ยามเช้าของชีวิตเขาและเธอเริ่มต้นแบบนี้ ทุกเช้านักเขียนหนุ่มจะเดินลงบันไดมาจากชั้นสองของบ้าน เขาทำแซนด์วิชง่ายๆ สำหรับตัวเอง และชงกาแฟแก้วแรกของวัน เขาเหลือบมองไปทางหญิงสาว เช้านี้เธอง่วนอยู่กับการจัดดอกไม้ในแจกัน เมื่อจัดเสร็จ เธอวางมันลงบนโต๊ะที่ปูด้วยผ้าปาเต๊ะ ถอยออกมาสองสามก้าวแล้วจ้องมอง พลางหันไปทางนักเขียนหนุ่มที่ยืนพิงกรอบประตูอยู่ เขาเอ่ยคำว่า “เก่ง” ออกมาทางรอยยิ้มและแววตา ทั้งคู่ต่างยิ้มให้กัน แล้วหลังจากนั้นเขาก็เอ่ยถ้อยคำสามัญที่สุด ถ้อยคำที่เขาเอ่ยกับเธอทุกเช้าเมื่อเริ่มต้นวัน “ทำงานกันเถอะ”

เสียงพิมพ์ดีดบนชั้นสองของบ้านคือจังหวะการเคลื่อนไหวของชีวิตในแต่ละวัน วันไหนเสียงเคาะแป้นพิมพ์ดีดรัวเร็วตลอดทั้งวัน นั่นหมายถึงวันที่ดี วันที่เขาเขียนงานได้ลื่นไหล กาแฟแก้วแล้วแก้วเล่า บุหรี่มวนแล้วมวนเล่า ตอนเที่ยงเขาจะเดินลงมากินมื้อกลางวันพร้อมกับเธอ อาหารฝีมือเธอจากผืนดินและพืชผลอันอุดมสมบูรณ์รอบบ้าน จากนั้นตอนบ่ายเขาจะกลับขึ้นไปทำงานต่อ

เสียงพิมพ์ดีดรัวเร็วตลอดวันจากนักเขียนหนุ่มบนชั้นสองคล้ายจะข่มขวัญหญิงสาวที่นั่งเขียนเรื่องสั้นของเธอบนจักรเย็บผ้าอยู่ชั้นล่าง แต่อย่าเข้าใจผิด ไม่มีใครแข่งใคร แต่ละคนมีสมรภูมิของตัวเอง “งานจะปกป้องพู” เขาบอกเธอเช่นนี้เสมอ และเมื่อใครต่อใครเดินทางมาเยี่ยมเยือน เขาไม่ลืมที่จะย้ำกับคนเหล่านั้นว่า “บ้านนี้มีนักเขียนสองคน”

บ้านของพวกเขาเป็นบ้านไม้สองชั้นที่แวดล้อมด้วยสวนเงาะ มังคุด ทุเรียน มองออกไปเห็นขุนเขาทอดตัวโอ่อ่าเป็นองค์ประธานของทัศนียภาพ พื้นที่นี้ฝนตกตลอดทั้งปี เขาจึงเรียกมันว่าหุบเขาฝนโปรยไพร ส่วนเธอเรียกมันว่าหมู่บ้านฝนป๊อกแป๊ก ในวันที่อากาศแจ่มใสและผ่อนคลายจากงานเขียน เขาจะหยิบกล้องเดินออกไปถ่ายรูปบันทึกใบหน้าของขุนเขาในหลากหลายอิริยาบถ บางครั้งเมื่อถึงฤดูกาล เขาและเธอ กับเพื่อนฝูงของเขาอีกสองสามคน จะชวนกันเดินป่าปีนเขาขึ้นไปนอนฟังเสียงน้ำตกและพงไพร ผูกเปลนอนดูดาวอยู่บนนั้น

เขาเขียนเป็นเวลา แต่บางครั้งก็กินไม่เป็นเวลา มีบางวันที่เสียงพิมพ์ดีดรัวเร็วต่อเนื่องไม่ขาดสายจนเลยมื้อกลางวันไป ถ้อยคำ เรื่องราว และตัวละคร ต่างต่อแถวหลั่งไหลกันออกมาสะกดให้นักเขียนหนุ่มวิ่งไล่จับตลอดทั้งวัน เธอไม่เคยลืมที่เขาบอกเธอตั้งแต่ก่อนจะมาอยู่ด้วยกันว่า เธอจะทำให้เขากลับมาเขียนหนังสือได้อีกครั้ง สำหรับเขา ความรัก ความปรารถนา และการเขียน สามสิ่งนี้หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อเธอหิ้วท้องรอเขาจนถึงสี่โมงเย็น เขาเดินลงบันไดมา ยื่นกระดาษต้นฉบับปึกหนึ่งให้เธอ เอ่ยถ้อยคำพร้อมรอยยิ้มอิ่มเอิบอาบบนใบหน้า “เรื่องสั้น”

แต่ใช่ว่าจะหอมหวานเช่นนี้ทุกวัน มีบางวันที่อึมครึม เคร่งเครียด มหาสมุทรในตัวเขาซ่อนพายุลูกใดไว้บ้างที่เธอยังไม่รู้จัก นักเขียนหนุ่มอ่อนล้าและโศกเศร้าเมื่อเรื่องเล่าของเขาไม่อาจเติบโตบนผืนแผ่นดินที่เคยให้กำเนิดมันได้อีกต่อไป เขาติดบ่วงอยู่ในคำนิยามและเคว้งคว้างอยู่ในสิ่งที่ไม่อาจหาคำนิยาม เธอบอกเขาว่าถ้าเขียนไม่ได้ ก็ต้องหาอย่างอื่นทำ งานเขียนที่ดีย่อมเกิดจากชีวิตที่ดี ส่วนเขากลับรู้สึกว่าถ้าเขียนไม่ได้ (ดังหวัง) เขาจะมีกะจิตกะใจไปทำอย่างอื่นได้อย่างไร ช่างเถิด เธอจะปล่อยให้เขาอยู่กับตัวเอง เขาเคยบอกเธอไว้ไม่ใช่หรือ “ชีวิตจะหาหนทางของมันเอง”

วันเวลาผ่านไปเช่นนี้ ท่วงทำนองของชีวิต ความรัก และงานเขียน เสียงเคาะพิมพ์ดีดระรัวคละเคล้าเสียงตำน้ำพริก จากปี 2545 ถึงปี 2549 นักเขียนหนุ่มเคี่ยวกรำรวมเรื่องสั้นชุดใหม่ ความรักและงานเขียนบ่มเพาะหญิงสาวจนเติบกล้า ในขณะที่ชีวิตกำลังหาหนทางของมันเอง นักเขียนหนุ่มคืนลมหายใจกลับสู่แผ่นดิน ความตายพรากเขาไปตลอดกาล

สิบปีต่อมา นวนิยายเรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ของเธอปรากฏขึ้นในโลกวรรณกรรม      นักอ่านต้อนรับมันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ถูกอ่านและถูกพูดถึงในวงกว้าง (รวมถึงการเข้าชิงรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์) เรื่องราวของเขาและเธอถูกถ่ายทอดออกมาอย่างละเมียดละไมหมดจดผ่านนวนิยายเรื่องนี้

คงจะไม่เกินไปนักหากกล่าวว่า นี่คือนวนิยายที่แวดวงวรรณกรรมและนักอ่านต่างรอคอยการมาถึงของมัน เรื่องราวของเขาและเธอกลายเป็นตำนานบทหนึ่งที่คนในแวดวงวรรณกรรมต่างกล่าวขวัญถึง และด้วยความที่มันมีที่มาจากเรื่องจริง การเขียนมันออกมาย่อมไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประจักษ์พยานหลายคนยังมีชีวิตอยู่ แต่ในเมื่อวรรณกรรมคือพื้นที่ของความเป็นไปได้ มันย่อมเป็นไปได้ที่จะเขียนถึง คำกล่าวของเขาที่ว่า “งานจะปกป้องพู” สำแดงพลังของมันอีกครั้งในความแหลมคมนี้ พลังของวรรณกรรมจะปกป้องเรา

ด้วยความที่มันมีที่มาจากเรื่องจริง การเขียนมันออกมาย่อมไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประจักษ์พยานหลายคนยังมีชีวิตอยู่

นี่คือนวนิยายที่เต็มไปด้วย “คำสาป” ของตัวมันเอง คำสาปที่ว่านี้หมายถึงตั้งแต่ตัวเรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์ ผู้คน และสถานที่จริง สิ่งเหล่านี้คือวัตถุดิบที่แจ่มชัดอัดแน่นอยู่ในความทรงจำรอให้หยิบมาเขียนอยู่เสมอ วัตถุดิบเหล่านี้มีพลังของเรื่องเล่าพรั่งพร้อมในตัวมันเองอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าผู้เขียนจะเคลื่อนย้ายจัดวางวัตถุดิบเหล่านี้ไปในทิศทางใดจึงจะดึงพลังของมันออกมาได้มากที่สุด

คำสาปต่อมาคือการลงมือเขียนมันออกมา เริ่มตั้งแต่จะวางตัวเองและวัตถุดิบเหล่านี้ลงไปอย่างไรในเรื่องเล่า จะถ่ายทอดมันออกมาอย่างตรงไปตรงมาที่สุดตามพื้นเพและความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือจะบิดดัดยอกย้อนมันด้วยการกระโดดข้ามไปมาระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบใด หนทางย่อมรออยู่ข้างหน้า

แน่ละ หากเราเคยอ่านเรื่องสั้นและนวนิยายเรื่องอื่นๆ ของอุรุดามาบ้าง ก็จะพบว่าวัตถุดิบหรือโมทีฟเหล่านี้ปรากฏอยู่อย่างประปรายในงานเขียนหลายเรื่องของเธอ นักอ่านที่เป็น “พวกซาบ” (หมายถึงพวกนักถ้ำมอง ตามที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้และในเรื่องสั้นชื่อ “มีไว้เพื่อซาบ” ของเธอ) ก็ย่อมจะแอบส่องมองหาร่องรอยของเขาและเธอจากตรงนั้นตรงนี้บ้าง ปะติดปะต่อมันขึ้นมาเป็นเรื่องเล่าอีกชุดหนึ่งตามความเข้าใจและความอยากรู้อยากเห็นของตน

อาจเรียกได้ว่าวัตถุดิบหรือโมทีฟเหล่านี้ได้ถูกเขียนขึ้นในแบบอื่นจนครบหมดทุกกระบวนท่าแล้ว แต่กระนั้น พลังของเรื่องเล่าก็ยังสถิตอยู่ในเรือนร่างเดิม ดังนั้น การปรากฏตัวขึ้นของนวนิยายเล่มนี้จึงเสมือนการเขียนถึงตัวมันเองในแบบที่มันพยายามหลบเลี่ยงมาตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นแบบที่มันอยากถูกเขียนถึงมากที่สุด นั่นก็คือ เรื่องเล่าที่เล่าถึงตัวมันเอง

เมื่อนวนิยายเรื่องนี้ปรากฏขึ้น สถานะของมันจึงกลายเป็นแกนที่จัดระเบียบเรื่องเล่าอื่นๆ ที่แวดล้อมตัวมันไปโดยปริยาย เรื่องเล่าอื่นๆ ในงานเขียนอื่นกลายเป็นเสมือนเชิงอรรถหรือส่วนต่อขยายจากนวนิยายเรื่องนี้ หรืออีกนัยหนึ่งมันคือภาพที่สมบูรณ์ที่สุดของส่วนเสี้ยวอื่นๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ก่อนหน้า เป็นเรื่องเล่าในอุดมคติที่ดำรงอยู่ก่อนและดำรงอยู่ในเรื่องเล่าอื่นๆ เป็นมารดาของเรื่องเล่าทั้งปวง

การปรากฏขึ้นของนวนิยายเรื่องนี้เป็นทั้งคำสาปและการถอนคำสาปไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ หากการเขียนถึงมันคือการทำให้คำสาปกลายเป็นจริง คำสาปที่กลายเป็นจริงก็ย่อมไม่ใช่คำสาปอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปะทะสังสรรค์กับความจริงชุดอื่นๆ อย่างทัดเทียมกัน สถานะของมันไม่ได้เป็นความลับหรือตำนานที่ถูกเล่าขานกันแค่ในเฉพาะแวดวงของผู้ที่รับรู้มันอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องเล่าที่เมื่อใครได้อ่าน มันก็กลายเป็นเรื่องเล่าของคนๆ นั้นด้วย มันพาตัวเองออกมาจากพื้นที่ของความลับและตำนาน กลายเป็นทั้งเรื่องแต่งที่มาจากเรื่องจริง และเป็นทั้งเรื่องจริงที่กลายเป็นเรื่องแต่ง

เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งถูกอ่านได้หลายแบบ แต่ไม่ว่าจะถูกอ่านแบบไหน ก็ล้วนจำหลักลวดลายลงบนตัวมัน การที่มันถูกเขียนออกมาและถูกอ่าน คือการมอบความเป็นไปได้ให้กับเรื่องเล่า มันกลายเป็นทั้งตัวมันเอง และมันก็กลายเป็นสิ่งอื่นด้วย ทั้งรากและร่มเงาของมันจะแผ่ขยายออกไปเสมอตราบเท่าที่ไม่ถูกจำกัดไว้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง นวนิยายเรื่องนี้คือการท้าทายทั้งพรมแดนการเขียนและการอ่านครั้งสำคัญ

ในฐานะคนอ่าน นวนิยายเรื่องนี้ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่ามันถูกเขียนขึ้นอย่างที่ผู้เขียนจะไม่เขียนถึงมันอีก เสมือนเป็นงานเลี้ยงครั้งสุดท้ายเพื่อกล่าวลาเรื่องเล่าและความทรงจำนี้ โมงยามแห่งชีวิตและการเขียนอันอิ่มเอิบส่งผ่านพลังของมันมาถึงคนอ่านด้วย เรารักเรื่องเล่าของเธอ และรักความรักของเธอที่มีต่อเรื่องเล่า

…อดรู้สึกไม่ได้ว่ามันถูกเขียนขึ้นอย่างที่ผู้เขียนจะไม่เขียนถึงมันอีก เสมือนเป็นงานเลี้ยงครั้งสุดท้ายเพื่อกล่าวลาเรื่องเล่าและความทรงจำนี้

นวนิยายเรื่องนี้เป็นการทั้งปลดปล่อยเรื่องเล่าออกจากตัวนักเขียนเองเพื่อให้มันเติบโตขึ้นในพื้นที่ใหม่ และในขณะเดียวกันก็เป็นทั้งการปลดปล่อยตัวนักเขียนเองออกจากเรื่องเล่านี้เพื่อหักร้างถางพงสำรวจอาณาบริเวณใหม่ๆ ต่อไปเช่นกัน

เสียงเคาะพิมพ์ดีดจากชั้นสองหยุดลงชั่วขณะ หญิงสาวเงยหน้าขึ้นจากงานเขียนของตัวเอง ฤดูผลผลิตแต่งแต้มสีสันให้กับสวนผลไม้รอบบ้าน นักเขียนหนุ่มเดินลงบันไดมา ใบหน้ายิ้มกริ่มของเขาซ่อนความดีใจเอาไว้ไม่อยู่ เขายื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เธอแล้วบอกว่า “บทกวี” เธอยิ้มให้เขา และรับมาอ่านทันที เขาเขียนไว้ท่อนหนึ่งว่า

“ความรักก็ผ่านมาแล้ว

ที่เหลือคือชีวิต”

Fact Box

หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา อุรุดา โควินท์ เขียน สำนักพิมพ์มติชน

สำหรับผู้อ่านที่ต้องมนตร์จากนวนิยายเรื่องนี้เข้าอย่างจัง และยังอยากลัดเลาะอยู่ในแผ่นดินพรหมคีรีต่อ ขอแนะนำ

  • บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร (สำนักพิมพ์นาคร) ความเรียงว่าด้วยทัศนียภาพชีวิตและการเขียนของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
  • จดหมายถึงเพื่อน และ จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม (สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ) รวมจดหมายที่กนกพงศ์และเพื่อนนักเขียนของเขาเขียนส่งถึงกัน นอกจากจะได้อ่านมุมมองของเขาต่อชีวิต สังคม และแวดวงวรรณกรรม เรายังจะพบอีกด้วยว่าเขาเป็นคนที่มีอารมณ์ขันอย่างร้ายกาจ
  • มีไว้เพื่อซาบ (สำนักพิมพ์ Din-Dan BooK) รวมเรื่องสั้นอันเป็นที่รักในคืนวันอันงดงามของ อุรุดา โควินท์ เรื่องสั้นอย่าง “ต้นไม้ต้นใด” “เสียดายมือ” “จุดหมายอยู่ข้างนอก” ที่ปรากฏอยู่ในนวนิยาย ก็ถูกรวมเอาไว้ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เป็นเสมือนอีกแผนที่หนึ่งสำหรับผู้อ่านที่อยากสำรวจเส้นทางการเขียนของเธอ
Tags: , , ,