ในวงการฟุตบอลนั้น เรามีคำสละสลวยคำหนึ่งครับว่า ‘Jogo Bonito’ ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า ‘เกมที่งดงาม’ หรือ The Beautiful Game เพราะฟุตบอลเป็นเกมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สวยงาม

ไม่ว่าจะเป็น การเล่นในสนาม มิตรภาพ น้ำใจนักกีฬา ความมุ่งมั่น รอยยิ้มของผู้ชนะ หรือคราบน้ำตาของผู้แพ้

แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราเห็นเพียงครึ่งเดียว เพราะอีกครึ่งที่ซ่อนอยู่คือความอัปลักษณ์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจ บารมี และเงินตรา ซึ่งสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน และอันตรายยิ่งกว่าการแข่งขันในสนาม ที่ไม่ต่างอะไรจากการเมืองภาคปกติ

 

อำนาจการเมืองโลกลูกหนัง

 การเมืองนั้นแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ฟุตบอล ไม่ว่าการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก ฟุตบอลระดับทวีป (ยูโร, โคปาอเมริกา ฯลฯ) หรือรางวัลเกียรติยศของนักฟุตบอลอย่างรางวัลบัลลงดอร์

แต่ภาพในความทรงจำที่ชัดเจนกว่าในหมู่แฟนบอลทั่วโลกในปัจจุบัน คือภาพของเหล่า ‘นักการเมืองลูกหนัง’ ซึ่งเป็นสมาชิกระดับสูงของสมาพันธ์ หรือสมาคมฟุตบอลต่างๆ ที่มีพฤติกรรมแทบไม่ต่างอะไรจากนักการเมืองปกติ

ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของเครือข่ายสายสัมพันธ์ การสืบทอดอำนาจ ผลประโยชน์ทับซ้อน วาระซ่อนเร้น โดยสิ่งที่ร้ายกว่านั้นคือการเชื่อมโยงกันระหว่างการเมืองลูกหนังกับการเมืองภาคปกติ

ทั้งที่ฟุตบอลคือเกมกีฬาที่ไม่ควรจะมีการเมืองเข้ามาข้องเกี่ยว และ ‘ฟีฟ่า’ ผู้คุมกฎของโลกฟุตบอลเองก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะไม่ยินยอมให้การเมืองเข้ามาข้องเกี่ยวกับเกมในสนาม
แต่ก็เป็นอดีตประมุขลูกหนังอย่าง ‘เซปป์  แบล็ตเตอร์’ เองที่ยอมรับว่าการเมืองมีอิทธิพลต่อฟีฟ่าและเกมฟุตบอลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เช่นเดียวกับกรณี การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018 และปี 2022 ซึ่งเป็นการทุจริตที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ลูกหนัง

 

คำสารภาพของแบล็ตเตอร์

กรณีการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอีก 2 สมัยข้างหน้าคือ ในปี 2018 และ 2022 ที่ประเทศรัสเซียและกาตาร์จะเป็นเจ้าภาพ มีการยอมรับจากปากของ โจเซฟ เอส.  แบล็ตเตอร์ หรือ เซปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่า (1998-2015) ว่าการเลือกเจ้าภาพใน 2 ครั้ง มีแรงผลักดันทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

แบล็ตเตอร์ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกลงโทษห้ามข้องเกี่ยวกับเกมฟุตบอลเป็นระยะเวลา 6 ปี (โทษเดิม 8 ปี) และถูกทางการสวิตเซอร์แลนด์ดำเนินคดีข้อหากระทำการทุจริต ได้ออกมาเปิดเผยต่อ ‘TASS’ สำนักข่าวรัสเซีย เมื่อเดือนตุลาคมปีกลายว่า การเลือกรัสเซียเป็นเจ้าภาพมีการ ‘ตกลง’ กันก่อนที่จะมีการโหวตอย่างเป็นทางการเสียอีก

“เมื่อปี 2010 เรามีการพูดคุยกันเกี่ยวกับฟุตบอลโลก ก่อนจะมีการตัดสินใจ 2 เรื่องด้วยกัน โดยเรามีการตกลงกันว่าจะให้รัสเซียเป็นเจ้าภาพ (ในปี 2018) เพราะว่าไม่เคยมีฟุตบอลโลกจัดขึ้นที่รัสเซีย ซึ่งเป็นดินแดนยุโรปตะวันออกมาก่อน

“และจากนั้นในปี 2022 เราจะกลับไปจัดที่อเมริกา เช่นนั้นเราก็จะมีฟุตบอลโลกใน 2 ชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเมือง” แบล็ตเตอร์เปิดเผยในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาคือ แบล็ตเตอร์ไม่สามารถทำตามข้อตกลงดังกล่าวได้ เมื่อสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ไม่ได้กลับไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วเมื่อปี 1994 แต่กลับตกอยู่กับกาตาร์ ชาติจากตะวันออกกลางแทน

สาเหตุนั้นเกิดจากแรงกดดันจากภาคการเมือง เมื่อ นิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส มีคำสั่งให้ มิเชล พลาตินี ประธานยูฟ่า ผู้กุมอำนาจในทวีปยุโรป ลงคะแนนเสียงเลือกกาตาร์

“ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งซาร์โกซีได้เข้ามาร่วมประชุมกับมกุฎราชกุมารแห่งกาตาร์ (ทามิม บิน ฮามัด อัล-ธานี) และในการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับพลาตินี เขา (ซาร์โกซี) บอกว่ามันคงจะเป็นการดีถ้ากาตาร์จะได้รับเลือก นั่นทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปทันที” แบล็ตเตอร์ เปิดเผยต่อ TASS

หลังจากนั้น วันที่ 2 ธันวาคม 2010 ในการประกาศชาติเจ้าภาพฟุตบอลโลก ซึ่งแปลกประหลาดมาก เพราะมีการประกาศเจ้าภาพ 2 สมัยรวด

แบล็ตเตอร์เปิดซองในมือออกมา พร้อมกับชื่อ ‘Russia’ และ ‘Qatar’

ส่วนชาติอื่นๆ ที่เสนอตัว ต่างน้ำตาตกในระคนประหลาดใจในเวลาเดียวกัน

 

ฟุตบอลโลกซื้อไม่ได้?

ถึงจะยอมรับว่าการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่ เซปป์ แบล็ตเตอร์ ยืนยันระหว่างการให้สัมภาษณ์นิตยสาร The Times ว่า ฟุตบอลโลกไม่ใช่สิ่งที่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน

“ไม่มีใครสามารถจ่ายเงินซื้อฟุตบอลโลกได้ เพราะที่สุดแล้วมันเป็นเรื่องของนักการเมืองระดับสูงที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอลโลก 2022 อย่างน้อยพลาตินีก็ยังโทรศัพท์มาพูดคุยกับผมตรงๆ ว่า เรากำลังจะมีการพบกับกลุ่มผู้นำประเทศ ซึ่งถ้าผู้นำประเทศร้องขอให้เขาสนับสนุนฝรั่งเศสด้วยเหตุผลที่แตกต่าง เขาก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งหลังจากนั้นพลาตินีได้โทรมาหาผมอีกครั้งและบอกว่าเขาจะไม่โหวตให้กับอเมริกา”

แบล็ตเตอร์มองว่าการกระทำของพลาตินีเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศส ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตัวเอง ของสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส หรือของยูฟ่าก็ตาม

แต่เรื่องจริงไม่ได้สวยงามดังคำพูด และเป็นที่ประจักษ์กันในระดับหนึ่งแล้วว่าการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่อยู่ในมือของคน 22 คน ได้แก่ ประธานฟีฟ่า (แบล็ตเตอร์), รองประธานอาวุโส ฮูลิโอ กรอนโดนา (เสียชีวิตแล้ว)​, รองประธานฟีฟ่า (ประธานสหพันธ์ฟุตบอล 6 ทวีป) และคณะกรรมการบริหาร 14 คน นั้นไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ

ทั้งผลประโยชน์ทางตรง ทางอ้อม รวมถึงผลประโยชน์ต่อชาติและสมาคม หรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล

 

วรวีร์กับกรณีอื้อฉาว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 วรวีร์ มะกูดี เป็น 1 ใน 4 คณะกรรมการบริหารฟีฟ่า ที่ถูก (ลอร์ด) เดวิด ทรีสแมน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) กล่าวหาว่าเรียกรับเงิน ‘สินบน’ เพื่อเลือกให้อังกฤษเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 โดยสิ่งตอบแทนที่วรวีร์เรียกร้องคือ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเกมกระชับมิตรระหว่างไทยและอังกฤษที่จะมีขึ้น หากอังกฤษได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฝ่ายอังกฤษเองที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และเชื่อว่ามีผลทำให้คะแนนเสียงนั้นตกเป็นของกาตาร์แทน

ในครั้งนั้นอดีตประมุขลูกหนังไทยได้ชี้แจงว่าเป็นความพยายาม ‘เอาคืน’ ของอังกฤษ ที่ผิดหวังจากการพ่ายแพ้ต่อกาตาร์ และไม่ได้กระทำการอะไรผิดขั้นตอนเลยนอกจากการส่งเทียบเชิญตามธรรมเนียมปฏิบัติ และไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องอื่นๆ อีก และยิ่งกว่านั้นหากเกมกระชับมิตรนี้จัดขึ้นที่ไทยจริง ไทยเองก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของสิทธิ์การถ่ายทอดสดอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องขอจากอังกฤษ

ถึงจะพ้นจากมลทินในครั้งนั้น แต่วรวีร์เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของฟีฟ่าเช่นเดียวกับแบล็ตเตอร์และพลาตินี ที่ถูกดำเนินคดีห้ามข้องเกี่ยวกับเกมฟุตบอลอยู่ในเวลานี้

 

สินบนและคนโกง

ขณะที่ อามอส อดามู จากไนจีเรีย และเรย์นัลด์ เตมารี ถูกตัดสินว่ากระทำผิดในการเรียกรับสินบนจากการโหวตเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยถูกแบนเป็นระยะเวลา 3 และ 1 ปี ตามลำดับ ซึ่งทั้งคู่ไม่สามารถดิ้นหลุดจากข้อหาได้ เนื่องจากมีหลักฐานการเรียกรับสินบนชัดเจน

หรือแม้กระทั่ง ‘ไกเซอร์ลูกหนัง’ อย่าง ฟรานซ์ เบกเคนเบาเออร์ ผู้ยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลเยอรมันเองก็กำลังเผชิญกับข้อหาเดียวกันคือการติดสินบนการโหวตเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ที่สุดท้ายเยอรมนีเป็นฝ่ายชนะ อังกฤษได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงหลัง

เบกเคนเบาเออร์ ซึ่งเป็นประธานคณะการจัดฟุตบอลโลก 2006 ของเยอรมนี ถูกพบว่ามีการกระทำผิดจากการจ่ายเงิน 6.7 ล้านยูโร ให้แก่ฟีฟ่าเมื่อปี 2005 โดยมีผู้ร่วมกระทำผิดอีก 3 คน ซึ่งล้วนเป็นบุคคลสำคัญของวงการฟุตบอลเยอรมันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ธีโอ ซวานซิเกอร์, โวล์ฟกัง เนียร์สบัค และฮอร์สท์ ชมิดท์

ฝ่ายที่ตั้งข้อหาทั้ง 4 ได้แก่ แผนกคดีอาชญากรรมสวิส ซึ่งเริ่มดำเนินคดีมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีกลาย และคดีมีความคืบหน้าจนถึงขั้นที่คนรักฟุตบอลทั่วโลกกลัวว่าอาจรับไม่ได้ หากต้องเห็น Der Kaiser (ฟรานซ์ เบกเคนเบาเออร์) ผู้สูงส่งของพวกเขาต้องติดคุกเป็นระยะเวลา 5 ปีจากความผิดดังกล่าว

 

วิบากกรรมของแบล็ตเตอร์

ทางด้านแบล็ตเตอร์เองก็ถูกดำเนินคดีมากมาย ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน เพิ่งถูกเปิดโปงอีก (หลังโดนมาแล้วหลายครั้ง เมื่อเอกสารทุกอย่างในฟีฟ่าถูกตำรวจสวิตเซอร์แลนด์บุกยึดเอาไว้หมด) จากทนายความของฟีฟ่า ที่เป็นโจทก์ในการดำเนินคดีกับอดีตประธานชาวสวิตเซอร์แลนด์ว่า เขาและคนสนิทอีก 2 คนอย่าง เฌอโรม วัลก์เก อดีตเลขาธิการฟีฟ่า และมาร์คุส คัตต์เนอร์ อดีตผู้อำนวยการแผนกการเงินฟีฟ่า ได้แอบขึ้นเงินโบนัสจากการจัดฟุตบอลโลกให้ตัวเองอย่างลับๆ

โดยเงินโบนัสนั้นเป็นจำนวนเงินถึง 79 ล้านฟรังก์สวิส หรือ 55 ล้านปอนด์ โดยแบ่งเป็นของแบล็ตเตอร์ 23.3 ล้านปอนด์ วัลก์เก้ 22.9 ล้านปอนด์ และของคัตเนอร์อีก 6.6 ล้านปอนด์

ดังนั้นคำพูดของแบล็ตเตอร์ที่บอกว่า “ฟุตบอลโลกซื้อไม่ได้” นั้นเห็นจะไม่เป็นความจริง

ปัจจุบันทางการสวิตเซอร์แลนด์และ FBI เข้ามาสะสางการคอร์รัปชัน และการปฏิรูปครั้งใหญ่ของฟีฟ่า โดยเริ่มจากการเลือกตั้งประธานคนใหม่ ก่อนได้ ‘จานนี อินฟานติโน’ อดีตเลขาธิการของยูฟ่า เข้ารับตำแหน่งประมุขลูกหนังคนปัจจุบัน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ทำให้ ‘ความหวัง’ ที่ฟีฟ่าจะเป็นองค์กรที่ขาวสะอาดและพึ่งพาได้อย่างที่ควรเป็นนั้นยังพอมี

จะ 5 ปี 10 ปี เราก็พร้อมจะรอ – หากมันจะทำให้เกมฟุตบอลงดงามสมคำว่า Jogo Bonito ได้อย่างแท้จริง

 

DID YOU KNOW?

  • Jogo Bonito นอกจากสื่อความถึง ‘เกมฟุตบอลที่งดงาม’ แล้ว ยังเป็นคำที่ใช้แทนราชาลูกหนังตลอดกาลอย่าง ‘ไข่มุกดำ’ (O Jogo Bonito) หรือ เปเล่ ด้วย
Tags: , , ,