“ฉันพึ่งพาพระพุทธเจ้ามากกว่าการทำงานหนักเสียอีก
ฉันจ่ายเงิน 3 หยวนเพื่อแลกกับการจุดธูปขอพรให้ได้เงิน 3 ร้อยล้าน
และหลังจากนี้ ฉันจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามชะตาฟ้าลิขิต”
หากชาวไทยมีเพลงฮิตติดหูอย่าง ‘คนจนมีสิทธิไหมคะ’ ในช่วงที่ผ่านมา กระแสทำนองเดียวกันในจีนก็ไม่น้อยหน้า เมื่อสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) เผยว่า เพลง I Can’t Afford to Worship in the Temple of Wealth โดย หลี่ เออร์เมิง (Li Ermeng) นักร้องสาวชื่อดัง กลายเป็นไวรัลทั่วโซเชียลมีเดียจีน ซึ่งตามมาด้วยกระแสคัฟเวอร์มากมาย
“ต่อจากนี้ไป ฉันจะซื้อหวยแทนการไปวัด
ตอนกลางวันหมกมุ่นกับแผนในอาชีพ ยามมืดมิดพร่ำเพ้อถึงแผนการแต่งงาน
หัวหน้าของฉันนั่งนับเงิน ส่วนฉันได้แต่นั่งกินมาม่าหลากรส
ไม่มีความรักไม่เป็นไร แต่ไม่มีเงินคงจะแย่น่าดู”
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการแปลงบทเพลงโดยชาวจีนในแอปพลิเคชัน Douyin พร้อมกับท่าเต้นประกอบที่ใช้มือเป็นหลัก ซึ่งกลายเป็นที่แพร่หลายตั้งแต่วันอังคารที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา
ลำพังความนิยมของบทเพลงนี้คงไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร หากไม่ปรากฏเนื้อหาว่าด้วยการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อร้องขอความมั่งคั่ง เพราะชีวิตจริงไร้ความหวังในอาชีพการงาน ซึ่งสะท้อนวิกฤตของประเทศจีน ที่เผชิญสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงานของเด็กรุ่นใหม่
แล้วแต่ชะตาฟ้าจะลิขิต: เศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในจีน
เป็นที่รู้กันดีว่า เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในสภาวะถดถอยครั้งใหญ่ สะท้อนจากค่าเงินหยวนดิ่งลงเหวในรอบ 16 ปี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2023 รายงานของซีเอ็นเอ็น (CNN) เผยว่า เศรษฐกิจจีนอาจโตไม่ถึง 5% เหมือนช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากปัญหานานัปการคือการปิดประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ และอัตราการส่งออกตกต่ำ ฯลฯ
“ความลำบากเพิ่มขึ้นในทุกปี ยากเย็นแสนเข็ญขึ้นเรื่อยๆ ที่จะหาเงิน ขณะที่ราคาสินค้าก็พุ่งสูงไม่หยุด” คอมเมนต์ของแอ็กเคานต์ @too_late ในแอปพลิเคชันสัญชาติจีน Zhizu ต่อนัยของเนื้อเพลง ที่สอดคล้องทัศนคติคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน
นอกจากนี้ ความตกต่ำทางเศรษฐกิจยังกระทบอัตราการจ้างงานในจีน เพราะบริษัทจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ชะลอหรือลดอัตราการจ้างงานเพื่อเอาตัวรอด
และเมื่อผสมผสานกับอัตราการแข่งขันของชาวจีนที่โหดหินเป็นทุนเดิม การหางานจึงยากลำบากเป็นอย่างมากสำหรับคนรุ่นใหม่
“มีงานไม่มากนักและการแข่งขันหางานก็สูง ทุกคนพร้อมจะทำงานทุกรูปแบบ” ซวี (Xu) นักศึกษาจากมหาวิทยาในรัฐมินนิโซตา (Minnesota) ให้สัมภาษณ์กับฟรีเรดิโอเอเชียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023
ปัจจุบัน มีการเปิดเผยอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในเดือนมีนาคม 2023 ว่า 1 ใน 5 ของประชากร หรือ 21.3% กำลังดิ้นรนเพื่อหางานที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม จาง ตานตาน (Zhang Dandan) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) กลับเห็นต่างว่า ตัวเลขข้างต้นแท้จริงยังตกหล่น เพราะมีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งลงทะเบียนเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา หรือบ้างก็พักการเรียนเพื่อเตรียมสอบรับราชการ ดังนั้น อัตราการว่างงานที่แท้จริงของคนรุ่นใหม่อาจอยู่ที่ 46.5%
บทเพลงไวรัลที่สะท้อนปรากฏการณ์ ‘Lying Flat’ : การลาออกมานอนเฉยๆ เพราะสภาวะหมดไฟ
นอกจากสะท้อนวิกฤตปัจจุบันของประเทศ บทเพลงดังกล่าวถูกมองว่า เป็นการตอกย้ำขบวนการเคลื่อนไหว ‘Lying Flat’ (躺平: Tang Ping) ในปี 2021 หรือการประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทุบทำลายมายาคติของคนรุ่นเก่า ว่าด้วยเรื่องการทำงานหนักเพื่อชีวิตที่ดีและจบลงด้วยการแต่งงาน เมื่อผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ Baidu ในเดือนเมษายน 2021 ด้วยหัวข้อ ‘การนอนเฉยๆ ก็เป็นความยุติธรรม’ และพยายามแย้งว่า ความเครียดขั้นรุนแรงจากการทำงานไม่ควรเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน
ทัศนคตินี้สวนทางกับความคาดหวังของคนจีนรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง เมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) พยายามกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ทำงานหนัก และแบกรับความรับผิดชอบในยุคถัดไป ตั้งแต่ช่วงแรกที่ดำรงตำแหน่ง เหตุผลเพื่อนำประเทศไปสู่สังคมอุดมคติที่เรียกว่า ‘ความฝันของคนจีน’ (China Dream) หรือการทำงานหนักเพื่อทำให้ประเทศยิ่งใหญ่ในโลก
นั่นจึงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แสดงความไม่พอใจ ออกคำสั่งแบนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด เคสโทรศัพท์ หรือของใช้ที่มีคำว่า Lying Down
ขณะเดียวกัน บรรดาสื่อภายใต้การควบคุมของรัฐก็โจมตีการประท้วงของคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่หนังสือนานฝางเดลี (Nangfang Daily) ที่ออกโรงตำหนิว่า ทัศนคติดังกล่าวน่าละอาย โดยเปรียบเปรยดัง ‘ซุปไก่อาบยาพิษ’ ที่หมายถึงการเรียกร้องดูราวกับว่าจะดี แต่กลับให้ผลลัพธ์เลวร้าย
ขณะที่สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ก็เผยแพร่บทความเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นการเรียกร้องที่ค่อนข้างไร้ประโยชน์ เพราะทุกคนอยู่ในประเทศที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ
“แทนที่จะถอนหายใจและบ่นไปวันๆ จะดีกว่าหากลงมือทำอะไรบางอย่าง” ส่วนหนึ่งของบทความจากซินหัวที่ตอบโต้การเคลื่อนไหวดังกล่าว
และแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังเดินหน้าปลูกฝังต่อไปจนถึงปัจจุบันว่า เยาวชนต้องมีความรับผิดชอบต่ออนาคตใหม่ของจีน
“คนหนุ่มสาวต้องตอบสนองความต้องการของประเทศ ด้วยการแบกรับภาระความรับผิดชอบ โดยมีความกล้าหาญที่จะก้าวไปข้างหน้า และทำงานหนักเป็นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ” ส่วนหนึ่งจากข้อความที่ถ่ายทอดทางซีซีทีวี (CCTV) สื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันอังคารที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ เฉียเปา ลี (Chia-Paō Lee) อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนที่ศึกษาต่อในไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับฟรีเรดิโอเอเชียว่า สาเหตุที่เกิดวัฒนธรรมการนอนเฉยๆ เป็นเพราะการทำงานหนักในสังคมจีน ไม่ได้การันตีว่าคนรุ่นใหม่จะมีชีวิตที่ดี ขณะที่คนจีนรุ่นเก่าพร่ำสอนว่า หากตั้งใจเรียน จะได้งานที่ดีทำ
“ไม่ว่าเราจะทำงานหนักขนาดไหน แต่งานก็ยังหายากอยู่ดี” อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนกล่าวแสดงความรู้สึกของเธอ
อ้างอิง
https://www.rfa.org/english/news/china/china-lying-flat-10042023144133.html
https://edition.cnn.com/2023/08/21/economy/china-economy-troubles-intl-hnk/index.html
https://qz.com/1555866/the-blog-china-turned-to-for-toxic-chicken-soup-for-the-soul-has-shut-down
https://www.rfa.org/english/news/china/china-youth-jobs-05222023141002.html
https://www.bbc.com/news/business-60353916
https://www.rfa.org/english/news/china/stores-06222021112629.html
Tags: การว่างงาน, คนรุ่นใหม่ในจีน, เอเชีย, China Dream, คนรุ่นใหม่, สังคมจีน, พรรคคอมมิวนิสต์จีน, เศรษฐกิจตกต่ำ, ประเทศจีน, Generation Z, เอเชียตะวันออก, ลาออกมานอน, China, สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ, สี จิ้นผิง, Lying Flat, จีน, ประท้วงในจีน