ในห้องรับรองสไตล์ Mid-Century บนตึกสูงถนนสาทร วันนี้เรามีนัดกับ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือบริษัทเครดิตบูโร ศูนย์กลางจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อของคนไทย สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

ก่อนได้มาคุยกับสุรพล The Momentum ได้ฟังสถานการณ์การใช้เงินของคนเจน Z ที่ดูก้าวล้ำไปมาก เช่นการ ‘ผ่อนข้าว’ ซึ่งหมายถึงการผ่อนอาหารปรุงเสร็จพร้อมรับประทาน แบบมื้อต่อมื้อด้วยฟีเจอร์ Buy Now Pay Later ในแอปพลิเคชันช้อปปิงออนไลน์ ซึ่งคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 หรือปรากฏการณ์คนเจน Z ในสหรัฐอเมริกานำเงินบัตรที่ได้จากบัตรกดเงินสดและบัตรเครดิต เพื่อใช้ท่องเที่ยวหาประสบการณ์รอบโลกโดยไม่แคร์ว่าจะสร้างหนี้เสีย ตามปรัชญา YOLO (You Only Live Once) นำมาสู่คำถามเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้เจน Z ในไทยที่เราพกพามาถามสุรพลวันนี้

เช่นเดียวกับที่เราเชื่อ สุรพลเชื่อเช่นกันว่า ‘ตัวเลข’ ที่บริษัทเครดิตบูโรเก็บไว้นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่ตัวเลขเหล่านั้นสะท้อนปรากฏการณ์ของสังคม และตัวเลขหนี้ของคนเจน Z ของไทยที่สุรพลเปิดเผยวันนี้ ได้สะท้อนหลายปรากฏการณ์ด้วยกัน

 หนี้คอนโดฯ-มอเตอร์ไซค์ หนี้สร้างตัวของคนเจน Z

การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกล้วนกล่าวตรงกันว่า ความฝันในการครอบครอง ‘บ้าน’ ของคนเจน Z หรือคนอายุระหว่าง 18-26 ปีในปัจจุบัน ดูห่างไกลและยากลำบากกว่าคนรุ่นก่อน ทั้งเศรษฐกิจโลกและทรัพยากรต่างๆ ที่ถดถอยกว่าและไม่ได้ช่วยสะสมความมั่งคั่งให้คนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนเจน Z ของไทยด้วยเช่นกัน

“หนี้ครัวเรือนไทยมีอยู่ประมาณ 16.4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ของรวมทุกคนตั้งแต่อายุ 20-80 ปี ในจำนวนนี้ เก็บข้อมูลไว้ในเครดิตบูโร 13.6 ล้านล้าน เพราะเราไม่ได้รวมหนี้ กยศ. หนี้สหกรณ์ครู และหนี้ที่ปล่อยกู้ให้กับข้าราชการ จากข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ในจำนวนนี้เป็นหนี้ของคนเจน Z อายุ 18-26 ปี ประมาณ 3.6 แสนล้าน

“หนี้ 1.3 แสนล้านบาทของคนเจน Z เป็นหนี้บ้าน คือคอนโดมิเนียมราคาสัก 3 ล้านบาทลงมา ไล่ตั้งแต่ 1.5 ล้าน – 3 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเช่าซื้ออื่นๆ เช่น เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อาจมีเช่าซื้อเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินด้วย และมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) อีก 3.6 หมื่นล้านบาท 

“สำหรับหนี้บ้าน 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นหนี้เสีย 6,400 ล้าน หรือประมาณร้อยละ 5 อาจดูเหมือนไม่สูง แต่มีหนี้ที่กำลังจะเสีย (Special Mentioned: SM) อีก 7,000 ล้านบาท นี่คือคนเจน Z รุ่นเดียวนะครับ ซึ่งเราถือว่ายังไม่สูง ถามว่าทำไม เหตุผลคือถ้าไม่มีบ้าน เขาก็ไม่มีที่อยู่ คอนโดฯ มีอยู่ห้องเดียวแยกออกมาจากครอบครัวแล้วมันต้องยืนให้ได้ การผ่อนคอนโดนี่สู้ขาดใจ”สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

สุรพลนิยามหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ว่าคือหนี้ที่ค้างเกิน 3 งวดหรือ 90 วัน ส่วนหนี้ที่กำลังจะเสียคือ คือหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระ 1-3 งวด หรือ ‘ผ่อนตะกุกตะกัก’ 

เขากล่าวว่า นอกจากหนี้คอนโดฯ ซึ่งเป็นหนี้เบอร์ต้น การนิยมทำงานอิสระของคนเจน Z นำมาสู่การซื้อปัจจัยการผลิตหนึ่งที่สำคัญและก่อหนี้เสียที่น่าเป็นห่วง นั่นคือ ‘หนี้มอเตอร์ไซค์’ 

“คนเจน Z มีหนี้ยานยนต์ (Auto Loan) 3.4 แสนล้านบาท มีสินเชื่อที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์เดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 5.5 แสนสัญญา คิดเป็นมูลหนี้ 3.78 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสีย 8,600 ล้าน เป็นยอดที่กระโดดขึ้น 50% ใน 1 ปี อันนี้ถือยอดหนี้เสียเติบโตเร็วอย่างน่ากลัว

“เพราะส่วนใหญ่คนเจน Z ไม่อยากทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน และเลือกทำอาชีพรับจ้าง อาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ สำหรับคนเจน Z ในหัวเมืองหรือต่างจังหวัด การเดินทางของคนหนุ่มสาวเขาใช้มอเตอร์ไซค์ชัดเจน ตัวเลขนี้ตรงกับที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจคุยกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม แล้วบอกว่าต้องเร่งแก้ปัญหาสินเชื่อของคนวัยหนุ่มสาว สินเชื่อที่ต้องรีบแก้คือสินเชื่อมอเตอร์ไซค์กับสินเชื่อรถปิ๊กอัพ เพราะเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน นี่คือประเด็นปัญหาของคนเจน Z ชัดเจน หนี้เสียเขาก้าวกระโดดในสินเชื่อมอเตอร์ไซค์” 

เมื่อถามสุรพลว่า เราควรแก้ปัญหาหนี้มอเตอร์ไซค์อย่างไร สุรพลตอบว่า 

“ตามข้อมูลคือ คนเจน Z ที่ผ่อนมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอน ถ้าเราไปกำหนดว่ากู้มอเตอร์ไซค์ต้องวางดาวน์เยอะ เขาอาจต้องเอาเงินออมก้อนหนึ่งมา มันอาจยากสำหรับเขา 

“อันดับแรกผมคิดว่ามอเตอร์ไซค์บ้านเราแพงเกินไป ซึ่งไม่ควรแพงขนาดนี้ เราทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและราคาถูกลงได้ไหม? และอาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นในบางประเทศเขาจะใส่ตัวควบคุมบางอย่างเข้าไปในมอเตอร์ไซค์ ถ้าคุณไม่จ่ายหนี้ มอเตอร์ไซค์คันนั้นจะวิ่งไม่ได้ และผมคิดว่าเราควรมีแพ็กเกจทางการเงินที่ผ่อนได้ยาวขึ้น แล้วกำหนดกติกาว่าคนจะมาผ่อนต้องออมเงินและวางดาวน์ส่วนหนึ่ง” 

เมื่อวัยรุ่นกู้เงินดอกเบี้ยร้อยละ 24 มาสร้างตัว

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

กู้คอนโดฯ แล้ว กู้รถแล้ว สุรพลลำดับให้ฟังว่า หนี้อันดับต่อมาที่สูงในกลุ่มคนเจน Z คือหนี้ที่กู้มาเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว

“บัตรเครดิตประเทศเรามีทั้งหมด 24 ล้านใบ ในจำนวนนี้มี 1 ล้านใบที่จ่ายไม่ได้ แม้แต่จ่ายขั้นต่ำก็จ่ายไม่ได้ และมีอีก 2 แสนใบที่กำลังจะไหลมาที่จ่ายขั้นต่ำไม่ได้ นี่คือข้อมูลเดือนพฤษภาคมของปีนี้ 

“ปัจจุบัน คนเจน Z มีหนี้บัตรเครดิตรวมมูลค่า 6,500 ล้านบาท โดยประมาณ 5,900 ล้านบาท เป็นการกู้ไปทำธุรกิจ เช่นไปทำร้านกาแฟ ไปทำร้านซักรีด ซึ่งเราเรียกว่าเป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจ (Business Loan) เราจะเห็นภาพคนเจ็น Z ทำมาค้าขาย กู้เงินมาประมาณ 5,900 ล้าน เป็นหนี้เสีย 918 ล้าน เป็นหนี้เสียที่โตขึ้น 15% และเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย อีก 500 กว่าล้าน เพราะฉะนั้นถ้าเห็นภาพอย่างนี้ คำถามต่อมาคือคนเจน Z จะไปรอดไหมในภาวะที่เศรษฐกิจโตต่ำ มีโอกาสทางธุรกิจไม่มาก ส่วนสถานการณ์การทำงานกับบริษัทเราจะเห็นว่าบริษัทต่างๆ มีการลดคน เพราะฉะนั้นคนหนุ่มสาวเหล่านี้อาจติดกับดักในภาระหนี้สิน”

สุรพลกล่าวว่า นอกจากบัตรเครดิต ปัจจุบันคนเจน Z เลือกพึ่งพาสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เช่นแอปพลิเคชันกู้เงินต่างๆ มากขึ้น แม้ดอกเบี้ยจะสูงกว่ากันมาก 

“ถ้าเราไปดูการปล่อยกู้สินเชื่อจากการบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ที่ปล่อยกู้ให้กลุ่มเจน Z เท่านั้น พบว่า คนเจ็น Z กู้จากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ประมาณ 3.6 หมื่นบัญชี กู้จากธนาคารประมาณ 2.3 หมื่นบัญชี แบ่งธนาคารรัฐ 4,000 กว่าบัญชี ที่เหลือเป็นธนาคารเอกชน เพราะฉะนั้นสถาบันการเงินที่เล่นในตลาดเจน Z จะเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม Fintech การเติบโตของเขาดีมาก รอบปีที่ผ่านมา Fintech เติบโตรวม 8% ขณะที่บางธนาคารการเติบโตติดลบ 16-17%

“ธนาคารรัฐให้คนเจน Z กู้น้อยเพราะเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ส่วนธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่มีเงื่อนไข Responsibility Lending (หลักการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ) ก็ทำให้ปล่อยกู้ยากขึ้น ฉะนั้น สถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ถึงได้ให้คนเจน Z กู้เยอะเพราะนี่คือโอกาสทำการตลาดของเขา      

“แต่คนเจน Z ต้องเจอดอกเบี้ยแพงถึง 24% สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเหล่านี้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารเยอะ เราต้องตั้งคำถามต่อว่า ถ้าเขาเอาเงินที่มีต้นทุน 24% ไปทำธุรกิจคิดว่าต้นทุนของเขาถูกหรือแพง? และเขามีโอกาสสำเร็จไหม? น้อย เขาจะไม่สำเร็จ ประกอบกับเรื่องเศรษฐกิจ กำลังซื้อคนตก มันก็กลายเป็นหนี้เสีย”

ทุกวันนี้คนเจน Z กำลังกู้เงินที่ดอกเบี้ยแพงถึง 24% มาสร้างธุรกิจของตนเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เหมาะ สมแล้วหรือไม่และคนเจน Z ถูกทอดทิ้งจากรัฐมากไปหรือไม่? คือคำถามที่เราถามต่อสุรพล

“สภาพเศรษฐกิจของเราพังทลายลงมาเพราะโควิด แต่การบริหารจัดการเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนไปให้ทันยุคทันสมัย เราไม่มีอุตสาหกรรมขาขึ้น (Sunrise Industry) คำหวานที่บอกว่าจะสนับสนุน Start Up มันเป็นแค่รักแท้ในคืนหลอกลวง เป็นแค่การโม้ (Hot Air) ที่บอกว่าเราจะสร้างระบบนิเวศมาช่วยคนเจน Z 

 “1 มกราคม 2567 กติกาของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาใหม่ว่า ต่อจากนี้เจ้าหนี้จะต้องปล่อยกู้อย่างมีความรับผิดชอบ กติกานั้นมีความสำคัญอยู่ 2-3 ประเด็น เช่นลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้ได้ตามตารางชำระหนี้ที่กำหนด เจ้าหนี้ต้องมั่นใจว่าถ้าให้เขาผ่อนเดือนละ 3,000 บาทเขาต้องรอด การปล่อยกู้ต้องดูรายได้และรายจ่ายของลูกหนี้ บวกลบกันแล้วต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ดำรงชีพได้ และต้องพิสูจน์ทราบรายได้ของคนที่มาขอกู้ว่ามีรายได้มั่นคงแน่นอนเพียงพอ ถ้าบริษัทของคุณอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงหรือกำลังจะลาลับไปจากประเทศไทย (Sunset Industry) เขาก็ไม่ให้” สุรพลกล่าวถึงระบบนิเวศที่ทำให้คนเจน Z เข้าถึงปัจจัยการผลิตได้ยากขึ้น

ทำไมคนเจน Z ถึงเลือกเป็นอินฟลูเอนเซอร์

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

สุรพลมีลูกสาววัยเจน Z และลูกสาวของเขาเลือกเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง สุรพลบอกว่า นั่นเพราะคนหนุ่มสาวอยากได้รับผลตอบแทนตามความสำเร็จที่แฟร์และ Data-Driven ซึ่งตลาดงานปกติให้ไม่ได้แบบนี้

“ในอดีต สุรพลอายุ 22 ปี อาจต้องทำงานหนักจริงๆ เพราะวันนั้นมันไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างที่ปัจจุบันมี ผมไม่สามารถ Work from Anywhere ได้ โครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ออฟฟิศ ผมต้องตะเกียกตะกายแบกแฟ้ม แบกกระดาษหนักเป็นกิโลๆ ฝ่ามลพิษและการจราจรอันโหดร้าย นั่งรถเมล์มาออฟฟิศ ต่างกับวันนี้ที่มี Co-Working Space มีทุกอย่าง 

“ถ้าคุณบอกว่าเด็กยุคนี้ต้องทำงานหนัก ผมต้องถามว่าจะให้เขาทำงานหนักทำไม? หรือทำไมเราต้องกำหนดว่าการทำงานต้องทำ 5 วัน หยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำไมเราต้องบอกว่าการได้รับสิทธิประกันสังคมหรือสวัสดิการต่างๆ เราต้องทำงานให้ครบกี่ชั่วโมง ทำไมเราไม่นับเป็นชั่วโมงทำงานเพื่อให้เขาจัดสรรเวลาตามการทำงานของเขาได้”

ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้โง่ เด็กเจน Z สามารถไปนั่งร้านข้างๆ คอนโดฯ ใช้ไวไฟฟรี และมีต้นทุนเพียงค่ากาแฟ 

“แต่ต้นทุนเราคือค่าเดินทาง มันไม่เหมือนกัน สมัยนี้เขาแบกโน้ตบุ๊ก แบกมือถือ เพราะฉะนั้นการทำงานหนักในนิยามเขากับเรา เราเอาแรงเข้าแลก เขาเอาสมองเข้าแลก มันไม่เหมือนกัน

“ผมคิดว่าทุกวันนี้คนเจน Z ไม่ได้รับโอกาสตามความสามารถของเขา มีแค่ไม่กี่บริษัทที่จ่ายตามความสามารถและสร้างปรากฏการณ์ที่แตกต่างได้ เรามักจะจ่ายเงินบนความพยายามในการทำงาน แต่เราไม่เคยจ่ายเงินบนความสำเร็จของการทำงาน เราชื่นชมคนที่ขยัน ทำงานหนัก แต่คุณเคยเห็นคนยิ่งขยันยิ่งบรรลัยมั้ย คุณต้องจ่ายตามผลสำเร็จ เช่นคุณอาจตั้งงบให้คนออกแบบกราฟิกชิ้นหนึ่ง 500 บาท แต่คุณเคยคำนวณจริงๆ ไหมว่า กราฟิกชิ้นนี้สร้างผลลัพธ์กลับมาเท่าไร”

เพราะฉะนั้นเด็กพวกนี้จึงไปวัดด้วยการทำงานอินฟลูเอ็นเซอร์ เพราะสามารถวัดได้ด้วยข้อมูล วัดด้วยอดคนชม วัดด้วยยอดขายของ แล้วสามารถรับเงินเป็นรายวัน รายสัปดาห์ แม้รายได้ไม่แน่นอน แต่พวกเขารู้สึกว่า ‘แฟร์’ กว่า

ทั้งหมดกลับมาที่คำถามใหญ่คือด้วยเศรษฐกิจที่โตต่ำ เด็กวัยนี้จะหารายได้อย่างไร? ทั้งสภาพการจ้างงานที่ไม่เอื้อให้คนหนุ่มสาวรู้สึกว่าการทำงานกับวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าเป็นเรื่องที่แฟร์ การดิ้นรนเป็นฟรีแลนซ์ในสภาพเศรษฐกิจถดถอย การไม่มีระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ-สังคมที่จริงใจต่อคนเจนซีจริงๆ โอกาสสะสมความมั่งคั่งที่แทบเป็นศูนย์เหล่านี้นำมาสู่ปรากฏการณ์การเป็นหนี้ในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะหนี้ที่มากับสมาร์ตโฟนอย่างหนี้ Buy Now Pay Later

Buy Now Pay Later กับดักหนี้เจนซีที่มาแทนที่บัตรเครดิต

หลายคนอาจเคยใช้ฟีเจอร์ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง (Buy Now Pay Later: BNPL) ในแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ต่างๆ ที่ให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันผ่อนของต่างๆ ได้เป็นรายเดือน โดยมาพร้อมดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว สุรพลกล่าวว่า หนี้ Buy Now Pay Later กำลังเป็นหนี้ประเภทสำคัญที่ทำให้เจน Z ติดกับดักหนี้โดยง่าย

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

“หนี้ Buy Now Pay Later หรือซื้อไปก่อนผ่อนจ่ายทีหลัง คนไทยเจน Zจำนวน 1 ใน 3 ที่ใช้ฟีเจอร์นี้มีรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาท และพบว่าคนเจน Z ที่ใช้ Buy Now Pay โดยมากคือคนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์ หนี้ชนิดนี้เลยผูกเข้ามาได้ง่าย 

“หนี้ Buy Now Pay Later เท่าที่ผมเคยสัมผัส จากการคุยกับเครดิตบูโรทั่วยุโรป คนที่คิดเรื่องนี้เขาเล่าให้ฟังว่าเขาเล็งเห็นปัญหาว่า Buy Now Pay Later จะเป็นปัญหาระลอกต่อมาจากบัตรเครดิต ปัญหาบัตรเครดิตเป็นปัญหาของคนรุ่นเจน X แต่ Buy Now Pay Later จะเป็นเครื่องจักรสังหาร (Dead Engine) ของคนรุ่นใหม่

“ในต่างประเทศ หนี้ก้อนนี้เป็นหนี้ก้อนเล็กๆ เช่นนักศึกษาที่อาจทำงานพาร์ตไทม์ไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วยแล้วอยากได้รองเท้า อยากได้ของนิดหน่อยก็จะไปใช้ Buy Now Pay Later เพราะยังไม่มีข้อมูลเครดิตอยู่ในระบบ แล้วผ่อนกู้ก้อนเล็กๆ ผ่อนจ่ายไม่มาก แล้วเอาเงินที่ได้จากการทำงานพาร์ทไทม์มาจ่ายเป็นรอบๆ ไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนแรก แต่พอเริ่มขยายไปในสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ผ่อนยาวมากขึ้น และที่สำคัญเริ่มเอา Buy Now Pay Later ไปผูกกับเครดิตต่างๆ 

“ถ้าเอา Buy Now Pay Later ไปผูกกับเดบิตการ์ด ไม่ใช่ประเด็น ใช้ปุ๊บหักเงินสด แสดงว่ามีเงินพร้อมชำระค่าของ แต่ถ้าไปเอา Buy Now Pay Later ไปผูกกับสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) หมายความว่าเรากำลังใช้เงินกู้มาซื้อของ ดอกเบี้ยจะวิ่งมา 24% หรือมากกว่า 20% เป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นนี่เป็นกับดักหนี้สำหรับคนรุ่นใหม่”

หากใครไม่คุ้นเคยกับคำว่าสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) หนี้บัตรเครดิต, หนี้จากแอปพลิเคชันปล่อยกู้เงินสดและให้เครดิตรายย่อย, หนี้ผ่อนโทรศัพท์มือถือ 0%, หนี้จากการผ่อนค่าศัลยกรรมความงาม, ผ่อนเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ล้วนอยู่ในหนี้หมวดนี้ทั้งสิ้น และในกรณีที่เราใช้ฟีเจอร์ Buy Now Pay Later โดยผูกติดกับบัตรเครดิต เท่ากับว่าเราได้ก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและมีข้อมูลของเราบันทึกไว้ที่บริษัทเครดิตบูโรด้วยเช่นกัน

“มีหลายองค์กรธุรกิจที่ไม่อยู่ภายในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้ Buy Now Pay Later ทำการตลาด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีอำนาจกำกับได้ต่อเมื่อองค์กรธุรกิจนั้นเขาเอา Buy Now Pay Later มาเชื่อมต่อกับสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) สิ่งที่พบขณะนี้คืออัตราหนี้เสียค่อนข้างสูงและสถาบันการเงินที่เคยประกาศตัวว่าปล่อยกู้หนี้ Buy Now Pay Later เมื่อตอนปี 2565 พอมามีนาคม ปี 2567 ขอเลิกก็มี เพราะมีประเด็นเรื่องอัตราการเพิ่มของหนี้เสีย หนี้กำลังจะเสีย และต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินการ”สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

เมื่อถามสุรพลว่า จำนวนหนี้ Buy Now Pay Later ทั้งหมดที่คนเจน Z เป็นหนี้อยู่นั้นมีจำนวนเท่าไร สุรพลตอบว่า บริษัทเครดิตบูโรมีข้อมูลเฉพาะหนี้ Buy Now Pay Later ที่เชื่อมต่อกับสินเชื่อส่วนบุคคลแล้วเท่านั้น แต่ส่วนที่ไม่ได้เชื่อมต่อต้องขอข้อมูลจากองค์กรธุรกิจที่เป็นเจ้าหนี้โดยตรง อย่างไรก็ตามด้วยข้อมูลที่เครดิตบูโรมีสามารถเผยให้เห็นสถานการณ์บางส่วนที่น่าเป็นห่วงได้เช่นกัน

“ภาพใหญ่ของสินเชื่อส่วนบุคคล ทุกช่วงอายุ ถ้าเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารจะมีทั้งหมด 2.4 แสนบัญชี ซึ่ง 3.6 หมื่นบัญชีเป็นการปล่อยให้คนเจน Z ส่วนฝั่งที่เป็นธนาคารปล่อยกู้ไป 1.7 แสนบัญชี ในจำนวนนี้เป็นของคนเจน Z อยู่ 2.3 หมื่นบัญชี ในกลุ่มที่เป็นธนาคารของรัฐปล่อยกู้ไป 1.9 แสนบัญชี เป็นของคนเจน Z จำนวน 4,000 บัญชี

 “คนเจน Z กู้เงินสินเชื่อส่วนบุคคล รวม 3.6 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสียไปแล้ว 5,000 กว่าล้าน และเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย อีก 1,600 กว่าล้าน ซึ่งน่ากลัว เพราะเป็นอัตราการเติบโตของหนี้เสียถึง 14% ถ้าใช้ Buy Now Pay Later มาต่อด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล เราจะเห็นภาพหนี้ของกลุ่มเจน Z อย่างชัดเจนว่ามีอาการน่าเป็นห่วง

คนเจน Z ไม่ใช่เจเนอเรชันที่ทำเศรษฐกิจล่ม แต่คนเจน Z เสี่ยงต่อการล้มเสียเอง

“วันนี้คนเจน Z มีหนี้ปาเข้าไป 3.6 แสนล้านบาท คนเจน Z ที่มีปัญหาแต่ไม่ได้อยู่ในระบบเครดิตบูโรอาจมีมากกว่านี้นะครับ แต่ว่ายังไม่เป็นผลกระทบขนาดสั่นสะเทือนที่ทำให้ประเทศไทยเป็นเหมือนยุคต้มยำกุ้ง”

กล่าวโดยสรุป คนเจน Z ยังไม่ใช่คนที่จะก่อหนี้เสียจนทำให้ประเทศล่มในตอนนี้ แต่การก่อหนี้เสียจะส่งผลต่อคนเจน Z เอง และดูเหมือนคนเจน Z ยังไม่ตระหนักถึงความน่ากลัวของการเป็นหนี้เท่าที่ควร

“สถาบันทางการเงิน เขาต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่มาตอบโจทย์ลูกค้าแทนกลุ่มคนสูงวัย เพราะการบริโภคลดลงตามอายุหรือมีอยู่แล้ว เพราะคนสูงวัยยังไงก็ไม่สร้างบ้านเพิ่ม ไม่ซื้อรถเพิ่ม และสนใจแต่เรื่องสุขภาพ การบริโภคลดลง ผลตอบแทนจากสินเชื่อของคนสูงวัยไม่มา มีทางเดียวที่สถาบันการเงินจะมีธุรกิจเพิ่มคือวิ่งหาคนอายุน้อยลง พอสถาบันฯ ลงมาตลาดนี้เขาก็ลงมาด้วยนวัตกรรมการเงิน คนเจน Z เลยกลายเป็นผู้กู้หน้าใหม่ (First Time Borrower) ที่พร้อมจ่ายดอกเบี้ยในราคาที่เขาไม่ค่อยรู้หรือในราคาแพงเพราะเขาอยากได้มากกว่าที่เขาจะคิดดีๆ”

“สำหรับคนเจน Z เอง ถ้าเขาเป็นหนี้เสียวันนี้ ในอนาคตเขาจะไปต่อไม่ได้ เขาจะกู้เงินไม่ได้ กติกาของธนาคารแห่งประเทศไทยที่วางไว้คือคนเจนซีเมื่อเริ่มค้างชำระหรือก่อหนี้ที่กำลังจะเสีย เขาต้องเรียนรู้ที่จะไปปรับโครงสร้างหนี้ ตามแนวทางของการให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดว่า 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ใครที่เป็นหนี้เสียและเป็นหนี้กำลังจะเสีย สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ต้องเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้ 

“ถ้าคุณมีหนี้เสียแม้แต่หนึ่งบัญชีในประวัติของคุณ คุณจะถูกจัดประเภทว่าคุณมีหนี้เสียทั้งหมด สมมติถ้าคุณมีหนี้ 5 บัญชี ต่อให้คุณส่งหนี้คอนโดได้ดี แต่คุณไปเสียที่หนี้รถมอเตอร์ไซค์ คุณจะถูกจัดประเภทว่าคุณมีหนี้เสีย (NPL) เพราะฉะนั้นในอนาคต ถ้าคุณอยากหมุนเงิน อยากแก้ตัว อยากเข้าระบบ คุณจะไม่ได้สินเชื่อ นี่คือปัญหา”

เพราะฉะนั้น สุรพลบอกว่า นอกจากคนเจน Z ต้องเรียนรู้ว่า การกู้เงินที่ถูกต้อง ที่เหมาะสมกับจริตตัวเองเป็นอย่างไรแล้ว เรื่องสำคัญคือยังต้องเรียนรู้ว่าถ้าเกิดปัญหา จะทำอย่างไรต่อไป ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างที่ ‘หนี้’ ยังไม่เป็น ‘หนี้เสีย’ ไปจนถึงปัญหาหลังการเป็น ‘หนี้เสีย’ และต้องเตรียมพร้อมที่จะเดินเส้นทางนั้นให้ดี 

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

“เพราะถ้าคุณเลือกเส้นทางการหนี คุณจะถูกฝังด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และคุณจะกลับเข้ามาไม่ได้ โอกาสของคุณจะเสียหาย คนเจน Z จะต้องรู้ว่ามีความท้าทายในเรื่องเหล่านี้ และต้องเรียนรู้ว่าการไปผูกพฤติกรรมตัวเองกับสัญญาคนอื่น

“สำคัญมากนะ คำว่ามีเครดิตหมายถึงมีหนี้ต้องใช้หนี้ ถ้าคุณตระหนักว่าเรื่องนี้สำคัญและคุณไปต่อ คุณจะรักษาเครดิตไว้ได้และคุณจะไปรอด”

Tags: , , , , , ,