สำหรับคนที่ผ่านการเรียนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทย สิ่งหนึ่งที่ต้องได้พานพบเป็นประสบการณ์ร่วมกันก็คือ ‘กริยาสามช่อง’
ตารางกริยาเหล่านี้สร้างความปวดหัวให้กับผู้เรียนมาแล้วนับไม่ถ้วน เพราะในตารางนี้ประกอบด้วยกริยาที่ดันมีรูปอดีตและรูป past participle ผิดแผกไปจากกริยาส่วนใหญ่ นั่นคือ แทนที่จะเติม -ed ข้างท้าย กลับมีการเปลี่ยนแปลงพิสดารต่างๆ นานา (เช่น drink กลายเป็น drank และ drunk หรือ sweep กลายเป็น swept) หรือดื้อแพ่งไม่เปลี่ยนเสียอย่างนั้น (เช่น cut และ put)
แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้าฉันใด ในบรรดากริยาอปกติก็ยังมีตัวที่ผิดผีผิดประเวณีกว่าชาวบ้านชาวช่องฉันนั้น คือมีหน้าตาผิดเพี้ยนจากรูปปกติมาก เวลานั่งไล่อ่านกริยาสามช่องทีไร ต้องมาสะดุดใจว่าเป็นลูกบ้านอื่นที่ถูกเก็บมาเลี้ยงหรือเปล่า
หนึ่งในคำเหล่านี้ก็คือ go ที่พอเป็นรูปอดีตก็กลายร่างเป็น went นั่นเอง
สัปดาห์นี้ เราจะไปสำรวจกันตั้งแต่ว่า ทำไมเราถึงมีกริยาที่ผันผิดปกติในกริยาสามช่อง ไปจนถึงว่า ทำไมรูปอดีตของ go จึงเป็น went ได้
แกมันผิดปกติ!
กริยาที่อยู่ในกริยาสามช่อง มีชื่อทางการคือ กริยาอปกติหรือ irregular verb หมายถึง กริยาที่รูปอดีตหรือ past participle ไม่ได้เกิดจากการเติมท้ายด้วย -ed อย่างกริยาส่วนใหญ่
หากเราอยากเข้าใจจุดเริ่มต้นของความผิดปกตินี้ ก็จะต้องย้อนอดีตกลับไปในยุคภาษาอังกฤษเก่า (Old English) ราว 1,200 ปีที่แลัว
ในสมัยนั้น ภาษาอังกฤษอาศัยการผันคำเยอะกว่าในปัจจุบันมาก เช่น เวลาจะใช้นามคำหนึ่ง นอกจากจะต้องผันเพื่อให้รู้ว่าเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ ยังต้องผันเพื่อบอกว่านามที่ว่าเป็นประธาน กรรม หรือใช้แสดงความเป็นเจ้าของด้วย
เท่านั้นไม่พอ เวลาเอาคำสองคำมาวาง แค่ขึ้นชื่อว่าเป็นนามหรือกริยาเหมือนกันก็ไม่ได้แปลว่าจะผันเหมือนกัน ต้องดูด้วยว่านามหรือกริยานั้นอยู่ในกลุ่มไหน ต่างกลุ่มก็ผันต่างแบบกัน
กริยาในยุคนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ strong verbs และ weak verbs
กลุ่ม strong verbs คือ กลุ่มที่สร้างรูปอดีตและ past participle ด้วยการเล่นท่ายาก นั่นคือมีการเปลี่ยนเสียงสระในคำ (กระบวนการนี้เรียกว่า ablaut หรือ gradation) ตัวอย่างเช่น sing ที่กลายเป็น sang และ sung และ speak ที่กลายเป็น spoke และ spoken
กริยากลุ่มนี้นี่เองที่เป็นที่มาของกริยาสามช่องที่ยังความวายป่วงมาสู่ผู้เรียนภาษาอังกฤษทุกหนแห่ง อีกทั้งยังเป็นกลุ่มกริยาที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นกริยาพื้นฐานที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน
ส่วนอีกกลุ่มคือ weak verbs กลุ่มนี้ส่วนใหญ่สร้างรูปอดีตและ past participle ได้โดยไม่เปลี่ยนเสียงสระให้ยุ่งยาก แต่ใช้การเติม suffix หรือส่วนเติมท้าย ซึ่งท้ายที่สุดวิวัฒนาการจนมาเป็น -ed อย่างที่เราเห็นท้ายกริยาส่วนใหญ่ เช่น คำว่า play กลายเป็น played และ love กลายเป็น loved เป็นต้น
แล้วสรุปเกิดอะไรขึ้นกับ go
มาถึงจุดนี้ ก็จะสังเกตว่าลักษณะการผันแบบเปลี่ยนเสียงสระใน strong verbs และการเติมส่วนเติมท้ายใน weak verbs ไม่น่าแปลงโฉม go จนกลายเป็น went ได้เลย ถ้าเอา went มาวางเทียบกับ go, goes, going, และ gone ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันแล้ว ยังไงก็ยังดูเป็นเด็กที่เก็บมาเลี้ยงชัดๆ ไม่ได้เค้ามาจากพ่อแม่แต่อย่างใด แล้วสรุปเกิดอะไรขึ้นกันแน่
คำว่า go ที่หมายถึง ‘ไป’ ในภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า gan ในภาษาอังกฤษเก่า จัดเป็นกริยาผิดปกติมาตั้งแต่สมัยภาษาอังกฤษเก่า เพราะไม่ได้อยู่ทั้งในกลุ่ม strong verbs และ weak verbs มีรูปอดีตคือ eode ซึ่งผิดแผกจาก go ไปมาก
แต่ในสมัยนั้น ยังมีอีกคำมีความหมายใกล้ๆ กัน คือ wendan หมายถึง ‘ไป’ เช่นกัน (คำนี้เป็นที่มาของคำว่า wend ในปัจจุบัน เช่นในประโยค We wended our way through the traffic. หมายถึง เราค่อยๆ เดินทางฝ่ารถติด) คำนี้เป็น weak verb และมีรูปอดีตคือ wende
คนยุคนั้นใช้สองคำนี้ขนานกันมาเรื่อยๆ จนมาถึงในสมัยภาษาอังกฤษกลาง ด้วยความที่ go และ wend มีความหมายใกล้กัน จึงเริ่มมีภาษาถิ่นที่ใช้ go และ wend ปะปนกัน
ไปๆ มาๆ eode ที่เป็นรูปอดีตเดิมของ go ก็เริ่มหมดความนิยมไป คล้ายๆ โซนี่วอล์คแมนจากยุค ’90
ในช่วงที่เริ่มเกิดสุญญากาศนี้ wende ซึ่งเป็นรูปอดีตของ wend และมีความหมายใกล้เคียงก็แทรกซึมเข้าสู่ครอบครัว go เสมือนหนึ่งโรคฉวยโอกาส จนท้ายที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลนี้มาจนถึงทุกวันนี้ในรูป went นั่นเอง
มีคำอื่นอีกไหมที่เป็นแบบนี้
กระบวนการที่รูปจากตระกูลหนึ่งกลายไปเป็นสมาชิกของอีกตระกูลหนึ่งแบบนี้ ทางภาษาศาสตร์เรียกว่า suppletion
ในภาษาอังกฤษ เรายังมีตระกูลที่ผ่านกระบวนแบบนี้มาอีก เช่น be ซึ่งเกิดจากอย่างน้อยสามตระกูลมารวมกัน (be/been มาจากกริยา beon, is/am/are มาจากราก *es, ส่วน was/were มาจากกริยา wesan)
นอกจากกริยาแล้ว ปรากฏการณ์แบบนี้ยังเจอในคำคุณศัพท์ด้วย เห็นได้ชัดในรูปขั้นกว่าและขั้นสุดที่หน้าตาต่างจากคำต้น เช่น good-better-best (คำแรกมาจากคำคุณศัพท์ god ในภาษาอังกฤษเก่าส่วนสองคำหลังมาจากอีกตระกูลหนึ่ง) และ bad-worse-worst (คำแรกมาจาก bæddel ส่วนสองคำหลังมาจากอีกตระกูล)
บรรณานุกรม
- http://www.etymonline.com
- Algeo, John, and Thomas Pyles. The Origins and Development of the English Language. 5th ed. Thomson Wadsworth: Massachusetts, 2005.
- Crystal, David. The Stories of English. Penguin Books: London, 2005.
- Denning, Keith, Brett Kessier, William R. Leben. English Vocabulary Elements. OUP: Oxford, 2007.
- Freeborn, Dennis. From Old English to Standard English: A Course Book in Language Variation across Time. Palgrave Macmillan: London, 2006.
- Lerer, Seth. Inventing English: A Portable History of the Language. Columbia University Press: New York, 2007.
- Shorter Oxford English Dictionary
- Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.