การเยียวยากลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองทุกครั้งหลังเกิดภัยพิบัติ เนื่องจากเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่า ฝ่ายบริหารมองเห็นผลกระทบที่เกิดกับผู้ประสบภัยคิดเป็นมูลค่าเท่าไร ขณะเดียวกันการเยียวยาก็ต้องทำภายใต้โจทย์แห่งความครอบคลุม ทั่วถึง และช่วยเหลือมาก-น้อย ให้ได้สัดส่วนกับความเสียหาย จึงจะนำไปสู่การพลิกฟื้นสถานการณ์หลังภัยพิบัติได้ในภาพรวม

หากลองสำรวจการเยียวยา-ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักที่มีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาแล้ว ส่วนแรกคือ เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยจำนวน 9,000 บาท แบบเหมาจ่ายอัตราเดียว และส่วนที่ 2 คือ เงินช่วยเหลือ-ฟื้นฟูความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ช่วยมากหรือช่วยน้อย ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหาย โดยมีเงินช่วยเหลือต่อหนึ่งหลังคาเรือนสูงสุดอยู่ที่ 2.3 แสนบาท และอัตราต่ำสุดที่ 1.5 หมื่นบาท โดยการประเมินความเสียหายเพื่อรับเงินเยียวยาเป็นความรับผิดชอบของอำเภอ และส่งให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเบิกงบเยียวยา

สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ เราต่างเห็นร่วมกันว่า มีที่พักอาศัยหลายหลังจมน้ำเกือบมิดหลังคา บ้างลอยไปตามกระแสน้ำ ขณะที่ทรัพย์สินมีค่าอยู่ในสภาพพังเสียหายกลายเป็นเศษขยะ บางคนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว ประเด็นที่น่าติดตามคือ เงินเยียวยา-ช่วยเหลือ-ฟื้นฟูจากรัฐบาลนั้น ช่วยเหลือพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด ขณะพื้นที่ประสบภัยบางแห่ง เช่น จังหวัดเชียงรายที่เผชิญกับอุทกภัยมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ผ่านมาแล้ว 1 เดือน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าประเมินความเสียหาย เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประสบภัย

The Momentum ชวนมองภาพความเสียหายที่ประเมินจากผู้ประสบภัยจริงว่า พวกเขาคิดมูลค่าความเสียหายทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน และเครื่องมือประกอบอาชีพของเขาเป็นมูลค่าเท่าไร และเม็ดเงินที่รัฐบาลระบุว่า เป็นเงินสำหรับ ‘เยียวยา-ฟื้นฟู-ช่วยเหลือ’ นั้น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้แค่ไหนกัน 

01

ภาคธุรกิจ SMEs

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ร้านหนังสือเช่าเชียงราย ของ ปิยะ ยูรประดับ ตั้งอยู่บนถนนศรีบุญเรือง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ต้องกลายเป็นร้านหนังสือกลางแม่น้ำ หลังแม่น้ำกกเอ่อเข้าท่วมชุมชนทั่วบริเวณ ทำให้เจ้าของร้านหนังสือตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย

ด้วยระดับน้ำที่สูงถึง 2 เมตร อาคารชั้นเดียวที่เป็นทั้งร้านเช่าหนังสือและบ้านของปิยะจึงจมอยู่ในน้ำท่วมสูงเกือบแตะหลังคา ขณะที่หนังสือถูกกระแสน้ำพัดจมหายไปเกือบหมื่นเล่ม แม้จะขนย้ายไปเก็บไว้บนที่สูงแล้วก็ตาม 

เจ้าของร้านหนังสือประเมินมูลค่าความเสียหาย โดยประเมินว่า หนังสือสำหรับเช่าราคาเฉลี่ยเล่มละ 250 บาท เสียหายจำนวน 9,000 เล่ม คิดเป็นมูลค่ารวม 2.25 ล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง กาต้มน้ำ หม้อหุงข้าว และตู้เย็น มูลค่ารวม 7,000 บาท โทรศัพท์มือถือ 2,000 บาท 

สำหรับการฟื้นฟู ปิยะเน้นการซ่อมแซม-ทำความสะอาดภายในร้านหนังสือเช่า เพื่อเร่งเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่ง โดยจ้างแม่บ้านทำความสะอาดจำนวน 2 วัน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 3,000 บาท ซ่อมแซมชั้นวางหนังสือที่พังเสียหาย 1 หมื่นบาท ซื้อคอมพิวเตอร์มือสองสำหรับลงทะเบียนหนังสือราว 6,000 บาท และค่าลงโปรแกรมอีก 2,500 บาท  

ด้านการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ประสบภัย ปิยะยังไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ จากส่วนกลาง ทั้งเงินเยียวยาผู้ประสบภัย 9,000 บาท และเงินอื่นๆ สำหรับชดเชยความเสียหายเกี่ยวกับอุปกรณ์ประกอบอาชีพ มีเพียงเงินเยียวยาผู้ประสบภัยจากทางเทศบาลจำนวน 2,500 บาทที่ได้รับแล้ว ขณะที่ความเสียหายในส่วนของโครงสร้างบ้านพัก ปิยะระบุว่า ตนไม่ได้รับ เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่เช่าอาศัย สิทธิรับเงินเยียวยาจึงเป็นของเจ้าของอาคารแทน

02

เกษตรกรในจังหวัดเชียงราย

ดวงแสง วงศ์ชัย เกษตรกรในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เล่าว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก เข้าพื้นที่แปลงเกษตรของชาวบ้านในอำเภอเชียงของ จนถึงวันนี้ยังไม่มีการเยียวยาภาคการเกษตรที่ได้รับความเสียหายแม้แต่แดงเดียว 

สำหรับความคืบหน้าการเยียวยาในอำเภอเชียงของ ดวงแสงระบุว่า ยังไม่มีการประเมินมูลค่าความเสียหายและแจ้งแก่ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านยังไม่สามารถรับรู้ได้ว่า จะได้รับเงินเยียวยามากน้อยเพียงใด และจะได้เมื่อไร ขณะที่มีการแจ้งจากผู้นำชุมชนว่า จะมีเงินเยียวยาความเสียหายจำนวน 5,000 บาท จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โอนตรงเข้าบัญชีธนาคารของชาวบ้าน แต่เมื่อดวงแสงไปตรวจสอบดูกลับพบว่า ยอดเงินในบัญชียังว่างเปล่า 

สำหรับความเสียหายของดวงแสง แบ่งออกตามชนิดพืชผลที่เพาะปลูก เริ่มจากมะนาวจำนวน 2 งาน เสียหายประมาณ 3 หมื่นบาท ส้มโอขนาดผลปกติจำนวน 1 ไร่ เสียหาย 5 หมื่นบาท และข้าวโพดจำนวน 2 ไร่ เสียหายรวม 2 หมื่นบาท 

เหล่านี้ยังไม่รวมต้นทุนการผลิตอื่นๆ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แรงงาน แรงใจ และเวลาที่คอยดูแลรักษาพืชผลเกษตรให้ออกดอกออกผลจนขายได้ แต่วันนั้นกลับไม่มาถึงสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวนมากจากภาคเหนือ

03

อุปกรณ์ประกอบอาชีพ 

เครื่องมือและสินค้าภายในอู่ซ่อมรถ รวมทั้งเครื่องจักรเย็บผ้าภายในบ้านอีก 5 เครื่อง ของครอบครัว วิภารัตน์ ธนานนท์กุล อายุ 24 ปี ปัจจุบันมีสภาพพังเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมกลับมาใช้งานได้ ภายหลังแม่น้ำปิงเอ่อท่วมชุมชนตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา

วิภารัตน์เล่าว่า น้ำเริ่มไหลเข้าท่วมชุมชนที่เธอและครอบครัวอาศัย ช่วง 6 โมงเช้า และมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ครอบครัวของเธอมีเวลาไม่มากพอ สำหรับเก็บข้าวของย้ายขึ้นที่สูง ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ประกอบอาชีพทั้งหลายที่กระจัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของบ้านพักและอู่ซ่อมรถ ขณะที่การเตือนภัยในชุมชนของเธอทำได้ไม่ดีพอ ต้องอาศัยการประกาศเตือนจากชุมชนข้างเคียง จึงทราบว่า มีมวลน้ำกำลังจะเข้าท่วมภายในชุมชน

สำหรับความเสียหายภายในบ้านของวิภารัตน์ โดยมากเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ แบ่งเป็นสินค้าภายในอู่ซ่อมรถที่ถูกกระแสน้ำพัดหายไปมูลค่ารวม 9 หมื่นบาท จักรสำหรับเย็บผ้าที่เสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมและนำกลับมาใช้งานใหม่ได้จำนวน 5 ตัว มูลค่า 1 แสนบาท รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในบ้านและอู่ซ่อมรถ ซึ่งอยู่ด้านนอกบ้านอีกจำนวนหนึ่งมูลค่ารวม 1 แสนบาท 

ส่วนข้าวของเครื่องใช้ที่นอกเหนือกับอุปกรณ์ประกอบอาชีพ พบว่า สิ่งที่พังเสียหายมากคือ ยานพาหนะของครอบครัวจำนวน 4 คัน คาดว่า มีค่าซ่อมแซมไม่ต่ำกว่าคันละ 3.5 หมื่นบาท ทางเข้าออกห้องต่างๆ ภายในบ้านมีค่าซ่อมแซมเฉพาะอุปกรณ์ เช่น ประตูมูลค่า 2,600 บาท โดยไม่รวมค่าจ้างช่างซ่อม อุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดรวม 3,000 บาท และเครื่องสูบน้ำขังมูลค่า 3 หมื่นบาท 

และเช่นเดียวกับลุงปิยะกับดวงแสง ครอบครัวของวิภารัตน์ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียวจากหน่วยงานท้องถิ่นหรือจากส่วนกลาง แม้จะส่งเอกสารเพื่อขอรับการเยียวยาครบถ้วน ครอบครัวของเธอจึงไม่รู้ว่า จะได้รับเงินเยียวยาเมื่อไร และจะสามารถพลิกฟื้นความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มากน้อยขนาดไหน

04

‘รัฐ’ องค์ประกอบสำคัญ พลิกฟื้นสถานการณ์

ความเสียหายและความคืบหน้าในการช่วยเหลือ-เยียวยา ที่ได้ฟังมาจากผู้ประสบภัยพิบัติ ทำให้เห็นได้ว่า การบริหารของรัฐภายหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตมีประสิทธิภาพมาก-น้อยเพียงใด การเยียวยาได้สัดส่วนกับความเสียหายหรือไม่ และเป็นข้อมูลให้พอคาดการณ์ว่า ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ปกติ

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ความกระฉับกระเฉงของหน่วยงานภาครัฐ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหาย ยังเร็วไม่พอต่อความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และจนถึงวันนี้ยังพบว่า ผู้ประสบภัยไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกร ธุรกิจรายย่อย หรือบ้านเรือนทั่วไป ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้บางพื้นที่จะผ่านพ้นอุทกภัยไปนับเดือนแล้วก็ตาม 

Tags: , , , , ,