‘เครื่องบินคือการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก’
ใครต่อใครหลายคนก็เชื่อเช่นนั้น เมื่อกล่าว ‘เครื่องบิน’ วิธีการเดินทางอันรวดเร็วจากมันสมองของมนุษยชาติ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและสถิติที่ผ่านมา สะท้อนจากข้อมูลของสภาความปลอดภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US National Safety Council) แสดงให้เห็นว่า โอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากเครื่องบินคิดเป็น 1 ใน 205,552 หากเทียบกับการโดยสารรถยนต์คือ 1 ใน 102 ขณะที่สถิติในปี 2019 ให้นัยสำคัญกับเราว่า มีผู้เสียชีวิตจากการนั่งเครื่องบินเพียง 287 รายจาก 70 ล้านไฟลต์ทั่วโลก
ทว่าเหตุการณ์ในปี 2024 อาจทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามและแคลงใจอยู่ไม่น้อย เพราะภัยพิบัติทางอากาศไม่กี่ครั้งกลับมีจำนวนผู้เสียชีวิต ‘เทียบเท่า’ กับอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบทั้งปี นับตั้งแต่เริ่มปีใหม่ด้วยเหตุการณ์เพลิงไหม้เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลนส์ (Japan Airlines) ทั้งลำ ตามมาด้วยเรื่องช็อกโลกกลางปีคือ เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลนส์ (Singapore Airlines) ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง จนต้องจอดฉุกเฉินในสนามบินสุวรรณภูมิ
ปิดท้ายสิ้นปีด้วยโศกนาฏกรรม 2 ครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกภายใน 1 สัปดาห์ คือ เครื่องบินของสายการบินอาเซอร์ไบจานแอร์ไลนส์ (Azerbaijan Airlines) ตกในประเทศคาซัคสถาน โดยมีต้นเหตุคือระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียที่ใช้โจมตีโดรนของยูเครน ขณะที่เมื่อวานนี้ (30 ธันวาคม 2024) เครื่องบินของสายการบินเจจูแอร์ (Jeju Air) ระเบิด หลังลงจอดโดยที่ล้อไม่กาง (Belly Landing) ซึ่ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 200 รายภายในระยะเวลาสั้นๆ
ยังไม่รวมเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ประตูเครื่องบินโบอิง 737 ของสายการบินอลาสกาแอร์ไลนส์ (Alaska Airlines) ระเบิดอย่างไม่ทราบสาเหตุ แต่ผู้โดยสารทั้งหมด 171 คนรอดชีวิต รวมถึงเครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ในประเทศแคนาดาและนอร์เวย์เมื่อวานนี้ อีกทั้งล่าสุดยังมีรายงานจากสำนักข่าวโคเรียเฮรัลด์ (KoreaHerald) ว่า เครื่องบินของสายการบินเจจูแอร์อีกลำจากสนามบินกิมโพ (Gimpo Interntional Airport) ที่เดินทางไปยังเจจู (Jeju) เกิดความผิดปกติ โดยตรวจพบปัญหาบริเวณส่วน ‘ล้อ’ และ ‘การลงจอด’ หลังจากบินขึ้นได้ไม่นาน
คงไม่มีใครอยากให้โลกเริ่มต้นปี 2025 ด้วยอุบัติเหตุและโศกนาฏกรรม หลายคนจึงพยายามเตรียมตัวเพื่อ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษากฎข้อกำหนดของสายการบิน สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ จนถึงเรื่องเล็กน้อยที่ใครหลายคนไม่คาดคิด คือ ‘การเลือกที่นั่ง’ ซึ่งอาจช่วยคุณในยามวิกฤตได้มากที่สุด
แต่ความเชื่อนี้เป็นความจริงหรือไม่? The Momentum พาทุกคนไปสำรวจความจริงว่าด้วย ‘ที่นั่งที่ดีที่สุด’ บนเครื่องบินไปพร้อมกัน
หน้า กลาง หลัง หรือตรงไหน เมื่อที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดไม่มีอยู่จริง
ก่อนหน้านี้ นิตยสารไทม์ (TIME) จัดทำสถิติว่า ที่นั่งส่วนไหนของเครื่องบินมีความปลอดภัยมากที่สุดในปี 2015 โดยอาศัยจากการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุเครื่องบินในรอบ 35 ปี ตั้งแต่ปี 1985-2000 จากสำนักงานบริหารการบินแห่งสหพันธรัฐ (Federal Aviation Administration: FAA)
ทั้งนี้สถิติเผยว่า ‘ที่นั่งด้านหลังตรงกลาง’ ที่ใครหลายคนพยายามหลีกเลี่ยง มีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุดถึง 28% หากเทียบกับ ‘ที่นั่งริมทางเดินตรงกลาง’ คือ 44% ขณะที่ในภาพรวม ที่นั่งด้านหลังสุดมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 32% ขณะที่ส่วนกลางและส่วนหน้าอยู่ที่ 39% และ 38% ตามลำดับ
แต่อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นอย่าง ‘ไม่คาดคิด’ และ ‘ไม่เป็นไปตามแผน’ เสมอ
นั่นคือข้อโต้แย้งจากซีเอ็นเอ็น (CNN) และผู้เชี่ยวชาญถึงสถิติที่นั่งที่ดีที่สุด หลังย้อนดูเหตุการณ์ในปี 1989 เมื่อเครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลนส์ (United Airlines) ไฟลต์ 232 ตกในรัฐไอโอวา (Iowa) แต่กลับมีผู้โดยสารที่นั่งข้างหน้าและชั้นธุรกิจรอดชีวิตมากที่สุด ซึ่งสวนทางกับข้อมูลจากไทม์ทั้งหมด
นอกจากนี้ เดวิด ริมเมอร์ (David Rimmer) ซีอีโอจาก AB Aviation Group ยังอธิบายว่า แม้หลายคนจะบอกว่าที่นั่งข้างหลังปลอดภัยสุด แต่สถิติเปิดเผยว่า ที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ ‘ไม่สบาย’ ที่สุด เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบ อย่างห้องน้ำหรือห้องครัว ที่อาจ ‘พลิกโอกาสให้เป็นวิกฤต’ ได้
ขณะที่มหาวิทยาลัยกรีนิช (University of Greenwich) เผยผลการวิจัยในปี 2008 ว่า ผู้โดยสารที่นั่งใกล้ทางออกฉุกเฉินมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด แต่หากคิดตามหลักเหตุและผล ในกรณีที่อุบัติเหตุเกี่ยวข้องกับเพลิงไหม้ ซึ่งทางออกฉุกเฉินอยู่บริเวณปีกเครื่องบินที่มีการเก็บเชื้อเพลิง คำตอบในการรอดชีวิตในกรณีนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องเท่าไรนัก
แต่การนั่งข้างหน้าก็หมายความว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินจากทิศทางเบื้องหน้า มีแนวโน้มสูงที่คุณจะได้รับผลกระทบก่อน และออกจากทางออกฉุกเฉินเป็นคนสุดท้าย
แล้วที่นั่งที่ดีที่สุดมีจริงหรือไม่?
คำตอบสำหรับคำถามนี้ หากอ้างอิงจากการสำรวจข้อมูลจากสื่อใหญ่และสถิติที่ผ่านมา คงต้องตอบได้ว่า ‘ไม่มีจริง’ โดยขอยกข้อมูลจากไทม์ทิ้งนัยสำคัญไว้ว่า โอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางการบินไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่นั่ง แต่เป็นปัจจัยด้าน ‘สภาพแวดล้อม’ เสียมากกว่า
กล่าวคือ เกณฑ์ในการพิจารณาความปลอดภัยบนเครื่องบินที่อาจเป็นไปได้มากที่สุด คือ รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณหางเครื่องบิน โอกาสรอดชีวิตของคนที่นั่งด้านหน้ากับตรงกลางจะสูงกว่าคนที่อยู่บริเวณด้านหลัง หรือหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ คนที่นั่งอยู่ใกล้ปีกเครื่องบิน จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
นอกจากนี้ประเด็น ‘การลงจอดฉุกเฉิน’ ก็มีส่วนสำคัญที่เพิ่มอัตราการรอดชีวิต โดยซีเอ็นเอ็นระบุว่า การที่เครื่องบินวิ่งลงจอดกลางภูเขาและมหาสมุทรไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไร ส่วนใหญ่กัปตันจึงถูกฝึกให้จอดบริเวณที่ราบและทุ่งโล่ง ขณะที่การลงจอดบนมหาสมุทรต้องคำนวณผิวน้ำและคลื่น โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์แอร์นิวซีแลนด์ (Air New Zealand) ไฟลต์ 901 ที่ตกบนเขาเอเรบัส (Mount Erebus) ในแอนตาร์กติกาปี 1979 และเหตุการณ์แอร์ฟรานซ์ (Air France) ไฟลต์ 447 ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocen) ปี 2009
อย่างไรก็ตามหากใครที่กำลังกังวล จงสูดหายใจลึกๆ และทำความเข้าใจว่า โดยทั่วไปแล้ว การนั่งเครื่องบินเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก มีเพียงรถไฟที่เทียบเคียงความสามารถในการรักษาชีวิตคนได้
ดังที่สถิติชี้ว่า เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตจากการโดยสารเครื่องบินมีเพียง 1 ใน 8,000 เท่านั้น หากเทียบกับการโดยสารบนท้องถนนซึ่งอยู่ที่ 1 ใน 112 ขณะที่คนเดินถนนอาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุถึง 1 ใน 700 อีกทั้ง อาเดรียน ยัง (Adrian Young) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยการบิน ระบุผ่านสำนักข่าวดิอินดิเพนเดนต์ (The Independent) ว่า สถิติจากอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในปัจจุบันยังน้อยกว่าในอดีตมาก
แต่เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นแบบ ‘สุ่ม’ และมนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้ ความไม่ประมาท การเตรียมตัวล่วงหน้า และการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ป้องกันตนเองจากภัยอันตราย แต่ยังเป็นการรักษามารยาทในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันผู้อื่นด้วย
ขณะที่โลกทั้งในระดับรัฐ ผู้มีอำนาจ ไปจนถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมต่อมนุษยชาติ ด้วยการ ‘เรียนรู้’ และ ‘ลงมือแก้ไข’ โดยไม่ต้องถอดบทเรียนซ้ำซากเมื่อมีภัยครั้งใหญ่
ท้ายที่สุดนี้ขอให้ทุกคนโชคดีรับปีใหม่ และเดินทางปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ
อ้างอิง
https://www.koreaherald.com/article/10032848
https://edition.cnn.com/travel/article/safest-seat-plane/index.html
https://edition.cnn.com/2012/07/05/world/europe/france-air-crash-report/index.html
https://time.com/3934663/safest-seat-airplane/
https://www.travelandleisure.com/what-is-the-safest-seat-on-a-plane-8398877
Tags: การบิน, ที่นั่งเครื่องบิน, การเดินทาง, เครื่องบิน, ความปลอดภัย, อุบัติเหตุ, อาเซอร์ไบจาน, นั่งเครื่องบิน, เจจูแอร์