อุรุดา โควินท์ เป็นที่รู้จักพอสมควรในฐานะนักเขียนวรรณกรรมไทย และเป็นคอลัมนิสต์ที่มีนักอ่านติดตามอยู่ไม่น้อย (ประโยคนี้จะชัดเจนอย่างยิ่ง หากเป็นช่วงที่นิตยสารยังไม่ปิดตัวจนเหงาแผงเช่นนี้)

ย้อนกลับไปกว่าสิบปีก่อน เป็นเวลานานทีเดียวที่เธอถูกจดจำในฐานะคนรักของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

หลายปีที่ใช้ชีวิตร่วมกันที่นครศรีธรรมราช แม้อุรุดาจะมีงานเขียนในหน้านิตยสารบ้างแล้ว แต่นอกจากมิตรสหายในแวดวงเดียวกัน น้อยคนที่จะรู้จักผลงานของเธอ เพราะชื่อเสียงของกนกพงศ์-นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2539 ได้แผ่คลุมตัวตนคนทำงานเขียนอีกคนจนแทบจะมิดชิด

เมื่อกนกพงศ์เสียชีวิตในปี 2549 อุรุดาต้องมีชีวิตต่อไปด้วยอาชีพนักเขียน หลังจากหันหลังให้งานธนาคารมาสักระยะ บนเส้นทางที่เลือกแล้ว เธอเปลี่ยนความสูญเสียเป็นความทรงจำ แล้วค่อยๆ ก้าวต่อไปด้วยการผลิตงานชิ้นแล้วชิ้นเล่า ผ่านช่วงเวลายากลำบาก ท้อแท้ จนกระทั่งภาคภูมิใจในผลงานตรงหน้า

คอลัมน์ประจำในนิตยสาร สกุลไทย ขวัญเรือน และ ไรท์เตอร์ ที่มีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหนังสือกว่าสิบเล่ม ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทความ คือหลักฐานยืนยันตัวตนในเส้นทางนี้ เธอเป็นที่ยอมรับในหมู่นักเขียนและนักอ่าน อีกทั้งมีแฟนหนังสือที่ติดตามอยู่ไม่น้อย แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแวดวงนิตยสาร ทำให้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ประเทศไทยมีนิตยสารหัวเล็ก-ใหญ่ปิดตัวไปจำนวนมาก ทุกเล่มที่เธอเคยส่งต้นฉบับต่างก็ปิดตัว (ไล่ตามลำดับเวลา ปี 2558 คือ ไรท์เตอร์, ปี 2559 คือ สกุลไทย, ปี 2560 คือ ขวัญเรือน)

สำหรับคนอ่าน การปิดตัวของนิตยสารคือวิถีบริโภคเนื้อหาที่เปลี่ยนไป แต่สำหรับนักเขียนที่มีคอลัมน์ในนิตยสาร การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

หน้าเฟซบุ๊ก Uruda Covin มักโพสต์ภาพอาหารหน้าตาดีอยู่เป็นระยะ บางครั้งเป็นภาพวัตถุดิบและขั้นตอนการทำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือน้ำพริก ‘เม้ยคะนอง by Uruda’ ที่เปิดขายมากว่าสองปีแล้ว

“พวกเขาอ่าน ‘ครัวสีแดง’ (คอลัมน์ในนิตยสาร ขวัญเรือน) มาเป็นสิบปี เราขายอะไรก็อยากสนับสนุน ขายน้ำพริกก็อยากซื้อไปกิน ถึงที่สุดแล้ว เราอยู่ได้จากการเขียน เพียงแค่รายได้ไม่ได้มาจากการเขียนอย่างเดียว ถ้าเราหยุดเขียน น้ำพริกก็อาจขายไม่ได้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแฟนคอลัมน์ เป็นคนที่ชอบอ่านงานเขียนของเรา”

ทั้งสองอาชีพของอุรุดาเชื่อมโยงส่งเสริมกัน

ต้นปี 2561 ผมนัดหมายกับ ‘พู-อุรุดา โควินท์’ เพื่อพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตในอาชีพ ‘นักเขียน’ ทุกๆ คำตอบของเธอเต็มไปด้วยความจริงใจ ความตรงไปตรงมาเป็นเสน่ห์ เป็นพลังงาน และเป็นหลักยืนในเส้นทางที่เลือกแล้วได้เป็นอย่างดี ก่อนจะกดปิดเครื่องอัดเสียง เธอตอบอย่างหนักแน่นว่า แม้ปัจจุบันรายได้หลักจะมาจากการทำน้ำพริกขาย แต่เกือบยี่สิบปี (นับจากหนังสือเล่มแรกของเธอได้รับการตีพิมพ์) บนเส้นทางนี้ เธอไม่เคยละทิ้งการเขียน

ด้วยเงื่อนไขของชีวิต เธอผ่อนบ้าง ห่างบ้าง แต่ท้ายที่สุด เธอยังกลับสู่ที่ที่คุ้นเคย

ความภาคภูมิใจในชีวิตของเธอ เกิดขึ้นจากการใช้ทักษะทางภาษามาถักทอโลกในหน้ากระดาษ จากคำ เป็นประโยค เป็นย่อหน้า เป็นบท เป็นชิ้น กระทั่งเป็นเล่ม เหล่านั้นคือส่วนประกอบสำคัญในชีวิตไม่เคยเปลี่ยนแปลง

หนังสือในร้านเช่า และการเข้าเรียนบัญชี

ยุคสมัยที่สมาร์ตโฟนเป็นดั่งอวัยวะที่ 33 และสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วถึงราวกับอากาศ ความบันเทิงในชีวิตของใครต่อใครจึงเต็มไปด้วยทางเลือก แตกต่างจากชีวิตของ อุรุดา โควินท์ ซึ่งวัยเด็กเติบโตที่เชียงราย เธอมีหนังสือจากร้านเช่าหน้าบ้านเป็นความบันเทิงหลักของชีวิต

“อยู่บ้านเราไม่ค่อยพูด แม่ใช้อะไรก็ไม่ค่อยทำ” เธอเล่าถึงนิสัยวัยเด็กด้วยเสียงหัวเราะ

“แต่ละวันจะอ่านหนังสือจากร้านเช่าหน้าบ้าน เช่น พล นิกร กิมหงวน หนังสือของทมยันตี หนังสือของแม่ก็เอามาอ่าน สมัยนั้นอ่านสะเปะสะปะเลย เป็นความโชคดีของเด็กรุ่นเราที่ไม่มีความบันเทิงอย่างอื่น”

บริบทของพื้นที่และเวลาได้หล่อหลอมนิสัยรักการอ่านโดยไม่รู้ตัว เมื่อเข้าเรียนทางด้านบัญชีที่มหาวิทยาลัยพายัพ จับพลัดจับผลูไปเข้าชมรมอีสาน ซึ่งรุ่นพี่ในชมรมชอบอ่านหนังสือ เธอจึงได้อ่านหนังสือมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหนังสือว่าด้วยปรัชญาชีวิต เช่น หนังสือของ แฮร์มันน์ เฮสเซอ

“ทั้งที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมและปรัชญา ทำไมถึงเลือกเรียนบัญชี” ผมสงสัย

“แม่บอกว่าถ้าไม่เรียนบัญชีก็ต้องหาเงินเรียนเอง” เธอบอกแบบนั้น “แม่เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ และเป็นครูของลูกด้วย เราจบ ม.6 มาโดยไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร ตอนนั้นอยากใช้ชีวิต เลยบอกไปว่าอยากเรียนรามคำแหง แต่แม่ให้เรียนพายัพ เลยบอกว่าอยากเรียนประวัติศาสตร์ แม่บอกว่า ‘ไม่ได้ ต้องเรียนบัญชี’ เรียนบัญชีหางานง่าย แล้วบัญชีที่พายัพก็ดังด้วย คำว่าหาเงินเรียนเองคือไม่ได้เรียนนั่นแหละ เราอยากออกจากบ้านแล้ว เลยตัดสินใจเรียนตามความต้องการของแม่”

แม้เป็นคณะที่ไม่ได้เลือกเอง แต่ถือเป็นการเรียนที่ไม่ได้ฝืนใจอะไร ปีแรกกับวิชาพื้นฐานดำเนินไปอย่างราบรื่น พอวิชาที่สูงขึ้น เกรดก็ลดลง แต่ก็เรียนจบมาได้ (ด้วยเกรดฉิวเฉียด)

ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยพายัพมีวิชาบังคับว่าด้วย ‘การเขียน’ ให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียน ระหว่างที่ง่วนกับตัวเลขในช่องเดบิต-เครดิต เธอจึงได้ฝึกฝนการเขียนบันทึก บทความ สารคดี หรือแม้แต่เรื่องสั้น ซึ่งเป็นประกายเล็กๆ ให้เห็นว่าตัวเองมีความสามารถในทางนี้

“อาจารย์คนหนึ่งเคยบอกว่า ‘อุรุดา เธอเป็นนักเขียนได้นะ’ ดีใจแหละ แต่ไม่ได้คิดอะไร ตอนนั้นความฝันคือการได้แต่งตัวสวยๆ ทำงานบริษัท อยากมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จในทางนี้”

แม้จะชอบเขียนและเขียนได้ดี แต่ด้วยการรับรู้ตอนนั้น นักเขียนยังไม่ใช่อาชีพที่เห็นความเป็นไปได้

จากงานธนาคารสู่จุดเริ่มต้นอาชีพเขียนหนังสือ

หลังจากเรียนจบ เธอเริ่มงานประจำโดยเป็นพนักงานบัญชีอยู่ช่วงสั้นๆ ก่อนจะย้ายมาเป็นพนักงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มจากพนักงานชั้นต้น รับฝาก-ถอนหน้าเคาน์เตอร์ ก่อนจะมาถึงตำแหน่งสุดท้าย คือผู้ช่วยผู้บริหาร รวมระยะเวลา 7 ปีในอาชีพพนักงานธนาคาร

“ช่วงแรกๆ สิ่งที่ต้องทำคือบริการลูกค้าให้เร็วที่สุด สิ่งที่ลำบากใจมาก คือการต้องขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เราอึดอัด ลูกค้าก็มีอยู่เท่านี้ ทุกธนาคารต้องแย่งกัน มันตลกมากที่ต้องรู้ว่าใครมีเงินบ้าง เรารู้สึกว่าตัวเองสร้างความรำคาญให้คนอื่น ขณะเดียวกัน งานธนาคารเอาเวลาของเราไปเยอะมาก ทำงานเสร็จแล้ว แต่สามทุ่มก็ยังกลับบ้านไม่ได้ เป็นสปิริตของคนทำงานธนาคารที่ต้องกลับพร้อมกัน ตัวเลขต้องลงตัวทุกวัน ถ้าวันไหนเป็นกุญแจเวรก็ต้องมาก่อนหกโมงเช้า

“ความสุขตอนนั้นคือการได้แต่งตัวสวยๆ เที่ยวกับแฟน และอ่านหนังสือ ขณะเดียวกัน ตอนทำงานธนาคารก็เขียนบันทึกอยู่ตลอด การเขียนไม่ใช่เรื่องห่างไกลตัวเลย แค่ไม่ได้เขียนให้ใครอ่าน ช่วงปีท้ายๆ ของการทำงานธนาคาร ต๋อม-เพื่อนที่ทำงานธนาคารด้วยกัน (แขคำ ปัณณะศักดิ์-นักเขียน) จะส่งงานเขียนไปรางวัลสุภาว์ เทวกุล เราคิดว่าตัวเองก็เขียนได้ เลยเขียนออกมาบ้าง ต๋อมได้อ่านก็ชมว่าดี แล้วเอาต้นฉบับลายมือไปพิมพ์ให้ พอส่งไปก็ได้รางวัลเลย (เรื่องสั้น ‘ดอกไม้แห่งมิตรภาพ’ รางวัลสุภาว์ เทวกุล ปี 2540)

“ตั้งแต่เริ่มทำงานธนาคารใหม่ๆ เราคิดว่าอยากเปลี่ยนอาชีพ แต่ทนๆๆ มาตลอด ปีนั้นฟองสบู่แตก การแข่งขันเลยเข้มข้น เราถูกย้ายไปสาขาที่เกรดสูงขึ้น ช่วงแรกสนุกกับงาน เพราะเจ้านายใหม่มอบหมายให้ไปเก็บเงินแม่ค้าที่ตลาด เราชอบคุยกับคนอยู่แล้ว ผ่านไปสักพัก ปรากฏว่าธนาคารสาขาใกล้ๆ ปิดตัว เจ้านายมาบอกว่า ‘ไปเอาเงินฝากจากสาขานั้นมา’ คุณจะให้เราไปถามพนักงานสาขานั้นเหรอว่า ‘ลูกค้าคนไหนมีเงินฝากบ้าง’ เขาเพิ่งตกงานกันมา ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่มีความเป็นมนุษย์เลย ประกอบกับการประชุมที่สนใจแต่ตัวเลขๆๆ เลยชัดเจนว่าตัวเองไม่เหมาะกับเส้นทางนี้

“พอเริ่มเขียนหนังสือ เลยมีโอกาสได้ไปงานช่อการะเกด ต๋อมชวนไปเป็นเพื่อน เลยได้รู้จักสร้อยแก้ว คำมาลา, จารี จันทราภา ฯลฯ เราได้อยู่ท่ามกลางคนที่ใช้ชีวิตอีกขั้ว บทสนทนาไม่ใช่แค่นินทาเพื่อนร่วมงาน อยู่ตรงนั้นแล้วใจเต้น ถามตัวเองว่าทำยังไงถึงจะได้ใช้ชีวิตแบบนี้ ตอนนั้นเราแต่งงานแล้ว ขอสามีว่าลาออกมาเป็นแม่บ้านได้ไหม เขาไม่โอเค บอกแม่ไปก็ไม่โอเค ทำงานธนาคารมีเงินแน่ๆ ทุกสิ้นเดือน เราเลยต้องทนไปเรื่อยๆ ตอนนั้นเราวาดรูปด้วย กำลังจะมีงานแสดงกับศิลปินคนอื่น เจ้าของร้านแถวทองหล่อให้ใช้พื้นที่ฟรีๆ เลย แต่ได้แค่วันพฤหัสฯ เราเลยไปลางาน ปรากฏว่าหัวหน้าไม่ให้ ด้วยความอึดอัดที่สะสม เราเลยตัดสินใจลาออก”

แม้จะชัดเจนในวิถีชีวิตที่ต้องการ แต่โลกความเป็นจริงไม่เคยง่ายดาย นอกจากต้องพึ่งพาค่าใช้จ่ายจากคนรอบตัว ทั้งสามี แม่ และน้องสาว การผลิตงานเขียนอย่างจริงจังถือเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ทั้งที่ตอนทำงานธนาคารมีผลงานตีพิมพ์อยู่พอสมควร เช่น เนชั่นสุดสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ เซกชั่นจุดประกายในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฯลฯ แต่เมื่อ ‘การเขียน’ เป็นสิ่งเดียวตรงหน้า เป็นทุกๆ ขณะของชีวิต วันเวลาเหล่านั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เธอรู้สึกด้อยค่าอย่างที่สุด

“ช่วงเริ่มต้นเขียนใหม่ๆ คือช่วงเวลาที่เรารู้สึกด้อยค่าที่สุดเลย เราไม่พอใจงานของตัวเอง ต่างจากตอนทำงานธนาคารเลยนะ เพราะตอนนั้นไม่ได้จะเป็นนักเขียน แค่เขียนเอาสนุก พอต้องเผชิญหน้า เช้ามา เขียน เช้ามา เขียน เดือนนี้จะได้เรื่องสั้นกี่เรื่อง แล้วการได้อ่านเยอะๆ รู้จักนักเขียนเยอะๆ เรายิ่งรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า

“ตอนนั้นบ้านเรามีนักเขียนหญิงน้อย กุดจี่ (พรชัย แสนยะมูล) ชอบงานของเรา เลยมาขอเรื่องสั้นที่เคยเขียนไว้ไปรวมเล่ม ออกมาเป็น มิตรภาพยังอยู่กับเรา (2541) ขายได้ดีพอสมควร ถึงแม้ไม่ใช่งานที่ตัวเองชอบเท่าไร แต่เราดีใจที่คนอ่านบอกว่างานมีคุณค่าบางอย่าง ถัดจากเล่มแรกก็เขียน ลูกสาวของดอกไม้ (2543) เราพอใจมากกว่าเล่มแรก แต่ยังไม่ชอบงานของตัวเองอยู่ดี” เธอพูดถึงช่วงเริ่มต้นการเขียนหนังสือของตัวเอง

ชีวิตใหม่หลังความสูญเสีย

ด้วยเหตุผลบางอย่าง ชีวิตแต่งงานของเธอมาถึงจุดสิ้นสุด เธอตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ เช่าห้องอยู่คนเดียว รับงานพิสูจน์อักษรและวาดภาพประกอบจากสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ใช้จ่ายอย่างประหยัด บางช่วงต้องขอเงินแม่หรือน้อง ก่อนจะมีคนชักชวนให้ไปทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งช่วงเวลานั้นทำให้เธอได้เจอกับ กนกพงศ์ ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นคนรักกัน

“เราต้องไปพูดกับกนกพงศ์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แต่ถึงวันงานเขาไม่มา เราเลยจำว่า ‘กนกพงศ์เป็นคนไม่รับผิดชอบ’ มารู้ทีหลังว่าเขาไม่ได้รับข่าว หลังจากนั้น เจอกันอีกทีที่ค่ายวรรณกรรม งานนั้นนักเขียนเยอะ เลยไม่ไดัคุยอะไรกันมาก ผ่านไปสักพัก เขาก็แวะมาหา แทบไม่มีช่วงจีบเลย เจอกัน คุยกัน แล้วชวนไปอยู่ด้วยเลย” เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์พร้อมเสียงหัวเราะ

ตลอดหลายปีที่อยู่ด้วยกันที่อำเภอพรหมคีรี นครศรีธรรมราช เธอมีหน้าที่หลักเป็นคนดูแลความเรียบร้อยในบ้าน อาศัยค่าใช้จ่ายที่กนกพงศ์ได้รับจากหนังสือเล่มต่างๆ ชีวิตแต่ละวันดำเนินไปอย่างเนิบช้า ความสัมพันธ์กับคนรักกลายเป็นบทเรียนในการเข้าใจชีวิตและการเติบโตภายใน การใช้ชีวิตกับนักเขียนที่ทำงานจริงจัง ทำให้เธอค่อยๆ ซึมซับวิถีชีวิตที่ทั้งเข้มงวดและผ่อนคลาย

“เราเป็นแม่บ้านที่มีความทะเยอทะยานด้านการเขียน” เธอพูดถึงตัวเอง “คุยกันเรื่องงานเขียนตลอดเวลา เรื่องที่คุยก็เป็นเรื่องวิธีคิดต่างๆ การได้ใช้ชีวิตอยู่กับนักเขียนที่ทำงานจริงจังส่งผลต่อการเขียนของเรา เขาบอกเราแค่ว่า ‘เขียนให้ดี ไม่ต้องคิดว่าจะไปลงที่ไหน’ ไม่ได้คอมเมนต์อะไร แค่อ่านแล้วบอกว่า ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’ เขาเคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสอนการเขียน เขียนได้วันละนิดละหน่อย สุดท้ายแล้วเราพอใจงานของตัวเองมากกว่าเมื่อก่อน

“ไม่มีความสุขไหนเท่ากับการได้เรื่องสั้นที่พอใจ แล้วเราก็เสพติดความสุขนั้น ไม่มีอะไรให้เราได้ นอกจากการเขียน ทั้งที่มองไม่เห็นอนาคตเลย จนช่วงท้ายๆ เป้ (วาด รวี-นักเขียน) บอกว่า ‘เราไม่ต้องการวรรณกรรมชั้นดี แต่ต้องการเรื่องรักชั้นยอด’ เลยเขียนกลับไปให้ ต้องการให้เขาเห็นว่าเราเขียนเรื่องรักที่ดีได้ เลยเขียนเรื่องสั้นชื่อ ‘จุดหมายอยู่ข้างนอก’ เขาตอบกลับมาว่า ‘ในเวลาที่ต้องการเรื่องรักชั้นยอด เรากลับได้วรรณกรรมชั้นดี เธอไม่ใช่อุรุดาที่เคยรู้จักแล้ว’

“ตอนนั้นไม่มีใครชมเลย การได้รับคำชื่นชมจากเพื่อนนักเขียนด้วยกันมีค่ามาก เราเขียนหนังสือเพราะรักเรื่องเล่า รักวิถีชีวิต รู้ตัวว่าไม่ค่อยมีต้นทุน มองไปทางไหนก็มีแต่คนที่เก่งกว่า เรื่องสั้นที่เคยเขียนไว้มีความหมายนะ แต่คำชมของเป้คือคำยืนยัน พอเรื่องสั้นเรื่องนั้นไปรวมอยู่ใน มีไว้เพื่อซาบ (2550) เราไม่อายที่จะยื่นให้ใคร”

ได้ใช้ชีวิต ได้รัก และได้เขียน อาจขัดแย้งติดขัดอยู่บ้าง แต่เธอคิดว่าความสัมพันธ์คงดำเนินไปเรื่อยๆ เท่าที่ความรักยังอนุญาต แต่ใครเล่าจะล่วงรู้อนาคต

โดยปราศจากการเลิกรา กุมภาพันธ์ 2549 คนรักของเธอป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่ออาการทุเลาก็กลับมาพักฟื้นที่บ้าน แต่อาการกลับทรุดลงและต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง อาการแทรกซ้อนน้ำท่วมปอดและติดเชื้อในปอด ในที่สุดเขาก็เสียชีวิต

เป็นความโศกเศร้าที่หนักหน่วง เป็นช่วงเวลาที่ยากจะทำใจ (เรื่องราวของ ‘อุรุดา โควินท์’ และ ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ ได้รับการบันทึกไว้ใน หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา นวนิยายที่อุรุดาเขียนขึ้นหลังจากความตายของกนกพงศ์กว่าสิบปี) หากแต่ช่วงเวลาที่เธอยังต้องมีชีวิตต่อ ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต และเป็นจุดเริ่มต้นของนักเขียนที่ชื่อ ‘อุรุดา โควินท์’ สำหรับคนอ่านวงกว้างในเวลาต่อมา

“เป้บอกว่า ‘เธอกลับไปอยู่กับแม่ แล้วเขียนหนังสือไป ไม่ต้องคิดอะไรมาก’ เราก็เชื่อ แล้วกลับไปอยู่กับแม่ คิดว่าจะให้แม่กับน้องเลี้ยง ตอนนั้นน้องยังไม่ทำร้านอาหาร มีลูกเล็กๆ สองคน แม่ต้องช่วยเลี้ยงหลาน เราเหมือนไปเป็นภาระ

“วันหนึ่งเราพูดขึ้นมาว่า ‘ไม่รู้จะอยู่ที่ไหนเลย ไม่รู้จะเอายังไงเลย’ น้องเลยพูดว่า ‘ทุกสิ่งที่เป็นอยู่ เพราะแกเลือกเอง ทำตัวเองทั้งนั้นเลย แกเลือกแบบนี้ แกเลยเป็นแบบนี้’ จริงๆ น้องไม่ได้พูดว่า ‘อยู่ไม่ได้!’ แต่เราได้ยินแล้ว (เงียบ) ไม่ใช่ความโกรธนะ แต่เป็นความอาย รวมถึงความตายของเขาด้วย ถ้าเราไม่เลือกเส้นทางนี้ ก็ไม่เจอกับความสูญเสีย เราเลือกทางนี้เอง เราต้องรับผิดชอบ อยู่เชียงรายไม่ได้แล้ว เลยเก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ

“เมื่อก่อนเป็นคนดูแลการเงินได้ไม่ค่อยดี เอาของสามี ของแม่ ของน้องมาใช้บ้าง แต่ไม่ได้รู้สึกแย่อะไรนะ มองว่าพวกเขารักเรา จริงๆ มันแย่นะ เราเป็นคนมีวุฒิภาวะต่ำมาก กว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ต้องถึงตอนพี่กนกพงศ์ตายไปแล้ว ความตายของเขาสอนทุกอย่าง ทำให้เรากลายเป็นคนใหม่ ไม่ขอเงินแม่อีกเลย บวกกับคำพูดของน้องด้วย ทำให้เรารู้ว่าไม่มีใครดูแลใครได้ตลอดชีวิต ตอนนั้นมีโจทย์ว่าอยู่กับสำนักพิมพ์นาคร (สำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานให้กนกพงศ์มาตลอด) ให้กินฟรีอยู่ฟรี แล้วทำงานให้ ได้เงินเดือนนิดหน่อย สุดท้ายเลยบอกพี่เจน (เจน สงสมพันธุ์ – ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นาคร) ว่าขอรับเงินเท่าที่ให้ได้ และทำงานเท่าที่อยากให้ทำ เราจะเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ”

บนเส้นทางที่เลือกแล้ว

ห้องเช่าเล็กๆ ย่านเมืองทองธานี

ภายหลังความสูญเสีย อุรุดา โควินท์ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง สิ้นคำพูดของน้องสาว เธอยืนยันกับตัวเองว่า หลังจากนี้จะรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ไม่ได้โกรธหรือน้อยใจแต่อย่างใด แต่คงถึงเวลาแล้ว ที่ชีวิตของเธอควรลดการพึ่งพาผู้อื่น เป็นผู้ใหญ่ และก้าวต่อไปในทางที่เลือกเอง

เมื่องานพิสูจน์อักษรและงานอื่นๆ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต เธอจึงคิดถึงการเสนอคอลัมน์ประจำกับนิตยสาร ตอนนั้นเพื่อนนักเขียนที่รู้จักกันครั้งทำงานธนาคาร ต๋อม-แขคำ ปัณณะศักดิ์ มีนวนิยายตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย เธอเลยชักชวนเพื่อนให้เสนอตัวอย่างคอลัมน์เข้าไป เป็นงานรีวิวหนังสือและภาพยนตร์ที่ผลัดกันเขียน จนออกมาเป็นคอลัมน์ ‘เนื้อใน’ หลังจากนั้นก็หาทางเสนอคอลัมน์เกี่ยวกับอาหารไปยังนิตยสาร ขวัญเรือน และต่อมาได้เขียนคอลัมน์ที่นิตยสาร ไรท์เตอร์

“คอลัมน์ ‘เนื้อใน’ ที่ สกุลไทย เราเขียนมาเกินสิบปีนะ เป็นคอลัมน์แรก เป็นรายสัปดาห์ คิดว่าคนละสองตอนต่อเดือน กำลังดี ปรากฏว่าพี่เขาเอาคอลัมน์ไปสลับกับอีกคอลัมน์ เลยได้ลงสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ต้องมาแบ่งกันอีก เลยได้เขียนเดือนละชิ้น (หัวเราะ) เขียนมาห้าหกปี คนอ่านชอบ เราเลยได้เขียนทุกสัปดาห์ กลายเป็นคนละสองตอนต่อเดือน

“หลังจากนั้นเราอยากเขียนเรื่องอาหารที่เน้นเรื่องเล่า ส่งไปให้นิตยสารเล่มหนึ่งห้าตอน ก็เงียบ เลยส่งไปให้เพื่อนคนหนึ่งที่ทำจุลสาร ‘เอาไปลงเลย ไม่เอาเงิน’ เขาอ่านแล้วบอกว่า ‘เฮ้ยพี่ มันเหมาะกับ ขวัญเรือน’ เขาก็ส่งแฟกซ์ไป ผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน พี่น้อง (มณฑา ศิริปุณย์-บรรณาธิการนิตยสาร ขวัญเรือน) โทร.มาว่า ‘พี่ชอบนะ แต่ขอคิดก่อนว่าจะลงยังไง เพราะใน ขวัญเรือน มีคอลัมน์อาหารอยู่แล้ว’ จนได้คอลัมน์ ‘ครัวสีแดง’ ที่ ขวัญเรือน ตอนนั้นพี่น้องให้วาดรูปสีน้ำมาประกอบด้วย แต่วาดยังไงก็ไม่ผ่าน (หัวเราะ) เลยหาคนมาช่วยวาด จนตอนหลังเปลี่ยนเป็นภาพถ่าย

“เงินจาก ขวัญเรือน รวมกับ สกุลไทย ถือว่าอยู่ได้เลย ตอนนั้นน้องสาวบอกว่า ‘แกมาช่วยฉันทำร้านอาหารเถอะ’ มันแตกต่างกันนะ ตอนนั้นเราไปพึ่งพา คราวนี้เขาต้องการเราไปช่วย ร้านอาหารไม่มีวันหยุดเลย ตั้งแต่สิบโมงถึงสามทุ่ม เขาต้องการเวลาพักบ้าง เลยกลับไปอยู่เชียงรายอีกครั้ง เราทำทุกอย่างในร้าน กินอยู่ฟรี เงินเดือน 5,000 บาท เราเคยเรียนทำผ้าบาติก เลยทำขายด้วย เขียนคอลัมน์ ผ้าก็ขายดี คนมากินข้าวก็ซื้อ ช่วงนั้นก็อยู่ได้”

นอกจากเรื่องสั้นและคอลัมน์ในนิตยสาร บนเส้นทางที่เลือกแล้ว เธอมองว่า ‘ความเป็นนักเขียน’ จะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อมีนวนิยายเป็นของตัวเอง พยายามเขียนมาหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาเอาจริงอีกสักครั้ง

“ตอนนั้นต๋อมบอกว่า ‘พู เธอต้องเขียนแล้วนะ’ พออยู่บ้านไปนานๆ ความรู้สึกที่จะเป็นนักเขียนจางลง อยู่แบบนี้ก็ได้นะ ทำอย่างละนิดละหน่อย สนุกดีนะ แต่ต๋อมพูดให้ได้คิด เราเสียอะไรไปเยอะมากในเส้นทางนี้ แล้วจะได้แค่นี้เหรอ อายุจะสี่สิบแล้ว ถ้ายังเขียนไม่ได้ พ้นสี่สิบไปคงเขียนไม่ได้แล้วล่ะ เลยตัดสินใจว่าจะลงมือเขียนนวนิยาย

“เป้าหมายคืออยากมีนวนิยายลง สกุลไทย วิธีที่จะลงได้ดีที่สุด สกุลไทย มีรางวัลสุภัทร ต้องเขียนให้ทันรางวัล ตอนนั้นเหลือเวลาสี่เดือน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทำตารางงาน ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี เราเริ่มวิ่ง ซึ่งช่วยในการเขียน การวิ่งบอกว่า ‘อย่าเพิ่งบอกล่วงหน้าว่าทำไม่ได้’ เมื่อก่อนก็วิ่งสี่กิโลฯ ไม่ได้ ตอนนี้ทำได้แล้ว เพราะไม่หยุด ช่วงนั้นร่างกายแข็งแรง จิตใจแข็งแรง เรารู้ว่างานของตัวเองต้องขัดเกลาเยอะ เลยเผื่อเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ถ้าอย่างนั้นต้องเขียนจบในสามเดือน เขากำหนดว่า 25 ตอน ก็เอามาหาร หนึ่งสัปดาห์ต้องได้กี่ตอน เขียนเสร็จตอนหนึ่งก็ขัดเกลาด้วย สรุปแล้วต้องเขียนหนึ่งตอนต่อสามวัน โดยที่ทำร้านอาหารไปด้วย ทำผ้าบาติก และเขียนคอลัมน์ ตอนนั้นตื่นตีห้า ไม่เคยตื่นเช้าแบบนั้น พอได้หนึ่งบท สามบท ห้าบท เราทิ้งไม่ได้ ก็ทำจนเสร็จมาได้”

“พอเขียนเสร็จ ชอบงานของตัวเองไหม” ผมถาม

“ไม่รู้” เธอหัวเราะ “มันภูมิใจที่เขียนได้ ไม่เคยเขียนอะไรยาวขนาดนี้มาก่อน 25 ตอน เฉลี่ยตอนละแปดหน้า มันสร้างวิธีการทำงานใหม่ ส่งให้ต๋อม ‘ฉันว่าถ้าส่งประกวด ติดหนึ่งในสามแน่นอน แต่จะได้รางวัลหรือเปล่า ไม่รู้’ นวนิยายที่จะได้รางวัลสุภัทรต้องมีสารัตถะชัดเจน นำไปสู่บทสรุปที่ดี แต่ของเราไม่มี พอต๋อมบอกแบบนั้น เรากลับมาอ่าน แล้วไปดูข้อมูลของ สกุลไทย รางวัลนี้ถ้าไม่ได้ที่หนึ่ง เขารวมเล่มอย่างเดียว แต่ไม่ลง สกุลไทย ให้”

“การได้ลง สกุลไทย มีความหมายขนาดนั้นเลยเหรอ” ผมสงสัย

“ค่ารวมเล่มมันประมาณหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ลง สกุลไทย เราไม่ได้เงินเป็นค่าตอนนะ ตอนละ 3,000 บาท เดือนละ 12,000 บาท ทั้งหมด 25 ตอน แล้วตอนนั้นเราอยากได้แฟนหนังสือจาก สกุลไทย ด้วย เลยมาอ่านอีกครั้งอย่างเป็นกลาง และตัดสินใจว่า ไม่ส่งรางวัล เสี่ยงเสนอ สกุลไทย ไปเลยดีกว่า มันไปไม่ถึงรางวัล แต่ สกุลไทย น่าจะต้องการอะไรใหม่ๆ บ้าง นวนิยายของเรามีให้ ปรากฏว่าผ่าน แล้วเสียงตอบรับดีมาก (เน้นเสียง) จดหมายชมมาตลอด เราพองมาก นวนิยายเล่มนี้บอกว่าเราเป็นนักเขียนนวนิยายนับจากนี้ และตลอดไป” น้ำเสียงของเธอมีความสุขอย่างยิ่ง

การที่คนทำงานเขียน กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียนนวนิยายอย่างมั่นใจ วินาทีนั้นคงมีความหมายกับเธอมาก ผมเลยอยากเห็นภาพวินาทีที่บรรณาธิการ สกุลไทย แจ้งข่าวว่านวนิยายเรื่อง ผีเสื้อที่บินข้ามบึง (2556) ผ่านการพิจารณา ได้ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในนิตยสาร ก่อนที่มันจะกลายเป็นนวนิยายเล่มแรกที่ตีพิมพ์โดยมีชื่อ ‘อุรุดา โควินท์’ อยู่บนปกหนังสือ

“ตอนนั้นมีโทรศัพท์มา ‘พู นี่พี่เจี๊ยบ (นรีภพ สวัสดิรักษ์-บรรณาธิการนิตยสาร สกุลไทย)’ เรารู้แล้วว่าเป็นเรื่องนวนิยาย ‘พี่อ่านแล้วนะ ผีเสื้อที่บินข้ามบึง น่ารัก พี่ชอบ’ เฮ้ย น่ารัก ชอบ แล้วจะลงป่ะวะ ‘พี่จะเริ่มตีพิมพ์วันนี้ เดือนนี้ นะคะ’ เราร้อง ‘เย่!’ ในโทรศัพท์เลย”

จากทักษะการเขียนที่มีอยู่แล้ว ผลงานที่ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย จึงช่วยสร้างความมั่นใจ

“เรามั่นใจว่าทำงานชิ้นใหญ่ได้แล้ว” เป็นความรู้สึกของเธอในตอนนั้น

ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่คล้ายกับว่ายังไม่จบ คนอ่านที่ติดตาม ผีเสื้อที่บินข้ามบึง จึงเรียกร้องว่าอยากอ่านภาคต่อ เธอเลยไปพิมพ์ทีเล่นทีจริงในเพจเฟซบุ๊กของ สกุลไทย ว่า “อยากเขียนเหมือนกันนะคะ” ปรากฏว่าบรรณาธิการเห็นเลยโทร.มา “คอมเมนต์เล่นหรือเปล่า แต่พี่เอาจริงนะ พูเขียนได้ไหม” เธอตอบเลยว่า “ได้ค่ะ” ทั้งที่ในหัวยังไม่มีอะไร แต่เนื่องจากผ่านประสบการณ์การเขียนนวนิยายในเวลาอันจำกัดมาแล้ว เธอจึงเชื่อมั่นว่าตัวเองจะทำงานนั้นได้ตามที่รับปาก

ในช่วงเวลานั้น เธอจึงมีงานเขียนคอลัมน์สิบชิ้นต่อเดือน ทั้งลงในนิตยสาร สกุลไทย ขวัญเรือน และที่เพิ่มเข้ามาคือ ไรท์เตอร์

“ตอนนั้นเขียนตารางการทำงานของตัวเองเลย โดยไม่รู้ตัว เรากลายเป็นคนขยันและมีวินัยมาก แน่นอนว่าเราตั้งใจทำงานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเราต้องส่งให้ทัน เมื่อรู้ตัวว่าเผางานไม่เป็น เราจึงต้องตุนเรื่องไว้” เธอพูดถึงชีวิตนักเขียนที่เขียนอย่างจริงจัง เพราะหลังจากนั้น เธอไม่ได้ทำงานที่ร้านอาหารแล้ว

งานที่นิตยสาร สกุลไทย เป็นนวนิยาย ดังนั้น บางช่วงเลยมีช่องโหว่ ซึ่งหมายถึงรายรับที่น้อยลง เงินเก็บที่ได้จากการรวมเล่มหนังสือจึงเข้ามาช่วยไว้ เขียนๆ เว้นๆ ในช่วงที่นิตยสารทยอยปิดตัว ด้วยวิธีคิดแบบนักบัญชี เธอเลยมองไปในอนาคตไกลๆ แล้วเห็นถึงความไม่แน่นอนที่กำลังใกล้เข้ามา จึงเป็นเหตุให้เธอตัดสินใจสร้างอาชีพเสริมอย่างการขายน้ำพริก ซึ่งการทำอาหารก็เป็นสิ่งที่เธอถนัดอยู่แล้ว

“มันมีช่วงเว้น วันหนึ่งเลยคิดว่า ถ้าเว้นนานไปล่ะ เงินก็ไม่พอใช้ นักเขียนก็เยอะขึ้นทุกที ตอนนั้นไม่รู้เลยนะว่า สกุลไทย จะเลิก เว้นนานๆ ก็ไม่ไหวนะ ได้กลิ่นบางอย่างว่าต้องหาอะไรมาช่วย เลยตัดสินใจขายน้ำพริกด้วยดีกว่า พอ สกุลไทย เลิกทำ เราก็มีน้ำพริกพอดี”

คุณค่าอยู่ในทุกอาชีพ

นับจากวันที่โขลกส่วนผสม ปรุงรส แพ็กใส่กระปุก แล้วส่งไปรษณีย์ให้ลูกค้า-ซึ่งเป็นแฟนคอลัมน์ เป็นเวลามากกว่าสองปีแล้วที่นักเขียนชื่อ อุรุดา โควินท์ เขียนหนังสือควบคู่ไปกับการทำน้ำพริกขาย

“พอนิตยสารทุกเล่มที่เคยเขียนปิดไป เรามีรายได้จากน้ำพริกอย่างเดียว นานๆ ถึงมีรวมเล่มสักครั้ง แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี รวมเล่มก็ยากอีก รายได้น้อยลงไปมาก แต่ไม่ได้กังวลอะไร คำนวณว่าต้องใช้เงินเท่าไร แล้วก็พยายามหามาให้พอ เราไม่คิดว่าตัวเองจะอดตาย สมัยอยู่หอที่เมืองทองใช้เงินวันละ 100 บาท รวมสบู่ ยาสีฟัน ค่ารถ ทำกับข้าวกินเอง ซื้อเสื้อผ้าบ้าง ก็อยู่มาได้ ถ้าวันหนึ่งไม่มีเงิน จะขายลูกชิ้นหรือข้าวแกง ทำได้ ไม่อาย เราทำอร่อย (ยิ้ม) มันเหนื่อยกว่าเดิมอยู่แล้วล่ะ แต่ถึงจุดที่ต้องทำ เรามั่นใจว่าทำได้”

ทั้งที่ทักษะฝีมือยังพร้อมอยู่ตลอด แต่ด้วยวิถีการอ่านที่เปลี่ยนไป ทำให้ไม่มีพื้นที่สำหรับต้นฉบับ ไม่มีรายได้จากงานที่ตัวเองรักและเลือก ผมเลยสงสัยว่าเธอรู้สึกอย่างไรกับชีวิต ณ ปัจจุบัน

“เรามั่นใจว่าเอาของดีให้คนอื่นกิน น้ำพริกก็เหมือนนวนิยาย ถ้าตั้งใจทำก็มีคุณค่าเหมือนกัน ตอนเราทำร้านอาหารที่เชียงราย เราบอกลูกน้องเลยว่า ‘ถ้าเอาอาหารที่ดีไปเสิร์ฟ นั่นคือความภาคภูมิใจ’ ไม่ว่าทำอาชีพอะไร คุณค่าอยู่ที่ประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าถ้าตั้งใจทำอะไรให้ดีที่สุด โอกาสจะเข้ามาหาเราเอง สิ่งที่เป็นของเราจริงๆ คืองาน ไม่ว่างานแบบไหน ถ้าเราทำให้ดีที่สุด มันจะพาเราเดินต่อไป ถ้าทำทิ้งๆ ขว้างๆ ใช้โอกาสสิ้นเปลือง เราก็จะไม่ได้รับโอกาสอีก”

ปัจจุบัน อุรุดา โควินท์ พักอยู่กับคนรัก อติภพ ภัทรเดชไพศาล ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แต่ด้วยเหตุที่แม่ต้องอยู่คนเดียว เร็วๆ นี้เธอและคนรักจึงมีแผนว่าจะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงราย เปิดร้านอาหารเล็กๆ เพื่อหารายได้ ขณะเดียวกัน หลังจากนิตยสารทุกเล่มที่เคยเขียนปิดตัว เธอได้รับโอกาสจาก มติชนสุดสัปดาห์ ให้มีคอลัมน์ประจำอีกครั้ง ส่วนอีกงานที่เธอรักอย่างการเขียนนวนิยาย ตอนนี้เธอกำลังลงมือเขียน และตั้งใจจะพิมพ์เป็นเล่มเมื่อเขียนจบ

“ตอนนี้มีเพียงคอลัมน์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ถ้าวันหนึ่งไม่มีรายได้จากการเขียน คุณจะยังเขียนอยู่ไหม” ผมถาม

“เขียน” เธอตอบทันที

“ไม่มีทางเลิกเขียนหนังสือ ช่วงที่ สกุลไทย เลิกใหม่ๆ เรายังคิดเลยว่าทำยังไงให้มีเงินใช้ แล้วเอาเวลาที่เหลือไปเขียนหนังสือ เรามั่นใจว่างานที่ทำรวมเล่มได้ เราเห็นหน้านักอ่าน แล้วเขาก็สนับสนุนตลอด จะ 500 คน หรือ 1,000 คน ไม่รู้ล่ะ แต่เราเขียนแน่ๆ ถ้าไม่เขียนหนังสือ เราอยู่ไม่ได้ จะรู้สึกว่าล้มเหลว ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มีตำแหน่งแห่งที่บนโลก งานเขียนทำให้เชื่อมโยงกับคนอื่น มีความสุข ถึงแม้จะได้เงินน้อย หรือไม่ได้เลย แต่มันสำคัญกับชีวิตนะ เงินแค่เอามาดำรงชีวิต เราก็แค่วางแผนแล้วหาให้พอ

“เราค่อนข้างมั่นใจว่าหวังอะไรไม่ได้มาก แต่ก็หวังว่าวันหนึ่งจะอยู่ได้ด้วยงานเขียน ไม่รู้หรอกว่าไปยังไง แต่คนเราต้องลองเดินไปก่อน เราเคยผ่านช่วงเวลาที่ยากที่สุดมาแล้ว เขียนไม่เป็น เขียนไม่ได้ ไม่รู้จะเขียนยังไง ไม่มีความมั่นใจ ยากกว่าหาเงินมาใช้อีกนะ เราเป็นคนขยัน อดทน หาเงินได้แน่ๆ ให้ทำอะไรเพื่อได้กินข้าว ทำได้แน่ๆ แต่เราต้องการเขียนหนังสือด้วย มันเป็นความรัก และเราก็ได้ความรักจากคนอ่านตอบกลับมาด้วย”

บนเส้นทางที่เลือกแล้ว เธอค่อยๆ พาตัวเองไปข้างหน้าด้วยความรักและความเชื่อมั่นว่าไปต่อได้ จากวันที่หันหลังให้งานธนาคาร เธอค่อยๆ ตั้งหลักจนมั่นคงบนเส้นทาง ถึงแม้วิถีการอ่านจะเปลี่ยนแปลงไป การเขียนที่เลือกแล้วก็ยังคงมีชีวิต

เป็นชีวิตบนเส้นทางที่เธอรัก เชื่อมั่น และลงมือทำ

Fact Box

ผลงานรวมเล่มของ อุรุดา โควินท์

  • มิตรภาพยังอยู่กับเรา (2541)
  • ลูกสาวของดอกไม้ (2543)
  • มีไว้เพื่อซาบ (2550)
  • ผีเสื้อที่บินข้ามบึง (2556)
  • ผู้ชายในฝัน (2556)
  • สมิงพระราหู (2556)
  • ขอบของแสง ปีกแห่งเงา (2557)
  • แหวนพระจันทร์ (2557)
  • เมรีในร้านหนังสือ (2558)
  • หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา (2560)

 

รวมคอลัมน์จาก ครัวสีแดง6 เล่ม

  • ครัวสีแดง (2552)
  • บ้านเกิด ครัวของเรา กับร้านในสวนลิ้นจี่ (2556)
  • Far and Near ใกล้และไกลในความทรงจำ (2557)
  • My Eros เมื่อรักได้สัมผัส ครัวสีแดง (2558)
  • Cinderella's Apron ครัวสีแดงกับผ้ากันเปื้อนของนางซิน (2558)
  • ครัวสีแดง แซ่บ PARTY (2559)
Tags: , , , , , , ,