“พอไม่มีน้ำตา เราก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า”

คำพูดจากปากตัวละครในฉากหนึ่งของ Burning ดูเหมือนจะสะท้อนตัวหนังได้ดียิ่ง แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่ามันคือหนังพร่ำเพ้อความเหงาตามที่คำพูดนี้อาจชวนให้เราคิด เพราะเมื่อน้ำตาแทบไม่ได้ถูกหลั่งออกมาให้เห็น สิ่งที่เหลืออยู่ดูจะมีเพียงความเปลี่ยวดายแปลกแยกที่แผดเผาลามไหม้ไม่ต่างจากเปลวเพลิง

Burning คือผลงานการกลับมาในรอบ 8 ปีของ อีชางดง (Lee Chang-dong) คนทำหนังมากฝีมือผู้เคยฝากผลงานอย่าง Peppermint Candy (1999), Oasis (2002) และ Secret Sunshine (2007) โดยดัดแปลงจากเรื่องสั้น ‘Barn Burning’ (1983) ของ ฮารูกิ มูราคามิ

แม้เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหนึ่งหญิงสองชายที่ปรากฏในหนังจะไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากบนหน้ากระดาษมากจนจำไม่ได้ แต่ด้วยการใส่ประเด็นชนชั้นทางสังคมเข้าไป อีชางดงกลับพลิกให้มันเข้ากับบริบทสังคมเกาหลีใต้ และหนักแน่นไปด้วยไฟแค้นของหนุ่มสาวผู้ไร้ทางออกในสังคมปัจจุบัน

เรื่องราวดำเนินขึ้นเมื่อจงซู (ยูอาอิน) พบกับแฮมี (ชอนจงซอ) เพื่อนวัยเด็กที่สวยขึ้นจนแทบจำไม่ได้ พวกเขาสานสัมพันธ์พิเศษต่อกัน ไม่นานหลังจากนั้น แฮมีเดินทางไปเที่ยวแอฟริกาและฝากให้เขาเข้ามาให้อาหารแมวที่อพาร์ตเมนต์อยู่ทุกวัน แต่เมื่อเธอกลับมาพร้อมกับหนุ่มไฮโซที่ได้ผูกมิตรกันระหว่างทาง นามว่า เบ็น (สตีเฟน ยอน) ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงทวีความซับซ้อนยุ่งเหยิง

อีชางดงไม่เพียงวาง ‘รักสามเส้า’ ของตัวละครไว้อยู่บนความตึงเครียดระหว่างชนชั้น และความกดดันของการเป็นหนุ่มสาวในสังคมสมัยใหม่ แต่วิธีการเล่าเรื่องอันซับซ้อน เต็มไปด้วยความคลุมเครือ และสายตาการจดจ้องตัวละครอย่างเฉียบแหลมของเขา ทำให้เรื่องราวจากปลายปากกาของมูราคามิเรื่องนี้กลายมาเป็นหนังที่ฉายแสงจ้ายิ่งกว่าหนังจากนิยายมูราคามิเรื่องอื่นๆ ที่เคยมีมา

(ต่อจากนี้มีเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)

จงซูฝันอยากเป็นนักเขียน แต่ในความจริงเขาเป็นเพียงหนึ่งในประชากรเด็กจบใหม่ไร้งานทำที่มีอยู่ถมเถ และต้องติดกับอยู่กับชีวิตประจำวันที่ไม่พาเขาไปไหนเสียที เมื่อพ่ออารมณ์ร้อนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เขาจึงต้องขับรถเทียวไปเทียวมาระหว่างกรุงโซลกับชนบทบ้านเกิดเพื่อดูแลโรงเลี้ยงวัวแทนพ่อ ระยะทางจากที่บ้านกับตัวเมืองนั้นไม่ไกลเกินพอขับรถไปกลับได้ในแต่ละวัน แต่บ้านของเขาก็อยู่ไกลโซลพอที่จะได้ยินเสียงโฆษณาชวนเชื่อจากฟากเกาหลีเหนือ และแน่นอนว่าชีวิตของเขาย่อมอยู่ไกลลิบลับจากชีวิตคนร่ำรวยในเมือง หรือพวกชนชั้นอีลีต (elite) อย่างเบ็น

การเข้ามาของเบ็นทำให้ความเดือดดาลจากชีวิตชนชั้นล่างของจงซูถูกขับเน้นให้เห็นชัดขึ้น ขณะที่จงซูต้องดิ้นรนกับการดูแลวัวที่บ้าน เดินทางเข้าเมืองมาหางาน (ที่ก็มองเขาเป็นแค่ปัจจัยการผลิต) รวมถึงหาทางช่วยไม่ให้พ่อของตนต้องติดคุก ชีวิตของเบ็นกลับรายล้อมไปด้วยสิ่งสวยงามที่อำนวยความสะดวกสบาย ตั้งแต่รถปอร์เช่ ไปยันอพาร์ตเมนต์หรู หากเปรียบผู้ชายทั้งคู่เป็นวรรณกรรม จงซูคงยืนอยู่ฟากเดียวกับนักเขียนที่เขาชื่นชอบอย่าง วิลเลียม โฟล์คเนอร์ ซึ่งมักเขียนถึงชีวิตแร้นแค้นของผู้คนชนชั้นแรงงาน ส่วนเบ็นคงไม่ต่างจาก แก็ตสบี ในนิยายของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ที่มีชีวิตฟู่ฟ่าจากความร่ำรวยอันเป็นปริศนา

ในฉากหนึ่งที่น่าสนใจ เบ็นชวนทั้งจงซูและแฮมีไปปาร์ตี้ด้วยกันกับเพื่อนๆ ในแวดวงอีลีต แฮมีเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่าในแอฟริกาอย่างกระตือรือร้น ในขณะที่เบ็นกับเพื่อนฟังด้วยความสนใจ ทว่าความสนใจที่พวกอีลีตมีให้กับเรื่องเล่าของแฮมีนั้นไม่ได้มาจากความน่าพิศวงของชนเผ่าอย่างเดียว แต่ยังเป็นความแปลกประหลาดของตัวแฮมีเองด้วย นี่จึงเป็นฉากที่อีชางดงทำให้คนดูเห็นเส้นแบ่งระหว่าง ‘พวกเขา’ และ ‘พวกเรา’ ที่ทับซ้อน ในขณะที่แฮมีตื่นตะลึงไปกับความแปลกประหลาดของชนเผ่าในแอฟริกา พวกอีลีตก็ดูจะฉงนฉงายไปกับแฮมี ราวกับตัวเธอเองเป็นสมาชิกของอีกชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ห่างไกลอารยธรรมพอๆ กัน

อีลีตอย่างเบ็นจึงมองทุกอย่างรอบกายเป็นเรื่องสนุก จนกว่าเขาจะอ้าปากหาวใส่อย่างเบื่อหน่ายจึงค่อยเปลี่ยนไปหาเรื่องสนุกอย่างอื่น ชีวิตของจงซูและแฮมีที่ดิ้นรนดับความหิวโหยเป็นได้เพียงเรื่องน่าขำขันชั่วครู่ชั่วยามสำหรับเขา มีเพียงงานอดิเรกอย่างการเผาเรือนกระจกร้างเท่านั้นที่พอจะทำให้เขารู้สึกได้ถึงแรงเต้นสั่นไหวภายในตัวเอง นั่นทำให้ประโยค “พอไม่มีน้ำตา เราก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า” ที่เบ็นเป็นคนพูดไม่ใช่ประโยคหงอยเหงาโรแมนติก แต่กลับเย็นชาถากถาง และเหยียดหยามความทุกข์ทนของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นเพียงแค่ ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’

ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องแฮมีเล่าให้จงซูฟังว่าเธอกำลังฝึกแสดงละครใบ้ เธอแสดงท่าปอกเปลือกส้มให้เขาดูแม้จะไม่มีผลส้มอยู่ตรงหน้า และชี้ว่าที่คนหลงเชื่อการแสดงไม่ใช่เพราะมองหาสิ่งที่ไม่มี แต่เป็นการลืมไปว่ามันไม่มีอยู่ต่างหาก หนังจึงหยอดเรื่องการมี-ไม่มีอยู่ทั้งเรื่อง ตั้งแต่ส้มในการแสดงของแฮมี แมวขี้อายของเธอในอพาร์ตเมนต์ที่ไม่เคยปรากฏกายออกมาให้จงซูเห็น ไปจนถึงการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของแฮมีในช่วงท้ายเรื่อง

เราอาจกล่าวได้ว่า การไม่ถูกมองเห็นนี่เองที่เป็นปีศาจซึ่งก่อไฟแค้นคลั่ง ไฟที่ผลาญทำลายยิ่งกว่าเรือนกระจกใดๆ เพราะการที่พวกอีลีตอยู่แต่กับสิ่งที่มองเห็นนั้น ทำให้ปัญหาหรือความทุกข์ทน (ที่ไม่มีน้ำตา) ของคนอื่นๆ ราวกับไม่มีอยู่จริง พวกเขาสามารถผลิตถ้อยคำฉลาดๆ และหาความบันเทิงให้กับตัวเองได้เรื่อยๆ เพราะไม่เคยต้องมองเห็นการดิ้นรน และเมื่อมองเห็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ ก็สามารถทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต่างจากเรือนกระจกรกร้างน่าสมเพชที่จำต้องถูกเผาทิ้ง

คนอย่างจงซู แฮมี หรือกระทั่งพ่อของจงซูจึงเป็นได้เพียงคนที่ไม่ถูกมองเห็น คนที่แสงแดดจะส่องถึงได้ก็ต่อเมื่อมันสะท้อนมาจากตึกระฟ้า คนที่ต้องตกเป็นจำเลยอยู่ร่ำไป ในขณะพวกอีลีตไม่เคยต้องรับผิดชอบอาชญากรรมของตัวเอง คนที่ไม่มีอยู่ซึ่งจะมีตัวตนได้ก็ด้วยการลืมไปชั่วคราวว่าพวกเขาไม่มีอยู่ ราวกับพวกเขาได้รับอนุญาตให้มีตัวตนในสังคมได้ก็ต่อเมื่อความหนักหนาในชีวิตของพวกเขาถูกเพิกเฉย นั่นทำให้ความเหงาที่ Burning พูดถึงไปไกลกว่าเรื่องรักใคร่ เพราะมันยังเป็นความแปลกแยกอันมีที่มาจากโครงสร้างทางสังคม และความเดียวดายของการถูกปฏิบัติราวไร้ปากเสียงไร้ตัวตน

หากสิ่งที่เบ็นพูดกับจงซูไว้ครั้งหนึ่งว่า “ไม่มีอะไรผิดหรือถูก มีแค่กฎของธรรมชาติ” นั้นเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนท้ายของหนังก็น่าพรั่นพรึงยิ่งนัก เพราะไฟแค้นที่แต่เดิมมองไม่เห็นได้กลายมาเป็นไฟมอดไหม้แผดเผา ที่ถูกสุมมาจากทุกทิศทางจนไม่ว่ายังไงก็ต้องปะทุขึ้นมาอยู่แล้วตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งในขณะที่คนดูนั่งจ้องเปลวจ้าของมันในความเงียบงันก่อนที่หนังจะตัดเข้าภาพมืดนั่นเอง ดูเหมือนว่าอีชางดงทิ้งให้เราตัดสินใจอย่างกระอักกระอ่วน ว่าจำเป็นหรือที่หลักฐานของความเศร้านั้นต้องเป็นน้ำตา

Fact Box

Burning ฉายเปิดตัวครั้งแรกในสายประกวดหลักของเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้และเรียกเสียงชื่นชมไปได้เป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ได้รางวัลหลักไปเลย แต่ก็ได้ FIPRESCI Prize (รางวัลจากนักวิจารณ์นานาชาติ) และ Vulcain Prize (รางวัลเชิงเทคนิคสำหรับงานกำกับศิลป์) ไปครอง

นอกจากจะประสบความสำเร็จในแง่ของคำวิจารณ์แล้ว หนังยังกวาดรายได้ไปอย่างงดงามเมื่อเข้าฉายในประเทศบ้านเกิด สำหรับประเทศไทยนั้น Burning เข้าฉายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดรอบฉายและโรงภาพยนตร์ที่เข้าฉายได้ที่เพจ Documentary Club

Tags: , , , , , ,