ภาพพิธีกร 2 คนของรายการหนังพาไป กำลังขยับหน้าเขยื้อนหลัง ขยับซ้ายเขยื้อนขวา เพื่อกะระยะภาพซุ้มประตูและโดมมัสยิดบนปกหนังสือไกด์บุ๊กประเทศอิหร่านให้ตรงกับมัสยิดของจริงที่อยู่เบื้องหลัง ก่อนจะกดบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึกถึงสถานที่อันสวยงามเบื้องหน้าพวกเขา
นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันรู้จักและตกหลุมรักความเป็น ‘ศิลปะอิสลาม’ เข้าอย่างจัง ต้นเหตุเป็นเพราะซุ้มประตูทรงโค้งยอดแหลมสีน้ำเงินหลายเฉด ลวดลายที่แผ่ขยายเต็มพื้นที่ และความสมมาตรแสนดึงดูดตาของ มัสยิดชีคลุตฟัลลาห์ (Sheikh Lotfollah Mosque) บนปกหนังสือนำเที่ยวนั้น และมัสยิดชาห์ (Shah Mosque) มัสยิดหลวงของเมืองอิศฟะฮาน ประเทศอิหร่าน เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรเปอร์เซีย
และด้วยความสวยงามของ ‘ศิลปะอิสลาม’ นี้เองที่พาให้ฉันมานัดพบพูดคุยกับ อาจารย์เอม-ดร.วสมน สาณะเสน ในวันนี้
อาจารย์เอมเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนักวิชาการด้านศิลปะอิสลาม ผู้เขียนหนังสือศิลปะอิสลาม รูปแบบและหลักสุนทรียะ สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ที่เพิ่งได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ด้านสารคดี จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ฉันผู้ซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับศิลปะอิสลามเลย มีเพียงแค่ความสนใจและหลงใหลในความสวยงามเท่านั้นที่ทำให้หัวข้อนี้ยังคงติดอยู่ในความคิดมาตลอด จึงขอใช้โอกาสพิเศษนี้พูดคุยและเติมความรู้เรื่องศิลปะอิสลามไปในตัว พร้อมๆ กับคุณผู้อ่านทุกท่าน ผ่าน ‘บทเรียนวิชาศิลปะอิสลาม 101’ กับคาบเรียนในมัสยิด ไปด้วยกัน
00: แบบไหนถึงเรียกว่า ‘ศิลปะอิสลาม’
แต่ก่อนจะลงลึกต้องปูพื้นฐานกันก่อนว่า ศิลปะอิสลามคืออะไร
“ศิลปะอิสลามคือ งานศิลปะที่สร้างขึ้นภายใต้หลักคิดของศาสนาอิสลามและสะท้อนความศรัทธาต่อพระเจ้า โดยผู้สร้างหรือผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิมก็ได้”
นี่คือความหมายของศิลปะอิสลามที่อาจารย์เอมสรุปสั้นๆ ให้เราฟัง พร้อมยกตัวอย่างว่า ในยุคก่อนๆ มัสยิดบางแห่งในประเทศซีเรียก็สร้างโดยช่างที่นับถือศาสนาคริสต์ หรือพระราชวังในประเทศสเปนก็สร้างโดยช่างมุสลิม แต่อย่างไรก็ตามการสร้างเหล่านั้นต้องแฝงหลักคิดทางศาสนาไว้ด้วย
องค์ประกอบเด่นๆ ที่ทำให้ศิลปะอิสลามมีความเป็นเอกภาพเหมือนกันทุกมุมโลกคือ งานศิลปะนั้นต้อง ‘สะท้อนความเชื่อและความศรัทธา’ ภายใต้หลักคิดของศาสนาอิสลาม กล่าวคือ เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสร้างรูปเคารพ และแทบไม่มีภาพเหมือนมนุษย์ หรือสัตว์อยู่ให้เห็นเลย เพราะจะถือเป็นการเลียนแบบงานสร้างของพระเจ้า ซึ่งเท่ากับท้าทายอำนาจของพระองค์
แล้วถ้าทำรูปเคารพและภาพเหมือนไม่ได้จะทำอย่างไร คำตอบคือ ช่างมุสลิมใช้วิธีอื่นเพื่อถ่ายทอดความงาม ที่เด่นชัดเลยคือการใช้ ‘ลวดลาย’ ซึ่งมุสลิมพัฒนาขึ้นจนเป็นเอกลักษณ์ เช่น อักษรอาหรับวิจิตร ลายเรขาคณิต และลายพรรณพฤกษา ซึ่งเป็นระเบียบ สมมาตร ต่อเนื่อง เชื่อมโยง และละเอียดจนแทบไม่มีช่องว่าง ต่างจากลวดลายของกลุ่มวัฒนธรรมอื่นที่มักเป็นลายอิสระลื่นไหลไปเรื่อยๆ
รวมถึงสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดที่สุดคือ ‘ความสมมาตร’ ทั้งในสถาปัตยกรรมและการออกแบบลวดลาย ความสมมาตรนี้ เป็นผลพวงมาจากความรู้เรื่องการคำนวณทางคณิตศาสตร์ จากตำราความรู้ในอารยธรรมกรีก ทำให้เราได้เห็นการออกแบบที่สมมาตร มั่นคง และมีสัดส่วนที่สวยงามลงตัวพอดี
“ศิลปะอิสลามไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว แค่ไม่ขัดกับหลักศาสนาก็พอ ฉะนั้นเราจะเห็นศิลปะอิสลามหลากหลายรูปแบบที่เกิดจากความยืดหยุ่นตามวัสดุและปัจจัยท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่” อาจารย์เอมย้ำเพื่อเป็นการปิดจบการปูพื้นฐานวิชาศิลปะอิสลามนี้ ก่อนที่ ‘คาบเรียนในมัสยิด’ จะเริ่มต้นขึ้น
01: ทำไมต้องเป็น ‘คาบเรียนในมัสยิด’
คำว่า ‘มัสยิด’ ในภาษาอาหรับ หมายถึง ‘สถานที่สำหรับโน้มกายลงเพื่อนมัสการพระเจ้า’ และสำหรับมุสลิมแล้ว มัสยิดคือ ‘บ้านของพระเจ้า’
อันที่จริงมัสยิดเป็นสถานที่ใดก็ได้ที่สะอาด มีเครื่องหมายระบุทิศละหมาด พื้นราบเรียบเสมอกัน และไม่มีรูปเคารพ แต่เชื่อกันว่าพระเจ้าโปรดปรานให้ละหมาดร่วมกันมากกว่า มัสยิดจึงถูกสร้างให้มีพื้นที่รองรับผู้คน
ความตอนหนึ่งในหนังสือศิลปะอิสลาม รูปแบบและหลักสุนทรียะ บอกว่า ‘มัสยิดเป็นเครื่องหมายแสดงความมีอยู่ของชุมชนมุสลิมได้ดีที่สุด’ เพราะมักสร้างใจกลางชุมชน และเป็นสถานที่ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของมุสลิมตลอดช่วงชีวิต
อีกทั้งมุสลิมยังมองว่า การสร้างงานศิลปะคือการรำลึกถึงพระเจ้าในทางหนึ่ง มัสยิดจึงถูกสร้างให้สวยงามด้วยเชื่อว่า พระเจ้าทรงประทานทักษะในการสร้างงานศิลปะให้แก่มนุษย์ เพื่อให้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพระองค์ผ่านทางสุนทรียะเหล่านั้น
แม้มัสยิดจะมีองค์ประกอบหลักๆ เหมือนกัน แต่มัสยิดของแต่ละสำนักคิดจะมีรายละเอียดบางอย่างไม่เหมือนกัน อันเนื่องมาจากความเชื่อบางประการที่ต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่ง ‘กาหลิบ’ (Caliph) หรือผู้นำต่อจากท่านศาสดามุฮัมมัด ทาง ‘สำนักคิดชีอะห์’ (Shia) เห็นว่าตำแหน่งกาหลิบควรเป็นของคนในครอบครัวนั่นคือ ‘ท่านอะลี’ บุตรเขยของท่านศาสดา ในขณะที่ทาง ‘สำนักคิดซุนนี’ (Sunni) เห็นว่าตำแหน่งดังกล่าวควรเป็นของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งความเชื่อที่แตกต่างกันนี้ จะสะท้อนผ่านองค์ประกอบและลวดลายตกแต่งในมัสยิดของสำนักคิดทั้งสอง
ด้วยเหตุนี้ ‘คาบเรียนในมัสยิด’ จึงจะทำให้เราได้สัมผัสกับความเป็นชุมชนมุสลิม ความสวยงาม และความเชื่อทั้งจุดร่วมและจุดที่ต่างจากศาสนาอื่นๆ ผ่านศิลปะอิสลามได้อย่างดี
02: ความเป็นอิหร่านที่ ‘มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม’ ในชุมชนแขกเจ้าเซ็น
มัสยิดที่เราจะไปอยู่ไม่ไกลนักจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอิสรภาพ แต่เพราะแดดร้อนระอุแม้จะยังอยู่ในช่วงเช้านี้ การเดินไปตามถนนเพียง 7 นาทีจึงให้ความรู้สึกเหมือนนานกว่านั้น
คาบเรียนแรกในวิชาศิลปะอิสลามของเราเริ่มต้นขึ้นที่ ‘มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม’ สิ่งที่ดึงดูดตาเป็นพิเศษคือ ประตูทรงสี่เหลี่ยมมีซุ้มโค้งยอดแหลม ประดับด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินเป็นลวดลายอักษรอาหรับและลายพรรณพฤกษา จึงให้ความรู้สึกคล้ายกับเป็นมัสยิดที่อิหร่านขนาดย่อม
เราคลุมผ้าไว้บนศีรษะเพื่อปิดไรผมและคอ ก่อนจะก้าวเข้าไปเริ่มบทเรียนกันในมัสยิด
“เราเลือกพามาที่นี่ เพราะเป็นมัสยิดในไทยแห่งแรกที่ได้เข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง โดยมี อาจารย์ธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักวิชาการซึ่งเป็นสัปปุรุษในชุมชนนี้เป็นผู้พาดู พารู้จัก เราก็เริ่มจากไม่รู้อะไรมาก่อนเหมือนกัน” อาจารย์เอมเล่าให้ฟัง
ที่นี่เป็นมัสยิดใน ‘ชุมชนแขกเจ้าเซ็น’ หรือชุมชนชาวไทยมุสลิมสำนักคิดชีอะฮ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ขุนนางชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่เข้ามารับราชการในสยามสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในมัสยิดเป็นโถงทรงสี่เหลี่ยม เสริมพื้นเป็นชั้นไม่สูงปูด้วยพรมสีเขียว ผนังทาสีเหลืองอ่อน และมี ‘ซุ้มเมี๊ยะหร็อบ’ (Mihrab) สีน้ำเงินสไตล์อิหร่านอยู่ตรงกลาง
ชุมชนและมัสยิดแห่งนี้สัมพันธ์กับอิหร่านอยู่แล้วในตัว ด้วยความที่สืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัด และนับถือสำนักคิดชีอะฮ์อันมีศูนย์กลางอยู่ที่อิหร่าน ทำให้การประดับตกแต่งคล้ายคลึงกับที่อิหร่าน ทั้งที่เป็นลวดลายทางศาสนาและลวดลายพื้นถิ่นด้วย เช่น ลายพรรณพฤกษาสไตล์อิหร่าน และซุ้มเมี๊ยะหร็อบก็ใช้กระเบื้องสีน้ำเงินที่มีมากในอิหร่าน
ซุ้มเมี๊ยะหร็อบเป็นเครื่องหมายระบุทิศการละหมาด ซึ่งจะหันไปทางกะอ์บะฮ์หรืออาคารหินทรงสี่เหลี่ยม อันเป็นประชุมทิศของมุสลิมในการละหมาด ตั้งอยู่ในมัสยิดอัลฮะรอม เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นซุ้มโค้งยอดแหลมที่มีพื้นที่เว้าเข้าไปเล็กน้อย ตรงกลางซุ้มจะมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับศาสนาประดับอยู่ อย่างที่นี่เป็นรูปที่สื่อถึงผ้าคลุมกะอ์บะฮ์นั่นเอง
แต่สำหรับที่นี่ อาจารย์เอมชวนให้สังเกตว่า พรมสำหรับอิหม่ามนำละหมาดวางเฉียงไปทางซ้ายเล็กน้อย ไม่ได้หันเข้าซุ้มเมี๊ยะหร็อบตามหลักเสียทีเดียว นั่นเป็นเพราะข้อจำกัดของพื้นที่ในการสร้างมัสยิด โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงพื้นที่รอบมัสยิดซึ่งต้องใช้ประกอบ ‘พิธีมะหะหร่ำ’ ซึ่งเป็นพิธีกรรมเฉพาะของมุสลิมสำนักคิดชีอะฮ์ ทำให้ไม่สามารถสร้างอาคารทั้งหลังให้หันไปทางทิศกะอ์บะฮ์ได้ มุสลิมที่เข้ามาละหมาดจึงใช้วิธีเอียงตัว เพื่อหันไปทางกะอ์บะฮ์ให้ถูกต้องตามหลักแทน
ความพิเศษเฉพาะยังอยู่ที่ใต้พรมของอิหม่าม เนื่องจากอยู่บนพื้นที่เสริมไว้ ไม่ราบเสมอพื้นของผู้ละหมาด จึงทำเป็นพื้นแบบเปิดขึ้นได้ และเป็นหลุมไว้ให้ผู้นำละหมาดได้นั่งในระนาบเดียวกัน
โดยทั่วไปองค์ประกอบในมัสยิดของทั้ง 2 สำนักคิดนั้นจะไม่ต่างกันมาก แต่ด้วยความที่สำนักคิดชีอะฮ์มีจำนวนน้อยในไทย ทำให้ต้องมีสัญลักษณ์เพื่อบอกความแตกต่าง
“จุดที่แตกต่างชัดที่ชัดเจนเลยคือ มัสยิดสำนักคิดชีอะฮ์จะมี ‘ปันญะตันป๊าก’ (Panjtan Pak) หรือพระนามของ 5 ผู้บริสุทธิ์ ได้แก่ มุฮัมมัด อะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซัน และฮูเซน เป็นภาษาอาหรับประดับอยู่เหนือซุ้มเมี๊ยะหร็อบ” อาจารย์เอมสรุปให้ฟัง
สิ่งที่ชวนให้สงสัยคือ พื้นที่เสริมเป็นชั้นขึ้นมานี้คืออะไร อาจารย์เอมเสริมว่า สิ่งนี้พบได้แค่ที่มัสยิดสำนักคิดชีอะฮ์ในไทยเท่านั้น และแฝงเรื่องราวความเชื่อไว้อยู่
บริเวณนี้เรียกว่า ‘ชั้นชะดัต’ เป็นสัญลักษณ์แทนจุดที่ท่านอะลีถูกลอบสังหารขณะที่กำลังละหมาดอยู่ในมัสยิด ชั้นชะดัตนี้จึงมีไว้เพื่อระลึกถึงท่านอะลี
อันที่จริงคำว่า ‘เซ็น’ ในคำว่าแขกเจ้าเซ็นนี้มาจากชื่อของ ‘ท่านฮูเซน’ ลูกชายของท่านอะลีและหลานชายของศาสดามุฮัมมัดที่ได้พลีชีพที่เมืองกัรบะลาอ์ เพื่อพิทักษ์คุณธรรม ในมัสยิดสำนักคิดชีอะฮ์มักจะมีดินก้อน ซึ่งในยุคแรกๆ ผสมดินจากกัรบะลาอ์ไว้ด้วย ใช้สำหรับรองหน้าผากในยามก้มละหมาดเพื่อระลึกถึงผืนดินที่กัรบะลาอ์ที่ท่านฮูเซนสิ้นชีพ
เราใช้เวลาเดินดูไปตามโถงตัวยูอีกสักพัก บริเวณนี้ถูกออกแบบให้โปร่งและมีหน้าต่างเยอะ เพื่อให้เหมาะกับภูมิอากาศร้อนชื้นของไทย ทั้งยังมีภาพจิตรกรรมทางศาสนาประดับอยู่รอบๆ อย่างภาพดาบ 2 ปลาย ซึ่งเป็นดาบของท่านอะลีที่รับสืบทอดมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด จะพบบ่อยในงานศิลปะของมุสลิมชีอะฮ์ รวมไปถึงภาพเหมือนบุคคล แต่ที่น่าสังเกตคือ แทบทุกภาพจะมีแสงวาบหรือผ้าสีขาวปิดบังใบหน้าไว้ อาจารย์เอมจึงอธิบายให้เราฟังว่า
“เดิมทีในอิหร่านหรือเปอร์เซียยังไม่ได้รับอิสลามและมีการทำรูปเคารพอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งพวกเขาเก่งมากในการทำงานจิตรกรรม ฉะนั้นเขาจะมีความชอบในการวาดภาพคน เหมือนเป็นรากเดิมที่มีมาก่อน พอเขารับอิสลาม รากเดิมก็ยังไม่หายไปไหน แต่ด้วยหลักการทางศาสนาจึงทำรูปเคารพและเห็นใบหน้าไม่ได้ ศิลปินจึงมีวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจมากคือ ใช้แสงปิดหน้าหรือวาดผ้าเช็ดหน้าสีขาวปิดที่หน้าไปเลย” นอกจากจะไม่ผิดหลักศาสนาแล้ว ยังเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งโดยใช่เหตุ ในประเด็นเรื่องหน้าตาของรูปเคารพแต่ละท่านนั่นเอง
เราร่ำลามัสยิดผดุงธรรมอิสลามแห่งนี้ ก่อนจะออกเดินทางไปเรียนคาบเรียนต่อไป โดยมีอาจารย์คนเดิมเป็นคนนำทาง
03: เงยหน้าดู ‘รวงผึ้ง’ ที่ ‘มัสยิดต้นสน’ ในชุมชนมุสลิมเก่าแก่
เราเดินไปตามซอยที่ไม่กว้างมากและต้องคอยสังเกตรถยนต์ที่ขับไปมาอยู่เสมอ ใช้เวลาเดินไม่นานก็ถึงที่หมาย คาบเรียนที่ 2 ของเราอยู่ที่ ‘มัสยิดต้นสน’ มัสยิดสำนักคิดซุนนีที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีอายุอานามเกินกว่า 300 ปี โดยสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
อาจารย์เอมบอกว่า หลักฐานของความเก่าแก่คือ ‘กำแพงแก้ว’ เป็นกำแพงเตี้ยๆ ที่ปกติใช้บ่งบอกเขตของวัด ซึ่งเป็นการนำความคิดแบบไทยพุทธมาประยุกต์กับศาสนสถานของอิสลาม มีประตูทางเข้ามัสยิดสีเขียวทำเป็นลาย ‘ขนมปังขิง’ คัดลอกมาจากลายประตูไม้บานเดิมก่อนที่บูรณะไปเมื่อปีที่แล้ว
สีเขียวของประตูนั้นเข้ากันได้ดีกับสีเหลืองอ่อนของมัสยิดที่ตกแต่งด้วยสไตล์โมร็อกโก บริเวณทางเข้าทำเป็นช่องโค้งรูปเกือกม้ายอดแหลม 3 ด้าน และเมื่อเงยหน้าขึ้นไปที่เพดานด้านบน เราจะเจอกับ ‘มุกอร์นัส’ (Muqarnas) สีขาวที่มักเรียกตามรูปทรงว่า โครงสร้างรวงผึ้งหรือหินงอกหินย้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในความพิเศษของที่นี่
“เราเรียกว่ามุกอร์นัสเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักโดมและตกแต่งไปในตัว เท่าที่ดูมาในไทยน่าจะมีแค่ที่นี่ที่เดียวที่ทำออกมาเหมือนสถาปัตยกรรมในอิหร่านและตะวันออกกลางมากที่สุด”
ฉันเคยเห็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมนี้ในหนังสือของอาจารย์และตกหลุมรักเข้าอย่างจัง ไม่คิดว่าจะมีอยู่ที่นี่ด้วย แม้จะน้อยกว่าในต่างประเทศและไม่ได้มีสีสันสดใสเท่า แต่ก็ยังทำให้รู้สึกทึ่งตั้งแต่แรกเห็น และองค์ประกอบนี้เองที่ทำให้อาจารย์เอม ‘หลงรัก’ ตั้งแต่แรกเห็นเช่นกัน
“ตอนนั้นเราอายุ 14 ปี คุณพ่อกับคุณแม่ได้โบนัสก้อนใหญ่มา เลยซื้อทัวร์ให้ไปเที่ยวสเปนกับพี่สาว หนึ่งในสถานที่ที่ต้องไปคือมัสยิดใหญ่ที่เมืองกอร์โดบา ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับศิลปะ พอเราเข้าไปในมัสยิดแห่งนั้น แล้วเราแค่เงยหน้าขึ้นไปมองบนเพดาน เราเห็นโครงสร้างรวงผึ้งที่ซับซ้อนประดับสวยงาม ไม่มีลวดลายอะไรทั้งนั้น แต่เราประทับใจมาก มันบอกไม่ถูก เหมือนหลงรักและสนใจเลย อีกความรู้สึกหนึ่งคือเหมือนเราเคยอยู่ที่นี่มาก่อน”
แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ว่าโครงสร้างบนเพดานนั้นคืออะไร แต่ก็เก็บเป็นคำถามไว้ในใจเรื่อยมา จนหลายสิบปีให้หลังก็ได้ศึกษาเรื่องศิลปะอิสลามอย่างจริงจังตอนที่เรียนปริญญาโท
วิทยานิพนธ์ของอาจารย์ก็เกี่ยวข้องกับมัสยิดแห่งนี้โดยตรง ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับซุ้มเมี๊ยะหร็อบที่อยู่ด้านในสุดของโถงมัสยิดด้านหน้าพวกเรานี้เอง
ซุ้มเมี๊ยะหร็อบของที่นี่ตกแต่งด้วยสีขาวเป็นหลัก ลักษณะเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมมีพื้นที่เว้าเข้าไปตกแต่งด้วยลวดลายดาวและลวดลายสมมาตร มีแถบข้อความอักษรอาหรับสีทองเรียงโค้งไปตามแนว และที่สำคัญคือ ‘แผ่นไม้ประชุมทิศ’ ที่ตั้งอยู่ตรงกลางซุ้ม
ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ของอาจารย์เอมเรื่อง ‘แนวคิด รูปแบบและพัฒนาการของมิหร็อบของมัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร’ บอกว่า แผ่นไม้ประชุมทิศนี้ถ่ายทอดสารัตถะของศาสนาอิสลามได้ครบถ้วน ทั้งยังประยุกต์ใช้ศิลปะไทยได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย
“นี่เป็นภาพแผนที่สถานที่การแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งค้นพบตอนถอดข้อความระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ภาพด้านบนสุดที่เหมือนถาดผลไม้นั้นคือภูเขาที่มีมณฑปอยู่ด้านบน ซึ่งปกติเป็นที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญ แต่มณฑปบนแผ่นไม้นี้แทนการมีอยู่ของท่านศาสดามุฮัมมัด ดูรวมๆ แล้วมีความเป็นไทยแม้รอบๆ จะเป็นภาษาอาหรับที่พูดถึงพิธีฮัจญ์ก็ตาม”
ข้อค้นพบนี้ทำเอา ‘พูดไปก็ขนลุกไป’ เพราะทึ่งที่ลายบนแผ่นไม้นี้ผสานศิลปะไทยเข้ากับความเชื่อในศาสนาอิสลามได้กลมกลืนมาก อาจารย์เอมอธิบายเพิ่มเติมว่า รอบๆ ภาพนั้นยังประดับด้วย ‘ดอกไม้ร่วง’ แบบเดียวกับที่พบตามภาพพระพุทธเจ้าในจิตรกรรมไทย ซึ่งสื่อถึงความสำคัญเทียบเท่ากันในฐานะของศาสดา
ถัดลงมาภาษาอาหรับเขียนคำปฏิญาณตนเข้ารับอิสลาม และมีแผนที่เป็นภาพมุมสูงของมัสยิดอัลฮะรอม มีหออะซานอยู่รอบๆ และตรงกลางคือกะอ์บะฮ์ ประดับด้วยมุกเก่าแก่ที่ถูกลนไฟจนเงาวับ และล่างสุดเชื่อว่าเป็นภาพมัสยิดบ้านของท่านศาสดา ซึ่งทุกองค์ประกอบล้วนเกี่ยวข้องกับการทำพิธีฮัจญ์
แผ่นไม้ประชุมทิศนี้ผสมผสาน 2 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงความเก่าแก่ ทั้งยังมีร่องรอยของงาน ‘ปิดทองร่องชาด’ เหมือนงานไทยพุทธ อันสะท้อนถึงความยืดหยุ่นเรื่องรูปแบบของศิลปะอิสลาม อีกสิ่งที่สะท้อนความยืดหยุ่นได้เด่นชัดคือซุ้มเมี๊ยะหร็อบหลังเก่าที่สร้างด้วยรูปแบบหลังคาจั่วมีช่อฟ้าหางหงส์แบบศิลปะไทย แต่มีสัญลักษณ์ดาวกับจันทร์เสี้ยวประดับอยู่ข้างบน “นี่เป็นศิลปะอิสลามแบบไทยที่มหัศจรรย์มาก”
เท่าที่เราสังเกต ที่นี่ชวนดึงดูดตาเป็นพิเศษในเรื่องของลวดลายเรขาคณิต อักษรอาหรับวิจิตร และความสมมาตร ไม่ว่าลวดลายเรขาคณิตบนกระจกสีที่คล้ายคลึงกับงานในโบสถ์คริสต์ แต่ที่นี่จะไม่ทำเป็นรูปบุคคล บนเพดานที่ประดับลวดลายเรขาคณิตและรูปดาว รวมไปถึงลวดลายเรขาคณิตที่เรียงตัวต่อเนื่องอยู่เต็มผนังของช่องโค้งเกือกม้ายอดแหลม ทั้งยังมีช่องลมที่ออกแบบเป็นลายเรขาคณิตสมมาตรที่มองเท่าไรก็ไม่เบื่อ
ด้วยความที่ต้องออกแบบให้เข้ากับภูมิอากาศ ที่นี่ก็มีหน้าต่างอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา ทำให้บรรยากาศดูโปร่งโล่งสบายและไม่ชวนอึดอัด ความน่าสนใจอยู่ที่เหล็กดัดติดหน้าต่างไม่ใช่ลวดลายธรรมดา แต่ดัดให้เป็นลายอักษรอาหรับวิจิตร ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลายผ้าคลุมกะอ์บะฮ์ แถมยังถูกออกแบบให้ดูสมมาตร ชนิดที่ถ้าไม่สังเกตก็คงไม่รู้
ทุกๆ องค์ประกอบของที่นี่สะท้อนลักษณะเด่นๆ ของศิลปะอิสลามได้หมด ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการออกแบบ ความตื่นตาตื่นใจยังคงก่อตัวขึ้นในใจฉันไม่หยุดหย่อน เหมือนสมองจะรู้ดีว่า นี่คือสิ่งที่ฉันอยากสัมผัสด้วยตามานาน และยังคงมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย
ตลอดคาบเรียนของเรา ฉันพบว่า ชุมชนมุสลิมที่ดูเหมือนเข้าถึงยากนั้นอาจเป็นเพียงภาพจำหรือภาพที่คิดไปเอง เพราะมัสยิดทั้ง 2 แห่งต่างเปิดรับให้เราเข้าไปศึกษาเรียนรู้และได้ลบล้างภาพจำเดิมๆ ของฉันไปแทบหมด
ฉันนึกถึงคำทักทายที่ดังขึ้นมาระหว่างที่อาจารย์กำลังบรรยายอยู่ด้านหน้ามัสยิด
“ซะลาม” คุณลุงคนหนึ่งกล่าวคำทักทายที่แปลว่า สันติ ก่อนเดินเข้าไปละหมาด
“วะอะลัยกุมุสซะลาม” เสียงขานตอบดังขึ้น หมายความว่า ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านเช่นกัน
บทเรียนวิชาศิลปะอิสลาม 101 จบลงที่นี่ ตอนที่ดวงอาทิตย์ทำมุมเกือบตั้งฉาก อันเป็นเวลาเดียวกับที่เสียงละหมาดของพี่น้องชาวมุสลิมดังออกมาอยู่พอดิบพอดี
ข้อมูลอ้างอิง
ธีรนันท์ ช่วงพิชิต. (2551). พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการธำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วสมน สาณะเสน. (2557). แนวคิด รูปแบบและพัฒนาการของมิหร็อบของมัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วสมน สาณะเสน. (2567). ศิลปะอิสลาม รูปแบบและหลักสุนทรียะ. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.
Tags: มัสยิด, ศาสนาอิสลาม, ศิลปะอิสลาม, มัสยิดต้นสน, มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม, วัฒนธรรม, ซุนนี, Feature, ชีอะฮ์, ศิลปะ, แขกเจ้าเซ็น, อิสลาม, วสมน สาณะเสน, มุสลิม