วันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันครบรอบการก่อตั้ง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองจดทะเบียนเก่าแก่ที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน พรรคดังกล่าวก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2489 ซึ่งปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 74 ของพรรค และเมื่อเรานึกถึงพรรคการเมืองในไทยมักจะนึกถึงชื่อพรรคการเมืองต่างๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการเรื่องพรรคการเมืองของไทย และที่มาที่ไปของพรรคประชาธิปัตย์

ตามความหมายพรรคการเมือง (Political Party) คือ การรวมตัวของกลุ่มคนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีเป้าหมายคือเข้าไปมีบทบาทในทางการเมือง ในแง่ของฝ่ายรัฐบาลคือเป็นผู้กำหนดนโยบาย ส่วนฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ควบคุมการกำหนดนโยบาย และการมีพรรคการเมืองนั้นก็มิได้จำกัดอยู่เพียงระบอบประชาธิปไตยเพียงเท่านั้น แต่ระบอบเผด็จการก็สามารถมีพรรคการเมืองได้เช่นกัน แต่จะมีความแตกต่างกัน คือพรรคการเมืองในระบอบเผด็จการมักจะมีหน้าที่เพื่อครองอำนาจและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองเท่านั้น [1]

จากความหมายข้างต้นเมื่อย้อนกลับไปมองก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยามในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แม้ว่ายังมิได้เปิดให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง แต่แนวความคิดที่เกี่ยวกับคณะการเมืองหรือพรรคการเมืองก็ได้ปรากฏในสังคมบ้าง ในระยะที่เริ่มมีการถกเถียงว่าธรรมเนียมการปกครองใดเหมาะสมกับสยามก็ได้ปรากฏคำว่า “ปาลิติกัลปาตี” ใน “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในเนื้อหาส่วนหนึ่งได้กล่าวว่าการที่จะมี “ปาลิติกัลปาตี” ขึ้นในขณะนี้จะมีแต่การทุ่มเถียงกันไม่สำเร็จ และยังไม่เหมาะสำหรับบ้านเมือง พอล่วงเข้ายุครัชกาลที่ 6 การถกเถียงเรื่องการเมืองดาษดื่นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ประเด็นเรื่องคณะการเมืองก็ได้ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านบ้างอย่างประปราย [2] 

จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติสยามที่ได้เปลี่ยนรูปโฉมระบอบการเมืองไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ ในระยะดังกล่าวได้เกิดคณะการเมืองที่ชื่อพอจะคุ้นหูกันอยู่บ้าง คือ “สมาคมคณะราษฎร” และ “สมาคมคณะชาติ” ที่ตั้งเค้าก่อรูปเป็นพรรคการเมือง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ [3] 

กระทั่งช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์การเมืองภายในเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงจากอำนาจ เพราะแพ้โหวตในสภา 2 ครั้งติดในปี พ.ศ.2487 คือกรณีพิจารณาพระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง และกรณีพิจารณาพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑล เพื่อจะตั้งเขตมณฑลทางพระพุทธศาสนาขึ้น [4] 

การพ่ายแพ้โหวตในสภาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังกล่าวถูกนายควง อภัยวงศ์อธิบายว่าเป็นกลการเมืองที่ถูกวางแผนไว้

“การดำเนินแต้มคูของจอมพลทางการเมืองในประเทศไม่มีผลสอดคล้องกับนโยบายของนายปรีดีที่ติดต่อกับสายเสรีไทยนอกประเทศ จะทำให้เกิดอาการขัดกันและพลอยล่มจมกันไปทั้งสองข้าง จึงวางวิธีการส่งลูกศิษย์ลูกหาเข้าไปติดต่อกับพวกประเภท 2 ในจังหวะที่จอมพลเสนอกฎหมายอันไม่ได้ความทั้ง 2 ฉบับนั้นเข้าสู่สภาแผนการโค่นล้มจอมพลจึงสำเร็จลงอย่างง่ายดาย” [5]

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ นายควง อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 69 ต่อ 22 จากกลุ่มผู้สนับสนุนคือกลุ่มคณะราษฎรสายพลเรือนหรือกลุ่ม ปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง เมื่อควง อภัยวงศ์ ขึ้นสู่อำนาจนำไปสู่การแก้ไปปัญหาตกค้างจากรัฐบาลเก่า และดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งถอดถอนอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในห้วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงครามลงจากอำนาจในระยะสั้นๆ นี้นำไปสู่บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น [6] 

ในห้วงเวลานี้อาจกล่าวได้ว่า มีลักษณะที่กลุ่มการเมืองมีการประนีประนอมกัน โดยฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยมเนื่องจากไม่มีฐานอำนาจมากพอที่จะต่อต้านฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกลุ่มอนุรักษนิยมนี้มีพลังการเมืองและเริ่มเคลื่อนไหวระหว่างสงครามโลก และมีท่าทีต่อต้านการมีอำนาจของข้าราชการประจำฝ่ายทหาร ซึ่งก็คือกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม [7] 

ขณะเดียวกันในการประนีประนอมดังกล่าวกลุ่มอนุรักษนิยมก็ได้ผลประโยชน์ เห็นได้จากมีการอภัยโทษนักการเมือง ซึ่งบางส่วนเป็นชนชั้นสูง หรือข้าราชการเก่าที่ใกล้ชิดกับชนชั้นนำในระบอบเก่า ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2488 ซึ่งคนกลุ่มนี้จะหวนกลับเข้ามาเล่นการเมืองและเป็นตัวแสดงที่สำคัญในช่วงนี้ นอกจากนี้มียังการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ให้มีสภาใหม่ 2 สภา ให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ และที่สำคัญคือยกเลิกมาตรา 11 คือห้ามพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแสดงให้เห็นว่าเป็นสภาวะที่มีการประนีประนอมกันทางการเมืองเพื่อให้มีระบบการเมืองที่สามารถเข้าไปต่อสู้กัน [8] 

อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ดังนั้นควง อภัยวงศ์จึงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผู้ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากฝ่ายปรีดี พนมยงค์ เพราะว่าต้องการสร้างดุลอำนาจในการเจรจาหลังสงครามกับชาติมหาอำนาจ และแสดงให้เห็นถึงการประสานรอยร้าวกับกลุ่มอนุรักษนิยมที่เคยถูกห้ามไม่ให้ข้องเกี่ยวกับการเมือง [9] 

เค้าลางการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองไทยในยุคดังกล่าวนั้นเกิดในระยะที่มีการเลือกตั้งซ่อมในพระนคร เมื่อขุนสมาหารหิตะคดีถึงแก่กรรม จึงนำไปสู่การแข่งขันในพระนคร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2488 ฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่ง ทองเปลว ชลภูมิลงแข่ง ขณะเดียวกันกลุ่มอดีตนักโทษการเมืองส่ง โชติ คุ้มพันธ์ลงแข่งขัน และท้ายที่สุดโชติ คุ้มพันธ์ ชนะการเลือกตั้งโดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาปราศรัยช่วย [10] นอกจากจะร่วมกันสนับสนุนฝ่ายตนลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ยังมีการก่อตั้งสมาคมการเมืองโดยในปลายปี พ.ศ.2488 คณะผู้สนับสนุน โชติ คุ้มพันธ์ ได้ตั้งสมาคมขึ้นชื่อว่า ‘สมาคมประชาธิปไตย’ และเรียกโดยย่อว่า ส.ป.ธ. มีเรื่องหมายโคมไฟหรือดวงประทีปมีอักษร ส.ป.ธ.อยู่ที่ด้ามดวงทวีป สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่บ้านเลขที่ 53 ถนนหรรณพ พระนคร มีพายัพ โรจนวิภาต เป็นนายกสมาคม มีเสาวศักดิ์ เพียรธรรม เป็นเลขานุการ และมีโชติ คุ้มพันธ์เป็นที่ปรึกษา ในสมาคมดังกล่าวมีสมาชิกหลายร้อยคน [11] 

ระยะต่อมาเกิดความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างปรีดี พนมยงค์ กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในการเจรจากับต่างประเทศหลังสงครามนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่การตั้ง “พรรคก้าวหน้า” ที่มีการร่วมมือของอดีตนักโทษการเมืองกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยมีสอ เสถบุตร เป็นผู้เชื่อมสายสัมพันธ์ มีผู้ร่วมก่อตั้ง เช่น โชติ คุ้มพันธ์ สอ เสถบุตร สุวิชช พันธเศรษฐ และ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นเลขาธิการพรรค [12] โดยพรรคดังกล่าวนี้เป็นภาพแทนของกลุ่มอนุรักษนิยมที่เข้ามาเล่นการเมือง 

ในห้วงเดียวกันนั้นกลุ่มผู้นำอีสาน และบางส่วนจากฝ่ายปรีดี พนมยงค์ก็ได้ร่วมกันตั้ง “พรรคสหชีพ” แนวคิดของพรรคนี้มีลักษณะสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการแข่งขันในระบบรัฐสภา พรรคดังกล่าวให้การสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ และมีฐานเสียงกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสาน [13]

การเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ.2489 ได้สร้างรอยร้าวระหว่างควง อภัยวงศ์ กับปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากพรรคสหชีพได้ส่งวิลาศ โอสถานนท์ ลงสมัครในพระนครเขต 2 ซึ่งเป็นเขตเดียวกันกับควง อภัยวงศ์ ลงแข่งขัน ปรากฏว่าควง อภัยวงศ์ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้แรงสนับสนุนจากปรีดี พนมยงค์ เสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่กลับเสนอ ดิเรก ชัยนาม ดังที่ควง อภัยวงศ์ ได้สะท้อนออกมาว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กับพวกมีความปรารถนา จะให้นายดิเรก ชัยนามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงคราวเลือกนายในสภาฯ เข้าคะแนนเสียงของสมาชิกทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ส่วนใหญ่ มาเลือกข้าพเจ้าเป็นนายก ซึ่งยังความไม่พอใจแก่นายปรีดีและพวกเป็นอย่างมาก แต่นายปรีดีก็มิได้แสดงออกมานอกหน้า” [14]

เมื่อตั้งรัฐบาลได้ไม่นานก็มีเหตุให้ควง อภัยวงศ์ลาออกเนื่องจาก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคสหชีพได้เสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายประชาชนในภาวะคับขัน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้คัดค้านอย่างรุนแรง ทว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับชนะเมื่อมีการลงคะแนนเสียงในสภา การพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ [15] เหตุการณ์ในช่วงการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนแรกได้มีถ้อยแถลงในการกำเนิดพรรคประชาธิปัตย์ ว่า 

“ได้ประชุมปรึกษากันจัดตั้งพรรคขึ้น มี ม.ร.ว.คึกฤกธิ์ ปราโมช นายเลียง ไชยกาล นายปริญญา จุฑามาศ นายสุวิช พันธเศรษฐ นายโชติ คุ้มพันธ์ นายชวลิต อภัยวงศ์ นายอินฑูร วรกุล นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และนายฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรค โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เอาพรรคก้าวหน้าของตนมารวมกับพรรคประชาธิปไตยของ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ แล้วให้ชื่อว่า ‘พรรคประชาธิปัตย์’ เมื่อได้ร่างข้อบังคับกันขึ้นเรียบร้อยแล้ว จึงพากันมาหาข้าพเจ้าที่บ้านหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ชี้แจงเหตุผลและขอร้องให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

“ข้าพเจ้าเองในครั้งกระนั้นยังไม่เลื่อมใสในระบบพรรคการเมืองนัก เพราะเห็นว่า สมาชิกสภาก็ดี ประชาชนก็ดี ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในระบบนี้ เกรงว่ามีระบบพรรคกันไปแล้ว จะยังความไม่ราบรื่นในสภา แต่เมื่อได้มีการตั้งพรรคกันไปบ้างแล้ว เช่น พรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญ เป็นต้น กับทั้งกลุ่มนี้มีเจตจำนงอันแน่วแน่จะตั้งพรรคกันจริงๆ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็เป็นผู้มีความรู้และคงแก่เรียนกันดี ข้าพเจ้าจึงตกลงใจรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การประชุมครั้งแรกเราได้ตกลงยืมห้องชั้นล่างตำหนักของพระนางเจ้าสุวัฒนาฯ เป็นที่ประชุม” [16]

นอกจากนี้แล้วด้านฟากของสมาคมประชาธิปไตย ของโชติ คุ้มพันธุ์ ได้ปรากฏหลักฐานในช่วงจะร่วมกับพรรคก้าวหน้า ว่า การจะก่อกำเนิดเป็นพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้ปรึกษาหารือกันที่บ้านคุณหลวงสรสิทธิ์สยานุการย่านถนนดินสอ และในที่สุดก็ได้นำสมาคมเข้าร่วมกับกลุ่มของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช [17] ส่วนการตั้งชื่อพรรคนั้นมีบันทึกไว้ว่า เดิมทีคิดกันไว้หลายชื่อ ด้านโชติ คุ้มพันธ์ เสนอชื่อประชาธิปไตย แต่สุดท้ายมีเสียงเด็ดขาดจากคนในพรรคจึงประกาศชื่อพรรคว่า “พรรคประชาธิปัตย์” [18]

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ถือกำเนิด และเกิดขึ้นภายใต้บริบทการคลี่คลายทางการเมืองหลังจากการลงจากตำแหน่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระยะสั้นๆ และกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ยินยอมประนีประนอมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบรัฐสภาที่จะเปิดทางให้แต่ละฝ่ายเข้าไปต่อสู้บนเวทีทางการเมือง ขณะเดียวกันก็เกิดความแตกแยกของคณะราษฎรสายพลเรือนอย่างปรีดี พนมยงค์ กับควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แยกตัวและตั้งพรรคใหม่กับกลุ่มการเมืองที่มีภาพตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตามการรวมตัวกันเพื่อตั้งพรรคการเมืองต่างๆ ในยุคนี้แต่ละพรรคก็มีความคาดหวังและอุดมการณ์ทางการเมือง และผลักดันประเด็นที่แตกต่างกันไป เช่น พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ 

จากยุคพรรคเทพสู่พรรคต่ำร้อย

นับตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคจนถึงปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมาหลายครั้งด้วยกัน จนกระทั่งเข้าสู่ทศวรรษ 2530 ที่เกิดความผันผวนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ของคณะทหารที่เรียกตัวเองว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยอ้างสาเหตุรัฐประหารคือการคอร์รัปชันของนักการเมือง จากนั้นมีการยุบสภาและมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ กระทั่งเดือนสิงหาคมในปีเดียวกันพิมพ์เขียวของร่างรัฐธรรมนูญได้นำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็น ‘ร่างทรง รสช.” ที่จะปูทางให้ทหารเข้าสู่สภา โดยประเด็นสำคัญคือเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งซึ่งก็เท่ากับว่านายทหารจาก รสช.สามารถดำรงนายกรัฐมนตรีได้ ในระยะดังกล่าวองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ รวมไปถึงพรรคการเมืองต่างให้การคัดค้านประเด็นนี้ จนกระทั่งพลเอกสุจินดา คราประยูร และพล.อ.อ.เกษตร โรจนนิลออกมาให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่มีใครในคณะ รสช. เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่างรัฐธรรมนูญจึงผ่านวาระ 3 [19]

หลังจากผ่านร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การเลือกตั้ง ขณะนั้นมีพรรคสามัคคีธรรม พรรคพรรคชาติไทย และพรรคกิจสังคม ให้การสนับสนุน รสช. ในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ได้ 44 เสียง และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชนะการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นสมัยแรก และเป็นประชาธิปัตย์เสียงเดียวในเขตกรุงเทพฯ หลังการเลือกตั้งพรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ให้การสนับสนุนณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคจำแลงของฝ่ายทหารขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ กลับไม่สามารถรับตำแหน่งได้เนื่องจากมีมลทิน ดังนั้นพรรคการเมืองทั้ง 5 จึงเชิญพล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ารับตำแหน่ง 

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นำไปสู่การการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เหตุการณ์ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงเมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ บทบาทของกองทัพหลังเหตุการณ์ดังกล่าวลดลงอย่างมาก และเป็นกระแสการเมืองที่ไม่สนับสนุนให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง [20]

ภาพ: PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP FILES / AFP

การเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนำไปสู่การรณรงค์เลือกตั้งที่แบ่งเป็นสองฝ่ายคือ “พรรคฝ่ายเทพ” และ “พรรคฝ่ายมาร” โดยพรรคเทพ หรือฝ่ายปฏิรูปการเมือง หมายถึงพรรคที่ร่วมกันต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ส่วนพรรคฝ่ายมาร ได้แก่ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคราษฎร และพรรคประชากรไทย [21] 

การเลือกตั้งครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุด จำนวน 79 คน เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยมีชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวน่าจะถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ยุคทองของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนจะกลายมาเป็นพรรคต่ำร้อยในปัจจุบัน เพราะในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในฝั่งพรรคเทพ ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีภาพลักษณ์ที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยม จะนำเศรษฐกิจไทยสู่ความทันสมัย ที่สำคัญจะผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยโดยการกันทหารออกจากการเมือง นอกจากนี้แล้วพรรคยังสะท้อนการเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ ชนชั้นกลางในเมือง สามารถดึงนายธนาคาร และเทคโนแครตมาเป็นสมาชิกพรรค และสามารถดึงเอานักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาร่วม ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ในยุคดังกล่าวจึงเป็นพรรคที่ทันสมัยแตกต่างจากพรรคอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยนักธุรกิจท้องถิ่น ถือได้ว่าห้วงเวลาดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จอย่างมาก [22] 

ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีภาพลักษณ์ที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยม จะนำเศรษฐกิจไทยสู่ความทันสมัย ที่สำคัญจะผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยโดยการกันทหารออกจากการเมือง

74 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านวิกฤตการณ์การเมืองไทยมาหลายยุคหลายสมัย ในพรรคมีอดีตนายกรัฐมนตรีถึง 4 คนด้วยกัน ได้แก่ ควง อภัยวงศ์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มียุคที่เรียกได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทันสมัยโดดเด่นกว่าพรรคอื่น แต่เมื่อลองย้อนไปถึงเหตุการณ์การเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคขนาดใหญ่กลับกลายเป็นพรรคต่ำร้อยคือได้เก้าอี้ในสภาเพียง 52 แม้แต่การชู “New Dem” หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเลือกตั้งท่ามกลางกระแสพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่พูดถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศก็แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะภายหลังการเลือกตั้ง “New Dem” ก็ถูกยุบไป เรียกได้ว่าเกือบ 3 ทศวรรษหลังชัยชนะอันงดงามและเป็นภาพแทนของความทันสมัยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กลับต้องเผชิญกับความท้าทายของการเมืองใหม่ที่เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด อันเป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคเก่าแก่ต้องแก้ไข เพราะของใหม่ในอดีตเมื่อผ่านไปสักพักก็จะกลับกลายว่าตกรุ่นไป 

 

อ้างอิง

[1] บูฆอรี ยีหมะ, ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564),หน้า 199.

[2] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม : พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), หน้า 28-31, และ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, “กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย”, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510, หน้า 27

[3] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม : พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, หน้า 236-242.

[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, (กรุงเทพฯ: พี.เพรส,2550), หน้า 38. 

[5] ควง อภัยวงศ์, การต่อสู้ของข้าพเจ้า นายควง อภัยวงศ์, (นนทบุรี: สำนักพิมพ์อนุรักษ์,ไม่ปรากฏปีพิมพ์), หน้า 60. หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นการเรียบเรียงคำสัมภาษณ์ของนายควง อภัยวงศ์ โดย ช.เทพลัลย์ และทานตะวัน พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ปี 2501

[6] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย,หน้า 36-38

[7] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, หน้า 176-177 

[8] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, หน้า 41-44

[9] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย,หน้า 45. 

[10] จงกล ไกรฤกษ์,ศิลปเลือกตั้ง, (ธนบุรี:เทพนิมิตการพิมพ์, 2511), หน้า 128-129

[11] รัฐธรรมนูญฉบับปฐมฤกษ์จนถึงปัจจุบัน, (พระนคร:โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2514), ไม่ปรากฏเลขหน้า

[12] ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน,ชีวิตที่ลิขิตไว้ของ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา, (กรุงเทพฯ: ไม่ปราฎที่พิมพ์,2541), หน้า 82.

[13] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2481-2492 , วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531,หน้า 212-215

[14] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ 13 มิถุนายน 2511 (กรุงเทพ: โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์, 2511), หน้า 81

[15] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 49 

[16] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ 13 มิถุนายน 2511, หน้า 81-82

[17] รัฐธรรมนูญฉบับปฐมฤกษ์จนถึงปัจจุบัน, ไม่ปรากฏเลขหน้า

[18] เรื่องเดียวกัน.

[19] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2551), หน้า 218-226

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 227-235.

[21] เรื่องเดียวกัน, หน้า 237-238

[22] คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ:มติชน,2557), หน้า 374 

 

Tags: ,