หากผู้อ่านคนไหนชอบเล่น TikTok น่าจะพอรู้จักแฮชแท็ก #wlw อยู่บ้างไม่มากก็น้อย บางคนอาจเข้าใจความหมายหรือบางคนอาจไม่เข้าใจ เพียงแต่เคยเห็นผ่านตา เพราะแท็กดังกล่าวค่อนข้างเป็นที่นิยมบนแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีจำนวนโพสต์ในแท็กมากกว่า 16.9 ล้านโพสต์
wlw ย่อมาจาก ‘women-loving women’ หรือ ‘women who love women’ แปลเป็นไทยง่ายๆ คือคำว่า ‘หญิงรักหญิง’ ที่เราคุ้นเคยกันดี ผู้หญิงที่ใช้แท็กนี้บ้างก็เรียกตัวเองเป็นทอม เป็นดี้ เป็นเลสเบี้ยน ฯลฯ ส่วนคอนเทนต์ในแท็กมีหลากหลาย ตั้งแต่ให้ความรู้เกี่ยวกับ LGBTQIA+ แชร์ประสบการณ์ร่วมที่ชาวหญิงรักหญิงพบเจอ อวดแฟนสาว หาคู่ หรือแค่ลงคลิปตัวเองสวยๆ เฉยๆ ก็มี
ในทางทฤษฎี แฮชแท็ก #wlw ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคอมมูนิตี้หญิงรักหญิง แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับยังมีการผลักไสกีดกันคนบางกลุ่มอยู่เนืองๆ
“จะ wlw ทำไมถ้ามึงชอบคXย อีสะเหล่อแห่งปี”
ข้อความข้างต้นมาจากโพสต์บน X ที่มียอดเข้าชมมากกว่า 2 ล้านครั้งและกำลังเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรง บางคอมเมนต์ก็เห็นด้วยกับเจ้าของข้อความนี้ ในขณะที่อีกหลายๆ คอมเมนต์แย้งว่า ผู้หญิงที่ชอบทั้งหญิงชาย (กล่าวคือ เป็นไบเซ็กชวล) ควรมีสิทธิใช้คำว่า wlw ได้เช่นกัน เพราะ wlw เป็นนิยามกว้างๆ ของหญิงรักหญิงทุกประเภท ไม่ควรมีตัวตนใดโดนไล่ต้อนออกไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไบเซ็กชวลถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสองภายในคอมมูฯ หญิงรักหญิง ไบโฟเบีย (Biphobia) หรือความเกลียดกลัวไบเซ็กชวล มีมายาวนานแล้วหลายทศวรรษ เอาแค่ในประเทศไทย สมัยก่อนเราก็เติบโตมากับสแลง ‘เสือไบ’ และความเชื่อด้านลบต่างๆ เกี่ยวกับไบเซ็กชวล
บ้างก็ว่าไบเจ้าชู้ ไว้ใจไม่ได้ โลภจะเอาทั้ง 2 ทาง
บ้างก็ว่าไบไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงความสับสนชั่วคราว สุดท้ายจะต้อง ‘เลือก’ ชอบแค่เพศใดเพศหนึ่งอยู่ดี
กรณีศึกษาที่ชัดเจนคือ ความสัมพันธ์ 2 ปีระหว่างดาราสาว พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ กับคลอดีน-อทิตยา เครก ซึ่งพลอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอรักคลอดีนไม่ต่างจากผู้ชายคนอื่นๆ ที่เคยคบมา
“พลอยโตมากับ LGBT อยู่แล้ว พลอยรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกสำหรับพลอย รักก็คือรัก” เธอบอกกับสำนักข่าวไทยรัฐ “พลอยยังรู้สึกดีกับความรักเสมอไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ว่า ณ ตอนนี้พลอยอยู่กับคนนี้เท่านั้น”
อย่างไรก็ตามหลังจากทั้งคู่เลิกรา คอมเมนต์หลายเว็บไซต์กลับกล่าวหาพลอยต่างๆ นานา และด่วนตัดสินรสนิยมทางเพศของเธอ
“หลับตาดูยังรู้ว่าพลอยชอบผู้ชาย”
“นึกว่าพลอยเป็น LGBT งง กลับใจอีกแล้ว”
“คนชอบผู้ชายก็ยังชอบผู้ชายอยู่วันยังค่ำ”
ความคิดเห็นเชิงนี้เป็นตัวอย่างของไบโฟเบีย ทั้งยังสะท้อนทัศนคติคับแคบเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ในสังคมไทยที่พัฒนาไปไกลจนสามารถยอมรับเพศสภาพ (Gender) ได้มากกว่า 2 เพศแล้ว น่าแปลกใจว่า ทำไมบางคนจึงยังมองเพศวิถี (Sexuality) แบบขาวดำ
ไม่เป็นสเตรทก็ต้องเป็นเกย์
ไม่ชอบเพศตรงข้ามก็ต้องชอบเพศเดียวกัน
ทั้งที่จริงต่อให้สาวไบเคยคบผู้ชายมาสักกี่คนในอดีต หรืออาจจะไปคบผู้ชายอีกไม่รู้กี่คนในอนาคต ก็ไม่ได้ทำให้ความรักที่เธอมีต่อผู้หญิงด้วยกันด้อยลงไป ไม่ได้หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับผู้หญิงเป็นเรื่องหลอกลวง
ไบเซ็กชวลไม่ได้สับสน ไม่ได้โลเล เวลาคบเพศเดียวกันไม่ได้แปลว่าเทิร์นเกย์ เวลาคบเพศตรงข้ามก็ไม่ได้แปลว่า ‘กลับใจ’ เพราะสุดท้ายแล้ว เพศวิถีไม่ใช่แค่การขีดเส้นแบ่งระหว่างเกย์กับสเตรททื่อๆ แต่เป็นสเปกตรัม
ในสเปกตรัมของสาวไบ ต่อให้ชอบผู้หญิง 1% หรือ 99% ก็ยังนับเป็นไบไม่ต่างกัน ยังควรที่จะได้พักพิงใต้ร่ม wlw คันใหญ่ ร่วมกับเลสเบี้ยน ทอม ดี้ หรือหญิงรักหญิงประเภทอื่นๆ
ตั้งแต่วันแรกที่ต้องสู้เพื่อสิทธิ จนถึงวันนี้ที่มีสมรสเท่าเทียม ชาวหญิงรักหญิงโดนเหยียดจากคนนอกมามากมาย หากจะมีสิ่งใดช่วยเสริมกำลังให้สู้ต่อไหว นั่นคือแรงสนับสนุนจากคนในคอมมูฯ
แต่ถ้าแม้กระทั่งคอมมูฯ เดียวกันเองยังไม่ต้อนรับ จะให้ไบไปอยู่ที่ไหนกมล
อ้างอิง
https://x.com/Light_5547/status/1904794290435584436
https://www.bps.org.uk/psychologist/people-erase-my-existence
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2336065
Tags: หญิงรักหญิง, LGBTQIA+, WLW, Gender, Bisexual, ไบเซ็กชวล