สำหรับชีวิตคนกรุงเทพฯ แล้ว คงจะคุ้นเคยกับการนั่งวินมอเตอร์ไซค์เป็นอย่างดี แต่ปัญหาหนึ่งของคนโดยสารอย่างเราๆ นั่นคือเวลาที่พี่วินยื่นหมวกกันน็อคมาให้ใส่ เรามักจะเบื้อนหน้าหนี หรือรับมาใส่อย่างไม่เต็มใจ

เพราะมันดูไม่สะอาด มีเชื้อโรค ผ่านมากี่ร้อยหัวแล้วก็ไม่รู้ กลัวใส่แล้วติดโรคทางหนังศรีษะ แถมผมยังเสียทรงอีก

แต่รู้หรือไม่ว่าการที่เรานั่งมอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค ถือเป็นการทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ระบุไว้ว่า “ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันอันตรายในขณะขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ หากฝ่าฝืน ผู้ขับขี่มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ผู้โดยสารมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาทเช่นกัน

จากนี้ไป เราไม่ต้องกลัวหมวกกันน็อคสกปรก หรือทำผิดกฎหมายอีก เพราะล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ม.ค. 61 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันเปิดตัวหมวกกันน็อคแบบใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘หมวกสะอาดไร้กลิ่น นั่งวินปลอดภัย’

สำหรับหมวกกันน็อคแบบใหม่นี้ เคลือบด้วยสารซิลเวอร์นาโน ซึ่งมีส่วนช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และเชื้อโรคที่อาจจะเกิดขึ้น อยู่ได้นาน 3-6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องนำไปตากแดด

นวัตกรรมหมวกกันน็อคเคลือบสารซิลเวอร์นาโน เป็นความร่วมมือกันพัฒนาระหว่าง หน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท ไพรม์ นาโนเทคโนโลยี จำกัด ในเบื้องต้นได้ทำขึ้น 300 ใบ มอบให้กับวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่ของจุฬาฯ และสยามสแควร์ นำไปทดลองใช้งาน

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งจุดบริการพ่นทำความสะอาดหมวกกันน็อคสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วไปบริเวณหน้าธนาคารซีไอเอ็มบี (CIMB ) ถนนอังรีดูนังต์ ใกล้แยกเฉลิมเผ่า เพื่อรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้โดยสารหันมาสวมหมวกกันน็อคกันมากขึ้น

หากใครที่อยากให้หมวกกันน็อคสะอาด ไม่มีเชื้อโรค แล้วไม่อยากรอของฟรี ก็มีสเปรย์ขนาดพกพา ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายสเปรย์ระงับกลิ่นเท้า แค่ฉีดตอนซักหมวกกันน็อคเสร็จ ก่อนนำไปตากแดด เพื่อลดการเกิดกลิ่นอับ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามเพจขายของออนไลน์ ในราคาเพียงแค่ 299 บาท

สำหรับสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์มีสูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์จากการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด ซึ่งการสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดความเสี่ยงและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 72 เปอร์เซ็นต์ และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้ถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่ใช้ความเร็วไม่มากนัก

 

ที่มา:

https://www.dailynews.co.th/bangkok/620309

http://www.thaipost.net/home/?q=node/40191

ที่มาภาพ:

https://saranitet.police.go.th/22185

 

Tags: , , ,