื่อ ‘ปิดปาก’ เจ้าของข้อความ ภายใต้บรรยากาศของการเลือกตั้งและการขับเคี่ยวกันของพรรคอนุรักษนิยมและเสรีนิยม

น้ำเสียงที่มาร์เกซใช้เล่าถึงเมืองโสมมนั้นต่างไปจากที่เขาใช้ใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว กล่าวคือในเมืองโสมมนั้นดำเนินไปด้วยตรรกะแบบโลกของความเป็นจริงมากกว่าจะผสานมันเข้ากับโลกของเรื่องเล่าหรือความฝัน หากแต่มันก็เปี่ยมไปด้วยลีลาท่าทางระหว่างบรรทัด บทสนทนาของตัวละครที่แฉลบระหว่างข้อเท็จจริงกับความเพ้อฝันของคนผู้ทุกข์ตรมที่ตกอยู่ภายใต้การใช้อำนาจอย่างล้นเกินของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในที่นี้คือนายกเทศมนตรี

“คุณต้องสยบไอ้คนแบบนี้ด้วยลูกปืน แล้วนั่นแหละเราจึงจะกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ได้”

ข่าวลือนั้นแสดงออกถึงความหวาดกลัวของประชาชนที่มีต่อการปกครอง และในทางกลับกัน มันได้สะท้อนความกลัวของผู้ปกครองที่มีต่อชาวบ้านด้วย ทั้งหมดนี้มันคือความง่อนแง่นของสังคมที่ปราศจากการเป็นประชาธิปไตยและการเปิดเผยข้อมูลต่อหน้าสาธารณะชนโดยรัฐอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเมื่อช่องทางการรับรู้ข่าวสารของชาวบ้านถูกปิดกั้นอย่างเต็มกำลังโดยรัฐ จนหนังสือพิมพ์ที่เหลือไว้ให้ได้อ่านก็เป็นหนังสือพิมพ์ภายใต้การควบคุมและดูแลโดยรัฐ อันเป็นสถานการณ์น่าเศร้าเดียวกันกับที่มาร์เกซต้องเผชิญเมื่อหนังสือพิมพ์ที่เขาเป็นนักข่าวให้ถูกสั่งปิดด้วยกระบอกปืน

“มันไม่ใช่ว่าบัตรสนเท่ห์ทำให้คนนอนไม่หลับ ความกลัวบัตรสนเท่ห์ต่างหาก”

ข่าวลือจึงเป็นผลลัพธ์ เป็นปลายธารและเป็นทางออกอันรุนแรงของสถานการณ์เช่นนี้ อำนาจของข่าวลือไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนสังคมเผด็จการหรือสังคมระบบปิด เสียงซุบซิบขับให้ผู้คนตื่นตระหนกและบ้าคลั่ง ดังที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวา เคยชี้ให้เห็นถึงพลังอำนาจของข่าวลืออันไร้ตัวตนว่า “ข่าวลือนั้นแสดงออกถึงความกลัว คุณลือเพราะคุณกลัวว่าชีวิตคุณจะไม่มั่นคง พูดง่ายๆ ข่าวลือทำให้ชีวิตคุณมั่นคงขึ้น เช่น ในประเทศเผด็จการอาจมีข่าวลือว่าผู้นำประเทศตายเพราะไม่ปรากฏตัวให้เห็น มันแสดงว่าคุณไม่มีข้อมูล สังคมมันเป็นสังคมปิด”

นอกเหนือไปจากนั้น เมืองโสมมยังพูดถึงการใช้อำนาจในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างบ้าคลั่งและชินมือ การไต่ระดับของนายกเทศมนตรีที่จากสืบสาวราวเรื่องเพื่อค้นหาต้นธารของข่าวลือในวันที่เหงือกบวมเป่ง ขยับขยายเลยเถิดจากการสอบถามไปสู่การจัดตั้งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อออกตรวจตราในเวลากลางคืน หากพบเจอคนออกมาเพ่นพ่านตามถนนนอกเหนือจากเวลาที่กำหนดและเตือนแล้วไม่ฟัง อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เหนี่ยวไกได้ โดยที่เจ้าหน้าที่นั้น “ไม่ใช่ความลับสำหรับใครเลยว่าไอ้สามคนในจำนวนนั้นมันเป็นแค่อาชญากรธรรมดา พวกมันได้รับการปลดปล่อยจากคุกแล้วมาแต่งตัวเป็นตำรวจ” ประกอบกันกับสถานะของสถาบันทางศาสนาที่ปราศจากแรงต้านทานต่อการใช้อำนาจอย่างระห่ำเช่นนี้ การณ์ปรากฏว่า บาทหลวงอังเคิลผู้เป็นที่เคารพของผู้คนในชุมชน เฝ้าสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าอย่างแข็งขัน ทั้งยังใช้ศีลธรรมประจำใจจากในพระคัมภีร์และของตัวเองตัดสินบาปให้ชาวบ้านเสมอนั้น เมื่ออยู่ต่อหน้าลูกปืนและรังเพลิง เขาก็เป็นแต่เพียงบาทหลวงแก่ๆ เชื่องช้าราวกับวัวตัวหนึ่งเท่านั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ได้นำไปสู่โศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด หากแต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของพลังประชาชนที่ลุกขึ้นต่อกรกับรัฐและอำนาจเผด็จการ… คราวนี้ไม่เพียงแค่ข่าวลือ หากแต่ด้วยกำลังและลูกปืน

บัตรสนเท่ห์และข่าวลือที่ปรากฏในหมู่บ้านยามฝนโปรยเช่นนี้ จึงไม่ใช่อะไรมากไปกว่าการเป็นผลข้างเคียงของระบอบเผด็จการและการใช้อำนาจอย่างสนุกมือ จนในที่สุด ผู้คนได้สร้างเรื่องราวของพวกเขาขึ้นมาเอง อันจะกลายเป็นก้าวแรกของการล้มอำนาจการปกครองอันบ้าระห่ำเช่นนี้ และมันจะยังดำเนินต่อไปในสังคมนั้นๆ ตราบที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้คนอย่างตรงไปตรงมา ข่าวลือจะทรงพลังในสังคมที่มีเรื่องห้ามพูด ในสังคมที่มีเรื่องต้องห้าม และในสังคมที่ห้ามตั้งคำถามหรือสงสัย

อ้างอิง

ตัวบทที่ยกมา คัดลอกจาก เมืองโสมม สำนวนแปล: ไพรัช แสนสวัสดิ์

บทสัมภาษณ์ ‘บ่ายวันหนึ่งในวงนินทา กับ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’’ โดย waymagazine (https://bit.ly/2UqPBlX)

Tags: , , ,