ประเทศไทยห่างหายจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการมาเกือบ 8 ปี การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้จะมีคนมากกว่าเจ็ดล้านคนเพิ่งมีสิทธิ์ได้เลือกตัวแทนมาบริหารประเทศเป็นครั้งแรก ประเด็น ‘คนรุ่นใหม่’ ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในแง่นโยบายที่ตอบสนองความต้องการ ผู้สมัครอายุน้อย และการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากคนหลายล้านที่รับข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียบนจอสมาร์ตโฟน
ต่อประเด็นความสนใจ เข้าใจ และตื่นตัวทางการเมือง บางครั้งคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดายถูกมองว่าเป็นความหวัง แต่หลายครั้งก็ถูกตำหนิจากคนรุ่นเก่าว่า เมินเฉย อยู่ห่างไกล และสนใจแต่เรื่องตัวเอง กลายเป็นภาพรับรู้ที่สวนทางกับภาพประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาไทยในอดีต
เราอยากรู้ว่าคนที่อยู่ท่ามกลาง ‘คนรุ่นใหม่’ ทั้งใน ‘สมัยนั้น’ และ ‘สมัยนี้’ มองเรื่องนี้อย่างไร
ด้วยหมวกอาจารย์มหาวิทยาลัย ‘รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์’ เป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศึกษา บอกสอน และเฝ้าสังเกตการเมืองในประเทศไทยมาโดยตลอด ส่วนหมวกอีกใบคือเป็นพ่อของลูกทั้ง 4 คน ที่เขาก็ถ่ายทอดความรู้และแนวความคิดให้อย่างเข้มข้น จนกระทั่งแต่ละคนสร้างพื้นที่ของตัวเองขึ้นมา บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และบางคน ทำสื่อออนไลน์ที่ท้าทายการรับรู้ต่อเรื่องการเมือง อย่างรายการ ‘เจาะข่าวตื้น’ และรายการ ‘หาเรื่อง (คุย)’
นักศึกษาหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์รัฐศาสตร์คนนี้ ดุ เฮี้ยบ และจริงจังกับการเรียนการสอน ซึ่งกับลูกๆ แล้ว พวกเขาคงรู้สึกกับพ่อไม่ต่างกันนัก
“ผมเชื่อว่าตัวเองใจดีนะ แต่คนอื่นดันไม่เชื่อ” เขาพูดถึงตัวเอง ตามด้วยเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ภายใต้คำตอบที่จริงจัง น้ำเสียงที่ใจเย็น และรอยยิ้มที่ใจดี สิ่งที่เขามองเห็น วิเคราะห์ และบอกเล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกของตัวเอง มีระหว่างประโยคที่ชวนให้มอง ‘คนรุ่นใหม่’ ในหลากหลายมุมได้อย่างน่าสนใจ
เวลาพูดถึงคนรุ่นใหม่ในเรื่องการเมือง บ่อยครั้งที่ ‘เด็กสมัยนี้’ ถูกเปรียบเทียบกับ ‘เด็กสมัยนั้น’ เช่น คนเดือนตุลาฯ ที่ภาพในประวัติศาสตร์เป็นภาพทางการเมืองที่ชัดเจน จนเกิดคำตำหนิว่า เด็กสมัยนี้ไม่สนใจ ไม่เข้าใจ และไม่ตื่นตัวทางการเมือง ในฐานะที่เกิดทันและสอนหนังสือเด็กสมัยนั้น รวมทั้งสอนหนังสือเด็กสมัยนี้ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ผมเริ่มสอนหนังสือ ปี พ.ศ. 2515 แล้วก็สอนมาตลอด การมองแบบนั้นมันผิวเผินและตื้นเขินมากนะ ผมมีความมั่นใจและชื่นชมเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันมากกว่าด้วยซ้ำไป
ตอนผมเริ่มสอนหนังสือใหม่ๆ คนจะเข้ามหาวิทยาลัยต้องสอบคัดเลือกอย่างมาก พอเป็นแบบนั้น คนส่วนใหญ่เลยหัวอ่อน เรียบร้อย และจริงจังเรื่องการเรียน เพราะกว่าจะสอบเข้ามาได้ก็แทบแย่ จนกระทั่งช่วง พ.ศ. 2532 ผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เด็กไม่ค่อยแคร์การเรียน ไม่สนใจคะแนนสอบเท่าไร อาจเพราะมหาวิทยาลัยรับเด็กมากขึ้น สอบง่าย มีภาคพิเศษ มีอะไรต่างๆ สมัยนั้นสามสี่พันคน ตอนนี้สองหมื่นกว่าคนแล้ว
ถ้าพูดกันตามตรง วิชาความรู้ในมหาวิทยาลัยมันน่าเบื่อนะ ยิ่งกับสมัยนี้ที่มีคอมพิวเตอร์ โซเชียลมีเดีย วิชาความรู้ไม่จำกัดอยู่ที่อาจารย์แล้ว เด็กสามารถหาได้จากที่ต่างๆ เยอะแยะ แล้วความน่าสนใจคือ นักศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยพูด แม้ไม่พูด แต่เขารู้นะ ลูกศิษย์ของผมที่ไปเป็นอาจารย์ เวลาพบเจอกัน ก็ออกมาลักษณะนี้ รู้ แต่ไม่พูด แล้วรู้เยอะรู้ดีด้วย ผมเลยมีความหวังกับคนรุ่นใหม่สูงมาก
ถ้าคุณยกตัวอย่างคนเดือนตุลาฯ ขึ้นมา เห็นไหม บางส่วนที่ไปร่วมกับรัฐบาลปัจจุบัน เป็นยังไงล่ะ ประชาธิปไตยอะไรกัน ผมสอนรัฐศาสตร์ ดังนั้นให้พูดว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากอำนาจต้องเป็นของประชาชน มันคือสิทธิของประชาชนในการเลือกว่าอยากให้ใครมาบริหารประเทศ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ขึ้นมาจัดการให้เองแบบนี้ คุณบอกว่าสิ่งนี้เป็นประชาธิปไตยได้ยังไง
ความสนใจทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร
ผมว่าสมัยก่อนแทบไม่สนใจเลยนะ พอไม่ค่อยมีใครสนใจ คนที่โผล่ขึ้นมาเลยโดดเด่น คุณต้องอย่าลืมว่าสื่อในสมัยก่อนเป็นการผูกขาด เจ้าของหนังสือพิมพ์เหมือนเป็นเทวดาเลย แตกต่างจากตอนนี้ที่สื่อกระจายออกไปหมดแล้ว เลยไม่มีใครโดดเด่นมากแบบเดิม คุณอ่านประวัติศาสตร์ พอมองย้อนไปแล้วคิดว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง แต่ลองคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สิ คนที่เห็นคือส่วนน้อย การที่สื่อถูกผูกขาด ทำให้คนต่างจังหวัดไม่ได้รู้เรื่องทันทีแบบปัจจุบันนะ ผมมองว่าเมื่อก่อน เด็กแทบไม่สนใจการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่เข้าใจ การเมืองคืออะไรยังไม่รู้เลย แถมบางคนกลัวด้วยซ้ำไป แต่เราไม่ยุ่งเกี่ยวได้ยังไง การเมืองก็เรื่องที่เกิดในเมืองทั้งหลาย มันเกี่ยวกับเราโดยตรง
แล้วความเข้าใจต่อเรื่องการเมืองล่ะ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
เข้าใจก็หลายระดับนะ คนสมัยก่อนชอบพูดศัพท์การเมือง สุดท้ายก็ติดมาถึงปัจจุบันแหละ พูดเป็นประจำ แต่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ข้าราชการพูดคำว่ายุทธศาสตร์เป็นเรื่องปกติ ลองไปถามสิ รู้ความหมายกันไหม หรือคนเดือนตุลาฯ ที่พูดเรื่องประชาธิปไตย แต่ออกมาเป่านกหวีด ผมยังงงเลย เขาคงรู้แค่ศัพท์ เรื่องนี้เป็นปัญหานะครับ การรู้แค่ศัพท์ ไม่ได้แปลว่าเข้าใจการเมืองนะ มันผิวเผินมาก
อีกอย่างที่สำคัญมาก บ้านเราแปลศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแขก หลายคำความหมายผิดคนละโลกเลย เช่น ‘Philosophy’ บ้านเราแปลว่า ‘ปรัชญา’ แต่แปลจริงๆ คือ Love of wisdom หรือ ความรักในความรู้ แต่ ปรัชญา แปลว่า ความรู้อันสูงสุด ดังนั้นคำว่า Philosopher แปลว่า ยังรู้ไม่พอ ต้องแสวงหาความรู้อยู่ร่ำไป แต่คำว่า นักปรัชญา กลายเป็นคนที่รู้หมดแล้วทุกอย่าง ไม่เหมือนกันนะ หรือคำว่า ‘ชาติ’ มาจากคำว่า ‘ชาตะ’ แปลว่า ‘เกิด’ มันเกี่ยวอะไรกับคำว่า ‘Nation’
ทั้งหมดที่พูดมา ถ้าเอามาเทียบกับเด็กสมัยนี้ อย่างน้อยเทคโนโลยีทำให้เขาได้ข้อมูลมากกว่าเดิม รับจากหลายด้าน ไม่ใช่รับแค่ด้านเดียว แล้วเชื่อแบบเดียว
แต่คนรุ่นนั้นมักบอกว่าตัวเองเข้าใจประชาธิปไตยไม่ใช่เหรอ
เขาเป็นกูรูเลย รู้เรื่องดีเลย แต่การพูดเก่ง แล้วไม่เข้าใจอุดมการณ์ของประชาธิปไตย มันไม่มีประโยชน์ คุณพูดได้ยังไงว่าคนกรุงเทพฯ คุณภาพดีกว่าคนต่างจังหวัด แล้วพูดออกมาอย่างชอบอกชอบใจ ปรบมือ เฮกัน คนรุ่นผมนี่แหละ ว่ากันตามตรง ความหมายของประชาธิปไตยไม่ได้ยากอะไรเลย ประชาธิปไตย คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถ้าอำนาจเป็นของคนๆ เดียว ของคนกลุ่มเดียว ก็เป็นเผด็จการ
พอมาพูดเรื่องคำศัพท์ หลายปีแล้วที่บ้านเราพูดคำว่า ‘คนดี’ อยู่บ่อยๆ อาจารย์มองว่าคนดีคืออะไร
คนมีหลายสถานภาพนะ ดังนั้นต้องถามว่าดีในฐานะอะไร ดีในฐานะพ่อ ดีในฐานะสามี ดีในฐานะเพื่อน ดีในฐานะข้าราชการ ดีในฐานะคนทำงาน คุณเป็นเพื่อนที่ดี อาจไม่ใช่สามีที่ดีก็ได้ คำว่า ‘คนดี‘ ที่พูดกันในทางการเมือง มันเหวี่ยงแหไปหน่อย ในต่างประเทศชัดเจนนะ พวกเขาจ้างมาทำอะไร เลือกมาเป็นอะไร ถ้าเลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องเลือกคนที่ทำงานบริหารได้ดี ไม่ใช่เลือกคนดี เราไม่ได้เลือกพระ ไม่ได้เลือกคนมาถือศีลกินเจ
อาจารย์บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนจำนวนไม่น้อยมองเป็นเรื่องไกลตัว ทำไมต้องสนใจด้วย แค่ใช้ชีวิตไปวันๆ ทำมาหากิน พักผ่อน เสพความบันเทิง ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวดีกว่า ความคิดใกล้ตัว-ไกลตัวเกิดจากอะไร
ก็โดนพูดกรอกหูกันบ่อยๆ สื่อทั้งหลาย ในโรงเรียน อย่าไปยุ่งเรื่องการเมือง! ได้ยินแบบนั้นแล้วไม่คิด ก็เลิกสนใจ ทำไมถึงไม่ให้ยุ่งล่ะ แล้วที่คุณบอกว่าทำมาหากิน คิดดูนะ เราเสียเบี้ยบ้ายรายทางไปเท่าไร โดนตบทรัพย์ ต้องส่งส่วย ค่าเช่า ดอกเบี้ย คนเบ่งกินฟรี อะไรอีกมากมาย การเมืองเกี่ยวข้องกับเราตลอดเวลา การเมืองคือเรื่องที่ทำกันในเมือง ออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย การตัดสิน กฎกติกาต่างๆ ก็อยู่ในเมือง
อาจารย์เริ่มสอนเรื่องการเมืองกับลูกอย่างไร
ผมคุยตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนอยู่บ้าน ก็ค้นคว้า เตรียมสอน ตรวจข้อสอบ ก็เรียกลูกๆ มานั่งฟังเล็คเชอร์บ้าง จริงๆ ไม่ใช่บ้าง บ่อยเลย ลูกๆ คงรำคาญเต็มที่ (หัวเราะ) พูดไปพูดมา พวกเขาคงซึมซับ พอมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ผมตื่นเต้น มองว่าต้องอ่าน ต้องรู้ มันดี เลยให้ลูกทุกคนคัด ค่อยๆ คัดวันละหน่อยจนหมดทั้งฉบับ ลูกศิษย์ที่ผมสอนก็โดนเหมือนกัน
แต่ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญหรอก ปกติผมให้ลูกๆ เขียนเอสเสอยู่แล้ว วันละครึ่งหน้า หนึ่งหน้า สามหน้า อยากเขียนเรื่องอะไรก็เขียนมา ผมอ่านแล้วให้ดาว สะท้อนว่าควรปรับยังไง อย่างน้อยต้องรู้ว่าตัวเองกำลังจะบอกอะไร ผมเชื่อว่าการได้พูด ได้แสดงออกว่าตัวเองคิดเห็นยังไง เป็นสิ่งสำคัญ การเขียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พูดแบบโบราณนะ ของเรามี สุ จิ ปุ ลิ (สุตตะ แปลว่า การฟัง, จินตะ แปลว่า การคิด, ปุจฉา แปลว่า การถาม, ลิขิต แปลว่า การเขียน) การลิขิตออกมาก็ช่วยให้เข้าใจความคิดตัวเอง ผมให้เขียนวันละชิ้น บางทีพวกนี้เขียนมา 3 ชิ้น อีกสองวันได้เล่นเต็มที่ รุ่นแรกมีสามคน ทุกคนเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา ตอนนั้นภรรยาโกรธผมมากที่บังคับลูกมากเกินไป พอถึงนายจอห์น (วิญญู วงศ์สุรวัฒน์) ลูกคนเล็ก เลยได้รับการผ่อนๆ พอสมควร เขาก็เริ่มเบี้ยวบ้าง หลบหลีกบ้าง
ทำไมต้องคัดรัฐธรรมนูญด้วย
ถ้ากับนักศึกษา อย่างน้อยให้เขาได้เห็น มันแปลกไหมถ้าเรียนรัฐศาสตร์แล้วไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญ ผมว่าเยอะนะ ไม่รู้เลยว่ารัฐธรรมหน้าตาเป็นยังไง ถ้าเป็นแบบนั้น คุณอย่าไปพูดว่าเรียนรัฐศาสตร์เลย ถ้ากับลูกๆ ก็อยากให้เห็น
ทำไมเด็กที่ยังไม่ทันได้รู้ว่าการเมืองคืออะไร ต้องมารู้เรื่องรัฐธรรมนูญด้วย
อะไรสำคัญก็ควรต้องรู้ไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องคอยให้โตก็ได้ คุณต้องเข้าใจว่าการเขียนเอสเส หรือการคัดรัฐธรรมนูญ อยู่ในวันหยุดนะครับ เวลาเรียนหนังสือปกติ ผมดูแลเฉพาะให้ทำการบ้านเท่านั้นแหละ ซึ่งก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไรหรอก พอเสาร์อาทิตย์ ลูกๆ อยากจะไปเที่ยวนั่นนี่ ผมก็ให้เขียนหนังสือ
อาจารย์เป็นพ่อที่ดุเหมือนกันนะ
ผมตกลงกับภรรยาตั้งแต่แรกแล้ว คนนึงดุ คนนึงใจดี พอลูกๆ ไม่พอใจคนดุ เขาได้กล้าเล่าให้คนใจดีฟัง ลูกๆ ก็ไม่ชอบผมทั้งนั้นแหละ (ยิ้ม)
จริงๆ อาจารย์เป็นคนดุไหม หรือเป็นเพียงการแสดงในบทบาทพ่อ
ก็คงเป็นการแสดง ผมเชื่อว่าตัวเองใจดีนะ แต่คนอื่นดันไม่เชื่อ (หัวเราะ) จริงๆ ความดุของผมมีลิมิต คุมจนถึงมัธยมปลาย เลยจากนั้นก็ปล่อยแล้ว โดยหวังว่ากรอบที่บังคับไว้จะช่วยอะไรได้ ผมไม่ได้ตามดูตลอดชีวิต พอขึ้นมหาวิทยาลัย อยากทำอะไร ทำเลย อยากไปไหน ไปเลย หลังจากเรียนจบ ลูกสาวคนโต (จรรยา วงศ์สุรวัฒน์) ไปทำงานเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวญี่ปุ่น วิ่งอยู่อินโดนีเชียตอนซูฮาร์โตโดนล้ม ทหารไล่ยิง วิ่งหนีแก๊สน้ำตา ผมก็เฉยๆ เขาทำงานแล้ว
เวลาลูกๆ ไม่เห็นด้วยกับพ่อ อาจารย์สอนให้เถียงไหม
เขาไม่ค่อยเถียงหรอก แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ทำ แล้วไปทำอย่างที่ต้องการ ซึ่งผมเฉยๆ มันเป็นเรื่องของเขา ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องตั้งชื่อหลาน ก็น่าจะให้ปู่ได้ตั้งชื่อหลาน แต่ถึงเวลาจอห์นตั้งมาว่า วิลเลี่ยม ไรอัน ผมก็ถามว่า “ไม่มีชื่อไทยเหรอ” เขาถามกลับว่า “มันผิดอะไรเหรอพ่อ” เออ ก็จริง โอเคๆๆ ไม่มีปัญหา เขาไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา เห็นด้วยกันทุกเรื่องคงผิดปกติ
การเชื่อฟังพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญไหม
ตอนเด็กสำคัญ เพราะเขายังไม่มีวิจารณญาณเต็มที่ พอไม่รู้ เด็กทุกคนจะอยากรู้และพยายามไปให้ได้มากที่สุด เราต้องบอก ต้องสอน ต้องกำหนดกรอบ เพื่อให้เขารู้จักกรอบของชีวิตก่อน หลังจากโตแล้ว ทุกอย่างเป็นเรื่องวิจารณญาณของแต่ละคน
มันมีคำไทยๆ ว่า ความเป็นพ่อแม่ลูก ยังไงก็เป็นไปตลอดชีวิต ต้องบอกต้องสอนกันไปตลอด พอไม่ฟังก็หาว่าไม่เชื่อฟังพ่อแม่
(หัวเราะ) มันจะเชื่อได้ยังไง เขาบรรลุนิติภาวะแล้ว เขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา ผมปล่อยลูกตั้งแต่มัธยมปลาย หลังจากนั้นต่างคนต่างความคิด ขนาดพี่น้องท้องเดียวกันยังคิดไม่เหมือนกันเลย
เวลาเห็นลูกทำในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย อาจารย์ทำอย่างไร
ถ้ามีโอกาสก็เตือน ไม่ฟังก็ช่างเขา จะให้ผมทำยังไง ตัดพ่อตัดลูกเหรอ มันเป็นไปไม่ได้
ตอนรายการเจาะข่าวตื้นออกมาใหม่ๆ อาจารย์ได้ดูไหม
ดูครับ
ดูแล้วรู้สึกว่าเสี่ยงไหม
รู้สึก แม้แต่ตอนนี้ ดูจบก็ยังเสียวทุกครั้ง ลูกศิษย์ลูกหาของผมเป็นทหารเยอะแยะ ก็โทรมาขอให้ช่วยบอกลูกว่าเพลาๆ หน่อย ผมก็บอกนะ แต่เขาเฉยๆ ตอนหลังลูกศิษย์เหล่านั้นคงเบื่อแล้ว เลยไม่มีใครโทรมาอีก
มองว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายช่วยให้คนสนใจการเมืองมากขึ้นไหม หรือสุดท้ายเป็นเพียงการเพิ่มช่องทางเข้าถึงความบันเทิง
ก็ยังดีที่เข้าถึงได้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดได้รับข้อมูลตรงข้ามบ้าง ไม่ใช่งมงายกับสิ่งที่เชื่อ ได้เปรียบเทียบ ดูเหตุดูผล บริบทแวดล้อมว่าควรเชื่ออะไร หลังจากนั้นเป็นเรื่องวิจารณญาณของแต่ละคน มันช่วยอะไรไม่ได้ รับข้อมูลเหมือนกัน หลากหลายเหมือนกัน จะเลือกสนใจอะไร เชื่ออะไร ความหลากหลายอาจเป็นตัวแปรให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่ผมมีความหวัง มีความเชื่อ และศรัทธาว่าคนรุ่นใหม่เป็นความหวัง ผมหมดหวังกับคนรุ่นเก่ามานานแล้ว
การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะมีคนรุ่นใหม่ที่ได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวนหลายล้านคน อาจารย์มองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร
อย่างน้อยที่สุด พวกเขาจะได้แสดงความคิดเห็น ผมหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดิน จากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย หรือคุณมองว่าในปัจจุบันบ้านเราเป็นประชาธิปไตย 99% (หัวเราะ) เผด็จการก็คือเผด็จการแหละครับ จะอะไรกันนักหนา ผมหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ต้องเชื่อนะ ผมอาจผิดก็ได้ ซึ่งผิดอยู่เป็นประจำ (หัวเราะ)
ถ้านักศึกษาถามอาจารย์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญอย่างไร แตกต่างกับครั้งที่ผ่านมาอย่างไร
มันสำคัญมาก คุณจะเอาประชาธิปไตยหรือเผด็จการล่ะ
Tags: วิญญู วงศ์สุรวัฒน์, จอห์น วิญญู, คนรุ่นใหม่, โกวิท วงศ์สุรวัฒน์