เมื่อปีพ.ศ. 2557 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) รายงานอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนประเทศไทย เฉลี่ย 24,000 คนต่อปี หรือ 66 คนต่อวัน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และนับเป็นยอดการเสียชีวิตที่สูงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่าที่เคยมีการรายงาน แม้ตัวเลขตามรายงานฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลกเมื่อปีพ.ศ.2561 ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยจะปรับลดลงมาที่เฉลี่ย 22,941 คนต่อปี หรือ 62 คนต่อวัน ก็ยังไม่อาจทำให้เบาใจได้ เพราะยังนับเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงอยู่มาก ทั้งยังเป็นสถิติการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องที่ถนนที่สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ตามข้อมูลอ้างอิงจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน สำนักเครือข่ายลดอุบัติเหตุ พบว่าสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด ความเหนื่อยล้าหรือง่วงนอนของผู้ขับขี่ ฯลฯ เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการ ‘AI for Road Safety’ นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ Microsoft ผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการยานพาหนะและติดตามผู้ขับขี่ Frontis ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กร
และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้เล็งเห็นว่า AI เองสามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนได้เช่นกัน จึงได้นำมาทดลองเพื่อทดสอบเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เกิดเป็น pilot project นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนที่เป็นจริงได้ในประเทศไทย
ใช้ AI ทำงานคู่กับคนขับรถ เพื่อความปลอดภัยตลอดทริป
หนึ่งในโปรเจคนำร่องของการนำ AI เข้ามาสังเกตการณ์พฤติกรรมต่างๆเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนครั้งนี้ เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นเส้นทางที่ติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีอุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดขึ้นมากที่สุด จีซีก็เป็นบริษัทหนึ่งที่มีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ที่ต้องใช้รถใช้ถนนในการเดินทางตลอดเวลา
และเพื่อทดลองและหาทางเลือกใหม่ๆ มาช่วยในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนนถนนให้น้อยลง จึงเกิดเป็นโปรเจคนำร่องใช้โซลูชั่นอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผ่านโครงการ ‘AI for Road Safety’ โดยใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ซึ่งผสมผสานระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เข้ากับระบบการวิเคราะห์ภาพวิดีโอ (Video Analytics) และข้อมูล เพื่อสังเกตการณ์พฤติกรรมของผู้ขับขี่ได้แบบเรียลไทม์
อุปกรณ์ที่ติดตั้งในตัวรถมีอยู่ด้วยกัน 4 ชิ้น ประกอบด้วย กล้องที่ใช้จับภาพผู้ขับขี่ สามารถจับภาพได้ทั้งในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน อุปกรณ์ประมวลผลใช้เชื่อมต่อกับกล้องเพื่อนำข้อมูลภาพผู้ขับขี่รถยนต์มาประมวลผลด้วยระบบ AI เพื่อตรวจจับพฤติกรรมขณะขับรถ อุปกรณ์เชื่อมต่อกับระบบ ECU ของรถยนต์ เพื่อนำค่าความเร็วมาประมวลผลหาพฤติกรรมการขับขี่ที่อันตราย เช่น ใช้ความเร็วเกินกำหนด โดยอุปกรณ์ประมวลผลจะส่งสัญญาณขึ้นไปยังระบบ Cloud แบบเรียลไทม์ และอุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายคือระบบ GPS เพื่อใช้บอกตำแหน่งระหว่างเดินทาง
เทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI จะเริ่มทำงานเมื่อผู้ขับขี่ขึ้นรถ โดยระบบการวิเคราะห์ภาพวิดีโอ จะตรวจสอบตัวตนผู้ขับขี่โดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อบันทึกและตรวจสอบพนักงานขับรถก่อนออกเดินทางผ่านกล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ารถ ระหว่างขับรถกล้องจะจับภาพคนขับ เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ขับรถ โดยจะทำการตรวจจับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของศีรษะและดวงตา ว่าคนขับเกิดอาการเหนื่อยล้า หาว ตาค้าง ตาปรือ หลับตาเพราะง่วงนอน มีอาการเหม่อลอย ไม่มีสมาธิ หรือมองออกไปข้างทางมากและนานเกินไปหรือไม่ รวมถึงจับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ส่วนจีพีเอสจะทำหน้าที่ตรวจสอบตำแหน่งรถ และมีระบบตรวจจับความเร็วผ่าน ECU ของเครื่องยนต์ที่มีความเที่ยงตรงสูง
จากนั้นข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งผ่าน Cloud เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ และประมวลผลด้วย AI ที่ฝึกสอนด้วย Machine Learning มาแล้ว หากประมวลผลแล้วพบค่าความเสี่ยงถึงระดับที่ต้องแจ้งเตือน ระบบก็จะส่งสัญญาณเสียงเพื่อให้ทั้งผู้ขับรถ ผู้ดูแลระบบ และผู้จัดการรับทราบ เป็นการแจ้งเตือนให้ปรับลดความเร็วหรือเตือนให้รู้ตัวว่ามีความเสี่ยง หรืออาจส่งผู้ขับขี่รายใหม่ไปแทนที่ในกรณีจำเป็น เพื่อป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ดูแลระบบยังสามารถตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของรถและผู้ขับขี่ในระยะยาวได้ ผ่านหน้าจอแสดงข้อมูลที่มีระบบการวิเคราะห์ข้อมูล Power BI (Business Intelligence) ของไมโครซอฟท์ โดยสามารถดูจากเรียลไทม์ หรือตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแง่มุมต่างๆ ที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในการฝึกอบรมผู้ขับขี่ โดยใช้ Data Analytics
และด้วยการนำระบบ AI มาใช้งาน GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในรูปแบบ pilot project เพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนและในช่วงเทศกาลที่การจราจรพลุกพล่านอย่างช่วงสงกรานต์ โดยหวังให้ผู้คนขับขี่อย่างปลอดภัยและหวังที่จะขยายผลเพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกคนในสังคมต่อไป
Tags: Frontis, Microsoft, Artificial Intelligence, GC, AI for safety road