คุณหัวเราะร่วมกับคนแปลกหน้าล่าสุดเมื่อไร ?

ตอนดูภาพยนตร์ตลกในโรงภาพยนตร์ หรือตอนดูรายการโทรทัศน์ระหว่างรออาหารในร้านอาหารตามสั่ง

แต่เราหัวเราะคิกคักครั้งล่าสุดพร้อมกับคนหลากหลายเชื้อชาติต่อหน้านักแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้บนเก้าอี้ธรรมดาในพื้นที่ ‘คอเมดี้คลับ’ ที่ซ่อนตัวอยู่แถวพร้อมพงษ์

ยืนขึ้นเพื่อเรียนรู้ที่จะขำกับ Stand-Up Comedy

Stand-Up Comedy เป็นศาสตร์การเล่าเรื่องตลกขบขันและมุกตลก นักแสดงที่ทำการแสดงอาจใช้ท่าทาง อุปกรณ์ หรือเสียงเพลงเพื่อช่วยในการประกอบการเล่าเพื่อเรียกเสียงฮาของผู้ชม โดยเล่าผ่านเครื่องขยายเสียงอย่างไมโครโฟน นอกจากจะทำให้ผู้ชมหัวเราะแล้ว มันยังพาเราเข้าถึงการมองโลกของผู้แสดง รวมถึงสะท้อนให้เห็นอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ

ถ้านึกถึง Stand-Up Comedy ต้องไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งวัฒนธรรมความฮาที่ซุกซ่อนอยู่แทบทุกมุมถนน อยู่ตามผับ บาร์ หรือสถานที่ที่เราคิดไม่ถึง เรื่องราวที่แสนฮากระทบเสียดสีมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือแม้กระทั่งเรื่องการเมือง ต้องเรียกว่าเป็นมหรสพสร้างความขบขันที่เข้าถึงได้ง่ายดายในช่วงเย็นของวันธรรมดาและวันหยุด รวมทั้งเป็นกระจกสะท้อนสังคมในช่วงเวลาที่เสียงฮาดังขึ้น

ต้นตอสแตนด์อัปคอเมดี้ในสหรัฐฯ

จุดเริ่มต้นของการแสดงที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ถือว่าการเดี่ยวไมโครโฟนงอกงาม มีการผสมผสานการแสดงที่หลากหลาย คือการที่มาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักเขียนซึ่งมักเดินทางไปบรรยายตามที่ต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาสร้างความตลกขบขัน และการเดินทางไปพูดของเขาก็กลายเป็นรากฐานสำคัญของเดี่ยวไมโครโฟน ในขณะที่อีกการแสดงที่ปรากฏในหนังสือ 16 ปีแห่งความโดดเดี่ยว บอกเล่าว่าการแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้เริ่มต้นมาจากการแสดงที่ชื่อ Minstrel Show การแสดงแสนป็อปที่ประกอบด้วย 3 ช่วงเรียงลำดับกัน ได้แก่ ช่วงร้องรำทำเพลง เล่าเรื่องขำขัน จบด้วยละครสั้นปิดท้าย

จุดเด่นของการแสดงนี้คือ ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีอะไร เมื่อทำการแสดงจะทาหน้าดำสนิท และเนื้อหาของโชว์มักเน้นล้อเลียนคนผิวสี จนถึงช่วงที่ชาวผิวสีเริ่มเรียกร้องสิทธิและบทบาททางการเมืองมากขึ้น ทำให้ Minstrel Show ค่อยๆ เสื่อมความนิยมไป แต่การเล่าเรื่องขบขันกลับไปผสมผสานกับการแสดงรูปแบบอื่นๆ

หลังจากนั้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็บอกว่า Vaudeville (อ่านว่า วอ-ดะ-วิล) เป็นการแสดงที่ทรงอิทธิพลต่อ  สแตนด์อัปคอเมดี้ในช่วงต่อมา Vaudeville คือการแสดงที่เอาทั้งละคร ดนตรี การเต้นรำ มายากล กายกรรม และการเล่าเรื่องตลกของ Minstrel Show มารวมกัน การแสดงที่รวมเอาความบันเทิงหลากหลายชนิดนี้ครองใจผู้บริโภคศิลปะ โดยเฉพาะช่วงการเล่าเรื่องตลกด้วยการพูดคนเดียว

แต่อะไรก็ไม่แน่นอน ในช่วงปี 1920 โรงละครอลังการที่เคยมีไว้เปิดการแสดง Vaudeville ที่เคยมีคนแน่นขนัดก็เริ่มบางตาลง และค่อยๆ ทยอยปิดตัว เนื่องจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่นำความบันเทิงมาด้วยอย่างวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงภาพยนตร์ที่คนอเมริกันเลือกที่จะเสพมากกว่า เคราะห์ดีที่แม้ว่าการแสดงจะหายไป แต่มันก็ได้หว่านเมล็ดพันธุ์จนเกิดดาวตลกระดับตำนานจำนวนมาก พวกเขาปรับตัวหันไปหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อแสดงในสิ่งที่ถนัด หลงเหลือเพียงการแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้ หรือเดี่ยวไมโครโฟน

การแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้เริ่มต้นมาจากการแสดงที่ชื่อ Minstrel Show การแสดงแสนป็อปที่ประกอบด้วย 3 ช่วงเรียงลำดับกัน ได้แก่ ช่วงร้องรำทำเพลง เล่าเรื่องขำขัน จบด้วยละครสั้นปิดท้าย

ในปี 1950 สแตนด์อัปคอเมดี้เริ่มมีสไตล์ที่ชัดเจน รูปแบบการแสดงคล้ายคลึงกับในปัจจุบัน นักแสดงเล่าเรื่องตลกพร้อมเล่นกับคนดู มีไมโครโฟนหนึ่งตัวขยายเสียงให้ผู้ชมได้ยินอย่างทั่วถึง เมื่อเวลาผ่านไปการแสดงนี้ก็เริ่มมีพื้นที่มากขึ้น มันไปปรากฏบนวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงตลกหลายคนยังก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เรียกว่าเกิดช่องทางใหม่ๆ ที่ทำให้ศิลปะแขนงนี้แพร่หลายมากขึ้น

ปัจจุบันผู้ชมสามารถเลือกรับชมผ่านเน็ตฟลิกซ์ หรือวิดีโอในยูทูบ ในสหรัฐอเมริกาเองก็เกิดโรงเรียนสอนสแตนด์อัปคอเมดี้เพื่อป้อนเด็กใหม่เข้าสู่วงการ รวมถึงไนต์คลับที่หันมาสนับสนุนอย่างเต็มตัวด้วยการเปิดเวทีให้ทดสอบฝีปากแสดงต่อหน้าผู้ชมจริง นอกจากนี้ยังสามารถลองเล่นบนเวทีที่ใหญ่กว่าด้วยการสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลสแตนด์อัปคอเมดี้ที่มีอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น HBO’s U.S. Comedy Arts Festival ในสหรัฐฯ Just for laughs ในแคนาดา Edinburgh Fringe ในสกอตแลนด์ และ Comedy Festival ในเมลเบิร์น เป็นต้น

จุดเริ่มต้นสแตนด์อัปคอเมดี้ในเมืองไทย

หากจะพูดถึงสแตนด์อัปคอเมดี้ในไทย ชื่อของ ‘โน้ต-อุดม แต้พานิช’ กลายเป็นโลโก้ของวงการนี้ไปแล้ว เขาเริ่มต้นการแสดงเดี่ยว 1 ครั้งแรกในปี 1995 หลังจากนั้นกระแสของสแตนด์อัปคอเมดี้ในไทยก็เริ่มมาแรง มีการแสดงของ น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ในชื่อ The Naked Show การแสดง One Man Show ของพิง ลำพระเพลิงรวมไปถึง Chris Unseen ของอาจารย์คริส เดลิเวอรี่

หากลองนึกย้อนกลับไปแม้จะมีการแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้หลายเจ้า แต่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จครองใจผู้ชมเสมอไป ยิ่งในช่วงหลังที่กระแสการเมืองร้อนระอุ นักแสดงหลายคนเริ่มอิ่มตัว และด้วยความที่ผู้ชมค่อนข้างเฉพาะกลุ่มก็ทำให้การแสดงเรียกเสียงหัวเราะค่อยๆ หายไปจนเหลือเพียงการแสดงของโน้ต-อุดม ที่ยังเป็นมหรสพที่หลายคนรอคอย

ปัจจุบันและอนาคตของการแสดงเรียกเสียงหัวเราะ

ในช่วงหลังปรากฏนักแสดงสแตนด์อัปคอมเมดี้หน้าใหม่หลายคน หนึ่งในนั้นคือ ยู-กตัญญู สว่างศรี และบีเบนซ์-พงศธร ธิติศรัณย์

2-3 ปีที่เราทำสแตนด์อัปคอมเมดี้มา เริ่มมีคนอยากเล่นเพิ่มมากขึ้น ก็ดีนะ เรารู้สึกคึกคัก ก่อนหน้านี้มันกลายเป็นของน่ากลัว จะทำได้เหรอ ทำแล้วมีโอกาสเฟลสูง เพราะมันเป็นการเล่นคนเดียว คนก็จะรู้สึกว่าไม่ตลกเมื่อเทียบกับพี่โน้ต ที่เขาทำไว้สุดยอดมาก

“ด้วยความที่ไม่ค่อยมีเวทีเปิดให้คนรุ่นใหม่ คนดูเลยคาดหวังในระดับสุดยอดไว้เสมอ จริงๆ แล้วเหมือนกับดนตรี ที่ยังต้องมีเวทีเล็กๆ ให้ทดสอบ พิสูจน์ตัวเองก่อนจะเป็นสุดยอดวงดนตรี แต่สแตนด์อัปคอเมดี้มันไม่มีเวทีประเภทนั้น มีแต่เวทีที่สุดยอดไปเลยกับคนที่อยากสุดยอดไปเลย ตั้งแต่เราทำมาเริ่มเห็นโอกาสแล้วว่าสามารถมีเวทีเล็กๆ ที่คนเปิดใจ แล้วก็ให้โอกาสคอมเมเดี้ยนหน้าใหม่ค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้น” ยูให้ความเห็นเรื่องสแตนด์อัปคอเมดี้ในเมืองไทย

สิ่งที่เขากำลังทำภายใต้ชื่อแบรนด์ Akatanyu คือสร้างโอกาสให้คนที่อยากเล่นสแตนด์อัปคอเมดี้มีเวทีในการปล่อยของมากขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลา พลัง และเงินทุน เมื่อเราถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้สแตนด์อัปคอเมดี้เข้มแข็งและเติบโตในไทย ยูนิ่งไปสักนิดก่อนตอบว่า “ถ้าพูดกันแบบไวๆ นะ เราว่ามีคนเล่นเพิ่มขึ้น มีสถานที่เล่น มีคนดู มีสปอนเซอร์ จบละ เพราะว่ามันไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตั๋วในช่วงแรก แต่ว่าในอนาคตมันควรจะอยู่ได้ด้วยค่าตั๋ว ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากอยู่ดี ถ้าเอาง่ายๆ ตอนนี้คือมีคนดู ผู้สนับสนุน มีคนเล่น และมีพื้นที่ให้ผลงานมันแสดงออก”

แล้วถ้าทำเป็นอาชีพแบบเลี้ยงตัวเองได้ ยู-กตัญญู มองว่า “สำหรับเรา ตอนนี้ยังไม่ได้ จริงๆ มันควรจะเลี้ยงได้ด้วยคนซื้อตั๋วมาดูงาน ถ้าคุณมีโชว์ทุกเดือน ได้ทัวร์ไปตามต่างจังหวัด แต่ละเดือนคุณมีคนซื้อตั๋วมากพอที่จะหล่อเลี้ยงตัวคุณ แล้วคุณมีคอนเทนต์ที่จะเอาไปขายต่อได้ มีแพลตฟอร์มที่ซื้อไป เราว่าอันนั้นอยู่ได้ แต่ตอนนี้ห่างไกลจากที่คิดไว้มาก ถ้าจะจัดครั้งหนึ่ง ต้องใช้เงินเท่าไร อย่าลืมว่าค่าตั๋วก็ไม่ได้แพงมาก นอกจากจะมีความเป็นซูเปอร์สตาร์แบบพี่โน้ต อยู่ได้สบายอยู่แล้ว” กตัญญูให้ความเห็นในมุมมองของคนทำธุรกิจ

ในขณะที่บีเบนซ์-พงศธรมองอีกแง่ว่า “ถ้ามีงานจ้างเดือนละครั้งสองครั้ง มีพบปะมีตติ้ง มีการบริหารจัดการดีๆ เราว่าอยู่ได้ แต่ถามว่าทำปีละครั้งเหมือนพี่โน้ตอยู่ได้ไหม ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ คนเล่นเดี่ยวมันทำได้หลายอย่างนะ เล่นละครก็ได้ ไปเล่นตามสตรีตโชว์ก็ได้ หรือกระทั่งไปทำพิธีกรก็ได้ มันเหมือนกับทักษะอย่างหนึ่งที่ทำได้หลายอย่าง”

แล้วมันจะกลายเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมในวงกว้างได้อย่างไร ยู-กตัญญูให้ความเห็นว่า “แนวโน้มของข้อมูลหรืออินเทอร์เน็ตที่เข้ามาจะเปลี่ยนแปลงการรับรู้ คอนเทนต์จะมีลักษณะเฉพาะทาง และค่อยๆ แข็งแรงในกลุ่มของเขาเอง สแตนด์อัปคอเมดี้ก็เป็นกลุ่มคอนเทนต์ที่นีช (Niche) ประมาณหนึ่ง ถ้าถามว่ามันจะไปแมสเมื่อไร อันนี้เราตอบไม่ได้ แต่วันหนึ่งมันคงเกิดขึ้น คงมีซูเปอร์สตาร์หน้าใหม่ เหมือนอย่างพี่โน้ต-อุดม อีก 2-3 คน แต่ว่าเมื่อไรก็ไม่แน่ใจ เราได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อยๆ มันก็ต้องใช้เวลา เรื่องนี้มันต้องหาคนที่เก่งมากทะลุขึ้นมา หรือว่าสร้างพื้นที่ หรือมีวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่แข็งแรงพอที่จะทำให้มันเกิดขึ้น”

ส่วนเสน่ห์ของการแสดงชนิดนี้ ยู-กตัญญูบอกว่า ความสนุกเหมือนการติดตามชีวิตของศิลปินคนหนึ่ง เขาเป็นอย่างไร ชีวิตเขาเป็นแบบไหน เพราะบางครั้งการดูสแตนด์อัปไม่ได้แค่ดูศิลปินขึ้นไปเล่น แต่ดูว่ามีมุมมองต่อความเจ็บปวด หรือเรื่องเลวร้ายมาทำให้สนุกได้อย่างไร

นอกจากการนี้ยังเป็นศิลปะการพูดที่สะท้อนสิทธิแสดงความคิดเห็น “รู้สึกว่าขอบเขตของการพูดมันจะขยายได้ด้วยเรื่องตลก มันคือการบ่อนเซาะอำนาจ เวลาที่ใครสักคนมีอำนาจมากๆ แล้วเราทำอะไรไม่ได้ เราแค่หัวเราะใส่เขา หรือล้อเขา ซึ่งมันเป็นแค่อำนาจที่เราสามารถที่จะทำได้ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่ว่าคอเมเดี้ยน ไม่ได้ทำหน้าที่บ่อนเซาะอำนาจอย่างเดียว เพราะมันก็แล้วแต่คนจะเลือกว่าจะไปเล่นเรื่องครอบครัว เล่าเรื่องตัวเอง เรื่องการเมือง อย่างในต่างประเทศก็จะมีตลกที่เล่นเรื่องเหยียดเพศ เหยียดผิว เรื่องคนอพยพ คือมีประเด็นหลากหลายมากให้พูดถึง”

“อยากให้มีคนดูเยอะขึ้น คนเล่นมากขึ้น  เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่คนเลือกดูได้แบบประจำ มีโรงละครขนาดกำลังดีสำหรับที่จะให้คนหน้าใหม่ได้เล่น เป็นโชว์ดีๆ ที่คุณมาดูเพื่อบันเทิง ผ่อนคลาย จ่ายเงินกับมัน แล้วก็ผู้เล่นใหม่ที่น่าสนใจ เสียงใหม่ๆ ที่ถูกเล่า เล่นตลกด้วยวิธีที่แตกต่าง ขอแค่คนดูเปิดใจและสนุกไปกับมัน” ยู-กตัญญูกล่าวทิ้งท้าย

ทางเลือกของเสียงหัวเราะ

บนชั้น 3 ของผับ The Royal Oak ย่านพร้อมพงษ์ เป็นที่ตั้งของ The Comedy Club Bangkok คลับสแตนด์อัปคอเมดี้ที่เล่นเป็นภาษาอังกฤษ โดยนักแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้มืออาชีพ ผ้าม่านสีแดง โลโก้ของคลับที่อยู่บนพื้นหลังฉากสีดำ เก้าอี้รายล้อมเวที นี่คืออีกที่ในกรุงเทพฯ ที่ทำให้สแตนด์อัปคอเมดี้มีชีวิต

คริส วีโกดา (Chris Wegoda ) และ ดรูว แมคครีดี (Drew Mccreadie) หุ้นส่วนคลับ และนักแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้มากประสบการณ์ เล่าว่าคลับนี้เริ่มเปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2014 คลับของพวกเขามีคนดูส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทย ผู้ชมมีหลากหลายทั้งเชื้อชาติ สีผิว เรียกว่ามาจากทุกที่ พวกเขามีลูกค้าเป็นคนไทยเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียงโชว์ของอาจารย์คริส เดลิเวอรี่เท่านั้นที่เป็นภาษาไทย

“โชว์ของเราเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้คนไทยคิดว่ามาดูจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าได้มาดูจริงๆ พวกเขาจะเข้าใจนะ อาจจะไม่ทั้งหมด แต่เราว่าประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็เพียงพอแล้วที่จะหัวเราะ” ดรูวบอกกับเรา

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการแสดงในเมืองไทยกับต่างประเทศ คริสบอกว่า “ที่นี่มีคนดูหลายเชื้อชาติ อังกฤษ อเมริกา แคนาดา หรือจากเคนยา อินเดีย ก็มี แต่ละคนมีพื้นเพชีวิตไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ คนชอบที่จะหัวเราะ คุณจ่ายเงินมาที่นี่เพื่อหัวเราะ มีเรื่องราวที่จะอยากจะแชร์ เราอาจเล่นตลกเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เช่น รถติด บีทีเอส หรือเรื่องทั่วไปอย่างแฟนของคุณ เรื่องเซ็กซ์ เป็นต้น คุณอยากให้คนดูหัวเราะไปกับสิ่งที่คุณรู้สึกหรือมุมมองต่อเรื่องนั้นๆ”

ทั้งคู่มองว่าสแตนด์อัปคอเมดี้ในเมืองไทย มีสไตล์ที่เน้นเรื่องเล่าตลกขบขันมากกว่าที่จะตบมุกทันที และวงการนี้ก็กำลังกำลังเติบโต มีบาร์ที่เปิดการแสดงเดี่ยวที่ถนนข้าวสาร และมีโปรดิวเซอร์ที่ทำโชว์ทุกสองเดือนจัดขึ้นที่โรงแรมในกรุงเทพฯ เพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรมของความสนุกสนาน พวกเขาเชื่อว่าคนไทยจะหัวเราะจากการแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้เพิ่มมากขึ้น

 

 

อ้างอิง:

Fact Box

Tags: , , , , , ,