น่าจะถือเป็นเรื่องชวนช็อคอยู่หน่อยๆ ที่ล่าสุด กัสปาร์ โนเอ (Gaspar Noé) คนทำหนังชาวอาร์เจนติน่าให้สัมภาษณ์หน้าตาเฉยว่า “ผมอยากทำหนังเกี่ยวกับเด็กๆ หรือทำหนังสำหรับเด็กเหมือนกันนะ”

ในมุมหนึ่งก็คงใช่ หากจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าผู้กำกับหลายๆ คนฝันอยากลองทำหนังสำหรับเด็ก แต่ทันทีที่มันมาจากโนเอ ก็ทำให้หลายคนก็รู้สึก ‘สะพรึง’ ขึ้นมาทันทีว่าหนังเด็กของพี่มันจะออกมาหน้าตาแบบไหน เพราะที่ผ่านมา ผู้กำกับรายนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังฉาวและเดือดดาลระดับเคยทำให้คนดูหนังรอบฉายเทศกาลต้องลุกหนีออกจากโรงหนัง หรือไม่ก็ออกมาจากโรงในสภาพเหมือนตกอยู่ในฝันร้ายมาสดๆ ร้อนๆ

โนเอ เกิดที่กรุงบัวโนสไอเรส ก่อนที่ครอบครัวจะอพยพมาใช้ชีวิตในฝรั่งเศสหลังเกิดการรัฐประหารที่อาร์เจนติน่าในปี 1976 และเกิดการปราบปรามคอมมิวนิต์กับคนที่คิดต่างจากรัฐครั้งใหญ่ “คงเพราะพ่อแม่ไม่อยากให้ทั้งบ้านถูกจับไปอยู่ในค่ายทรมานแบบเพื่อนๆ ของพวกเขาน่ะ” เขาว่า 

อย่างไรก็ดี ครอบครัวของโนเอมีส่วนปลูกฝังทัศนคติที่โนเอมีต่อภาพยนตร์อย่างแรงกล้า โดยในวัย 18 ปี เขาเล่าว่าแม่คะยั้นคะยอให้เขาดู Salò, or the 120 Days of Sodom (1975) หนังสุดแสนผะอืดผะอมของ ปิแอร์ เปาโล ปาโซลินี (Pier Paolo Pasolini) ว่าด้วยอิตาลีช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเหล่าฟาสซิสม์เรืองอำนาจ บังคับกลุ่มหนุ่มสาวมา ‘เข้าค่าย’ ทรมานด้วยวิธีสุดวิปริตจนหนังถูกแบนในหลายๆ ประเทศ “แม่ให้ผมดูหนังเรื่องนี้ บอกผมว่า ‘ลูกโตพอจะดูความโหดเหี้ยมที่มนุษย์กระทำต่อร่างกายมนุษย์ได้แล้วล่ะ’” โนเอเล่า “แม่ผมเนี่ยกังวลเกี่ยวกับความอำมหิตจากการทรมานมากๆ แม่บอกว่า ‘อยากรู้หรือเปล่าว่าชีวิตมันจะเลวร้ายไปได้ถึงแค่ไหน มาดูหนังเรื่องนี้กับแม่สิ’ แล้วไอ้หนังเรื่องนี้ติดอยู่ในหัวผมแบบสุดช็อคไปอีก 12 ปีให้หลังได้”

หลายปีหลังจากนั้น เมื่อโนเอเริ่มทำหนัง งานของเขาโดดเด่นที่งานภาพและประเด็นแบบ ‘สุดขีดคลั่ง’ โดยเฉพาะการจับจ้องไปยังเรือนร่างมนุษย์ I Stand Alone (1998) หนังยาวเรื่องแรกของเขาที่ขึ้นคำเตือนบอกคนดูว่าพวกเขามีเวลา 30 วินาทีในการเดินออกจากโรงหนังก่อนจะถึงฉาก ‘รุนแรง’ ที่สุด ตัวหนังเริ่มต้นด้วยเสียงคนฆ่าสัตว์ (แสดงโดย ฟิลลิปเปอ นาฮอน) เล่าชีวิตอันแสนขมขื่นของตัวเองที่ถูกบาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศแต่เด็ก เติบโตมาโดยไร้การศึกษาและได้ทำงานเป็นคนฆ่าสัตว์ เขาแต่งงานกับหญิงคนหนึ่งที่หนีหายไปจากเขาและทิ้งลูกสาวคนเดียวไว้ให้เขาเลี้ยง ช่วงเวลาที่เขาเลี้ยงลูกขึ้นมาเพียงลำพัง กอรปกับความโดดเดี่ยวในชีวิต เขาค่อยๆ รู้สึกตกหลุมรักลูกสาวแท้ๆ ขึ้นมา และเลยเถิดไปกว่านั้นเมื่อเขาพลั้งมือสังหารชายคนหนึ่งจนเขาถูกจำคุก ต้องขายร้านฆ่าสัตว์ที่ลงทุนสร้างมาทั้งชีวิตให้คนอื่นไป

ชีวิตของชายฆ่าสัตว์ยังระหกระเหินและไต่เส้นแบ่งทางศีลธรรมของคนดูตลอดเวลา ทั้งการกระทำหญิงท้องแก่อย่างรุนแรงจนแทบทนดูไม่ไหว ตลอดจนฉากที่เขาหวนกลับไปเจอลูกสาวอีกครั้งที่ทำให้เรื่องทุกอย่างทั้งเลวร้ายและอำมหิตไปกว่าเดิม และไม่เพียงแต่เส้นเรื่องที่ท้าทายคนดูเท่านั้น งานภาพและภาษาภาพยนตร์ของโนเอก็ฉายแววบ้าระห่ำมาตั้งแต่เรื่องแรก เพราะหนังเล่าเรื่องด้วยความนิ่งเนิบขัดแย้งกับเรื่องราวชวนเครียดเขม็ง ไม่ว่าจะเสียงเล่าเรื่องไร้อารมณ์ของตัวละครกับงาน ภาพที่แช่กล้อง ขัดกับเรื่องราวชวนเสียสติที่คนฆ่าสัตว์เล่า และบางครั้งบางคราว โนเอก็กระชากเคลื่อนกล้องคล้ายเป็นการปลุกคนดูให้หลุดออกจากภวังค์ฝันร้ายเพื่อไปสู่ฝันร้ายยิ่งกว่า ทั้งนี้ มีนักวิจารณ์หลายคนชี้ว่า โนเอน่าจะได้รับอิทธิพลงานกำกับมาจาก Angst (1983) หนังสัญชาติออสเตรียโดย เยอรัลด์ คาร์กล์ (Gerald Kargl) ที่เล่าเรื่องด้วยการบรรยายความคิดสุดวิปริตของฆาตกรต่อเนื่องซึ่งเดินหน้าสังหารคนทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากคุก ซึ่งเป็นหนังที่โนเอออกตัวว่าส่งอิทธิพลต่อเขามากที่สุดเรื่องหนึ่ง

แน่นอนว่าหนังแจ้งเกิดโนเอทันที โดยมันส่งเขาเข้าชิงรางวัลกล้องทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์และชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติแห่งบัวโนส ไอเรส หากแต่นี่ก็เป็นเพียงปฐมบทการกำกับหนังอันแสนระห่ำของเขา เพราะหนังลำดับต่อมาอย่าง Irréversible (2002) ทำเอาคนดูลุกหนีออกจากโรงภาพยนตร์เพราะทนรับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าไม่ไหว หนังเปิดเรื่องมาด้วยชายสองคนคือ มาร์คัส (แสดงโดย แวนซองต์ คาสเซล) กับ ปิแอร์ (แสดงโดย อัลแบร์ ดูว์ปงแตล) ถูกหามออกจากสถานขายบริการแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส มาร์คัสแขนหักขณะที่ปิแอร์ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ หนังตัดสลับไปไม่กี่นาทีก่อนหน้าช่วงเวลานี้ เมื่อทั้งสองกำลังอาละวาดโดยมาร์คัสพยายามทำร้ายชายคนหนึ่งที่เขาเจอแต่พลาดท่าถูกหักแขนและเกือบถูกอีกฝ่ายข่มขืน หากแต่ปิแอร์เข้ามาช่วยไว้ก่อนโดยใช้ถังดับเพลิงทุบหัวอีกฝ่ายจนแหลกเละ หนังพาตัดสลับย้อนไปอีกด้วยการเคลื่อนกล้องสุดเวียนหัว คนดูพบว่ามาร์คัสกับปิแอร์พยายามหาตัวคนที่ทำร้าย อเล็กซ์ (แสดงโดย โมนิกา เบลลุกซี) คนรักของมาร์คัสที่หนังตัดสลับไปช่วงเวลาก่อนหน้า ฉายให้เห็นว่าเธอถูกชายคนหนึ่งข่มขืนอย่างทารุณและทำร้ายจนปางตาย ก่อนที่หนังจะพาตัดสลับไปช่วงที่เธอยังปาร์ตี้อยู่กับมาร์คัสและปิแอร์ รวมทั้งช่วงก่อนหน้าที่พวกเขาออกมาจากที่พักด้วยกัน สนทนากันถึงหนังสือที่เธอเพิ่งอ่านอันว่าด้วย “เวลาทำลายทุกอย่าง”

พ้นไปจากความรุนแรงที่ปรากฏบนจอแล้ว หนังยังถูกพูดถึงในแง่การใช้ภาษาภาพยนตร์เพื่อทำร้ายคนดู เช่นการที่ช่วงแรกของเรื่อง หนังเคลื่อนกล้องด้วยความรวดเร็ว รุนแรง เหวี่ยงไปมาจนแทบไม่โฟกัสเพื่อบอกเล่าอารมณ์กราดเกรี้ยว พลุ่งพล่านและเมามายสุดขีดของมาร์คัสกับปิแอร์ แต่ฉากที่อเล็กซ์โดนข่มขืน กล้องกลับตั้งนิ่งและถ่ายลองเทคนานหลายนาที บังคับให้คนดูมองเธอถูกทารุณกรรมโดยไม่อาจลุกหนีไปไหนไหน (และจะว่าไป ก็เป็นเทคนิคที่ปรากฏในหนังเรื่อง Angst ซึ่งโนเอชื่นชอบเหลือเกินด้วย) 

โนเอเล่าว่าตามจริงแล้ว หนังถ่ายทำเรียงตามลำดับเวลาทุกประการ “เราถ่ายหนังกันตอนฤดูร้อนปี 2001 กับสคริปต์ยาวแค่สามหน้ากระดาษซึ่งมีอยู่ 12 ฉาก แต่ละฉากยาวเกินครึ่งหน้ามาสักหน่อยและไม่มีไดอะล็อกอะไรทั้งสิ้น” โนเอบอก “จนมาถึงกระบวนการตัดต่อ ผมถึงได้เล่าเรื่องเรียงลำดับกลับหลังอย่างที่ได้ดูตอนมันออกฉายสายประกวดที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2002 นั่นแหละ คนเหวอกับโครงสร้างของหนังกันหมด เพราะมันเริ่มจากค่ำคืนอันแสนโหดร้ายและค่อยๆ ย้อนกลับไปสู่ช่วงเริ่มต้นของวันซึ่งคือสัก 12 ชั่วโมงก่อนหน้าช้าๆ”

“ตอนทำหนัง เรารู้อยู่แล้วว่ามันคือการปลอมแปลงชีวิตขึ้นมา ไม่มีใครเจ็บตัว ไม่มีใครถูกด่า นักแสดงก็แสดงต่อหน้ากล้องและผู้กำกับก็กำกับอยู่หลังกล้อง มันก็ไม่ใช่เรื่องขำๆ อะไร แค่ว่ามันเป็นเกมที่ทุกคนร่วมกันลงไปเล่น ยกตัวอย่าง ตอนเราถ่ายทำฉากที่รุนแรงมากๆ คือฉากการข่มขืนตัวละครของโมนิกา ระหว่างฉากน่ะเธอบอกว่า ‘มันดูไม่ค่อยสมจริงเลยแฮะ’ แล้วก็บอกว่า ‘ทำแบบนี้คนไม่ช็อคตอนดูหรอกน่ะ เราอยากให้พวกเขาช็อคกันไม่ใช่เหรอ’ เรารู้สึกเหมือนเป็นตอนเด็กๆ ที่เล่นมุกตลกห่วยๆ กันน่ะ”อย่างไรก็ดี Irréversible ประสบความสำเร็จเป็นวงกว้าง ทำให้โนเอได้รับการสนับสนุนจากสตูดิโอให้ทำหนังลำดับต่อไปของเขาอย่าง Enter the Void (2009) หนังพูดภาษาอังกฤษสุดเฮี้ยนที่ว่าด้วยผีของ ออสการ์ (แสดงโดย นาธาเนียล บราวน์) วิญญาณคนค้ายาชาวอเมริกันที่ล่องลอยไปเรื่อยๆ หลังถูกตำรวจวิสามัญ โครงเรื่องหลวมๆ เกิดขึ้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตัวออสการ์อาศัยอยู่กับ ลินดา (แสดงโดย พาซ เดอ ลา ออร์ตา) น้องสาวที่เขาสาบานว่าจะดูแลเธอชั่วชีวิตหลังพ่อแม่ทั้งคู่จากไป โดยออสการ์ทำงานเป็นคนส่งยาขณะที่ลินดาทำงานเป็นนักเต้นเปลื้องผ้าในคลับเล็กๆ 

ออสการ์เสพสาร DMT หลอนประสาทและถูกใช้ให้ไปส่งยาที่คลับ The Void แต่พบว่าทั้งหมดเป็นแผนของตำรวจ เขาพยายามโยนยาทิ้งแต่ตำรวจเหนี่ยวไกใส่เขาเสียก่อน กล้องเปลี่ยนมุมกล้องเป็นสายตาวิญญาณของออสการ์ที่ลอยหลุดออกจากตัวเขา ผีออสการ์ล่องลอยไปหาน้องสาวและทั่วโตเกียว พร้อมกันกับที่หวนนึกถึงความทรงจำเก่าๆ ของตัวเองซึ่งฉายเงื่อนไขสาเหตุที่ทำให้เขากลายมาเป็นคนส่งยา

Enter the Void ถือว่าเป็นหนังที่ไม่ได้ ‘หมัดหนัก’ เท่าเรื่องก่อนๆ ของโนเอ แม้อันที่จริงแล้วประเด็นของหนังจะหนักหน่วงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเรื่องการร่วมรักกับแม่ของเพื่อน, การทำแท้งและการใช้ความรุนแรง แต่สิ่งที่ทำให้หนังถูกพูดถึงหนาหูคือการเล่าด้วยมุมมองสายตาของบุคคลที่หนึ่ง (first-person viewpoint) แบบไม่ประนีประนอมสายตาคนดู 

ทั้งนี้ โนเอเล่าว่าสมัยยังเด็ก เขาเคยทดลองยาหลอนประสาทไว้หลายชนิด เขาหยิบเอาประสบการณ์สุดเหวอต่างๆ มาใช้ในหนัง และก่อนหน้าเปิดกล้องถ่ายทำ โนเอทดลองใช้อะยาวัสกา (ayahuasca) สารหลอนประสาทขณะอยู่ในป่าที่เปรู ภายหลังเขาบอกว่านั่นถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในการหลอนยาของเขา ส่วนหนังก็ส่งโนเอเข้าชิงปาล์มทองอีกครั้ง

จากนั้นจึงตามมาด้วยหนังโคตรฉาวแห่งยุคอย่าง Love (2015) ที่ถ่ายทำฉากเซ็กซ์ได้บ้าดีเดือดยิ่งกว่าหนังเรื่องไหนๆ ของโนเอ เมอร์ฟี (แสดงโดย คาร์ล กลัสแมน) นักศึกษาภาพยนตร์ที่อาศัยในปารีส ได้ข่าวว่า อีเล็กตรา (แสดงโดย อาโอมี มูย็อค) คนรักเก่าของเขาหายตัวไป และทำให้เขาหวนนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเธอเมื่อหลายปีก่อนผ่านเรือนกายและการร่วมรักอย่างเร่าร้อน ก่อนที่ โอมี (แสดงโดย คลารา คริสติน) สาวข้างห้องจะเข้ามาร่วมวงด้วย กลายเป็น ‘ทรีซัม’ ที่ทั้งสามพึงพอใจ หากแต่เรื่องยุ่งยากเมื่อเมอร์ฟีแอบสานสัมพันธ์ลับๆ กับโอมีโดยไม่บอกอีเล็กตราและทำเธอตั้งครรภ์ กลายเป็นจุดแตกหักของพวกเขาทั้งสามในเวลาต่อมา

สิ่งที่น่าจับตาคือ Love นำเสนอการหวนรำลึกความสัมพันธ์ผ่านผัสสะแห่งการร่วมรัก ตลอดทั้งเรื่อง ภาพอดีตที่ปรากฏในห้วงคำนึงของเมอร์ฟีนั้นคือเรือนกายของอีเล็กตรา หน้าอก เอว สะโพก ต้นขา กล้องไล่จับร่างกายของเธออย่างละเมียดละไม บางครั้งหนักหน่วง บางครั้งรุนแรง และอีกหลายครั้งก็อ่อนโยน แต่นอนว่ากระบวนการถ่ายทำนั้น นักแสดงก็ปลดปล่อยตัวเองต่อหน้ากล้องแบบไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนใดๆ ทั้งสิ้น กลัสแมนบอกว่าฉากแรกที่เขาต้องเจอคือฉากที่เขาต้องช่วยตัวเอง โดยมีกล้องจับไปที่จู๋ของเขาแบบแนบชิดสุดๆ “วันแรกของการถ่ายทำ ผู้กำกับบอกผมว่า ‘ฉากนี้จะถ่ายโคลสอัพแบบเน้นๆ ละนะ’ เขาลดกล้องลงมาอยู่ระดับเอวผม โฟกัส จากนั้นก็บอกผมว่า ‘เอ้า ถอดกางเกงได้’ แล้วนั่นน่ะโคตรละลายกำแพงเลย”

ทั้งนี้ แม้หนังจะได้ชื่อว่านักแสดง ‘เล่นจริง’ กับฉากเซ็กซ์ต่างๆ แต่โนเอก็ยืนยันว่ามีบางฉากที่จริง และบางฉากที่เป็น ‘การแสดง’ ซึ่งเขาไม่เอ่ยปากว่าเป็นฉากไหน “ผมว่าประสบการณ์ทางเพศควรถูกนำเสนออย่างเต็มกำลังของมันน่ะ แทนที่จะมาทำให้มันดูเหมือนล้อเลียนกันอย่างที่เราเห็นบ่อยๆ อยู่แล้ว”

Climax (2018) ก็เป็นหนังของอีกเรื่องของโนเอที่ถือว่า ‘เอาเรื่อง’ ไม่น้อย เพราะหนังเต็มไปด้วยฉากการใช้ความรุนแรง ฉากเซ็กซ์ และอีกเช่นเคยคือการใช้สารเสพติดผ่านเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนเต้นกลุ่มหนึ่ง พวกเขาซ้อมเต้นกันหนักหน่วงในอาคารหลังเล็กๆ ซึ่งปิดตายเพราะข้างนอกหิมะตกหนัก หลังจากการซ้อมเต้นผ่านพ้น พวกเขาจัดงานปาร์ตี้เล็กๆ ที่มีเครื่องดื่มแซงกรีอาด้วย ความหายนะเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนใส่ LSD ลงในเหล้าและทำให้ทุกคนเกิดอาการหลอนยาขั้นรุนแรง 

ความอลังการคือหนังถ่ายทำฉากเปิดด้วยฉากเต้นลองเทคนาน 12 นาที และถือเป็นหนึ่งในฉากที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดฉากหนึ่งของโนเอ ธีมใหญ่ที่คลุม Climax ไว้คือประเด็นที่ว่า ‘การที่มนุษย์พยายามรวมตัวกันสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ หากแต่ก็ล้มเหลวพ่ายแพ้’ เมื่อตัวละครที่ออกแบบท่าเต้นและซักซ้อมด้วยกันอย่างสุดกำลัง จบลงด้วยการเป็นบ้า, หลอนยาหรือแม้แต่เสียชีวิต โดยโนเอดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริงของนักเต้นกลุ่มหนึ่งในฝรั่งเศสราวปี 1990s ที่เสพยาในงานปาร์ตี้หลังซ้อมเต้น แม้จะไม่มีเรื่องชวนเหวอแตกอย่างที่ปรากฏในหนัง แต่โนเอก็คิดว่าการใช้สารเสพติดกับการปลดปล่อยตัวตนผ่านการร่ายรำก็เป็นเรื่องน่าสนใจ “พลังที่เห็นจากกลุ่มนักเต้นนี่ทำผมแทบไม่เชื่อสายตาเลย” เขาบอก “ตอนเห็นเด็กๆ เต้นอย่างกับโดนปีศาจสิงนี่ทำผมตกตะลึงสุดๆ”

“ผมว่าการที่คนเราพยายามทำอะไรสักอย่างขึ้นมาด้วยกันในช่วงแรก แล้วล้มเหลวในช่วงท้าย มันก็คล้ายๆ กับเรื่องที่เห็นในคัมภีร์ไบเบิลอย่างการสร้างหอคอยบาเบลน่ะ มนุษยชาติสร้างสิ่งใหญ่โตขึ้นมา แต่ก็พ่ายให้อำนาจของแอลกอฮอล, เหตุการณ์บางอย่างหรือความผิดพลั้ง” โนเอสาธยาย “จำได้ว่าสมัยยังวัยรุ่น อายุสัก 14 ได้มั้ง ผมจัดปาร์ตี้ที่บ้านและมีเหล้าแซงกรีอา เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลอย่างแรกที่ผมลองดื่มเลย แต่เอาจริงๆ เราไม่ต้องการยาเสพติดเพื่อทำให้ตัวเองเมามายอะไรหรอก แค่แอลกอฮอลนี่ก็เกินพอแล้ว”

แม้จากภาพรวม โนเอจะได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่ใช้ความรุนแรง, เซ็กซ์และเหล้ายาเป็นหนึ่งในกลไกในการเล่าเรื่อง หากแต่เขาก็มีหนังอะว็องการ์ดที่พูดเรื่องแสนจะสามัญของชีวิตอย่างความแก่เฒ่าและเรือนร่างอันบอบช้ำของมนุษย์อย่าง Vortex (2021) แถมงานวิช่วลยังเต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนสุดโหดเพราะเล่าพร้อมกันสองจอ เล่าเรื่องคู่รักวัยชราที่สนทนาถึงเรื่องราวเก่าๆ และสุขภาพของพวกเขาอย่างโรคหัวใจและความจำเสื่อม ที่นักวิจารณ์ต่างลงความเห็นว่ามันทั้งมีหัวใจและพร้อมกันนั้นก็แสนจะทะเยอทะยานในแบบของโนเอด้วยวิธีการเล่าที่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง

มองแบบนี้แล้วก็อาจไม่แปลกใจหากเขาจะสนใจอยากทำหนังที่ว่าด้วยเด็กหรือหนังสำหรับเด็กดูบ้าง และจะว่าไป มันก็อาจออกมาบ้าพลัง, ทะเยอทะยานและเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม ชั้นเชิงในการเล่าเรื่องอย่างที่ปรากฏในงานของเขาเสมอมาก็เป็นได

Tags: , , , , ,