นับแต่ปี 2561 เราได้ยินคำว่า ‘สังคมไร้เงินสด’ นับครั้งไม่ถ้วน ด้วยแรงโหมจากสื่อ ธนาคาร และหน่วยงานรัฐต่างๆ

คำถามคือสังคมไร้เงินสดจะเป็นไปได้จริงไหมในประเทศไทย ที่ที่เรายังคงต้องใช้เงินสดจ่ายค่าเดินทางสาธารณะส่วนใหญ่ และคงยากที่จะไม่พกเงินสดเลย

คนไทยสนใจและ ‘ใช้จริง’ มากขึ้น

ผลการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่า* แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยตื่นตัวเรื่องการใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

สำหรับมุมมองของคนไทยในปี 2561 จำนวน 78% เคยลองใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลแล้ว เทียบกับจำนวนเพียง 50% ในปี 2560 ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นความตระหนักที่มากขึ้น

ในมุมมองของคนที่ไม่เคยทดลองใช้ ระดับความมั่นใจว่าตัวเองจะสามารถอยู่ได้โดยไร้เงินสดก็มีมากขึ้น และจำนวนถึง 98% รู้จักการชำระเงินผ่านสมาร์ตโฟน

สำหรับการใช้งานจริง มีผู้ใช้มากถึง 57% ใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น บัตรเดบิต/เครดิต แอปพลิเคชันการชำระเงิน และคิวอาร์โค้ด อีกทั้งคนไทยยังใช้สมาร์ตโฟนช็อปปิ้งเฉลี่ยประมาณ 2.88 ครั้งต่อสัปดาห์ สูงกว่าการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เล็กน้อยที่มีจำนวน 2.36 ครั้งต่อสัปดาห์

สำหรับกลุ่มที่พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว พบว่ากว่า 60% สามารถอยู่ได้หนึ่งวันโดยไม่ต้องใช้เงินสดเลย และ 45% ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเลยนานกว่าสามวัน ที่น่าทึ่งคือ 10% บอกว่าไม่ใช้เงินสดเลยได้นาน 1 เดือนหรือมากกว่านั้น

แรงขับเบื้องหลังสังคมไร้เงินสด

สุริพงษ์ ตันตินนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประเทศไทย กล่าวว่า การที่คนไทยเชื่อมั่นและใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เป็นเพราะความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการผลักดันระบบ National e-Payment ให้เป็นรูปธรรม ประกอบกับมีเทคโนโลยีชำระเงินหลากหลายรูปแบบให้เลือก และมีร้านค้ารับชำระเงินดิจิทัลมากขึ้น

“ผู้บริโภคสามารถชำระเงินได้ด้วยอุปกรณ์หลากหลาย เช่น สมาร์ตโฟน อุปกรณ์สวมใส่ และร้านค้าที่เคยรับเงินสดอย่างเดียว ยังมีคิวอาร์โค้ดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่รวดเร็ว ปลอดภัย และคุ้มค่า”

ในขณะที่รากฐานของระบบ e-Payment ในไทยนั้นแข็งแรง เช่น การเข้าถึงบัญชีธนาคารและการใช้อินเทอร์เน็ตที่มากกว่า 80% แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังคงใช้เงินสดอยู่ บางส่วนใช้เงินสดจ่ายเงินเมื่อได้รับของ (COD) เพราะยังไม่มั่นใจหากยังไม่ได้เห็นสินค้าก่อน

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติที่มีต่อสังคมไร้เงินสดนั้นดีขึ้นมาก ผู้บริโภคมองเห็นข้อดีสามประการ ได้แก่ ความปลอดภัย สะดวก และควบคุมได้ สามารถติดตามรายการการใช้จ่ายได้ง่าย อีกทั้งแรงขับสำคัญที่ทำให้ไม่ใช้เงินสดคือการได้แต้มหรือ cash-back จากบัตรต่างๆ

การจ่ายไร้สัมผัส อนาคตของสังคมไร้เงินสด

สุริพงษ์ยังชี้ให้เห็นว่า ต่อไปบัตรแบบไร้สัมผัสหรือ contactless card จะกลายเป็นอนาคตของโลก และเริ่มมีใช้แพร่หลายแล้วในร้านค้าต่างๆ ในไทย เช่น 7-eleven และร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งห้างร้านต่างๆ อาจลองปรับตัวตามเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันเครื่องอ่านบัตรสามารถอ่านได้ 3-4 อย่างในเครื่องเดียว นอกจากนี้ วีซ่าในปัจจุบันยังไปไกลกว่าบริการบัตร แต่มีอยู่ในอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ รวมทั้งคิวอาร์โค้ดด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า คิดว่าประเทศไทยจะต้องใช้เวลานานเท่าไรในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด 39% เชื่อว่าต้องใช้เวลา 4-7 ปี และรองลงมา 29% เชื่อว่าต้องใช้เวลาภายใน 3 ปี (เทียบกับปี 2560 ส่วนใหญ่มองว่าต้องใช้เวลามากกว่า 8 ปี) ทั้งนี้เป็นเพราะคนได้ทดลองใช้แล้วในหนึ่งปีที่ผ่านมา และเห็นว่าเป็นไปได้จริง

บัตรไร้สัมผัสกับขนส่งมวลชนและรายย่อย

สำหรับบริการในอนาคต คนไทย 7 ใน 10 อยากลองใช้บัตรเดบิต/เครดิตในการขึ้นรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ รถเมล์สาย 510 ได้ทดลองนำร่องแล้วกับบัตรไร้สัมผัส ผู้บริโภคยังแสดงความคิดเห็นว่า ระบบบัตรขนส่งมวลชนที่มีอยู่นั้นใช้งานไม่สะดวก เพราะต้องคอยเติมเงินในบัตรและเมื่อทำหายก็ไม่สามารถขอเงินคืนได้ บัตรไร้สัมผัสจึงดูมีโอกาสเข้ามาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับพวกเขา

นอกจากนี้เกือบ 80% เห็นว่าการใช้บัตรเดบิต/เครดิตชำระค่าทางด่วนนั้นสะดวกสบายกว่า อีกทั้งเริ่มสนใจจะใช้เครื่องชำระเงินด้วยตัวเองในร้านค้า (4 ใน 5) ด้วย และ 72% เริ่มสนใจการใช้ไบโอเมตริกส์ในการจ่ายเงินและยืนยันตัวตน

ทั้งนี้ จากแต่ก่อนที่เรามองการชำระผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นเรื่องของห้างร้านขนาดใหญ่ 27% กลับมองเห็นภาพว่า ร้านชำเล็กๆ ก็จะเริ่มรับชำระผ่านช่องทางนี้ได้เช่นกัน

*จัดทำโดย Intuit Research ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 ใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คน รวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานจากไทย 500 คน อายุ 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทเป็นต้นไป

Tags: , ,