“ผมรู้สึกกลวงโบ๋และว่างเปล่าเหมือนที่ว่างระหว่างดวงดาวทั้งหลาย”
—เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์, The Long Goodbye
ภาพยนตร์เรื่องโด่งดังจากยุคทองของฮอลลีวูด (ช่วงปี 1929-1959) ไม่ว่าจะเป็น The Maltese Falcon ของจอห์น ฮุสตัน (John Huston) หรือ The Big Sleep ของโฮเวิร์ด ฮอว์ก (Howard Hawks) ต่างก็สร้างมาจากงานจำพวกอาชญนิยาย (Crime Fiction) ที่แพร่หลายกันอยู่ในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘รหัสคดีบู๊’ (Hard-Boiled) ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านทั่วไปจนถึงปัญญาชน ในประเทศฝรั่งเศสงานเขียนแนวนี้เป็นที่รู้จักในชื่อของหนังสือปกดำ (Série noire) ที่ส่วนใหญ่เป็นงานแปลอาชญนิยายจากอเมริกาซึ่งเริ่มตีพิมพ์เผยแพร่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
ดังนั้นแล้ว ‘ความโดดเดี่ยว’ และ ‘แปลกแยก’ ของตัวละครในภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) เหล่านี้ จึงถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ได้รับการส่งทอดมาจากงานเขียนอาชญนิยายต้นฉบับ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อแรกที่งานรหัสคดีบู๊ตีพิมพ์ในสื่อที่จัดเป็นความบันเทิงราคาถูกเช่น นิตยสาร Black Mask ของ เอช. แอล เมงเคน (H.L. Mencken) กับ จอร์จ จีน เนธาน (George Jean Nathan) มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเรื่องราวลึกลับหักมุมที่ผสานฉากบู๊และอีโรติกสำหรับนักอ่านชาย ซึ่งโดยมากต้องการการเดินเรื่องฉับไวประหยัดถ้อยคำ
เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวการเขียนในเล่มก็ค่อยๆ แปลงเปลี่ยนไปมีบทบรรยายและลีลาในการเล่าเรื่องแปลกใหม่มากขึ้น ซึ่งว่ากันว่าเป็นผลอิทธิพลจากงานเขียนของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ริง ลาร์ดเนอร์ (Ring Larner) หรือเชอร์วูด แอนเดอร์สัน (Sherwood Anderson) ที่นักเขียนรหัสคดีบู๊เหล่านั้นได้อ่าน โดยบุคคลหนึ่งที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถางรหัสคดีบู๊ก็คือ ดาชีลล์ แฮมเมทท์ (Dashiell Hammett)
แฮมเมทท์ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญของต้นศตวรรษที่ 20 (เพียงแต่การมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นทำให้ชื่อของแฮมเมทท์ถูกลบออกจากทำเนียบวรรณกรรมอเมริกันในช่วงระยะเวลาหลายสิบปี) ด้วยความที่เขาเคยมีประสบการณ์ในสำนักงานนักสืบเอกชนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงอย่างพิงเคอร์ตัน (Pinkerton) ก็เลยทำให้เรื่องเล่าของเขามีความสมจริงยิ่งกว่านักเขียนคนอื่นๆ โดยเฉพาะบทสนทนาในงานของแฮมเมทท์นั้นต้องถือว่าถอดแบบมาจากคนเดินถนนจริงๆ จนไม่เกินเลยไปจากความจริงแต่อย่างใด หากจะพูดว่านักเขียนรหัสคดีบู๊ทั้งหลายล้วนเดินออกมาจากชายเสื้อคลุมของแฮมเมทท์
ดังที่เราทราบกันดีว่า ‘รหัสคดีแบบถุงมือขาว’ แต่เดิมนั้นมักเกิดเหตุภายในบ้าน ในห้อง หรือในพื้นที่จำกัดหนึ่งๆ ศพทั้งหลายเป็นเพียงอุปกรณ์ประกอบฉาก เป้าหมายของการอ่านนวนิยายประเภทนี้ก็คือการเดาว่าใครเป็นฆาตกร ซึ่งก็ทำให้หลายคนรวมเรียกนวนิยายทำนองนี้ว่า Whodoneit
แน่นอนว่าการสร้างปริศนาและเงื่อนงำนี้ทำให้นักสืบอย่างเชอร์ลอค โฮล์มกลายเป็นแม่แบบให้นักสืบอื่นๆ อีกมากมาย เพียงแต่แฮมเมทท์ได้เคลื่อนย้ายเอาปริศนาและเงื่อนงำต่างๆ ออกมาสู่โลกภายนอก โลกที่เราไม่สามารถไว้ใจใครได้ แม้แต่ผู้รักษากฎหมาย
ดวงตาเอกชนผู้โดดเดี่ยว
เรื่องสั้นชุดนักสืบ The Continental Op ของแฮมเมทท์ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร Black Mask ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นศักราชของรหัสคดีบู๊ งานชุดนี้ที่มีจำนวนมากถึง 36 ตอน บอกเล่าผ่านมุมมองของของนักสืบเอกชนที่มีชื่อรหัสว่า ‘คอนทิเนนทอล ออป’ มากกว่างานสืบสวนสอบหรือการชิงไหวชิงพริบกันก็คือการเปิดเผยให้เห็นด้านมืดดำภายในจิตใจมนุษย์ ความปลิ้นปล้อนหลอกลวง ซึ่งไม่อาจหาอ่านได้ในรหัสคดีแบบเดิม ตัวละครนักสืบ คอนทิเนนทอล ออป นี้เองต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของแซม สเปด (Sam Spade) ในนวนิยายเรื่องยอดเยี่ยมของแฮมเมทท์เอง หรือกระทั่งฟิลิป มาร์โลว์ (Philip Marlowe) ของเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) และไมค์ แฮมเมอร์ (Mike Hammer) ของมิคกี สปิลเลน (Mickey Spillane)
ความโดดเดี่ยวแปลกแยกได้ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในฉากบรรยากาศของรหัสคดีบู๊อย่างช้าๆ โดยนักเขียนผู้หนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านรู้จักและจดจำเอกลักษณ์ดังกล่าวได้ก็คือเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์กับตัวละครนักสืบเอกชนของเขาอย่าง ฟิลิป มาร์โลว์
แชนด์เลอร์เริ่มต้นการเขียนนวนิยายช้ากว่าคนอื่นๆ The Big Sleep นวนิยายเล่มแรกของเขากว่าจะได้ตีพิมพ์ก็เขาก็มีอายุย่างเข้าขวบปีที่ 50 ไปแล้ว
แชนด์เลอร์ทำอะไรก่อนหน้านั้น? ทราบกันว่าเขาใช้เวลาก่อนหน้านั้นเป็น 10 ปี เพื่อถอดรหัสและทำความเข้าใจศิลปะของรหัสคดีบู๊ แชนด์เลอร์ไม่เชื่อว่าผู้อ่านรหัสคดีเชิงบู๊จะสนใจแต่ฉากแอคชั่นอย่างเดียว ดังนั้นเขาจึงพยายามสร้างผลงานที่ก่อตัวขึ้นจากบทบรรยายและฉากบรรยากาศในเรื่อง
หากความเยี่ยมยอดของแฮมเมทท์อยู่ในบทสนทนา ความเยี่ยมยอดของแชนด์เลอร์ก็อยู่พรรณนาโวหารต่างๆ ที่เขาใช้ในเรื่อง การศึกษาที่ได้รับจากอังกฤษทำให้ภาษาของแชนด์เลอร์มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากภาษาอังกฤษที่ใช้กันโดยทั่วไป ถ้าพูดให้ง่ายก็เรียกว่าเป็นภาษาสวิงสวายสำหรับโลกอเมริกันชน
ความโดดเดี่ยวและแปลกแยกของฟิลิป มาร์โลว์ได้ถูกกล่าวขานถึงอย่างมากมาย เพราะไม่เพียงแต่เขาไม่มีผู้ช่วยหน้าห้องอย่างแซม สเปดแล้ว เขายังถือชีวิตแบบสันโดษ
ฟิลิป มาร์โลว์ ปรากฏตัวครั้งแรกในนวนิยาย The Big Sleep (1939) ด้วยบุคลิคเด่นๆ เช่น เป็นชายอายุประมาณ 30-40 ปี ชอบทำงานเพียงลำพัง สูบบุหรี่ตราอูฐ ดื่มดับเบิ้ลสก็อตช์วิสกี้แบบแก้วต่อแก้ว และชอบเล่นหมากรุกคนเดียว
The Big Sleep เกิดจากการรวมกันของเรื่องสั้น Killer in the Rain และ The Curtain ผ่านวิธีที่แชนด์เลอร์เรียกว่า กลืนกลาย (cannibalizing) โดยการนำเอางานเขียนชิ้นก่อนๆ มายำรวมกัน ซึ่งทางหนึ่งทำให้ The Big Sleep มีความสลับซับซ้อนกว่านวนิยายสืบสวนสอบสวนเชิงบู๊ทั่วไป ในขณะที่อีกทาง ก็ได้สร้างปัญหาที่ไม่มีคำตอบขึ้นมาด้วยเช่นกัน
กระทั่งเมื่อครั้ง The Big Sleep ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยโฮเวิร์ด ฮอว์กส์ ทีมเขียนบทที่มีวิลเลียม โฟล์กเนอร์ (William Faulkmer) นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมร่วมอยู่ในนั้นด้วย ได้พยายามคาดเค้นเอาคำตอบจากแชนด์เลอร์ว่า คนขับรถที่ตายในเรื่องแท้จริงแล้วเป็นฝีมือใครกันแน่? แชนด์เลอร์ก็ทำได้เพียงแต่ยักไหล่พลางตอบไปว่า “ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน”
การมีรักไม่ได้ทั้งในตอนจบของ The Big Sleep หรือกระทั่ง Long Goodbye นวนิยายที่ผสานรวมอัตชีวประวัติของแชนด์เลอร์เข้าไป ถือเป็นเครื่องตอกย้ำความโดดเดี่ยวของมาร์โลว์ที่สุดท้ายแล้วต้องอยู่อย่างเดียวดาย
ว่ากันว่ามาร์โลว์นั้นถึงขนาดเคยเป็นเข็มทิศชีวิตให้กับฮารุคิ มุราคามิ (Haruki Murakami) ในวัยหนุ่มดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนว่า “ฟิลิป มาร์โลว์อาจเป็นเพียงตัวละครในจินตนาการสำหรับเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ แต่สำหรับผมแล้วเขามีตัวตนอยู่จริง (…) ถ้าเลือกได้ผมก็อยากจะใช้ชีวิตแบบเดียวกับมาร์โลว์”
มนุษย์ไม่สังคมโลก
แบบประพฤติและวิถีปฏิบัติของตัวละครนักสืบเอกชนแบบมาร์โลว์นี่เองที่กลายเป็นแม่แบบให้แก่ตัวละครในอาชญนิยายและภาพยนตร์อาชญากรรมอีกจำนวนมากในกาลต่อมา (หรือแม้กระทั่งมุราคามิเอง) อย่างน้อยๆ ก็ในแง่ของการเลือกเป็น ‘มนุษย์ไม่สังคมโลก’ ที่ถึงแม้โดยวิชาชีพแล้วตัวละครเหล่านี้จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องแวะกับคน แต่สุดท้ายก็มักจะกลับมาใช้ชีวิตเพียงลำพังคนเดียว
ความโดดเดี่ยวของตัวละครในนวนิยายสืบสวนเชิงบู๊ยังคงผูกพันกับอารมณ์และความเหว่ว้าของสภาพบรรยากาศทางสังคม ความแกร่งของนักสืบในหลายครั้งจึงไม่ใช่แค่ต้องต่อสู้กับบรรดาอาชญากร มือกฎหมายสีเทา หรือความมืดดำในจิตใจคนสามัญ แต่กลับกลายเป็นความแข็งขืนยืนระยะ ไม่ใกล้ชิดผูกพันกับใคร เพราะไม่มีใครที่เราสามารถไว้ใจได้เลย
ในอาชญนิยายเกือบ 80% คำพูดของตัวละครหลายตัวแทบไม่มีความจริงปนอยู่เลย ตัวอย่างเช่น ตัวละคร บริจิต ใน The Maltese Falcon ซึ่งเราจะไม่รู้เลยว่าอันไหนที่เธอพูดจริงอันไหนหลอก และหากไว้ใจก็ต้องเจ็บปวดไม่ต่างไปจากตอนจบของนิยายที่แซม สเปดต้องเลือกให้ตำรวจดำเนินคดีกับบริจิต ผู้หญิงที่เขารัก ซึ่งฆ่าคู่หูของเขา ดังที่เขากล่าวกับบริจิตว่า “ผมต้องส่งตัวคุณให้ตำรวจ มีโอกาสที่คุณยังมีชีวิตรอด หมายความว่าคุณจะได้กลับออกมาก็เมื่อยี่สิบปีไปแล้ว คุณเป็นคนดี ผมจะรอคุณ… แต่ถ้าเขาแขวนคอคุณ ผมจะจดจำคุณไว้ตลอดไป”
อ้างอิง
- Dashiell Hammett, The Maltese Falcon, The Thin Man, Red Harvest, (New York: Everyman’s Library, 2000)
- Hard-boiled: An Anthology of American Crime Stories, edited by Bill Pronzini and Jack Adrian, (Oxford: Oxford University Press, 1995)