งานวิจัยจำนวนมากต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘พื้นที่สีเขียว’ มีความสำคัญต่อผู้คนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ ที่นอกจากพื้นที่สีเขียวจะห่างไกลจากค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดแล้ว ต้นไม้ที่มีอยู่ก็ขาดการดูแลอย่างถูกวิธี เห็นได้จากต้นไม้ข้างทางที่ถูกตัดจนไม่เหลือความสวยงามเอาไว้ให้ชื่นชม
ยังไม่นับข่าวต้นไม้ใหญ่ล้มทับคน ที่กลายเป็นความจำฝังหัวคนไทยว่าการอยู่ใต้ต้นไม้ไม่ใช่เรื่องปลอดภัย ต้นไม้ถูกใส่ร้ายป้ายสีให้เป็น ‘ผู้ร้าย’ และคนที่โดนต้นไม้ล้มทับก็ถูกมองว่า ‘ดวงซวย’ ทั้งที่ความจริง เหตุการณ์เหล่านั้นสามารถป้องกันได้ หากต้นไม้ได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า ‘รุกขกร’
ผศ.ดร. พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือเป็น ‘รุกขกร’ เพียงไม่กี่คนที่ผ่านการรับรองจากสมาคมรุกขกรรมนานาชาติ (ISA) ถึง 3 แขนง ทั้งยังเป็นผู้ร่วมผลักดัน ‘สมาคมรุกขกรรมไทย’ ขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานการดูแลต้นไม้ของไทยให้ใกล้เคียงกับระดับนานาชาติ
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับต้นไม้ทั่วกรุงเทพฯ พรเทพรู้สึกว่ามาตรฐานการดูแลต้นไม้ที่ยังไม่ดีพอ รวมทั้งเห็นคนจำนวนมากต่างโหยหาสีเขียวมาเติมเต็มจิตใจ เพราะคุณค่าของต้นไม้สามารถสร้างความสุขให้แก่ผู้คนได้อย่างคาดไม่ถึง
Tags: สวนสาธารณะ, การดูแลต้นไม้, ต้นไม้, พื้นที่สีเขียว, พื้นที่สาธารณะ, The Frame, รุกขกร, พรเทพ เหมือนพงษ์