‘เสียงช่วยเพิ่มความเสียว’ ความเข้าใจนี้นำไปสู่การ ‘ครางหลอกๆ’ ของนักแสดงหนังโป๊ เพื่อเพิ่มอรรถรสและกระตุ้นอารมณ์ผู้ชม แต่แท้จริงแล้วในหนังโป๊ยังมีเสียงอื่นๆ อีกมากมายที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยเร้าอารมณ์ทางเพศโดยที่ผู้ชมอาจไม่รู้ตัว
ในโลกวิชาการ หนังโป๊หรือหนังผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิงที่ถูกศึกษาผ่านเลนส์แห่งศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่สามารถศึกษาได้หลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ ‘มานุษยวิทยาเสียง’
ในงาน ‘ประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68’ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 7-9 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีงานศึกษาปรากฏการณ์ในโลกสมัยใหม่ที่หยิบยกมาเล่าสรุป บรรยายให้กับผู้ที่สนใจ และหนึ่งในนั้นคือหัวข้อของ อานันท์ นาคคง อาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาเรื่อง มานุษยวิทยาเสียงหนังโป๊ (The Sonic Anthropology of Pornography)
หนังโป๊หรือหนังผู้ใหญ่เป็นประเภทของหนังที่มุ่งเน้นถ่ายทอดความสัมพันธ์ทางเพศ ทำหน้าที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้กับผู้ชม ซึ่งในชีวิตจริงการมีเซ็กซ์ไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงเพียงแค่สัมผัสแล้วสอดใส่ เซ็กซ์เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยแรงขับภายใน และแรงขับทางเพศเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ละคนมีไม่เท่ากันและถูกกระตุ้นต่างกัน เพราะฉะนั้นโจทย์ของหนังโป๊คือ จะทำอย่างไรให้คนดูร้อยพ่อพันแม่มีอารมณ์ (ทางเพศ) ร่วมกัน เราจึงเห็นหนังโป๊ที่มีเรื่องเล่าหลากหลายให้เลือกชมตามรสนิยมของเรา ซึ่งแกนหลักของหนังต้องอัดแน่นไปด้วยด้วยฉากสถานการณ์ชวนสยิวแล้วไต่ระดับไปยังจุดไคลแม็กซ์
สำหรับผู้ชมที่ดูหนังโป๊แบบปิดเสียงด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ อาจมองว่าสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์มีเพียงภาพฉากสัมพันธ์สวาทอันร้อนแรง แต่ความจริงยังมีบทสนทนาที่พาให้คนดูคล้อยตาม แล้วยังมีเสียงประกอบอีกหลายเสียงที่คอยชักใยให้เคลิบเคลิ้มไปกับสถานการณ์ในเรื่อง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อช่วยสร้าง ‘ความรู้สึกสมจริง’ และกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกทางเพศของผู้ชม
งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า หนังโป๊แทบไม่มีบท แต่ ‘เสียง’ คือบทจริง’ เพราะเสียงทำหน้าที่เล่าเรื่อง (Narrative Driver) ช่วยบอกว่าตัวละครรู้สึกอะไร อยู่ตรงไหน ไปถึงจุดไหน โดยเฉพาะในฉากที่ไร้บทพูด เสียงจึงเป็นสื่อกลางของอารมณ์ทั้งหมด
อาจารย์อานันท์ศึกษาและแยกประเภทเสียงในหนังโป๊ไว้เป็น 4 กลุ่มได้แก่
– เสียงสดระหว่างประกอบกามกิจ (Sexual Activity Sound) คือเสียงบันทึกจากกิจกรรมจริง หรือเสียงจากการแสดง (Vocal Performance)
– ภูมิทัศน์เสียงโป๊ (Erotic Soundscape) คือเสียงบรรยายที่เกิดขึ้นในสถานที่ถ่ายทำ รวมถึงเสียงที่ถูกออกแบบควบคุมเพื่อให้ฉากนั้นดูสมจริง
– เสียงประดิษฐ์ (Foley Sounds/ Sonic Fabrication) เป็นเสียงที่สร้างขึ้นในขั้นตอนหลังการผลิต (Post-production) ที่เสียงจะถูกปรับระดับ ใส่เอฟเฟกต์ ตัดต่อ ผสมให้มีความสมดุล เพื่อสร้างประสบการณ์โสตสัมผัสที่ดึงดูดและกระตุ้นอารมณ์
– เสียงเพลงดนตรีประกอบ (Music & Song) เป็นดนตรีประกอบที่ใส่เข้ามาภายหลังเพื่อสร้างบรรยากาศ เพิ่มสุนทรียภาพ และกลบบางเสียงที่หนังไม่ต้องการให้ได้ยิน
อย่างไรก็ตามขอบเขตของงานศึกษาชิ้นนี้เป็นงานศึกษาเสียงในหนังโป๊ ที่นักแสดงนำเป็นชายหญิงเป็นสำคัญ และการบรรยายในครั้งนี้พูดถึงเฉพาะเรื่องโครงสร้างและองค์ประกอบของเสียงในหนังโป๊
เสียงที่สร้างกับร่างทั้งสอง
ในชีวิตจริง ช่วงเวลาหฤหรรษ์มักเต็มไปด้วยเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายสอดแทรกเข้ามาขณะร่วมรัก ทั้งเสียงของเนื้อที่สัมผัสกระทบกัน เสียงของการสอดประสานระหว่างอวัยวะหนึ่งกับอีกอวัยวะหนึ่ง ล้วนเป็นเสียงที่มีเอกลักษณ์และปลุกเร้าอารมณ์ แต่สำหรับหนังโป๊แล้ว เสียงสดระหว่างประกอบกามกิจ (Sexual Activity Sound) ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเทคนิคต่างๆ ตราบใดที่นักแสดงไม่ได้มีเซ็กซ์กันจริงขณะถ่ายทำ
โดยเสียงในหนังโป๊ขณะร่วมรักมีทั้งเสียงที่อัดมาจริงจากบรรยากาศตอนถ่ายทำ และมีเสียงที่ถูกเสริมเติมแต่งเข้ามาทีหลังในกระบวนการตัดต่อ และเสียงที่เทคโนโลยีสร้างขึ้นมาบางเสียงอาจเป็นเสียงหูมนุษย์จริงๆ อาจไม่เคยได้ยินเสียด้วยซ้ำ
“เสียงเตียงที่สั่นไปตามความเร่งเร้าและพลังของชายหนุ่ม เสียงเสียดสี เสียงน้ำอสุจิกระฉอก ซึ่งจริงๆ คุณอาจจะไม่ได้ยิน แต่หนังโป๊ทำได้ รวมถึงเสียงของเซ็กซ์ทอยทุกรูปแบบ” อาจารย์อานันท์กล่าว
นอกจากเสียงบรรยากาศหรือแอมเบียนต์ (Ambient) ที่ใส่เข้ามาทีหลัง เพื่อกลบหรือลดทอนเสียงจากภายนอกเช่นเสียงรถวิ่งผ่าน เสียงห้องข้างๆ หรือแม้แต่เสียงหายใจ
“หนังโป๊ส่วนใหญ่มักเป็นหนังทุนต่ำ เวลาบันทึกเสียงจึงมีเสียงที่ไม่น่าอภิรมย์ในการเสพเข้ามา จึงจำเป็นต้องสร้างแอมเบียนต์อีกแบบหนึ่ง เพื่อช่วยสร้างอารมณ์ กระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้ผู้ชม”
ทั้งนี้บรรดาเสียงที่สร้างขึ้นมาเหล่านี้อาจถูกจริตหลายคน ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ชมที่แตกต่างกัน บางคนอาจรู้สึกถูกกระตุ้นจากเสียงเหล่านี้ ขณะที่บางคนอาจรู้สึกว่าเกินจริง เพราะในเรื่องของการมีเซ็กซ์ เสียงก็มีบทบาทพอๆ กับจินตนาการ
ครางจริงหรือครางหลอก เมื่อผู้กำกับบอกให้ครางดังๆ
ผู้มีประสบการณ์ทางเพศมักกล่าวว่า การร่วมเพศในชีวิตจริงผู้หญิงจะครางด้วยเสียงอีกโทนหนึ่งที่ต่างจากในหนังโป๊ เสียงครางของนักแสดงหญิงในหนังโป๊เป็นเสียงที่ไม่ได้เกิดจากการปลดปล่อยอารมณ์ข้างในออกมา แต่เกิดจากการถูกกำกับให้เล่นใหญ่กว่าความจริง ในจุดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังโป๊ก็คือหนัง เป็นสื่อบันเทิงที่ไม่ใช่สารคดี ฉะนั้นเสียงแห่งความจริงจึงไม่สำคัญเท่าตะเบ็งเสียงร้องหลอกๆ ที่ช่วยเพิ่มแรงเร่งทะยานแก่จรวดท่านชาย
“ในระบบอุตสาหกรรมหนังโป๊ เสียงของการแสดงถูกทำให้เหมือนจริงที่สุด เท่าที่ตลาดต้องการ ไม่ใช่เท่าที่ร่างกายจริงจะทำได้ เป็นเครื่องมือทางการตลาด เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีสูตรสำเร็จ และคนแสดงต้องรู้ว่าเสียงแบบไหนขายได้
“เรื่องของการเพอร์ฟอร์ม (Perform) จำเป็นต้องเล่นใหญ่ โอเวอร์แอ็กต์ (Overact) ไม่ใช่แค่การแอ็กติง (Acting) อย่างเดียว แต่ต้องเร่งเสียงให้เสียงดังกว่าปกติ ต้องมีความรื่นรมย์มากกว่าปกติ ซึ่งพลังของหนังโป๊คือ แม้จะเป็นเรื่องสมมติ แต่ผู้ชมก็พร้อมจะอินกับหนัง ผู้คนพร้อมจะมีความสุขกับสิ่งที่มันประกอบสร้างขึ้นมา” อาจารย์จากคณะดุริยางค์กล่าว
เขายังกล่าวเสริมว่า เสียงครางในหนังโป๊มักมีโครงสร้างของการแสดงที่เริ่มต้นจากการเล้าโลม มีปฏิสัมพันธ์ ไปจนถึงไคลแม็กซ์ และช่วงผ่อนคลาย เหมือนการชมซิมโฟนี (Symphony) หรือโอเปร่า (Opera) เลยทีเดียว โดยมีเสียงของตัวนักแสดงหญิงที่กรีดร้องในเลเวลเดียวกับบรรดานักร้องดีว่าทั้งหลาย
อย่างไรก็ตามการเปล่งเสียงของนักแสดงเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนัง ซึ่งในประเด็นนี้มีสิ่งหนึ่งที่น่าศึกษาหาคำตอบคือ ทั้งที่รู้ดีว่าเป็นเสียงร้องหลอกๆ นักแสดงหญิงหรือแม้กระทั่งรู้ว่าคู่นอนในชีวิตจริงไม่ได้เปล่งออกมาจากอารมณ์หรือความต้องการข้างใน แต่แล้วทำไมเสียงเช่นนี้ถึงยังมีอำนาจชี้ชวนให้เกิดอารมณ์ทางเพศอยู่ดี
ดนตรีและเพลงในหนังโป๊
ภาพยนตร์และละครทั่วไปมีเพลงประกอบด้วยเหตุผลอะไร หนังโป๊ก็มีดนตรีประกอบด้วยเหตุผลเดียวกัน
ดนตรีประกอบในหนังโป๊จึงถูกใส่เข้ามาภายหลัง เพื่อให้หนังทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือช่วยสร้างอารมณ์ สร้างบรรยากาศ สนับสนุนการเล่าเรื่อง สร้างการมีส่วนร่วม เพิ่มสุนทรียภาพ และช่วยสร้างวัฒนธรรมบางอย่างของเรื่องนี้ โดยเงื่อนไขสำคัญของเพลงหนังโป๊ต้องคำนึงถึง ‘จังหวะ’ เพราะเพลงต้องสอดคล้องไปจังหวะการเคลื่อนไหวร่างกายขณะประกอบกิจกรรม และมักมีการใช้ทำนองซ้ำ วนลูป เพื่อไม่ให้รบกวนเนื้อหา และยังคงไว้ซึ่งพลังอารมณ์ โดยเป็นเพลงบรรเลง ไร้เสียงร้อง เพื่อไม่ให้แย่งความสนใจจากภาพและเสียงของนักแสดง
ทั้งนี้เพลงที่ถูกใส่เข้ามายังเป็นเพลงที่ให้อารมณ์วาบหวาม เช่น เสียงแซกโซโฟนของ เคนนี จี (Kenny G) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางเสียงของหนังโป๊ไปโดยปริยาย
นอกจากช่วยสร้างอารมณ์แล้ว ดนตรียังทำหน้าที่ปกปิดเสียง ที่ผู้ผลิตไม่ต้องการให้คนได้ยิน เช่น เสียงจากกองถ่าย หรือเสียงความไม่ยินยอมของนักแสดงหญิง
ทั้งหมดนี้คือข้อสรุปของอาจารย์อานันท์ แม้การศึกษาเสียงหนังโป๊จะช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเสียง วัฒนธรรมทางเพศ ค่านิยม สุนทรียศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี แต่น่าเสียดายที่การบรรยายถูกจำกัดเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ซึ่งอาจสั้นกว่าการเลือกหาดูหนังโป๊สักเรื่องเสียอีก ไม่เช่นนั้นเราอาจได้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงเสียวกับอารมณ์ในทางมานุษยวิทยาว่า สิ่งที่กำหนดและตีตราให้มนุษย์ต้องเกิดอารมณ์ทางเพศกับเสียงแบบใดเป็นเรื่องของสมอง แรงขับเคลื่อนในร่างกาย หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรมที่ได้หล่อหลอมให้เราต้องตอบสนองกับเสียงไหน อย่างไร
และสุดท้ายนี้ อาจารย์จากคณะดุริยางค์กล่าวว่า หนังโป๊ต้องมีเสียง เสียงในหนังโป๊มีความสำคัญไม่แพ้เสียงเอฟเฟกต์ประกอบในหนังผีหรือหนังแฟนตาซี
อาจารย์อานันท์กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า “เรามัวแต่ตื่นเต้นกับตัวภาพ ตื่นเต้นกับการเพอร์ฟอร์มจนลืมไปว่าจริงๆ แล้วเสียงคือตัวละครตัวหนึ่ง ต้องมีบทบาทในการมีส่วนร่วม แล้วเราเคยฟังเสียงหนังโป๊กันจริงๆ บ้างไหม”
Tags: Feature, ดนตรีประกอบ, ดนตรี, โป๊, เสียง, หนังโป๊, มานุษยวิทยา, หนังโป๊ญี่ปุ่น, Anthropology, The Sonic Anthropology of Pornography, วิชาการ, หนังผู้ใหญ่