One Piece เป็นมังหงะระดับตำนานที่จะเรียกว่าดังที่สุดในโลกแล้วก็คงจะไม่ผิด เพราะยอดขายรวมทั่วโลกนั้นมากที่สุดในโลก ที่จำนวนประมาณ 455 ล้านเล่ม (นำห่างอันดับสองคือ Dragon Ball อย่างน้อยก็ 155 ล้านเล่มกันเลยทีเดียว) ผลงานชิ้นนี้เป็นของเออิจิโร่ โอดะ ครับ และก็เช่นเดียวกับเรื่องนารูโตะ และ ฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ ที่เคยเขียนถึงไปแล้ว เรื่องวันพีซเองก็เป็นหนึ่งในมังหงะในตำนานของโชเน็นจั๊มพ์ช่วงยุคทอง คือ ทศวรรษ 1990s-2000s และทุกวันนี้วันพีซเองก็ยังไม่จบลง (แม้เออิจิโร่จะออกมาประกาศหลายครั้งแล้วก็ตามว่าเนื้อเรื่องดำเนินมาได้เกือบ 3 ใน 4 แล้ว และเขาวางโครงจนถึงตอนจบไว้แล้ว) แถมยังมีผลงานตอนใหม่ลงอย่างต่อเนื่องให้คนอ่านได้ตามแทบไม่เคยขาด
เนื่องจากเป็นมังหงะที่มีขนาดยาวมากๆ เรื่องหนึ่ง ฉะนั้นต่อให้จับเฉพาะส่วนแกนหลักหรือเส้นเรื่องหลัก มาอภิปราย ไม่เอาพวกเส้นเรื่องย่อยๆ (ซึ่งมีมหาศาล) มายุ่งเลย มันก็มีประเด็นให้สามารถจับมาเขียนได้เยอะมากครับ (เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน) อย่าง การมองแนวคิดเรื่องการชนกันของสังคมอนาธิปไตย (Anarchism society) กับสังคมแบบอำนาจนิยมเชิงกลไก (Functional Authoritarian society) หรือ การอธิบายภาพของการปฏิวัติหรือต่อสู้ปลดแอก เป็นต้น แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าภาพที่ชัดและน่าสนใจที่สุดของเส้นเรื่องหลักของวันพีซนั้นคือเรื่องที่ผมอยากจะจับมาชวนคุยในครั้งนี้ครับ นั่นคือ ‘การสะท้อนแนวคิดของความฝันแบบอเมริกัน (American Dream) และเส้นทางการดำเนินชีวิตแบบโลกยุคทุนนิยมเสรี’ ซึ่งเส้นเรื่องหลักจะเป็นอย่างไรนั้น ผมก็ขอพูดแต่คร่าวๆ นะครับ เพราะมังหงะระดับวันพีซนั้นคงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอยู่แล้ว
โกลด์ ดี โรเจอร์ (Gold D. Roger) เจ้าแห่งโจรสลัด ณ แท่นประหาร (ฉากเปิดเรื่องวันพีซ)
การจะอธิบายเส้นเรื่องหลักของเนื้อเรื่องวันพีซให้ครบถ้วนนั้น ผมคิดว่าควรต้องอธิบายถึง ‘ยุคก่อนเนื้อเรื่องหลักวันพีซ’ ด้วย คือ วันพีซเป็นมังหงะเกี่ยวกับการผจญภัยของเหล่าโจรสลัดทั้งหลาย แต่ในโลกของโจรสลัดนี้อาจจะแบ่งได้หยาบๆ เป็น 2 ยุค คือ ยุคก่อนเจ้าแห่งโจรสลัดโกลด์ ดี โรเจอร์ (Pre-Roger Era) และยุคหลังเจ้าแห่งโจรสลัดโกลด์ ดี โรเจอร์ (Post-Roger) โดยเนื้อเรื่องหลักของวันพีซทั้งหมดเริ่มขึ้นในยุค Post-Roger ครับ แต่ยุคที่ว่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นและไม่มีทางหน้าตาแบบนี้ได้เลย หากมันไม่ได้ถูกร่างเอาไว้ให้ก่อนแล้ว โดยคนซึ่งเป็นตัวตนสำคัญระดับแบ่งยุคสมัยอย่างโกลด์ ดี โรเจอร์ หรือเจ้าแห่งโจรสลัดแห่งตำนานนั่นเอง แต่โรเจอร์นั้นไม่ใช่โจรสลัดแห่งตำนานปรัมปราอะไรนะครับ ในจักรวาลของวันพีซ เขาถูกเขียนขึ้นให้มีตัวตนจริงชัดเจน ผู้คนเคยประสบพบเจอ รับรู้และรู้จักตำนานผู้นี้จริงๆ ไม่ใช่ตัวตนในตำนานแบบคิงอาร์เธอร์แห่งบริเตนแต่อย่างใด
โรเจอร์ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งโจรสลัดได้ ก็ด้วยความสามารถของเขา (ซึ่งต้องแข่งขันกับโจรสลัดชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ร่วมยุค) ในการเป็นโจรสลัดกลุ่มแรกที่สามารถพิชิตแกรนด์ไลน์ หรือเส้นทางเดินเรือหลักหนึ่งเดียวของเรื่องได้ คือ การเดินเรือในโลกของวันพีซมันมีเงื่อนไขพิเศษครับ คือ การเดินเรือจะต้องไปตามทิศทางที่เข็มทิศพิเศษที่เรียกว่าล็อกโพสต์ชี้ทางไปเท่านั้น หากหลุดจากนี้ อาจจะฉิบหายได้ นั่นแปลว่าเหล่าโจรสลัดก็จะต้องผจญภัยในเส้นทางประมาณเดียวกัน ในบางช่วงอาจจะมีหลายทางเลือกให้เลือกได้ แต่มันก็จะมุ่งไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง ซึ่งระหว่างเส้นทางก็จะมีอันตรายมากมาย ทั้งภัยธรรมชาติ สัตว์ร้าย โจรสลัดด้วยกันเอง และรัฐบาลโลกที่ดูความสงบเรียบร้อยของสังคมโลกวันพีซ คือ เมื่อมันมีเส้นทางหลักๆ เส้นเดียว รัฐบาลโลกก็วางกำลังป้องกันควบคุมเหล่าโจรสลัดได้ง่ายขึ้นด้วยน่ะนะครับ
ภาพแสดงลักษณะของแกรนด์ไลน์
เอาเป็นว่าในเส้นทางหฤโหดนี้ โรเจอร์และลูกเรือของเขาเป็นคนกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวจนถึงตอนนี้ที่สามารถพิชิตมันได้ และในช่วงบั้นปลายของชีวิตเขา เขาก็อยากจะสร้าง ‘ความหวัง’ ให้กับยุคสมัยใหม่ที่กำลังจะมาถึง (และด้วยความที่ตัวเองจะตายอยู่แล้วด้วย เพราะป่วย) ก็เลยมอบตัวเข้าซังเตรัฐบาลโลกเสียเลย แล้วก็ถูกส่งขึ้นแท่นประหารในเวลาต่อมา ซึ่งการประหารโรเจอร์นั้นเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกแน่นอน และก่อนที่เขาจะโดนประหารนั้น เขาได้ประกาศการมีอยู่จริงของปลายทางของแกรนด์ไลน์ และบอกด้วยว่าเขาได้ฝังสุดยอดสมบัติที่เรียกว่า ‘วันพีซ’ ไว้ที่ปลายทางนั้น เพียงเท่านั้นแหละยุคทองของโจรสลัดที่คิดจะไล่ล่าฝันที่โรเจอร์ทิ้งไว้ให้ก็เกิดขึ้น และเป็นเรื่องวันพีซครับ
พอเริ่มเรื่องวันพีซแล้ว หากจะสรุปจริงๆ ก็ไม่มีอะไรมากเลยครับ ถ้าเข้าใจที่มาข้างต้นทั้งหมดแล้ว เนื้อเรื่องก็พูดถึงโจรสลัดกลุ่มหนึ่งที่เริ่มต้นโดยกัปตันของพวกเขาและเป็นพระเอกของเรื่องที่ชื่อ ‘มังกี้ ดี ลูฟี่’ ซึ่งมีพลังพิเศษจากการสวาปามสิ่งที่เรียกว่า ‘ผลไม้ปีศาจ’ เข้าไป (ซึ่งจะทำให้คนมีพลังพิเศษได้ แต่ต้องแลกมากับการโดนน้ำเกลือไม่ได้ ซึ่งก็คือว่ายน้ำในทะเลไม่ได้นั่นเอง) ผลไม้ที่ลูฟี่กินคือผลยางยืด ที่ทำให้เขาสามารถยืดส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามใจชอบ ลูฟี่กับความสามารถนี้ก็ผจญภัยในทะเลไปเรื่อยๆ ครับ ก็ได้เพื่อนได้พวกระหว่างทาง จนสมาชิกเรือของตัวเองครบแล้ว เขาก็ไปผจญภัยในแกรนด์ไลน์แบบโจรสลัดชั้นนำอื่นๆ นั่นแหละครับ แล้วก็พัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อยๆ ค่าหัวของเขากับคณะก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ
กลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง (กลุ่มของลูฟี่)
การผจญภัยของลูฟี่ก็ทำให้ตัวเขาเจอกับศัตรูที่หลากหลาย ทั้งโจรสลัดกลุ่มอื่น (ที่ก็มักจะค่อยๆ เก่งขึ้นตามประสามังหงะทั่วไป) ซึ่งตัวท็อปของฝั่งโจรสลัดนั้นก็มี 2 กลุ่มครับ คือ ‘4 จักรพรรดิทะเล’ เป็นโจรสลัด 4 คน (และกลุ่มของพวกนี้) ที่เก่งที่สุดในท้องทะเล กับ ‘7 เทพโจรสลัด’ เป็นกลุ่มโจรสลัดชั้นนำที่แข็งแกร่งและมีดีลกับรัฐบาลโลก ที่รัฐบาลโลกให้อภิสิทธิ์พิเศษ ไม่โดนจับ แต่แลกมากับการต้องทำตามคำสั่งรัฐบาลโลกเมื่อโดนเรียกตัว กับอีกกลุ่มที่ลูฟี่ต้องไปซัดด้วยบ่อยๆ ก็คือ ตัวรัฐบาลโลกครับ ซึ่งตัวท็อปคือ ‘3 พลเอก’ แห่งกองทัพเรือ ก๊กเหล่านี้คือมือชั้นเซียนที่คานอำนาจกันอยู่ในทะเล และมือใหม่มาแรงอย่างพวกลูฟี่ก็เข้าไปท้าทายกับกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีชื่อเสียงและค่าหัวมากขึ้นนั่นเองครับ ก็หาเรื่องสร้างเรื่องไว้เยอะขนาดที่ในเนื้อเรื่องจนถึงตอนล่าสุดนี้ หนังสือพิมพ์เริ่มจะยกให้พวกลูฟี่เป็น ‘จักรพรรดิทะเลคนที่ 5’ กันแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะลงเอยอย่างไรก็ตาม แก่นเรื่องของมันก็คือการผจญภัยในแกรนด์ไลน์ เพื่อไปให้ถึงวันพีซ ที่โรเจอร์ ‘ทิ้งล่อ’ เอาไว้ให้เท่านั้นเอง
4 จักรพรรดิทะเล หรือ Yonko
7 เทพโจรสลัด หรือ Shichibukai (ในภาพนับรวมคนที่เคยเป็นอดีต 7 เทพโจรสลัดที่ถูกพ้นจากตำแหน่งไปแล้วด้วย)
3 พลเอกแห่งกองทัพเรือ (Admirals)
สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Zizek) นักปรัชญาฝ่ายซ้ายชื่อดังชาวสโลวีเนีย ได้เคยอภิปรายประโยคหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจในงานของเขาที่ชื่อ Welcome to the Dessert of the Real: Five Essays on September 11 and Related Dates ว่า:
–
… poor people around the world dream about becoming Americans – so what the well-to-do Americans, immobilized in their well-being, dream about? About the global catastrophe that would shatter their lives.
[เหล่าผู้ยากไร้ทั่วโลกต่างเฝ้าฝันอยากจะได้มีชีวิตเยี่ยงอเมริกันชน แล้วเหล่าอเมริกันชนผู้มีอันจะกิน ที่ถูกกักขังอยู่ในความสมบูรณ์พูนสุขของตนนั้นเล่า เฝ้าฝันถึงสิ่งใด? นั่นก็คงจะเป็นความล่มสลายของโลกที่จะมาทำให้ชีวิตของพวกเขาพังทลายลงได้]
–
ข้อความนี้ของชิเช็คหมายความว่าอย่างไร อะไรนำมาซึ่งสภาพการณ์ที่ว่านี้ และมันจะนำไปสู่อะไร รวมถึงมันเกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักของวันพีซอย่างไร นั่นคือประเด็นหลักที่จะพูดถึงกันครับ
ประเด็นของชิเช็คนั้นมันเกิดจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘เป้าหมาย’ ยกตัวอย่างเช่น เราที่เป็นประชากรไทยซึ่งหากอิงตามตัวชี้วัดสากลแล้วก็เป็นเพียงประเทศกลางๆ หลายๆ อย่างอยู่ค่อนมาท้ายตารางด้วยซ้ำ ว่าง่ายๆ ก็คือ เราไม่ใช่ ‘ผู้นำโลก’ เรามีจุดที่ควรจะต้องพัฒนาให้มันดีขึ้นอีกมากมาย ทีนี้ไอ้ที่บอกว่าต้องพัฒนาอีกมากมายนั้น ก็คือการพัฒนาไปในทิศทางแบบที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาเป็นกัน เช่น อยากจะมีทางเท้าที่ดีแบบญี่ปุ่น อยากจะมีความสงบสุขแบบสวิตเซอร์แลนด์ อยากมีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็งแบบสแกนดิเนเวีย อยากมีสิทธิเสรีภาพอย่างสังคมฝรั่งเศส อยากมีมหาวิทยาลัยดีๆ แบบในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ว่าง่ายๆ สำหรับประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้นำโลกอย่างเรา เราก็พยายามจะไปให้ถึงตัวแบบของเราคือประเทศต่างๆ ที่พัฒนาไปมากกว่าเรานั่นเองครับ ทีนี้นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงและสหภาพโซเวียตล่มสลายลง ในทางสากลแล้ว ก็ถือกันว่าผู้นำโลกสูงสุดแต่เพียงหนึ่งเดียวก็คือ ‘สหรัฐอเมริกา’ แม้เราจะพูดไม่ได้แน่ๆ ว่าอเมริกาดีที่สุดในทุกเรื่อง เพราะหากมองเป็นประเด็นๆ แยกย่อยออกมาแล้ว ก็มีหลายอย่างทีเดียวที่อเมริกาแพ้ประเทศชั้นนำอื่นๆ อย่างไรก็ดี ในทางภาพรวม (โดยเฉพาะในแง่ความมั่นคง) สหรัฐอเมริกาก็ถูกมองว่าอยู่จุดบนสุดของห่วงโซ่อาหารโลกอยู่ดี เป็นตัวแทนของโลกเสรี และชีวิตที่แบบที่ตัวสหรัฐอเมริกาเองก็จงใจสร้างขึ้นมาด้วย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ หรือ American Dream ครับ
ความฝันแบบอเมริกัน ก็คือวิธีคิดหลักของตรรกะแบบ ‘ทุนนิยมเสรี’ ที่เน้นเรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคล การให้โอกาส หากขยัน หากตั้งใจ หากดิ้นรนก็จะมีโอกาสเสมอ ว่าอีกแบบก็คือ เป็นระบบวิธีคิดที่ขับเน้นในความสำคัญของ ‘โอกาส’ ที่จะก้าวหน้า ที่จะได้ขยับสถานะของตัวเองให้สูงขึ้นได้นั่นเอง เพราะอย่างนี้สำหรับประเทศที่เฝ้ามองไปยังสหรัฐอเมริกาแล้ว มันจึงเป็นดินแดนแห่งความหวังของใครหลายๆ คน
ความเป็นเป้าหมายปลายทาง ความอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่การเมืองโลก และความหวังที่ราวกับว่าพร้อมจะอ้าแขนรับทุกคนนี้เองได้กลายเป็นเสน่ห์หลักของ ‘มนตราแห่งทุนนิยมเสรี’ ที่ทำให้ทุกคนเดินตาม มองเห็นทิศทางการพัฒนา สร้างเป็นตัวแบบ หรือ ‘เข็มทิศล็อกโพสต์’ หนึ่งเดียวที่จะก้าวไป เส้นทางการพัฒนาของโลกหลังสงครามเย็นสิ้นสุด ที่ดูจะเป็นประวัติศาสตร์เส้นเดี่ยวนี้เอง ที่ดูละม้ายคล้ายกับ ‘แกรนด์ไลน์’ เสียเหลือเกิน มันคือเส้นทางเดินเรือเดียว ที่เหล่าโจรสลัดผู้วิ่งไล่ตามความฝันที่โรเจอร์ทิ้งเอาไว้ให้ต้องเดินทาง อย่างที่บอกไปว่าในแกรนด์ไลน์นั้นมีอุปสรรคมากมายครับ และในบางครั้งระหว่างทางก็อาจจะมีตัวเลือกได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงตัวเลือกที่อยู่ในกรอบกำหนดของเส้นทางหลักเท่านั้น หรือก็คือ เป็นเพียงตัวเลือกย่อยๆ ในเส้นทางเดี่ยวๆ นี้เอง
แน่นอนนี่หมายความว่า ‘วันพีซ’ ของโรเจอร์เองก็คือปลายทางของความฝัน ความสำเร็จสูงสุดเท่าที่จะไปถึงได้ของโลกทุนนิยมเสรี และเหล่าโจรสลัดในยุคหลังโรเจอร์ทั้งหลายในเรื่องวันพีซ ก็เป็นเสมือนกลุ่มคนที่ “ใฝ่ฝันอยากเป็นเยี่ยงอเมริกันชน” ที่ชิเช็คว่าไว้ และกลุ่มที่ถือว่าเข้าใกล้วันพีซที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุดในท้องทะเลอย่าง ‘4 จักรพรรดิทะเล’ ก็คงจะไม่ต่างอะไรจากการเปรียบเปรยถึงเหล่าบริษัทขนาดใหญ่ในระบอบทุนนิยมเสรีที่ยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน และบ่อยครั้งดูจะขูดเลือดขูดเนื้อคนไปทั่ว แต่พร้อมๆ กันไปมันก็ดูจะทำหน้าที่คุ้มครองผู้ที่มาร่วมสวามิภักดิ์ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นเส้นเรื่องของวันพีซยังสะท้อนมนตราของทุนนิยมเสรีมากขึ้นไปอีก ผ่านกลุ่มของลูฟี่ พระเอกของเรื่องว่า จริงอยู่แม้ในแกรนด์ไลน์นั้นจะมีเจ้าพ่อเจ้าแม่อย่าง 4 จักรพรรดิทะเลอยู่ และการจะเอาชนะคนเหล่านี้ดูจะยากเข็ญลำบากยิ่ง แต่หากมีความตั้งใจจริง คนตัวเล็กๆ ที่เริ่มต้นโดยไม่มีอะไรเลยอย่างลูฟี่ก็ยังสามารถจะเผชิญหน้าสู้ดะไปเรื่อยๆ จนสามารถยืนอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับตัวพ่อตัวแม่เหล่านั้นได้เหมือนกัน และอาจจะกระทั่งไปคว้าเอาวันพีซของโรเจอร์มาไว้ในมือได้ก่อน 4 จักรพรรดิก็เป็นได้
มนตราของ ‘ความหวังที่แสนริบหรี่’ นี้เองที่ยังคงหลอกล่อและหลอกหลอนประชากรแทบทั้งโลกอยู่เช่นเดียวกัน เราเห็นประกายตาของเหล่านักธุรกิจวัยเยาว์ที่ร่วมกันเปิดบริษัทสตาร์ตอัปต่างๆ เจ้าของธุรกิจ SMEs มากมาย ด้วยความมุ่งหวังลึกๆ ว่าอยากจะเป็นอยากบิล เกตส์ หรือมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก สักวัน เหล่าโจรสลัดในโลกจริงเหล่านี้จึงขยันขันแข็งทำงานแข่งขันกันเป็นทาสเป็นกลไกในระบบทุนนิยมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมเสรีเองมันก็ไม่ได้มีแต่ ความหวัง โอกาส และความงดงาม อย่างที่มนตราของมันพยายามล่อซื้อไว้เท่านั้น นอกจากอุปสรรคขวากหนามนานับประการบนเส้นทางที่จะไปสู่ความสำเร็จแล้ว มันดูจะไม่แยแสอะไรกับผู้พ่ายแพ้ หรือไม่มีแม้แต่กำลังจะเข้าร่วมกรำศึกในการแข่งขันแต่แรกนักเลย แม้วันพีซของโรเจอร์หรือมนตราของทุนนิยมเสรีมันจะน่าใฝ่ฝันถึง แต่พร้อมๆ กันไปมันก็โหดร้ายมาก
เพื่อให้การแข่งขันบนแกรนด์ไลน์เกิดขึ้นได้ มันต้องแลกมาด้วยการบังคับขูดรีดผู้ซึ่งไร้หนทางจะต่อสู้มากมาย ชาวบ้านมากมาย ประเทศหลายแห่งโดนเหล่าโจรสลัดหรือ ‘ตัวแทนแห่งตลาดเสรี’ เหล่านี้เข้าบุกยึด ปล้นสดมภ์ กระทั่งเผาทำลาย ภาพเหล่านี้ดูจะไม่ต่างอะไรนักกับการที่สหรัฐอเมริกา (และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ) ใช้ข้ออ้างของกลไกตลาดเข้าไปดูดกลืนแทรกแซงทรัพยากรของประเทศที่ด้อยกว่าอื่นๆ แล้วก็อาศัยต้นทุนที่ได้มาจากการขูดรีดนั้น มาสร้างฝันและขีดเส้นทางสวยหรูให้ ‘ผู้อยากท้าชิง ผู้แสวงหารายใหม่ๆ’ แทน
ซากและศพของเหล่าผู้ที่พ่ายแพ้หรือตกเป็นเหยื่อของเส้นทางการแข่งขันหนึ่งเดียวที่เรียกว่าตลาดเสรีนี้เอง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นอันสำคัญของแนวคิดฝ่ายซ้าย หรือมาร์กซิสม์ ที่มองว่าการให้ความสำคัญกับ ‘โอกาสและการสร้างความหวัง’ นั้น ดูจะไม่ใช่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุด แต่มันควรจะเป็นระบบโครงสร้างที่จะมาประกันชีวิตความเป็นอยู่ให้กับทุกคนได้ก่อน รวมถึงเหล่าซากและศพที่ไร้ทางไปเหล่านี้ด้วยไม่ใช่หรือ? ว่าง่ายๆ ก็คือ ก่อนที่จะให้โอกาสกับคน ก็ควรจะประกันความมั่นคงให้ได้ก่อนว่า “คนทุกคนเป็นคนเหมือนกัน” ควรจะมีความเท่าเทียมเป็นฐานก่อน
แต่เมื่อประธานของโลกคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตล่มสลายไปและสงครามเย็นจบลง การประกันความเป็นอยู่ให้กับซากศพเหล่านี้ก็ดูจะหายไป ลดรูปเหลือเพียงรัฐสวัสดิการที่ถูกเลือกใช้กันในเพียงไม่กี่ประเทศในโลก หลักๆ ก็ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อย่างไรก็ตามแม้ตัวตนอันจับต้องได้ของระบอบการเมืองแบบมาร์กซิสม์จะหายไปแล้ว แต่อิทธิพลทางความคิด หรือผีของมาร์กซ์ก็ดูจะยังลอยอวลอยู่ในอากาศ บางทีสถานะของผีมาร์กซิสม์นี้อาจจะไม่ต่างอะไรนักกับกลุ่ม ‘ปฏิวัติ’ หรือ (The Revolutionary) ในเรื่องวันพีซ
สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Zizek) นักปรัชญาฝ่ายซ้ายชาวสโลวิเนียน
แล้วในเมื่อคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อของโลกทุนนิยมเสรีอย่างมาร์กซิสม์พ่ายแพ้ปราชัยไปแล้ว สิ่งใดล่ะครับที่จะกลายมาเป็นศัตรูหรือคู่แข่งของมนตราที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนี้? มันก็อย่างที่ชิเช็คว่าไว้นั่นแหละครับ คือ “ความล่มสลายของโลกที่จะมาทำให้ชีวิตของพวกอเมริกันชนสั่นคลอนลงได้” คำตอบนี้อาจจะฟังดูแล้วงงๆ ผมคงต้องขออธิบายแบบนี้ครับ คือ ระบอบการเมืองและเศรษฐกิจทุกอย่างที่เคยมีมาในโลกนี้ (อย่างน้อยๆ ก็ระบอบใหญ่ๆ ที่เป็นตัวแทนคุณค่าอันเป็นสากล) นั้นล้วนแต่พัฒนาตัวเองขึ้นเพื่อมุ่งไปสู่ความล่มสลายทั้งสิ้น และมักจะเป็นความล่มสลายที่มาจากสิ่งซึ่งเคยเป็นคุณค่าอันดีงามในตรรกะของระบอบนั้นๆ เองด้วย
อย่างระบอบจักรพรรดิในยุคโรมันโบราณ (ที่รวมศูนย์มาจากระบบสภาเซเนต) ที่ตอนแรกต้องการความมั่นคงเด็ดขาดเป็นหนึ่งเดียว สุดท้ายก็มาพังลงเพราะมันรวมสู่ศูนย์กลางมากจนเกินไป เข้าสู่ยุคกลางที่ระบบหลักๆ ในโลกนั้นเรียกว่าฟิวดัล คือมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังลอร์ดหรือเจ้าเมืองต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้การดูแลทั่วถึงและแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจแบบเดิม ซึ่งตอนแรกก็ดูจะไปได้ดี แต่สุดท้ายก็พังลงเพราะการกระจายอำนาจที่ว่านั้นเอง ที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพ เจ้าเมืองสะสมกำลังกันห้ำหั่นกันเอง กระทั่งท้าทายกษัตริย์ก็มีเนืองๆ
สุดท้ายโลกก็เข้าสู่ช่วงของการรวมศูนย์อำนาจอีกครั้งภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รวมศูนย์ด้วยมุ่งหวังจะแก้ปัญหาที่เกิดในยุคฟิวดัล แต่สุดท้ายการรวมศูนย์อำนาจทุกอย่างไว้ที่ตัวคนผู้เดียวก็เป็นปัญหา และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยที่กระจายอำนาจอีกครั้งหนึ่ง และตัวเลือกของประชาธิปไตยว่าจะเป็นประชาธิปไตย ‘แบบไหน’ ก็มาชัดเจนเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ว่าจะเป็นโลกประชาธิปไตยที่เดินบนเส้นทางของทุนนิยมเสรี
เราจะเห็นได้ว่าระบอบการเมืองระดับสากลแทบทุกระบอบเดินทางสู่ความล่มสลาย และสาเหตุของความล่มสลายนั้นก็มาจากตัวมันเองด้วย มาจากสิ่งที่มันเคยมองว่าเป็นความดีเป็นเสน่ห์ เป็นมนตราของตัวระบอบ โลกก็ดูจะหมุนวนอยู่กับระบอบการเมืองที่ ‘กระจายอำนาจ’ และ ‘รวมศูนย์อำนาจ’ สลับไปมา ประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีเอง ก็ไม่ต่างอะไรนักหรอกครับ เพียงแต่มันอาจจะยังไม่ถึงเวลานั้น เพราะอายุอานามของระบอบนี้ เมื่อเทียบกับระบอบอื่นๆ ที่ว่ามาข้างต้นแล้วก็ยังสั้นนัก อย่างไรก็ตามเราดูจะเห็นแนวโน้มของมันไม่น้อย เสียง ‘แคร็ก; ที่ดูจะมาจากรอยร้าวของการเริ่มผุแตกจากทั่วสารทิศ
ทุกวันนี้เราเห็นกระแสการมีอำนาจขึ้นมาอีกครั้งของฝ่ายขวา หรือฝ่ายอำนาจนิยม หลังจากที่ต้องอยู่เงียบๆ มาหลายทศวรรษ ต่างก็พร้อมหน้าพร้อมตากันออกมาสร้างพื้นที่ยืน หาแนวร่วม และให้คำสัญญาถึงทางเลือกและชีวิตที่ดีกว่าที่ทุนนิยมเสรีเคยให้ไว้ นับจากโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐอเมริกา, เทเรซ่า เมย์ที่สหราชอาณาจักร จนถึงสีจิ้นผิงของจีน ที่ประกาศตัวพร้อมเป็นผู้นำโลกคนใหม่แทนที่สหรัฐอเมริกา พลังของฝ่ายขวานี้เอง คือสิ่งซึ่ง “จะนำมาซึ่งความล่มสลายของโลกแก่เหล่าอเมริกันชนนั้น” ตามที่ชิเช็คว่าเอาไว้
ขณะที่ความขวาและอำนาจนิยมในเรื่องวันพีซ ดูจะถูกถ่ายทอดอย่างชัดเจนผ่าน ‘รัฐบาลโลก’ ที่นอกจากจะออกหน้าปกป้องประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อของ ‘ตลาดเสรี’ อย่างที่ทรัมป์ประกาศจะปกป้องคนอเมริกันจากแรงงานเสรีทั่วโลก (โดยที่คนที่สนับสนุนทรัมป์ก็อาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าการเลือกเพราะคำสัญญาว่าจะปกป้องพวกตน นั้น อาจจะนำมาซึ่งการทำลายอย่างไม่เหลือซาก) แล้วยังมองความเป็นไปของโลกผ่านกรอบวิธีคิดแบบอำนาจนิยม โครงสร้างแบบการทหาร ใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหา และรับใช้ ‘เผ่ามังกรฟ้า’ ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายขวาตกขอบสุดขั้วของเรื่องอีกต่างหาก แต่แน่นอนสำหรับเหล่าผู้พ่ายแพ้หรือไม่มีกำลังจะต่อสู้ในการแข่งขันของตลาดเสรี (แกรนด์ไลน์) แล้วนั้น พวกเขาย่อมอ้าแขนตอบรับคำหวานของผู้นำฝ่ายขวาอย่างรัฐบาลโลกแน่นอน
จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนจำนวนมากจะต่างดีใจ เฉลิมฉลองเมื่อกองทัพรัฐบาลโลกเอาชนะกลุ่มโจรสลัดหนวดขาว (1 ใน 4 จักรพรรดิทะเล) ลงได้ แม้ในสายตาของเราที่เป็นผู้อ่าน หรือในสายตาของเหล่าผู้แข่งขันในตลาดเสรีอย่างเหล่าโจรสลัดแล้ว การตายของหนวดขาวจะเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ แต่กับเหล่าผู้พ่ายแพ้ให้กับตลาดเสรีหรือแกรนด์ไลน์และตกเป็นเหยื่อของมนตราแห่งทุนนิยมเสรีตลอดเวลา อย่างคนธรรมดาทั่วไปในเรื่อง พวกเขาย่อมมองภาพเดียวกันนั้นต่างออกไป
ไม่ต่างจากที่คนฝ่ายประชาธิปไตยเสรีจำนวนมาก แทบจะร่ำไห้เมื่อผลประชามติของสหราชอาณาจักรออกมาว่าจะออกจากสหภาพยุโรป ไม่ต่างจากที่ฝ่ายลิเบอรัล แทบทั้งแผ่นดินสหรัฐอเมริกาถึงกับหงอยเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าทรัมป์ได้รับเลือก และก็ไม่ได้ต่างอะไรกับความละเหี่ยใจของเหล่าเสรีชนในไทยเวลาที่เห็นมาตรา 44 แล้วคอตก แต่ในขณะที่ฝั่งคนเชียร์ทหารก็ดีใจคอตั้ง ที่พูดนี้ไม่ได้จะว่าอะไรใคร แต่จะบอกว่าเราทุกคนต่างก็ดูจะตกเป็นเหยื่อกันทั้งนั้น ในทางใดทางหนึ่ง ของระบอบ กลไก และมนตราต่างๆ ที่พันเตกันไปหมดนี้เอง
ขอให้สนุกกับมังหงะนะครับ
Tags: มังงะ, วันพีซ, One piece, Slavoj Zizek, American Dream