จากประสบการณ์ในการบริหารบริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มานานเกือบสิบปีของบุญยง ตันสกุล มาสู่บทบาทใหม่ในฐานะซีอีโอของ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย เป็นเจ้าของแบรนด์ที่เราคุ้นปากอย่าง ร้านอาหารญี่ปุ่น Zen ร้านปิ้งย่าง AKA ร้านอาหารสไตล์โตเกียวคาเฟ่ On the Table และร้านอาหารอีสาน ตำมั่ว รวมๆ แล้วภายในเครือเซ็นมีร้านอาหารมากถึง 13 แบรนด์

บุญยง ตันสกุล มีเป้าหมายว่า 5 ปีนับจากนี้ เขาต้องการผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2021 และในปี 2020 ต้องมียอดขายในเครือเซ็นกรุ๊ปแตะหลักหมื่นล้านบาท ขณะที่การขยายสาขาก็จะเน้นไปที่การขายแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ มองหาโอกาสในการร่วมทุนทางธุรกิจเพิ่มแบรนด์ใหม่ๆ ในพอร์ต และการขายสินค้าบริโภค เช่น น้ำปลาร้า แจ่วบอง เป็นต้น

ไม่มีสูตรสำเร็จในธุรกิจอาหาร

การทำร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จอาจเหมือนง่าย คงไม่ใช่แค่ทำให้รสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภค อย่าลืมว่าพฤติกรรมความชอบของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ร้านอาหารหรือคนที่ทำธุรกิจร้านอาหารจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันและเข้าถึงผู้บริโภค จึงไม่มีกลยุทธ์ที่แน่นอน เป็นมุมมองส่วนหนึ่งของบุญยงในการบริหารธุรกิจร้านอาหาร

บุญยงให้ข้อมูลว่ามูลค่าตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ส่วนอาหารอีสานอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากที่จะให้เซ็น กรุ๊ป มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดกันเยอะ ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น เราไม่ได้มองคู่แข่ง เพราะวันหนึ่งอาจเป็นคู่ค้าเราก็ได้ แต่เราต้องมองตัวเองว่าทำอย่างไรให้ชนะใจลูกค้าได้ทัั้งคุณภาพและบริการ ผมเชื่อว่าเราจะมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และทุกแบรนด์ในเครือเซ็นจะเป็นที่หนึ่งในใจผู้บริโภคได้”

บุญยงยังบอกอีกว่านับจากนี้จะทำให้ทั้ง 13 แบรนด์ในเครือเซ็น มีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม ในแง่ธุรกิจ จะต้องมองหาพันธมิตรที่ทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจหลัก และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเครือเซ็นได้ ยกตัวอย่างการขยายเเฟรนไชส์ไปต่างประเทศ

“เราพยายามพัฒนาขนาดเเฟรนไชส์ให้เจ้าของแฟรนไชส์เข้าถึงมากขึ้น ค่าแรกเข้าของเเฟรนไชส์อยู่ที่หลักล้านบาท แต่ในต่างประเทศตอนนี้ เราสามารถกำหนดค่าเเฟรนไชส์ได้ราวๆ 8 แสนบาท ด้วยขนาดของร้านที่อาจจะเล็กลง”

4 หนทางสู่รายได้หมื่นล้าน

แม้เครือเซ็นจะดำเนินธุรกิจมานานกว่า 27 ปี แต่นับจากนี้ต่อไป ซีอีโอคนใหม่บอกว่าจะต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ 4 กลยุทธ์หลักต่อไปนี้

1. การสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภค

ร้านอาหารในเครือเซ็นจะต้องนำเสนออาหารที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น และต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้ทานอาหารที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ รวมทั้งได้รับประสบการณ์ที่ดี เช่น Sushicyu อีกหนึ่งแบรนด์ในเครือ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบโอมากาเสะ จะต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้มาดูการแสดงการทำอาหารของเชฟ และเข้าใจถึงอาหารญี่ปุ่น

2. การขยายเครือข่ายธุรกิจผ่านแบรนด์และบริการใหม่

ปัจจุบันเครือเซ็นมีร้านอาหารทั้งหมด 240 สาขา ใน 13 แบรนด์ โดยตั้งเป้าขยายเป็น 700 สาขา ภายในปี 2020 แบ่งเป็นร้านที่บริหารเอง 200 สาขา และเเฟรนไชส์ 500 สาขา โดยเป็นสาขาเเฟรนไชส์ในต่างประเทศ 100 สาขา ที่จะปักหมุดในย่านอาเซียนก่อนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ยังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ การเพิ่มช่องทางและบริการใหม่ ได้แก่ ธุรกิจรับจัดเลี้ยง (Catering Service)  ซึ่งมีแผนจะรุกทั้งตลาด B2C และ B2B ธุรกิจรับส่งอาหาร (Delivery Service) ที่ต้องการผลักดันยอดขายให้เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 เปอร์เซ็นต์ และการรุกตลาดรีเทลด้วยสินค้าบริโภค เช่น น้ำปลาร้า แจ่วบอง ผัดหมี่โคราช ภายใต้แบรนด์ตำมั่ว ซึ่งจะขายผ่านช่องทางหน้าร้าน โมเดิร์นเทรด และออนไลน์

3. การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริการ ไม่ว่าจะเป็น บิ๊กดาต้า (Big data) เพื่อพัฒนาระบบและวิเคราะห์ข้อมูลให้ตรงกับความต้องการลูกค้าเพื่อทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขายหน้าร้าน (POS) ที่ทันสมัย การพัฒนาการขนส่งสินค้าให้มีความรวดเร็วในต้นทุนต่ำ เพื่อรองรับการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ

4. การพัฒนาความเชี่ยวชาญของบุคลากร

พนักงานในเครือเซ็นมีทั้งหมดกว่า 2,000 คน โดยจะต้องมีการส่งเสริมและบริหารให้พนักงานมีความสุขและรักในสิ่งที่ทำ รวมทั้งมีแผนจัดตั้งสถาบัน ZEN Academy เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมอาชีพให้แก่เยาวชนในฐานะบุคลากรของเซ็น กรุ๊ป

บุญยงยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2021 เพื่อระดมทุนนำเงินมาใช้ในการขยายสาขา ซึ่งมีอัตราการขยายเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 สาขาต่อปี การปรับปรุงร้านเดิมให้ดูทันสมัย การนำมาลงทุนกับระบบหลงบ้านเพื่อช่วยให้ให้มีการบริการและคุณภาพอาหารที่ดี และส่วนหนึ่งจะเอาไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกรณีการร่วมทุนซื้อธุรกิจอื่นเข้ามาในพอร์ต

Fact Box

  • บริษัท เซ็น คอปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด กลุ่มธุรกิจร้านอาหารชั้นนำในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยปัจจุบันมีแบรนด์ร้านอาหารไทยและญี่ปุ่นภายใต้การบริหารทั้งหมด 13 แบรนด์ รวม 242 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริหารเอง 100 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 140 สาขา
  • บุญยง ตันสกุล เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และร่วมงานกับเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปมาตั้งแต่ปี 2559 ในฐานะกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ ก่อนจะมาทำหน้าที่เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561
Tags: , , , ,