ในเช้าวันอาทิตย์หน้าพระราชวังคยองบก (Gyeongbok) ปรากฏภาพของฝูงชนนับร้อยชีวิต ตั้งแต่แพทย์ นักเรียน นักศึกษา จนถึงพนักงานออฟฟิศ นั่งนิ่งไม่ไหวติงด้วยสีหน้าเรียบเฉยบนเสื่อโยคะ ขณะที่บางส่วนมองเหม่อไปที่ท้องฟ้า หรือหลับตานั่งสมาธิ แม้ฝนตกลงมาก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

แม้อาจจะดูแปลกประหลาดในสายตาใครหลายคน แต่บรรยากาศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน Space-Out ระดับนานาชาติ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อค้นหา ‘คนที่ไม่ทำอะไรเลยได้เก่งที่สุด’ ซึ่งเริ่มจากการคัดเลือกในระดับท้องถิ่นราว 4,000 คน ก่อนจะเหลือผู้เข้าแข่งขัน 117 คน ที่มีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา

กฎกติกาการเข้าร่วมแสนง่ายดาย คือ นั่งนิ่ง ไม่ต้องทำอะไรสักอย่างเป็นเวลา 90 นาที โดยที่มีข้อห้ามสำคัญ คือ ‘ห้ามหลับ, ห้ามคุย และห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร’ ซึ่งมีเกณฑ์ตัดสิน คือ อัตราการเต้นหัวใจที่คงที่ และคะแนนโหวต ‘ขวัญใจ’ ของผู้ชมรอบด้านในการแข่งขัน

การแข่งขัน Space-Out ครั้งนี้ เกิดขึ้นเข้าร่วมปีที่ 10 เมื่อศิลปินนิรนามที่ใช้นามแฝงว่า Woopsyang (웁쓰양) จัดการแข่งขันในปี 2014 โดยเธอหวังว่า คงเป็นเรื่องดี หากคนบางส่วนในสังคมอยากหยุดพักการทำงาน ด้วยการไม่ทำอะไรสักอย่างเสียบ้าง หลังเธอเผชิญสภาวะเบิร์นเอาต์ (Burn Out) อย่างรุนแรง และเกิดอาการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น สืบเนื่องจากอาชีพการงานของเธอ

“การแข่งขันนี้บอกได้ว่า การไม่ทำอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องเสียเวลา แต่มันเป็นเวลาอันคู่ควรที่คุณควรมี” Woopsyang ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น (CNN) พร้อมระบุว่า จุดประสงค์ของเธอ คือ การทำให้สังคมเห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ไม่ทำอะไรเลยกับกลุ่มที่ยุ่งจากการทำงานอย่างหนัก โดยมีภาพของผู้เข้าแข่งขันกับผู้ชมเป็นตัวเปรียบเทียบ

เพราะรากฐานของสังคมเกาหลีถูกอาบเคลือบด้วยลัทธิขงจื๊อ (Confucianism) ที่ความเชื่อเรื่องการทำงานหนักเพื่อไปสู่ความสำเร็จ สะท้อนจากค่าเฉลี่ยในปี 2018 เมื่อเกาหลีใต้มีชั่วโมงการทำงานสูงสุดถึง 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ยังไม่รวมถึงข้อเสนอแนะของรัฐบาลที่พร้อมจะดันชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 62 ชั่วโมงในปี 2023 

นั่นจึงนำมาสู่ภาวะความเครียดและผลกระทบด้านสุขภาพจิต โดยในปี 2022 มีรายงานว่า 1 ใน 3 ของชาวเกาหลีใต้อายุ 19-34 ปี กำลังเผชิญสภาวะเบิร์นเอาต์ครั้งใหญ่ ซึ่งผลสำรวจเผยว่า 37.6% มีความวิตกกังวลในอาชีพการงาน อีก 21.1% เครียดจากภาระงานที่หนักหน่วง และ 14% ตั้งแง่สงสัยถึงความก้าวหน้าของอาชีพ

ในอีกแง่หนึ่ง Space-Out จึงเปรียบเสมือนการท้าทายค่านิยมดั้งเดิม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ร่วมในภูมิภาคไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ดังเช่น ขบวนการ Lying Flat (躺平: Tang Ping) ในประเทศจีน เมื่อคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเห็นว่า การนอนเฉยๆ ไม่ใช่เรื่องผิด และต่อต้านธรรมเนียมการทำงานหนักเพื่อประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ คือ วาเลนตีนา วิลเชส (Valentina Vilches) หญิงชาวชิลีที่ประกอบอาชีพเป็นนักจิตวิทยาในเกาหลีใต้ โดยเธอเล่าว่า ตนเองมาที่นี่ด้วยความตั้งใจอยากจะสนุกกับกิจกรรม แต่นี่เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สามารถนำไปแบ่งปันกับคนไข้ต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ ครัช (Crush) หรือชิน ฮโยซอบ (Shin Hyo-seob) นักร้องหนุ่มชื่อดัง เคยเข้าร่วมแข่งขัน Space-Out ในปี 2016 ซึ่งจัดที่ริมแม่น้ำฮันกัง (Hangang) โดยเขาสามารถเอาชนะผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 70 คน เพราะมีอัตราหัวใจเต้นคงที่ตลอด จากการตรวจสอบทุก 15 นาที

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2024/05/16/asia/south-korea-space-out-competition-intl-hnk/index.html

https://www.koreatimes.co.kr/www/art/2024/05/398_205356.html

https://www.theguardian.com/world/article/2024/may/27/seoul-international-space-out-competition-south-korea

Tags: , , , , , , , , ,