งานแห่เจ้าแม่วัดแขก สีลม หรือ ‘นวราตรี’ กลับมาอีกครั้ง!
งานนี้นับเป็นหมุดหมายอีกแห่งในการรับพลังประจำปี ของบรรดาผู้ที่ตั้งตารองานนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นวันที่เหล่าผู้นับถือเทพในศาสนาฮินดูทั้งหน้าใหม่และเก่า มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญ ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง ณ เทวสถานเล็กๆ หัวมุมถนนปั้น ย่านสีลม
คอลัมน์ Indianiceation คราวนี้ ผู้เขียนตั้งคำถามที่อยากชวนขบคิดต่อ สำหรับใครที่เคยมีโอกาสไปไหว้ขอพรที่วัดแขกแห่งนี้ว่า ‘คุณรู้จักวัดแขกดีแค่ไหน’ และรู้หรือไม่ว่า วัดแห่งนี้ (อาจ) มีความสัมพันธ์กับวัดแขกอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนของเราด้วยเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของ ‘วัดแขกสีลม’
‘วัดแขกสีลม’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาไทยว่า วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือชื่อจริงในภาษาทมิฬคือ ‘อรุลมิกุ ศรี มหา มาริอัมมัน โกวิล’ แปลว่า เทวสถานแห่งศรีมาริอัมมัน
เทวสถานแห่งนี้เป็นเทวสถานฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะทมิฬยุคหลัง (วิชัยนคร-นายกะ) เมื่อประมาณทศวรรษ 2420-2430 โดย ไวตรีประเดียอะจิ, นารายเจติ และโกบาระตี ที่แลกที่ดินของตนในย่านสีลมกับสวนผักของ ปั้น อุปการโกษากร ก่อนขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อก่อสร้างวัดขึ้น พร้อมทั้งจดทะเบียนเป็นมูลนิธิวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2454
ย้อนกลับไปที่ชื่อวัดในภาษาทมิฬ สิ่งแรกที่สะดุดตาทันทีคือ ไม่มีพระอุมาเทวีอยู่ในชื่อวัดเลยแม้แต่น้อย แต่เทพีที่ปรากฏในชื่อกลับเป็น ‘มาริอัมมัน’ ซึ่งเป็นเทพีประธานของวัดแห่งนี้
มาริอัมมันคือใคร
สำหรับเทพีมาริอัมมันนั้น ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่หมู่บ้านติรุเชไร (Thirucherai) รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย คำว่า ‘มาริ’ ในภาษาทมิฬแปลว่า ‘ฝน’ ส่วน ‘อัมมัน’ แปลว่า ‘แม่’ ดังนั้นพระนางจึงสัมพันธ์อยู่กับเรื่องของการเกษตร เนื่องจากเป็นเจ้าแม่แห่งฝน แต่ทั้งนี้พระนางไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายนอกพื้นที่ของชาวทมิฬ หรือจะพูดกันง่ายๆ คือ พระนางเป็นเทวีท้องถิ่น (เกษตรบาล/ ครามเทวตา) ของชาวทมิฬ ที่พัฒนาขึ้นมาจากการนับถือ ยักษิณี วิญญาณธรรมชาติ และเจ้าพ่อเจ้าแม่ดั้งเดิม ซึ่งเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์ คล้ายกับการนับถือผีในอุษาคเนย์
นอกจากความเป็นเจ้าแม่แห่งฝนแล้ว ความเชื่อของชาวทมิฬยังเชื่อว่า พระนางเป็นเทวีผู้ขจัดโรคฝีดาษและโรคผิวหนังต่างๆ ทำให้ได้รับความเคารพอย่างมากในหมู่ชาวทมิฬ อีกหลักฐานที่ช่วยยืนยันความเป็นเทวีพื้นบ้านคือ รูปลักษณ์ที่มีเขี้ยวออกมาจากปากเหมือนนางยักษ์ ซึ่งพบได้เป็นปกติในพื้นที่ต่างๆ ของอินเดียใต้ ที่มีเทวีท้องถิ่นในลักษณะดุร้ายจำนวนมาก และเมื่อตรวจสอบในแง่พิธีบูชาจะพบว่า ผู้คนมักบูชาพระนางในบริเวณที่เป็นพูนดินจอมปลวกหรือก้อนหิน โดยบูชากันง่ายๆ และไม่ต้องใช้พราหมณ์ในการประกอบพิธี
ภายหลังการนับถือพระนางแพร่หลายขึ้น พราหมณ์จึงเข้ามาเป็นผู้บูชาหลัก อย่างวัดแขก สีลมก็มีพราหมณ์ผู้รู้พระเวทเป็นผู้ทำพิธีบูชา แต่ครั้นพอมีพิธีกรรมก็ยังรักษาขนบอย่างประเพณีชาวบ้าน เช่น เข้าทรงในงานนวราตรีและการลุยไฟ ซึ่งพิธีเหล่านี้พราหมณ์จะเข้ามามีส่วนร่วมแค่บางส่วนของพิธีเท่านั้น แต่ส่วนมากเป็นงานของชาวบ้านเอง
ด้านในบริเวณวัดโดยเฉพาะอาคารด้านทิศเหนือใกล้กับผนังสลักยันต์พระมหาลักษมี เราจะพบกลุ่มซุ้มประดิษฐานเทวรูปของเทพเจ้าชื่อแปลกๆ เช่น พระกัตตวรายัน เปริยาจีอัมมัน และมาดุไรวีรัน เหล่านี้เป็นเทพเจ้าท้องถิ่นของรัฐทมิฬทั้งสิ้น
ตัวอย่าง พระกัตตวรายัน เทวบุรุษถือดาบห้อมล้อมด้วยเหล่าสตรี ชื่อของท่านมาจากภาษาทมิฬคำว่า ‘กัตตวระ’ แปลว่า ผู้ปกป้อง รวมกับคำว่า ‘อรยัน’ แปลว่า พระเจ้า ฉะนั้นหากพิจารณาจากชื่อแล้ว ท่านจึงมีลักษณะเป็นเทพเจ้าผู้ปกป้องบางสิ่งบางอย่าง หรือเทียบให้ง่ายกว่านั้น คือเจ้าที่ซึ่งในทุกงานแห่เจ้าแม่วัดแขก พระกัตตวรายันองค์นี้ก็จะถูกนำออกมาแห่ในขบวนในตำแหน่งราชรถนำหน้าเจ้าแม่ เพราะท่านเป็นเจ้าที่วัดและมีหน้าที่ปกป้องเทพีประธานของวัด
วัดของชาวทมิฬอพยพ
แล้วทำไมวัดแขก สีลมถึงมีเทพเจ้าท้องถิ่นจากรัฐทมิฬเยอะขนาดนี้ คำตอบคือ เพราะวัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวทมิฬ ที่อพยพเข้ามาอาศัยในเขตพระนคร ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 ฉะนั้นวัดจึงต้องอัญเชิญเทพเจ้าจากหลากหลายหมู่บ้านมาประดิษฐานรวมกัน เพื่อให้ชาวทมิฬที่อพยพมาจากหลายท้องที่รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะหากพูดกันตามจริง ชุมชนชาวทมิฬในไทยมีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ทำให้รูปแบบการประดิษฐานเทพเจ้าจึงแตกต่างกันออกไปบ้าง
การที่เรียกเทวสถานแห่งนี้ว่า ‘วัดแขก สีลม’ ดูเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก คนไทยเราเรียกคนอินเดียโดยทั่วไปว่า ‘แขก’ และวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เหล่าคนอินเดียมาประกอบพิธีกรรม ส่วนคำที่ตามมาอย่าง ‘สีลม’ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานที่นั่นเอง
ประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นที่สับสน ทว่าในกรณีชื่อ ‘วัดพระศรีมหาอุมาเทวี’ เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้มีพระอุมาเทวีเป็นประธานของวัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอว่า ที่ต้องเรียกวัดด้วยชื่อศรีมหาอุมาเทวีนั้น ก็เพื่อให้คนไทยเข้าใจได้โดยง่าย โดยถือคติว่า เจ้าแม่ทุกองค์ย่อมเป็นภาคส่วนของพระเทวีใหญ่หรือพระแม่อุมา
“ผมคิดว่า น่าจะเพราะในตำราพราหมณ์อย่างของไทยหรือในวรรณคดีไทยนั้น ใช้พระนามอุมาหรืออุมาเหมวตีมากกว่า เราจึงคุ้นเคยที่สุดและใช้บ่อยกว่าพระนามอื่น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤชเสนอทัศนะ
ผู้เขียนเองขอขยายความต่อจากอาจารย์คมกฤชว่า อาจเพราะคนไทยโดยทั่วไปรู้จักเจ้าแม่ในศาสนาฮินดูอยู่เพียงองค์เดียวคือ พระอุมาเทวี เมื่อได้รู้ว่า เทวสถานแห่งนี้ประดิษฐานเทวรูปเทวสตรี จึงทึกทักสรุปเอาเลยว่าคือ พระอุมาเทวี
วัดแขกไทย-วัดแขกอาเซียน
ข้อเขียนในส่วนนี้เป็นข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้เขียนนึกขึ้นได้ระหว่างไปวัดพระศรีมหามาริอัมมัน กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อไม่นานมานี้
ในช่วงปี 2350-2450 นั้น เกิดการสร้างบุญสถานของพระนางมาริอัมมันขึ้นทั้งในสิงคโปร์ปี 2370 กัวลาลัมเปอร์ปี 2416 และวัดแขกสีลมในช่วงปี 2422 โดยเมื่อเปรียบเทียบรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้ว วัดพระนางมาริอัมมันที่สิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ มีลักษณะของรูปแบบแผนผังและองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกันมาก เช่น การประดับโคปุระด้วยหุ่นเทพเจ้าขนาดใหญ่ อาคารประดิษฐานนักบุญในด้านทิศเหนือของอาคารประธาน อาจด้วยว่า ผู้สร้างวัดพระนางมาริอัมมันที่กัวลาลัมเปอร์ อย่าง เค. ฏัมโพสวามี ปิลลัย (K. Thamboosamy Pillay) นั้นเป็นชาวทมิฬ-สิงคโปร์ ซึ่งเข้ามาลงหลักปักฐานเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่มาเลเซียในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 จึงทำให้เกิดการนำรูปแบบวัดจากสิงคโปร์ติดตัวมาสร้างที่มาเลเซียด้วย
ที่น่าสังเกตอีกข้อคือ วัดพระนางมาริอัมมัน ทั้งที่สิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ ตั้งอยู่ติดกับไชนาทาวน์ทั้งคู่ อาจเพราะคนจีนและคนทมิฬที่เข้ามาในมาเลเซีย-สิงคโปร์ในสมัยนั้น (ช่วงอาณานิคม) เป็นกลุ่มคนค้าแรงงาน จึงเกิดการสร้างที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้สะดวกต่อการจัดการของอังกฤษเช่นกัน
ในข้อนี้อาจารย์คมกฤชเคยพูดคุยกับผู้เขียนและเสริมว่า จากที่เคยคุยกับประธานวัดแขก สีลม ท่านว่า เคยมีชุมชนจีนบาบ๋าอยู่ใกล้กับวัดแขก ก่อนจะย้ายออกไปเมื่อราวปี 2500 ทั้งคนจีนบาบ๋าและคนทมิฬในตอนนั้นเป็นคนในบังคับอังกฤษทั้งคู่ ด้วยเหตุนี้เลยไปอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับในมาเลเซียและสิงคโปร์
อีกอย่างที่สะท้อนความสืบเนื่องหรือความใกล้เคียงของวัดพระนางมาริอัมมันในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย คือด้านหลังของเทวรูปประธานในครรภคฤหะ มีการปูนปั้นของเจ้าแม่อยู่ด้านหลัง ซึ่งเหมือนกับที่สิงคโปร์ ขณะที่มาเลเซียผู้เขียนเข้าใจว่าเคยมี แต่เกิดการซ่อมแซมแล้วนำหุ่นปูนด้านหลังเจ้าแม่ออกไปแล้ว ทั้งนี้การปั้นหุ่นด้านหลังเทวรูปประธานยังพบได้ที่วัดพระศรีมาริอัมมันบนเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย จึงเป็นที่น่าสังเกตถึงอัตลักษณ์บางประการที่มีร่วมกันของกลุ่มคนทมิฬในภูมิอาเซียน
ผู้เขียนจึงมองว่า ในประเด็นนี้ถ้ามีการศึกษาต่อน่าจะสนุกดี และวัดทั้ง 3 แห่งที่กล่าวถึงน่าจะช่วยฟื้นภาพของชุมชนคนอินเดีย โดยเฉพาะคนทมิฬที่ถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานให้อังกฤษในอาณานิคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อช่วยบ่งชี้ว่า คนอินเดียก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนในยุคอาณานิคม ไม่น้อยไปกว่าชาวจีนอพยพเลยทีเดียว
ที่มาข้อมูล
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, (2566). กำเนิดเทวาลัย “พระแม่อุมาเทวี” แห่ง “วัดแขก” (สีลม) มหาเทวีแห่งอำนาจวาสนา เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_120403
กมลทิพย์ ชัยศุภมงคลลาภ, (2563). องค์ความรู้ : วัดพระศรีมหาอุมาเทวี. เข้าถึงจาก https://www.finearts.go.th/performing/view/22370-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B5
วรรณพรรธน์ เรืองทรัพย์, (2547). การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมและประติมานวิทยาที่เทวสถานพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม). สารนิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
Tags: Indianiceation, วัดแขก สีลม, ศรีมหามาริอัมมัน, ทมิฬ, อินเดีย, อาเซียน, วัดพระศรีมหาอุมาเทวี