เมื่อวานนี้ (14 มีนาคม 2024) สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสมีมติผ่านร่างกฎหมายลงโทษเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) โดยระบุว่า เป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ และอาจนำไปสู่การแบนถาวรในอนาคต
ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า สมัชชาแห่งชาติหรือสภาล่างฝรั่งเศสมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ให้ผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่จะต้องผ่านการหารือกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสียก่อน จึงจะสามารถนำเข้าสู่วุฒิสภาเพื่อโหวตครั้งสุดท้าย ก่อนจะออกกฎหมายและบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
สำหรับเนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้ ฝรั่งเศสจะปรับเงินลงโทษผู้ผลิตฐานทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนเงิน 5 ยูโร (ประมาณ 194 บาท) ต่อเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น 1 ชิ้น และภายในปี 20230 ค่าปรับอาจเพิ่มเป็นจำนวน 10 ยูโร (ประมาณ 390 บาท)
ไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ เพราะข้อห้ามดังกล่าวยังรวมถึงการห้ามโฆษณาทุกหน้าสื่อ แน่นอนว่าอาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย รวมถึงอาจมีการเก็บภาษีเพิ่มในสินค้าที่มีต้นทุนต่ำเกินกว่าปกติ และอาจมีบทลงโทษเพิ่มเติม โดยเฉพาะบทบัญญัติในแง่ผลกระทบของเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นต่อสิ่งแวดล้อม
อาน ซิซิล วียอลันด์ (Anne-Cécile Violland) สมาชิกผู้แทนราษฎรจากกลุ่ม Groupe Horizons et Apparentés คือผู้เสนอกฎหมายดังกล่าว โดยมี คริสตอฟ เบชู (Christophe Béchu) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Ecological Transition) เป็นผู้สนับสนุน
เบชูระบุข้อความทางแอปพลิเคชัน X ว่า เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นเป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเสื้อผ้าราคาถูกแพร่หลายตามท้องตลาด ทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้เสื้อผ้าน้อยครั้งและโยนทิ้งง่ายดาย เบชูระบุเพิ่มเติมว่า เขามีโอกาสพูดคุยกับกลุ่ม NGOs ภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมาธิการ เพื่อทำงานร่วมกันและสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน
ขณะที่วียอลันด์แสดงความคิดเห็นว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอสร้างมลพิษมากที่สุด เพราะคิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และสร้างสิ่งปนเปื้อนลงในแม่น้ำ
ชีอิน (Shein) บริษัทสัญชาติจีน-สิงคโปร์ ถูกเพ่งเล็งในการแบนครั้งนี้ หลังทางการฝรั่งเศสเผยว่า แบรนด์เสื้อผ้าแห่งนี้ผลิตเสื้อผ้าได้ถึง 7,200 ตัวต่อวัน พร้อมสินค้าหลากหลายประเภทถึง 4.7 แสนชนิด ซึ่งเป็นปริมาณมหาศาลและเกินความจำเป็น ท่ามกลางกลยุทธ์ตีตลาดของชีอินในยุโรป สะท้อนจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange) ซึ่งมีมูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ในเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม อีกแง่หนึ่งกฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ฝรั่งเศสกำลัง ‘เลือกปฏิบัติ’ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศและชาติยุโรป ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าระดับไฮเอนด์ เช่น หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) ชาแนล (CHANEL) แอร์แมส (Hermes) จนถึงเสื้อผ้าราคาถูกอย่างซารา (Zara) และเอชแอนด์เอ็ม (H&M) ที่ถูกโจมตีด้วยสินค้าราคาถูกจากจีน
อ้างอิงจากเนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมาย รัฐบาลฝรั่งเศสจะนำค่าปรับส่วนหนึ่งไปสนับสนุนแบรนด์เสื้อผ้าที่ ‘ปฏิบัติตามกฎ’ และ ‘มีความเที่ยงธรรม’ ในประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจฝรั่งเศส และลงโทษกิจการต่างชาติที่ละเมิดสิทธิแรงงาน รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมและสุขภาพของผู้บริโภคไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวมีความย้อนแย้งเช่นกัน เพราะหากย้อนกลับไปดูผลสำรวจในช่วงโควิด-19 ค้นพบว่า เอชแอนด์เอ็มและซาราเป็นแบรนด์ที่ปฏิบัติต่อแรงงานไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะผู้คนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา
เช่นเดียวกับกรณีในเมียนมา ที่ Business & Human Rights Resource Centre (BHRRC) รายงานว่า มีข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนราว 20 กรณีที่เชื่อมโยงกับเอชแอนด์เอ็ม โดยแรงงานจำนวนหนึ่งต้องเผชิญปัญหาไม่จ่ายค่าแรง การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อัตราการจ่ายงานไม่สมเหตุสมผล จนถึงการบังคับทำงานล่วงเวลา ทว่ายังไม่มีความคืบหน้าอื่นใด นอกจากการปิดโรงงานผลิตในเมียนมาราวกับ ‘ตัดช่องน้อยแต่พอตัว’ หลีกข้อกล่าวหาทั้งหมด
อ้างอิง
https://www.france24.com/en/live-news/20240314-french-parliament-votes-to-slow-down-fast-fashion
https://edition.cnn.com/2023/08/18/business/hm-myanmar-operations-phase-out-intl-hnk/index.html
Tags: H&M, เสื้อผ้า, แฟชั่น, สิ่งแวดล้อม, Fast Fashion, การผลิต, อุตสาหกรรมแฟชั่น, Shein, ฝรั่งเศส, ชีอิน, Zara