มังงะ (Manga) หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักในฐานะสื่อที่เล่าเรื่องราวผ่านลายเส้นและตัวอักษรบรรยาย ทำให้มังงะทั้งหลายเขียนขึ้นมาเพื่อให้คน ‘อ่าน’ แต่น่าสนใจว่ามังงะที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี ทำให้คนคล้อยตามไปกับเนื้อเรื่องและตัวละครทั้งที่หนังสือไม่มีเสียงได้อย่างไร และโดยเฉพาะมังงะที่ดำเนินเรื่องด้วยเพลงแจ๊ซ ซึ่งมีเพียงทำนองเพลง และไม่มีเนื้อร้องให้เขียนบรรยายเสียด้วย
Kids on the Slope หรือ Apollon on the Slope มังงะแนวสไลซ์ออฟไลฟ์ (Slice of life) จาก ยูกิ โคดามะ (Yuki Kodama) เผยแพร่ในปี 2007 สร้างเป็นอนิเมะในปี 2012 และต่อมากลายเป็นภาพยนตร์คนแสดงหรือไลฟ์แอ็กชัน (Live Action) ในปี 2018
ความพิเศษของมังงะเรื่องนี้ คือการใช้เพลงแจ๊ซเข้ามาดำเนินเรื่อง โดยเนื้อหาเล่าเรื่องราวในปี 1966 ของกลุ่มเด็กมัธยมปลาย 3 คน คือ คาโอรุ นิชิมิ (Kaoru Nishimi), เซนทาโร คาวาบุจิ (Sentaro Kawabuchi) และริตสึโกะ มุคาเอะ (Ritsuko Mukae) ที่เพื่อนเล่นดนตรีแจ๊ซด้วยกันในเมืองเล็กๆ อย่างเมืองซาเซโบะ (Sasebo) ในจังหวัดนางาซากิ (Nagasaki)
โคดามะผู้แต่งมังงะเรื่องนี้เกิดที่เมืองซาเซโบะ จังหวัดนางาซากิ เช่นเดียวกับตัวการ์ตูนที่เธอเขียน และเดบิวต์ในฐานะนักเขียนการ์ตูน เมื่อปี 2000 พรสวรรค์ของโคดามะไม่เพียงแค่การวาดและการเล่าเรื่อง แต่เธอทำให้มังงะที่ไร้เสียงกลับมีชีวิตชีวา และทำให้คนอ่านอินไปกับเรื่องราวเสมือนได้ยินเสียงเพลงแจ๊ซขณะอ่าน เบื้องหลังของวิธีสร้างสรรค์งาน รวมถึงเหตุผลในการเลือกใช้เพลงแจ๊ซเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก โคดามะได้ตอบคำถามกับ ฮิโรฮิโตะ มิยาโมโตะ (Hirohito Miyamoto) จากมหาวิทยาลัยเมจิ (Meiji University) ไว้อย่างน่าสนใจ
เมืองซาเซโบะในยุค 60s เป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน วัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงถูกผสมผสานเข้ากับความเป็นตะวันตก ภาพลักษณ์ของเซนทาโร ตัวละครลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น เด็กแบดบอย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เข้ากับสภาพสังคมของเมืองซาเซโบะ เป็นตัวละครที่ดึงให้เด็กเนิร์ดอย่างคาโอรุ เข้าสู่วงการแจ๊ซ
โคดามะได้เลือกใช้ดนตรีแจ๊ซแทนที่จะเป็นดนตรีร็อก ซึ่งเป็นแนวเพลงยอดนิยมในญี่ปุ่นยุคนั้น เพราะต้องการสะท้อนถึงเมืองซาเซโบภายใต้การหลอมรวมกับคนอเมริกัน และความแตกต่างจากพื้นที่เมืองอื่นของญี่ปุ่น อีกทั้งการเล่นดนตรีแจ๊ซและการด้นสด เป็นแง่มุมที่ทำให้ตัวละครมีบทสนทนาต่อกัน และโคดามะยังต้องการสร้างสรรค์เอฟเฟกต์ที่น่าสนใจลงในมังงะ
เมื่อถามถึงความยากของการเปลี่ยนเสียงเพลงแจ๊ซให้เป็นภาพ โคดามะเล่าว่า กระบวนการทั้งหมดไม่ได้ยากตามที่หลายคนคาดการณ์ แต่กลับเป็นความสนุกตั้งแต่ตอนที่เริ่มวาดภาพประกอบฉาก ในฉากที่เซนทาโรโชว์ตีกลองให้คาโอรุดูเป็นครั้งแรก โคดามะไม่ได้รู้สึกถึงความยากลำบากในการสร้างสรรค์ฉากในมังงะ แต่กลับรู้สึกว่าจังหวะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเธอ และวาดฉากอื่นๆ โดยจินตนาการว่า เหมือนกับการเล่นดนตรีแจ๊ซในการไล่ระดับความพีกของดนตรีและเนื้อเรื่อง คือจังหวะเดียวกับตอนพลิกหน้ากระดาษใหม่เพื่อวาดฉากต่อไป
วิธีการเขียนเช่นนี้ โคดามะได้รับอิทธิพลมาจากมังงะเรื่อง To-y (1985) ของ อาสึชิ คามิโจ (Atsushi Kamijo) ที่เธอจินตนาการว่า คำบรรยายเสียงจะหายไปจากหน้ากระดาษ เมื่อตอนที่ตัวละครอินกับการแสดงอย่างเต็มที่
โคดามะยังบอกอีกว่า ในอดีตตอนที่เธอทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านขายแผ่นซีดี สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งซึ่งเขาเป็นมือกลอง และเขากลายเป็นต้นแบบของเซนทาโร ตัวละครหลักในเรื่อง
ที่มา:
– https://artsandculture.google.com/story/AQXRA-bzXIFHJA
Tags: jazz, มังงะ, แจ๊ซ, Entertainment, Apollon on the Slope, Yuki Kodama, ยูกิ โคดามะ, Kids on the Slope