“เมืองไม่ได้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่คงที่ตลอดไป แต่เมืองมีพลวัต มีบริบทที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับโครงสร้างกายภาพ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” 

จากความเชื่อของ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักเล่นแร่แปรธาตุข้อมูลเชิงพื้นที่’ ที่เชื่อว่า ข้อมูลเชิงลึกเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเข้าใจเมืองอย่างรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะการตอบคำถามผิวเผินในชีวิตประจำวันอย่างการไปทำกิจกรรมที่ไหน เมืองใหญ่มีพื้นที่หลากหลายมากเพียงใด จนถึงคนสูงวัยในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตกันอย่างไร

วันนี้ UddC ร่วมกับทรู สร้างนวัตกรรมตอบโจทย์เพื่อทำให้เมืองเป็นเรื่องที่เข้าถึงทุกคนได้ง่ายยิ่งขึ้น กับโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ หรือการวิเคราะห์ Mobile Data และ Mobility Data จากโทรศัพท์มือถือ โดยมีเป้าหมายศึกษาชีวิตผู้คนและการพลวัตของเมือง ซึ่งมีความแปลกใหม่ใน 3 มิติ คือ

1. ใช้ชุดข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรจากโทรศัพท์ (Mobility Data) ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตใน 4 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา-หาดใหญ่

2. ใช้ข้อมูลจากภาคธุรกิจ Telco-Tech เพื่อพัฒนาเมือง โดยได้รับความร่วมมือจากทรูในฐานะผู้จัดการข้อมูล ขณะที่ UddC ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อยกระดับการพัฒนาเมือง

3. เปิดกว้างให้บุคคลหลายกลุ่มได้ร่วมสำรวจและทำความเข้าใจ ผ่านการเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองหลากหลาย โดยประชาชนผู้กำหนดนโยบายและผู้เกี่ยวข้องสามารถมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อต่อยอดความคิดและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุม

“การที่ได้ข้อมูล Mobility Data จากฝั่งโทรคมนาคมมาใช้ถือว่าเป็นมิติใหม่ โดยเป็นการขับเคลื่อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกมาจากโลกธุรกิจสู่การพัฒนาเมือง และนับเป็นโปรเจกต์นำร่อง ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้การใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการเมือง ไปจนถึงการรับมือกับสาธารณภัยและภัยพิบัติ รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และคาดการณ์วางแผนทุกความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ” 

อดิศักดิ์อธิบายการทำงานของแอปพลิเคชันว่า บทบาทของทรูทำหน้าที่เป็นผู้จัดการข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวด และข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่ UddC ทำหน้าที่ตีความข้อมูลลงลึกทั้งในมิติพื้นที่เมือง มิติเวลา และมิติพฤติกรรมคนเมือง เพื่อให้เห็นปัญหาคนในเมือง เช่น พฤติกรรมการทำงานในเมือง 4 แห่งที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงมิติการใช้ชีวิตอย่างการกลับบ้านหรือกินข้าวเวลาไหน

ทั้งนี้รองผู้อำนวย UddC มุ่งหวังว่า ข้อมูลจาก Dynamic Cities via Mobility Data จะนำไปต่อยอดด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยยกตัวอย่างจากการศึกษาวิถีชีวิตของคนใน 3 เมืองใหญ่ว่า เวลาที่คนกรุงเทพฯ เข้างานมากที่สุด คือเวลา 10.00 น. ขณะที่พื้นที่อื่นๆ อย่างเชียงใหม่และขอนแก่นเข้างานเวลา 08.00 น. โดยเหตุผลส่วนหนึ่งคือ คนกรุงเทพฯ ไปทำงานไกลกว่า หรือเสียเวลาจากการจราจร ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำไปต่อยอดแนวคิดการสร้าง ‘เมือง 15 นาที’ ทำให้ผู้คนได้เดินทางในระยะสั้น และมีพื้นที่หลากหลายใกล้บ้านได้ 

นอกจากฟังก์ชันสุดพิเศษแล้ว Dynamic Cities via Mobility Data ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสำรวจข้อมูลและจุดประกายประเด็นใหม่ๆ ด้วย Quiz สุดสร้างสรรค์ ผ่านเว็บไซต์ https://www.true.th/blog/data-playground/dynamic-cities/ ที่มีรูปแบบ Visualization เพื่อทำความเข้าใจชีวิตประจำวันของตนเอง ก่อนสำรวจเมืองใหญ่

“เมืองกำหนดชีวิตเราได้ และเราก็สามารถออกแบบเมืองที่เราอยากอยู่ได้เช่นกัน” อดิศักดิ์ทิ้งท้ายถึงคำถามที่ว่า ตกลงแล้วเราออกแบบเมืองหรือเมืองออกแบบชีวิตเรากันแน่ โดยย้ำว่า เมืองเป็นเรื่องของทุกคน

Tags: , , , , , , , ,