อาร์ฮุส (Aarhus) เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศเดนมาร์ก แม้ชื่อนี้จะยังไม่คุ้นหูคนไทยเท่าไรนักเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอย่างโคเปนเฮเกน แต่ในปี 2017 อาร์ฮุสขึ้นแท่นเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรป (European Capital of Culture) ซึ่งนั่นการันตีได้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่อัดแน่นอยู่ในเมืองนี้

ความน่าสนใจอีกอย่างของเมืองที่มีประชากรราว 320,000 คนนี้ก็คือ จำนวนห้องสมุดสาธารณะที่มีมากถึง 19 แห่ง ไม่รวมห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดมหาวิทยาลัย และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ‘Dokk1’ (ด็อค วัน) ห้องสมุดใหญ่ที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อปี 2015

ปัจจุบัน อาคารห้องสมุดขนาด 4 ชั้น พร้อมระบบจอดรถใต้ดินอัตโนมัติ ที่อยู่ติดริมน้ำแห่งนี้ มีผู้ใช้งานเฉลี่ยวันละประมาณ 4,000 คน ซึ่งเท่ากับว่าในทุกๆ วันจะมีประชากรร้อยละ 1 แวะไปใช้บริการเฉพาะห้องสมุดนี้เท่านั้น ยังไม่นับรวมห้องสมุดสาขาอื่นๆ

อะไรคือสิ่งที่ชวนให้คนในเมืองใช้บริการห้องสมุดอย่างสม่ำเสมอในยุคที่คนอ่านหนังสือเล่มน้อยลง

คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด พร้อมกับแนะนำให้เรารู้จักเมืองอาร์ฮุสดียิ่งขึ้นก็คือ มารี ออสเตอร์การ์ด (Marie Ostergard) ผู้อำนวยการห้องสมุดสาธารณะในอาร์ฮุส หนึ่งในวิทยากรของงานสัมมนา ‘เมือง คิด ใหม่’ ซึ่งจัดโดย OKMD เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

ถ้าให้เล่าถึงเมืองอาร์ฮุส คุณจะบอกว่าอาร์ฮุสเป็นเมืองแบบไหน

อาร์ฮุสเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา เป็นเมืองที่มีคนหนุ่มสาวเยอะ เพราะมีมหาวิทยาลัยใหญ่ตั้งอยู่ เป็นเมืองที่มีบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์ มีธุรกิจแนวสตาร์ตอัปอยู่มาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม คนเมืองนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างคอมมูนิตี นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมอาร์ฮุสถึงเป็นเมืองที่เอื้อต่อการร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นเมืองที่พยายามใส่ใจว่าประชาชนต้องการอะไร ต้องการใช้ชีวิตแบบไหน และพัฒนาโครงสร้างของเมืองให้ตอบโจทย์นั้น มากกว่าที่จะสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อกำหนดว่าประชาชนควรใช้ชีวิตอย่างไร

 

คุณเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนี้มาตั้งแต่เมื่อไร

ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีก่อน การได้มาใช้ชีวิตในอาร์ฮุสเป็นเป้าหมายของฉันตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน คิดไว้ตลอดว่าถ้าเรียนจบมัธยมปลายก็จะมาเข้ามหาวิทยาลัยที่นี่ แล้วก็ได้ทำอย่างที่ตั้งเป้าไว้

 

เมื่อตอน 25 ปีก่อนนั้นบรรยากาศของอาร์ฮุสเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นเมืองที่อยู่ง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่เพราะเราสามารถเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกันได้ไม่ยาก เนื่องจากความหลากหลายทางความรู้และวัฒนธรรมเป็นส่วนผสมของเมืองนี้ รายละเอียดต่างๆ ในเมืองค่อนข้างชัดเจนมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วว่าอาร์ฮุสเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ วัฒนธรรม และการพัฒนา

 

สมัยเด็กคุณใช้ห้องสมุดบ่อยไหม

บ่อยนะ เพราะเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือ เวลาไปโรงเรียนก็จะเข้าห้องสมุดของโรงเรียนเป็นประจำ ส่วนช่วงวันหยุด พ่อกับแม่ก็จะพาไปห้องสมุดประจำเมืองทุกสัปดาห์

แต่เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ที่อดีตเด็กซึ่งชอบเข้าห้องสมุดได้มาทำงานให้กับห้องสมุดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ สารภาพตามตรงว่า ตอนสมัครงานที่นี่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าโปรเจ็กต์ที่ต้องดูแลจะเป็นเรื่องอะไร พอได้มาทำจริงๆ ถึงได้รู้ว่ามันเป็นงานที่เปิดโลกทัศน์ของตัวเองมาก เพราะห้องสมุดไม่ใช่แค่เรื่องของหนังสือเหมือนอย่างในยุคสมัยที่เราเติบโตมา มันคือเรื่องของสังคม ความรู้ และความต้องการของคนในสังคมนั้นๆ การเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนี้จึงทำให้ฉันได้ทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการเป็นผู้รับผิดชอบหลักของโปรเจ็กต์ Dokk1 เป็นเวลา 10 ปีด้วย ซึ่งตลอด 10 ปีนั้น ไม่มีวันไหนเลยที่ฉันไม่ได้ทำและไม่ได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน

 

ห้องสมุดไม่ใช่แค่เรื่องของหนังสือเหมือนอย่างในยุคสมัยที่เราเติบโตมา มันคือเรื่องของสังคม ความรู้ และความต้องการของคนในสังคมนั้นๆ

 

โปรเจ็กต์ Dokk1 เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

คนที่เป็นกำลังสำคัญในการริเริ่มและผลักดันโปรเจ็กต์นี้ก็คือผู้อำนวยการห้องสมุดของอาร์ฮุสในช่วงปลายปี 1990 เขาเป็นคนเริ่มนำเสนอไอเดีย หาข้อมูลว่าสิ่งที่คนในเมืองนี้ต้องการคืออะไร ต้องร่วมมือกับใครบ้างถึงจะทำให้โปรเจ็กต์นี้เป็นจริงได้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการนำเสนอแผนงานกับทางการเพื่อของบประมาณ จนกระทั่งโครงการผ่านและได้รับงบประมาณในปี 2003 ส่วนฉันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักของโปรเจ็กต์นี้มาตั้งแต่ปี 2005

ช่วงปีแรกๆ ของโปรเจ็กต์เป็นขั้นตอนของการสร้างวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าวิสัยทัศน์ของเราจะยั่งยืน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก การทำโครงการใหญ่แบบนี้ เราจะต้องมองว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นนี้จะอยู่ไปอีกเป็นร้อยปี เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์ของโครงการก็ควรจะเป็นสิ่งที่อยู่ได้ในระยะยาวแบบนั้นเช่นกัน ถ้าเราสร้างห้องสมุดโดยโฟกัสอยู่ที่เรื่องของหนังสือหรือแม้แต่เรื่องดิจิทัล อีกไม่นานมันก็คงไม่ตอบโจทย์คนในสังคม แต่ถ้าเราโฟกัสที่ความจำเป็นและความต้องการของคนในสังคมนั้นแทน เราก็จะได้วิสัยทัศน์ที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ในระยะยาว
การให้ความสำคัญกับคนในสังคมอย่างมาก ทำให้กระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในการสร้าง Dokk1 ก็คือ การถามความเห็นจากประชาชน อยากทราบว่ามีวิธีในการถามอย่างไรบ้าง

สำหรับโปรเจ็กต์ที่กินเวลานานถึง 10 ปีอย่างนี้ ในแต่ละช่วงจะมีสิ่งที่เราโฟกัสแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือเราเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกระยะ เพื่อให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นคำถามของเราจะหลากหลายมาก ตั้งแต่คำถามอย่างเช่นว่า เราจะสร้างโซนสำหรับเด็กแบบไหนที่จะอำนวยความสะดวกให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ ไปจนถึงคำถามที่ว่า คุณคิดว่า สิ่งที่เรียกว่าความรู้ในปี 2050 จะหมายถึงอะไร

วิธีที่ได้มาซึ่งความเห็นของประชาชนก็มีหลายแบบ มีทั้งการถามแบบตัวต่อตัว การจัดกิจกรรมให้คนมาแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกัน รวมถึงให้คนถ่ายรูปแล้วเอามาแชร์กันก็มี หรืออย่างช่วงที่เราอยากรู้ว่าห้องสมุดแบบไหนที่จะทำให้เด็กๆ อยากแวะมาหลังจากเลิกเรียน เราก็จัดเป็นกิจกรรม 2 สัปดาห์ ชวนเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมและให้พวกเขาออกแบบห้องสมุดของตัวเอง

 

ถ้าเราสร้างห้องสมุดโดยโฟกัสอยู่ที่เรื่องหนังสือหรือแม้แต่ดิจิทัล อีกไม่นานมันก็คงไม่ตอบโจทย์คนในสังคม แต่ถ้าโฟกัสที่ความจำเป็นและความต้องการของคนในสังคมนั้น เราก็จะได้วิสัยทัศน์ที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ในระยะยาว

 

นอกจากนี้ เรายังใช้ Persona มาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งด้วย โดยเราสร้างคาแรกเตอร์สมมติขึ้นมาจากข้อมูลที่เรามี การสร้างคาแรกเตอร์นี้ขึ้นจะทำให้เรามองเห็นภาพว่า ถ้าเป็นคนคนนี้ เขาจะสนใจหรือไม่สนใจเรื่องอะไร ซึ่งเรานำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประกอบกับความคิดเห็นที่ได้จากประชาชนโดยตรง เราพยายามหาวิธีใหม่ๆ อยู่เสมอในการเข้าถึงและเข้าใจความต้องการของผู้ที่จะมาใช้งานห้องสมุด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น

แน่นอนว่า ตลอดเวลา 10 ปีที่ทำโปรเจ็กต์นี้ ไม่ใช่ทุกวิธีที่เราทำหรือทุกอย่างที่เราลองจะประสบความสำเร็จ หลายครั้งที่มีความผิดพลาด เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่น้อย แต่ในขณะเดียวมันก็เป็นเรื่องสนุก อย่างไรก็ตาม ในองค์กรของเรามีดีเอ็นเอของการยิ้มรับความผิดพลาด เพราะเรารู้ว่าทุกครั้งที่เราทำพลาด หมายความว่าเราได้พยายามแล้วและเราได้เรียนรู้อะไรใหม่เสมอ ดังนั้น แทนที่จะจมจ่อมกับความผิดพลาด เราจะยินดีและยิ้มรับมันเพราะรู้ว่ามันทำให้เราฉลาดขึ้น

 

ชื่อ Dokk1 มีที่มาอย่างไร

เรื่องการตั้งชื่ออาคารก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่เราให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีคนเสนอชื่อเข้ามาเยอะมาก จากทั้งหมดนั้น เราคัดเหลือ 30 ชื่อและให้คนโหวต พอได้ 7 ชื่อที่มีคะแนนสูงสุด เราก็นำทั้ง 7 ชื่อนี้เข้าที่ประชุมที่มีตัวแทนทั้งจากเทศบาลเมืองและพรรคการเมืองรวมอยู่ด้วย ก่อนจะตกลงกันที่ชื่อ ‘Dokk1’ ซึ่งเป็นชื่อที่มีคนเสนอชื่อเดียวกันถึง 3 คน หลังจากตกลงใช้ชื่อนี้แล้ว เราก็เชิญทั้ง 3 คนที่เสนอชื่อนี้มาเยี่ยมไซต์งานขณะก่อสร้างและมอบของที่ระลึกให้ด้วย

 

เนื่องจากห้องสมุดในอาร์ฮุสมีการจัด Next Library Conference ทุก 2 ปี อยากทราบว่าการจัดงานนี้มีส่วนในการออกแบบ Dokk1 อย่างไรบ้าง

มีส่วนเยอะมาก Next Library Conference เกิดขึ้นจากความคิดของพวกเราที่คิดกันว่า การจัดงานแบบนี้จะทำให้เราได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับห้องสมุดจากคนที่น่าสนใจทั่วโลก

ถึงจะใช้คำว่า conference แต่รูปแบบการจัดงานของเราจะไม่ได้เหมือนกับการประชุมโดยทั่วไป ตลอดระยะเวลา 3 วันในการจัดงาน เรามีวิทยากรหลักเพียง 3 คนเท่านั้น กิจกรรมที่เหลือจะเป็นเวิร์กช็อปที่จัดโดยผู้ร่วมงานที่เสนอไอเดียเข้ามาตามธีมที่เรากำหนดในแต่ละปี และเรายังมีกิจกรรมที่ชื่อว่า Ignite Talks ที่ให้แต่ละคนขึ้นมาพรีเซนต์คนละ 5 นาที เพราะเราเชื่อว่าพรีเซนเทชันที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานเสมอไป กิจกรรมนี้จึงทำให้เราได้ฟังไอเดียดีๆ จำนวนมากภายในระยะเวลาสั้นๆ

เรามองว่าการได้แบ่งปันไอเดียและความรู้ระหว่างกันเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนจะทำให้มีคนได้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น

 

ในองค์กรของเรามีดีเอ็นเอของการยิ้มรับความผิดพลาด เพราะเรารู้ว่าทุกครั้งที่เราทำพลาด หมายความว่าเราได้พยายามแล้วและเราได้เรียนรู้อะไรใหม่เสมอ

 

ซึ่งการแบ่งปันก็คือคอนเซ็ปต์หลักอย่างหนึ่งของ Dokk1 ด้วย

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะเราตั้งใจที่จะสร้างที่นี่ให้เป็นสเปซที่เอื้อต่อการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

 

เมื่อปี 2016 Dokk1 ได้รับรางวัล Public Library of the Year ซึ่งเป็นครั้งแรกของห้องสมุดในเดนมาร์กที่ได้รับรางวัลนี้ อยากให้ช่วยเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัลที่ได้รับ

เงื่อนไขสำคัญของรางวัลนี้ก็คือจะมอบให้กับห้องสมุดที่เพิ่งสร้างเสร็จในปีที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลนี้เพียงปีเดียวเท่านั้น ซึ่งพวกเราไม่ได้คิดมาก่อนว่า Dokk1 จะได้รางวัล เนื่องจากห้องสมุดอื่นๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อในปีเดียวกันต่างก็เป็นห้องสมุดที่ดีมากๆ อย่างห้องสมุดในเมลเบิร์นและห้องสมุดในชิคาโก ซึ่งเราเคยไปมาทั้งสองที่ แล้วก็ประทับใจทั้งสองที่นี้มากๆ

 

คุณคิดว่าอะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Dokk1 คว้ารางวัลนี้ไปได้ในที่สุด

จากที่ฟังความเห็นของคณะกรรมการแล้ว คิดว่าสิ่งที่ทำให้ Dokk1 ชนะคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในแทบทุกขั้นตอน การสร้างสเปซที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของคนในสังคมอย่างแท้จริง การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของห้องสมุดจากที่อ่านหนังสือเป็นคอมมูนิตีเซ็นเตอร์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคารโดยไม่โฟกัสที่เรื่องของเทคโนโลยีมากเกินไป ทั้งหมดนี้คือจุดเด่นของ Dokk1
ในช่วงเวลาที่แวดวงห้องสมุดและแวดวงสิ่งพิมพ์ในหลายประเทศกำลังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคสิ่งพิมพ์ไปสู่ยุคออนไลน์ และการที่สิ่งพิมพ์อาจจะถูกลดบทบาทลง ในฐานะคนที่ทำงานเกี่ยวกับห้องสมุด คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

สำหรับห้องสมุดในอาร์ฮุส เราไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องหนังสือเท่านั้น แต่เรามองว่ามันคือเรื่องขององค์ความรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่แค่หนังสือ เพราะสื่ออื่นๆ อย่างอีบุ๊ก เพลง หนัง ไปจนถึงกิจกรรมต่างๆ ก็ถือเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเหมือนกัน เราจึงไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากังวล จริงอยู่ที่จำนวนคนยืมหนังสือของเราลดลงกว่าแต่ก่อน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว เรามีจำนวนผู้มาใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้น เพราะคนยังมองหาสิ่งที่เป็นความรู้อยู่

เรามองว่าโลกสิ่งพิมพ์ที่จับต้องได้และโลกดิจิทัลสามารถดำเนินอยู่แบบคู่ขนานกันไปได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่คุณได้เรียนรู้มากขึ้น คุณจะรู้ตัวว่าคุณยังไม่รู้อะไรอีกมาก

 

จริงอยู่ที่จำนวนคนยืมหนังสือของเราลดลงกว่าแต่ก่อน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว เรามีจำนวนผู้มาใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้น เพราะคนยังมองหาสิ่งที่เป็นความรู้อยู่

 

​ การแลกเปลี่ยนระหว่างกันก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาความรู้ ที่ Dokk1 เราออกแบบพื้นที่ให้คุณสามารถทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ และในขณะเดียวกันก็สามารถแบ่งปันความรู้ในการทำสิ่งเหล่านั้นให้กับคนอื่นได้ด้วย ซึ่งเราเรียกพื้นที่นั้นว่า Makerspace ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถใช้พื้นที่นั้นในการสร้างหุ่นยนต์ด้วยเทคโนโลยีที่คุณทดลองขึ้น ซึ่งตัวคุณเองก็ได้เรียนรู้ไปในระหว่างที่ทำ แล้วก็สามารถแชร์ให้คนอื่นที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้มาก่อนได้อีกด้วย

 

เท่าที่สังเกตดูจากตารางกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นของ Dokk1 ดูเหมือนจะว่าทางห้องสมุดจะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างสม่ำเสมอ อยากให้ช่วยยกตัวอย่างพาร์ตเนอร์ของ Dokk1 ว่ามีใครบ้าง

เรามีเรนจ์ของพาร์ตเนอร์ที่กว้างมาก ยกตัวอย่างเช่น เรามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของคอมพิวเตอร์แมคมาใช้พื้นที่ในการทำพบปะและทำกิจกรรม ทางเราก็เลยให้คนกลุ่มนี้ช่วยสอนเรื่องคอมพิวเตอร์ให้กับประชาชนที่สนใจเป็นการแลกเปลี่ยน หรืออย่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในเมืองก็เป็นพาร์ตเนอร์กับเรา ซึ่งพอเขามาใช้ Dokk1 เป็นสถานที่ในการจัดเลกเชอร์ คนทั่วไปก็สามารถเข้าฟังได้

แต่เงื่อนไขสำคัญของเราก็คือการมาเป็นพาร์ตเนอร์กันนั้นจะต้องไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้า เราสามารถเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจต่างๆ ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาจะทำร่วมกับ Dokk1 จะต้องไม่ได้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า

 

ถ้าเราเดินสำรวจบริเวณต่างๆ ใน Dokk1 ภาพที่เราจะได้เห็นคืออะไร

คุณจะได้เห็นห้องสมุดที่เต็มไปด้วยคนหลากหลายแบบทำในสิ่งที่แตกต่างกัน สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบทำในเวลาที่เหนื่อย ล้า หรือเครียดจากการทำงานก็คือ การลุกออกจากโต๊ะทำงานแล้วไปเดินเล่นในห้องสมุดแห่งนี้

ทุกๆ ครั้งที่เดินไปรอบๆ จะได้เห็นภาพของคนที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าอยู่นอกห้องสมุด คนเหล่านี้ก็คงจะไม่ได้มานั่งอยู่ใกล้ๆ กันหรือใช้พื้นที่เดียวกัน อย่างเช่นเราอาจจะได้เห็นคนไร้บ้านเข้ามาอ่านหนังสืออยู่ที่โต๊ะเดียวกับเด็กนักเรียนที่มานั่งทำการบ้านและแม่ๆ ที่พาลูกมาห้องสมุด หลายครั้งที่ภาพเหล่านี้ทำให้ฉันน้ำตาคลอ เพราะรู้สึกว่ามันคือหน้าที่หนึ่งของห้องสมุด หน้าที่ในการเชื่อมโยงคนหลากหลายแบบเข้าด้วยกัน

ขณะที่คุณเดินอยู่ในนั้น บางคนอาจจะกำลังอ่านหนังสืออยู่ บางคนอาจจะกำลังพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บางคนอาจจะสาธิตสิ่งที่ตัวเองถนัดอยู่ ตามปกติในช่วงเวลาเดียวกันจะมีคนใช้ห้องสมุดอยู่พร้อมๆ กันประมาณ 700 คน หวังว่าถ้าคุณไปที่ Dokk1 คุณเองก็จะได้เจอมุมที่ชอบหรือได้ทำสิ่งที่คุณสนใจเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ใช้ห้องสมุดอยู่
ผู้ใช้ห้องสมุดสามารถนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปด้วยได้ใช่ไหม

ถูกต้อง ทุกคนสามารถจะนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาได้ ซึ่งในมุมมองของคนทำงาน เราเข้าใจว่าทำไมห้องสมุดบางแห่งถึงไม่ได้อนุญาตเรื่องนี้ เพราะการอนุญาตให้คนนำของกินเข้ามาได้หมายถึงค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดไม่ใช่น้อย แต่เราก็คิดว่าคุ้มค่าที่จะจ่าย เพราะมันทำให้คนใช้เวลาในห้องสมุดนานขึ้น เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของคนอย่างมาก เวลาคนเรานัดเจอกัน ก็มักจะนัดในที่ที่มีอาหาร เพราะฉะนั้นถ้าเราอนุญาตให้คนนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาได้ คนก็จะอยู่ในห้องสมุดได้นาน ไม่ต้องไปที่อื่น

นอกจากเหตุผลในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดแล้ว ก็ไม่คิดว่าจะมีเหตุผลอื่นที่ห้ามไม่ให้คนนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในห้องสมุด ถ้าจะบอกว่ากลัวคนทำหนังสือสกปรก ลองคิดดูว่าเวลาคนยืมหนังสือกลับไปที่บ้าน เขาอาจจะเอาไปอ่านในห้องน้ำหรือบนโต๊ะอาหาร ซึ่งก็ทำให้หนังสือสกปรกได้อยู่ดี ไม่ต่างกัน

 

คุณมีแผนในการทำอะไรใหม่ๆ กับห้องสมุดสาธารณะอื่นๆ ในอาร์ฮุสอีก 18 แห่งไหม

​เรามีแผนในการปรับปรุงห้องสมุดย่อยในอาร์ฮุสตลอด เพราะห้องสมุดทุกแห่งมีคอนเซ็ปต์หลักเหมือนกันในการทำงาน นั่นคือการวางโพสิชั่นให้ห้องสมุดเป็นสเปซสำหรับทุกคนในชุมชน ไม่ใช่แค่เฉพาะ Dokk1

 

เราอาจจะได้เห็นคนไร้บ้านเข้ามาอ่านหนังสืออยู่ที่โต๊ะเดียวกับเด็กนักเรียนที่มานั่งทำการบ้าน และแม่ๆ ที่พาลูกมาห้องสมุด หลายครั้งที่ภาพเหล่านี้ทำให้ฉันน้ำตาคลอ เพราะรู้สึกว่ามันคือหน้าที่หนึ่งของห้องสมุด หน้าที่ในการเชื่อมโยงคนหลากหลายแบบเข้าด้วยกัน

 

ในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรงและคนที่เคยมาเมืองไทยหลายครั้งแล้ว คุณคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ จะมีห้องสมุดสาขากระจายอยู่ทั่วเมือง ไม่ใช่แค่เฉพาะใจกลางเมืองเท่านั้น

ที่จริงเมืองอย่างกรุงเทพฯ น่าจะมีห้องสมุดชุมชนอย่างทั่วถึง เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ในการสร้างห้องสมุดชุมชน อาจจะเป็นแค่ห้องสักห้อง เหมือนห้องที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่นี่ก็ได้

จำได้ว่าตอนที่ไปเชียงใหม่แล้วแวะที่ท่ารถแห่งหนึ่ง เคยเจอห้องสมุดชุมชนเล็กๆ ที่ท่ารถ ซึ่งเดิมทีน่าจะเป็นห้องพักผู้โดยสาร แต่ถูกดัดแปลงให้เป็นเหมือนห้องสมุดชุมชนขนาดเล็กที่เด็กๆ ในชุมชนมานั่งทำการบ้านและมีอาสาสมัครคอยดูแล ซึ่งฉันเองก็อยากเห็นกรุงเทพฯ มีห้องสมุดชุมชนแบบนั้นและเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้

 

มีห้องสมุดที่ไหนในโลกที่เป็นห้องสมุดโปรดของคุณอีกบ้างไหมนอกจากห้องสมุดในอาร์ฮุส

มีเยอะมาก ที่ชอบเป็นพิเศษก็อย่างเช่น Library 10 ในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นห้องสมุดขนาดเล็กที่โฟกัสในเรื่องของดนตรี เขาออกแบบกิจกรรมและการใช้พื้นที่ในห้องสมุดได้อย่างน่าสนใจมาก

ถ้าเป็นห้องสมุดสำหรับเด็ก ที่โปรดเลยก็คือ ImaginOn ในเมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐฯ ที่นี่เป็นทั้งห้องสมุดและโรงละครสำหรับเด็ก เป็นสถานที่สำหรับครอบครัวอย่างแท้จริง

ห้องสมุดอีกแห่งที่ชอบมากและเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งในการทำงานพัฒนาห้องสมุดสำหรับฉันก็คือ Seattle Public Library ที่รัฐวอชิงตัน อาคารของห้องสมุดนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Rem Koolhaas ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่สถาปัตยกรรมของห้องสมุดกลายเป็นที่พูดถึงและได้รับความสนใจในเรื่องดีไซน์

จากประสบการณ์ที่ได้เห็นห้องสมุดในหลายเมือง หลายประเทศ สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ ห้องสมุดของแต่ละเมืองเป็นกระจกที่สะท้อนถึงเมืองนั้นๆ ได้อย่างดี เป็นสถานที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ว่าชุมชนนั้นเป็นอย่างไร ให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้มากแค่ไหน ให้ความสำคัญกับความต้องการของคนในชุมชนหรือเปล่า

 

เวลาเดินทางกับครอบครัว ซึ่งอยู่นอกเหนือจากเรื่องงาน คุณแวะไปดูห้องสมุดตามเมืองต่างๆ ด้วยไหม

แน่นอนลูกสาวของฉันซึ่งอายุ 17 ปีชอบพูดว่า “หนูไม่คิดว่าจะมีเด็กวัยรุ่นคนไหนที่ได้เห็นห้องสมุดในเมืองต่างๆ มากเท่าหนูอีกแล้ว”

 

แล้วลูกสาวของคุณเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการของ Dokk1 ด้วยหรือเปล่า

โรงเรียนของเธออยู่ใกล้กับ Dokk1 หลังเลิกเรียน เธอกับเพื่อนๆ ก็มักจะแวะไปทำการบ้านกันที่นั่นก่อนกลับบ้าน เธอจึงเป็นหนึ่งในคนที่ใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้เป็นประจำ

เรื่องตลกอย่างหนึ่งก็คือเนื่องจากฉันทำโปรเจ็กต์นี้มาตั้งแต่ปี 2005 เรียกว่าเกินครึ่งชีวิตของลูกสาวเลยด้วยซ้ำไป Dokk1 จึงเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตเธอไปโดยปริยาย เธอมักจะเอาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเธอมาเปรียบเทียบกับความคืบหน้าระยะต่างๆ ของ Dokk1 โดยเทียบว่าตอนที่เธออายุเท่านี้ โครงการนี้ก็จะเสร็จถึงขั้นนี้แล้ว พอเธออายุเท่านั้น โครงการก็จะไปถึงขั้นนั้นแล้ว

เพราะฉะนั้น สำหรับฉันแล้ว Dokk1 จึงไม่ใช่แค่งาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในครอบครัวของเราด้วย

 

 

ภาพห้องสมุด โดย
Schmidt Hammer Lassen จาก www.archdaily.com
Zorro2212 จาก commons.wikimedia.org

Tags: , , , , , , , , , ,