Trigger Warning: เนื้อหาต่อไปนี้มีการกล่าวถึงพฤติกรรมการกินผิดปกติและปัญหาด้านทัศนคติต่อ body image ซึ่งอาจกระตุ้นความรู้สึกเชิงลบ หากอ่อนไหวกับหัวข้อดังกล่าว โปรดหลีกเลี่ยง
หากตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่เคยมีสักครั้งที่ฉันมองกระจกแล้วไม่รู้สึกอยู่ลึกๆ ข้างในใจว่า ถ้าตัวเองผอมลงกว่านี้ได้ก็คงดี นั่นแปลว่าฉันเป็นเฟมินิสต์ที่แย่หรือเปล่านะ
คำถามนั้นหลอกหลอนฉันอยู่นานหลายปี
ฉันรู้สึกขอบคุณเสมอที่เกิดมาในยุคที่ความรักและมั่นใจในเนื้อตัวร่างกายค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นทีละน้อย กว่าจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว แนวคิดนี้ก็คืบคลานขึ้นมาเป็นความเชื่อกระแสหลักจนได้ เราหลายคนมองดูคนรุ่นพ่อแม่ส่วนหนึ่ง แก่ตัวมาได้โดยถักทอภาพพจน์ร่างกายตนเข้าเป็นเนื้อเดียวกับความรู้สึกเกลียดตัวเองอยู่ลึกๆ ทุกครั้งที่มองกระจก ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้ง นั่นก็หมายความว่า ความเกลียดชังดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับผู้อื่นด้วยเช่นกัน
“ลองไปจัดฟันดูไหม จัดแล้วคงหน้าตาดีขึ้นเป็นกอง”
“อ้วนขึ้นหรือเปล่า ทำไมไม่กินให้น้อยลงหน่อย”
“เป็นสิวเต็มเลย ล้างหน้าบ้างหรือเปล่า”
โชคดีที่ทุกวันนี้ นี่ไม่ใช่คำพูดที่คนรุ่นเราจะยอมอดรนทนนั่งฟังนิ่งๆ ด้วยรอยยิ้มอีกต่อไป แต่คงต้องเรียกว่าบุญมีแต่กรรมบัง เพราะถึงยุคสมัยจะเปลี่ยนวิถีปฏิบัติในสังคมได้ แต่เราบางคนก็ยังไม่อาจก้าวข้ามความเชื่อและรสนิยมส่วนตัวที่ผ่านการบ่มเพาะภายใต้ถ้อยทีที่ผู้คนมีต่อรูปร่างหน้าตาของเรา
Body Positivity เป็นดั่งยาขมเม็ดเป้งที่เฟมินิสต์อย่างฉันรู้อยู่เต็มอกว่าดี แต่ไม่สามารถกลืนลงคอไปได้ เมื่อไรก็ตามที่มีโอกาสได้พูดคุยกับมิตรสหายที่ตกอยู่ในภาวะขาดความมั่นใจ ฉันส่งทุกกำลังใจที่มีให้อีกฝ่าย โดยไม่เคยลืมปิดท้ายด้วยการก่นด่ามาตรฐานความงามอันคับแคบของโลกใบนี้
แต่พอกลับมาอยู่กับตัวเองคนเดียวในห้องนอน ฉันก็กลับมาเป็นฉันคนเดิมในอดีตสมัยที่ยังไม่รู้จักคำว่าเฟมินิสต์ คนที่จิตใจคับแคบ คนที่เฆี่ยนตีตัวเองทางใจด้วยคำว่า ‘อ้วน’ และ ‘น่าเกลียด’ ทุกครั้งหลังกินอิ่ม คนที่ไม่สามารถตอบสนองได้แม้แต่รสนิยมของตัวเอง
-
Body (Toxic) Positivity
“จงมั่นใจในตัวเอง มั่นใจร่างกายทุกส่วน ทุกซอก ทุกมุม ทุกการเคลื่อนไหว”
“จงเชื่อหมดใจว่าตัวเองงดงาม น่ารัก เซ็กซี่ และมีเสน่ห์”
“จงรักตัวเองอย่างไร้เงื่อนไข ไร้ข้อกังขา”
ฟังดูเป็นคาถาแห่ง Self-Love ธรรมดาๆ ที่เจอได้ทั่วไป แต่เมื่อลองพิจารณารายละเอียดดูดีๆ จะพบว่าเป็นเรื่องยากที่คนคนหนึ่งจะทำสิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว หลายครั้งแนวคิดและปฏิบัติแบบ Body Positivity จึงฟังดูกดดันไม่น้อย เพราะแม้แนวคิดนี้จะเรียกร้องให้เรารักและชื่นชมร่างกายของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เรียกร้องให้เราใช้สายตาประเมินค่าและพิจารณาด้วยสายตาที่ตัดสินอยู่ดี
“จงรักฝ้ากระ รักสิว รักผิวแตกลาย รักเซลลูไลต์ รักไขมันส่วนเกิน รักในความไม่สวยงาม รักในความไม่สมบูรณ์แบบ”
หากลองตรองดู เราจะเห็นว่าการจะทำได้ดังว่ายังต้องอาศัยกระบวนการตัดสินว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี โดยยึดโยงกับมาตรฐานความงามแบบเดิมๆ เสียก่อน
“ฉันไม่อยากหมดเปลืองเวลาไปกับการหาทางทำให้ตัวเองตกหลุมรักรอยแตกที่เพิ่มมาหรือไขมันย้วยๆ ที่ต้นขา สิ่งที่ฉันสนใจยิ่งกว่าคือ จะทำอย่างไรให้เราใช้เวลาครุ่นคิดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองน้อยที่สุด” จันทรี เรย์ (Chandreyee Ray) คอลัมนิสต์ชาวสิงคโปร์ของนิตยสาร Vogue กล่าว
“ฉันมีเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่อยากทำอีกมาก ฉันอยากอยู่กับคนที่รัก อยากกลับไปสำรวจบ้านเกิดเมืองนอนผ่านมุมมองใหม่ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ฉันอยากอยู่กับตัวเองด้วยจิตใจที่สงบและเป็นสุข”
-
Body Neutrality
Neutrality หมายความอย่างที่หลายคนคงจะพอคุ้นเคยกันดีว่า ‘เป็นกลาง’ หากเราแปลเป็นไทยตามตัวว่า ‘ความรู้สึกเป็นกลางต่อเนื้อตัวร่างกาย’ อาจฟังดูเข้าใจยากสักหน่อย แต่พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คงใกล้เคียงกับการไม่รู้สึกรู้สาอะไรต่อภาพลักษณ์ภายนอกของคนมากนัก แทนที่จะฝืนชื่นชมไปหมดทุกสิ่งอย่าง การยอมรับความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบที่เรามีอยู่ลึกๆ แต่ไม่เผลอไปให้ความสำคัญกับมันอาจฟังดูเป็นทางออกที่ทำได้จริงกว่า
บุคคลแรกๆ ที่นำคำว่า Body Neutrality มาใช้ในงานเขียนจนแพร่หลายคือผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการกิน แอนน์ พัวริเออร์ (Anne Poirier) จุดมุ่งหมายของเธอคือ การแบ่งเบาความท้าทายของวิถีแบบเดิมๆ แล้วหันมาโฟกัสกับการปรับทัศนคติที่ทำได้จริง
ในหนังสือ The Body Joyful แทนที่จะกดดันคนอ่านให้เสกความรู้สึกรักตัวเองขึ้นมาจากอากาศธาตุ เธอแนะนำวิธีการและเทคนิคมากมาย เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวออกจากวังวนของการเกลียดตัวเองด้วยการทำความเข้าใจตัวเราในฐานะคนคนหนึ่ง คนที่สมบูรณ์และมีคุณค่าในตัวเองได้ด้วยคุณลักษณะหลากหลายด้าน ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก
Body Neutrality จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้เราได้ทรีตสิ่งต่างๆ ที่เคยดูเป็นปัญหาใหญ่โตด้วยท่าทีไม่ยินดียินร้าย รอบเอวที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่เรื่องดี แต่ก็จะไม่ใช่เรื่องแย่อะไรอีกต่อไป เพราะมันไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเรา หากเราไม่มองมันเป็นปัญหาร้ายแรงที่ต้องแก้ไข
เจสซี นีแลนด์ (Jessi Kneeland) นักเขียนหนังสือขายดี BODY NEUTRAL และคอลัมนิสต์ของนิตยสาร TIME แนะนำผู้อ่านให้ลองฝึกฝนการคิดแบบ Body Neutrality ด้วยวิธีง่ายๆ ในแบบของเธอ คือ แทนที่จะลงท้ายคำบรรยายถึงร่างกายตนเองว่า “… และฉันชอบมัน” ลองเปลี่ยนมาใช้ “… แต่ก็ไม่เห็นเป็นไร” แทน
เช่น
สิวขึ้นอีกแล้ว แต่ก็ไม่เห็นเป็นไร
ถ้าผอมกว่านี้ได้คงดี แต่ก็ไม่เห็นเป็นไร
ผิวฉันคล้ำแดดหมดแล้ว แต่ก็ไม่เห็นเป็นไร
อ้างอิง
https://vogue.sg/what-body-neutrality-taught-me/
https://time.com/6279423/body-positivity-vs-neutrality/
Tags: Body Neutrality, Body Positivity, The Body Joyful, Gender