เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ The Momentum ชวน 5 บุคคล จากหลายวงการ หลากช่วงอายุมาพูดคุยเรื่องชีวิต และ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่พวกเขาเจอมาตลอดทั้งปีนี้
พวกเขาเรียนรู้อะไร มีเรื่องไหนบ้างที่พวกเขา ‘ตกผลึก’ และหากพวกเขาผิดพลาด ‘บทเรียน’ ส่วนตัวอะไรที่พวกเขาอยากจะส่งต่อให้คนอื่นๆ
หยก ธนลภย์ อาจเป็นเด็กแสบ เป็น ‘ตัวร้าย’ ในสายตาหลายๆ คน แต่ความจริงแล้ว เธอเป็นเพียงเด็กอายุ 15 ปี ที่ฝันถึงบ้านเมืองที่ ‘ปกติ’ แค่นั้นเอง
ภูมิ วิภูริศ หลังจากที่ดนตรีพาออกเดินทางท่องโลกมาหลายปี นี่คือปีที่ภูมิได้ ‘กลับมา’ อยู่กับความคิดตนเองมากที่สุด พร้อมกับการตกผลึกทางการทำเพลงที่เป็นตัวของตัวเอง แต่ยังคงท้าทายและสร้างสรรค์ในสไตล์ของเขา
ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แม้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ไม่หวั่นขอ ‘ก้าว’ ตามวิถีเดิมด้วยความหวัง เพราะเธอและพรรคพวกมา ‘ไกล’ เกินถอย
ขณะที่ บรรยง พงษ์พานิช นักธุรกิจรุ่นใหญ่ มองว่าปีนี้เป็นปีแห่งความท้าทาย ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ง่ายนักในการวางตัว
ส่วน จรัล ดิษฐาอภิชัย ‘ผู้ลี้ภัย’ อาวุโส ที่มีโอกาสได้เห็น ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ชนะในการเลือกตั้งกลางปีที่ผ่านมา และเขาอาจมีโอกาสได้กลับบ้าน แต่ทุกอย่างกลับพลิกผัน
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์จากซีรีส์เฉพาะกิจ Another Year, Another Milestone ชีวิต ผู้คน และการเปลี่ยนแปลง
หยก ธนลภย์
“คิดว่าตัวเองโตเร็วไปไหม?”
เราถามคำถามนี้กับหยก ธนลภย์ ครั้งแรกที่เจอหน้า หลังติดตามข่าวคราวเธอมาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะโดนคดี ม.112 ถูกบีบออกจากโรงเรียน ถูกสังคมก่นด่า แปะป้ายว่าเป็นเด็กก้าวร้าวไม่มีสัมมาคารวะ และใช้อารมณ์เป็นหลัก
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาพตีตราหยกไปโดยปริยาย จนหลายครั้งเราหลงลืมกันไปว่า เธอเป็นเด็กคนหนึ่ง (เคย) เป็นนักเรียน มีเพื่อน มีสังคม มีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ มีสิ่งที่ทำถูกและผิด ซึ่งเป็นปกติสามัญของมนุษย์
แต่ ณ ปัจจุบัน เด็กคนนี้กลับถูกภาพจำต่างๆ ฉายทาบทับจนกลบมุมมอง ตัวตนอื่นๆ ของเธอไปเสียหมด และหลายครั้ง ภาพจำเหล่านั้นก็คล้ายกับใบเบิกทางให้ใครอยากจะพูดถึงเธออย่างไรก็ได้ (ซึ่งก็พิจารณากันเองว่าควรกระทำหรือไม่)
เราชวนหยกมาโยนทิ้งป้ายตีตรา ‘เด็กเลว’ ออก และปล่อยบทสนทนาให้ดำเนินเรื่อยเปื่อย ตั้งแต่สิ่งที่เธอเผชิญมาตลอดทั้งปี สิ่งที่เรียนรู้ และหยกในวัย 15 ปี มีความฝัน ความชอบ มีชีวิตธรรมดาเหมือนวัยรุ่นคนอื่น ที่ไม่ใช่ภาพเด็กแสบที่ถ่ายทอดตามข่าวและหน้าโซเชียลมีเดียอย่างไรบ้าง
อ่านบทสัมภาษณ์ อ่านการ์ตูน ฟังเพลง เพิ่มส่วนสูง ชีวิตขวบปีที่ 15 ของ หยก ธนลภย์ ที่หลายคนหลงลืมไปว่า เธอก็เป็นเด็กคนหนึ่ง ได้ทาง https://themomentum.co/anotheryear-yok/
ภูมิ วิภูริศ
หากลองไปถามชาวต่างชาติที่เสพดนตรีว่า รู้จักศิลปินไทยคนไหนบ้าง ชื่อของ ภูมิ วิภูริศ มักเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวถึงเสมอ.
นับตั้งแต่อัลบั้ม Manchild ถูกปล่อยออกมาในปี 2560 มาจนถึงปรากฏการณ์ Lover Boy ในปี 2562 บัดนี้ ภูมิเติบโตกลายเป็นศิลปินหนุ่มที่เดินสายเก็บประสบการณ์มาแล้วหลายแห่งทั่วโลก จนปีนี้ที่อยู่ในวัย 28 ปี เขามองว่าตนเองพัฒนาความสามารถในการเป็นนักดนตรี จนใกล้เคียงกับ ‘ระดับ’ ที่อยากจะเป็นมากที่สุด
ในมุมหนึ่ง ภูมิคือ Third Culture Kid หรือเด็กที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมที่ต่างจากบ้านเกิด ส่งผลให้กับการสร้างสรรค์งานเพลงของเขาในยุคแรก ก่อนที่วันเวลาของการกลับมาสู่บ้านเกิด บรรยากาศรอบข้าง ผู้คน และความคิดในวัยที่เติบใหญ่ใกล้เลขสาม จะทำให้เขาเริ่มมองหา ‘ความเป็นไทย’ ในตนเองมากขึ้น และนำเสนอผ่านอัลบั้มล่าสุด The Greng Jai Piece (2566)
นี่เป็นปีที่ภูมิมีทั้งอัลบั้มใหม่และคอนเสิร์ตของตัวเอง ไม่นับระยะเวลาของการออกทัวร์มาตั้งแต่ปี 2018 ที่ทำให้เขาบอกกับเราในตอนหนึ่งของบทสนทนาว่า ‘รู้สึกผ่านจุดพีกของการออกทัวร์มาแล้ว’
วันนี้เราชวนภูมิมาทบทวนเส้นทางดนตรีและมุมมองความคิดในปีนี้ ที่เขาบอกว่าเป็น ‘ปีแห่งการกลับมาทำงานและใช้ชีวิต’ กันอีกครั้ง พร้อมกับภาพของตนเองในปีหน้า ที่อยากจะเป็นในฐานะศิลปินและมนุษย์คนหนึ่ง
นี่เป็นบทสนทนาในวันที่ภูมิกลับมาอยู่ไทยแล้วกว่า 8 ปี และบอกกับเราว่า “รู้สึกว่าความเป็นไทยในตัวสูงขึ้นเยอะ”
อ่านบทสัมภาษณ์ ปีแห่งการกลับมาทำงานและมองชีวิต ของศิลปินวัย 28 ปี ที่เฝ้ารอให้วัย 30 มาถึง ของ ภูมิ วิภูริศ ได้ทาง https://themomentum.co/anotheryear-phumviphurit
พรรณิการ์ วานิช
ลืมตาตื่นด้วยความหวังว่าเช้านี้จะพบเจอกับเรื่องดี กัดฟันผจญกับสัปดาห์นรก เพื่อหวังรอเงินเดือนก้อนน้อยเข้าบัญชี หรือแม้แต่ขอให้ปีหน้าสถานการณ์บ้านเมืองเอื้อต่อปากท้องบ้างก็พอใจแล้ว
จากความหวังสุดจะธรรมดาข้างต้น นำมาสู่ปรากฏการณ์ใหญ่เมื่อช่วงต้นปี ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 เมื่อพรรคการเมืองในสายตากูรูทั้งหลายมองว่าเป็นมวยรองอย่าง ‘ก้าวไกล’ สามารถกวาดคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นอันดับที่ 1 ทว่าด้วยปัจจัยยิบย่อยนานัปการ และความบิดเบี้ยวของกลไกรัฐสภาที่เหลือไว้จากรัฐบาลยุคเผด็จการ ผลสุดท้ายความหวังของประชาชน (ส่วนใหญ่) ที่จะเห็นพรรคคลื่นลูกใหม่นี้ดำรงตำแหน่งรัฐบาลดับวูบชั่วพริบตา
เฉกเช่นเดียวกับอนาคตของ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ผู้ก่อตั้งและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องเผชิญกับขวบปีอันยากลำบาก เมื่อสถานะ ‘นักการเมือง’ ในสภาฯ ถูกลิดรอนสิทธิตลอดชีวิต หลังศาลฎีกาตัดสินว่า การกระทำของเธอในอดีตสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ เข้าข่ายพาดพิงสถาบันฯ และผิด ‘จริยธรรม’ นักการเมือง
อย่างไรก็ดี ตลอดการสนทนาระหว่างเรากับพรรณิการ์ ในวัย 35 ปี กลับเปี่ยมด้วยความหวังทุกวินาที เธอยืนยันหนักแน่นว่า แม้หลายสิ่งที่เจอะเจอในปีนี้จะไม่เป็นดังใจ แต่ขอยืนยันสู้ใน ‘วิถี’ เดิม ทั้งในนามของคณะก้าวหน้า หรือผู้ช่วยของพรรคก้าวไกล เพราะเส้นทางที่เธอและผองเพื่อนกรุยทางมาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ
อ่านบทสัมภาษณ์ สารจาก ‘อนาคตใหม่’ ถึง ‘ก้าวไกล’ และชีวิตที่เปี่ยมด้วย ‘หวัง’ แม้ไม่สมหวัง ในสถานะนักการเมืองนอกสภาฯ ได้ทาง https://themomentum.co/anotheryear-pannika-wanich
บรรยง พงษ์พานิช
หากเทียบเรื่องราวชีวิตของ บรรยง พงษ์พานิช เป็นหนังสักเรื่องหนึ่ง คงไม่ต่างกับหนังภาคต่อขนานยาวที่มีครบทุกรสชาติ ผ่านทุกเรื่องราว ก่อนที่จะตกตะกอนและจบเรื่องได้อย่างงดงาม เพราะตลอดเส้นทางชีวิต ชายคนนี้คลุกคลีอยู่กับหลากหลายแวดวง ตั้งแต่การเป็นนักกีฬาในระดับโรงเรียนมัธยม การท้าชนกับระบบราชการและการเมือง รวมถึงในภาคธุรกิจและการเงิน ที่ส่งผลให้เขาเป็นนักคิดนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจที่แหลมคมจนถึงปัจจุบัน
ในวันนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากพิษเศรฐกิจโลก รวมไปถึงการบริหารของภาครัฐ ที่ยังไม่สามารถเป็นพระเอกกอบกู้สถานการณ์ได้ แต่บรรยงมองว่า ยังพอมีหนทางในการจะใช้ชีวิตและแก้ปัญหา หากอยากเห็นประเทศไทยฟื้นตัว และแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้หลังจากนี้
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ จึงได้รวบรวมคำแนะนำจากชายลายคราม ในการรับมือกับเหตุการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งภาวะการเงินถดถอย การลงทุนในคริปโตเคอเรนซี โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย กระทั่งการเข้ามาของทุนจีนเทา ว่าจะส่งอย่างไรกับคนไทยต่อในปี 2567
อีกทั้งสำหรับคนในช่วงวัย 60-70 ที่เป็นน้องใหม่วัยเกษียณ บรรยงยังมีคำแนะนำในการบริหารจัดการสินทรัพย์ รวมถึงวิธีกำหนดเป้าหมายของชีวิตหลังจากนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่อย่าง ‘มั่นคง มั่งคั่ง’ ทั้งในแง่ของสินทรัพย์ ชีวิต และปัญญา
อ่านบทสัมภาษณ์ คำแนะนำจากมนุษย์มากประสบการณ์ กับการใช้ชีวิตให้ Smart ทันทุกการหมุนของโลก ได้ทาง https://themomentum.co/anotheryear-banyong-pongpanich/
จรัล ดิษฐาอภิชัย
ปีนี้ของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ควรจะง่ายกว่านี้
พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะรวมกัน 24 ล้านเสียง ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง และควรได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย
เมื่อเป็นเช่นนั้น บรรดา ‘ผู้ลี้ภัย’ ทางการเมืองที่ปีหน้าจะลี้ภัยกันรวมแล้วเกือบ 10 ปี ควรจะได้โอกาสกลับบ้านกันทั้งหมด นโยบายหนึ่งของพรรคก้าวไกลคือ ‘นิรโทษกรรม’ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากยุครัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยก็คือ การดูแลไม่ให้คดี ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกันในจุดยืนประชาธิปไตย
แต่สุดท้าย ผลการเลือกตั้ง 2566 และการจัดตั้งรัฐบาลกลับพลิกเป็นอีกตลบ
สุดท้ายพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอนุรักษนิยมเดิม เป็นสัญญาณของการประนีประนอมเพื่อตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว โดยมี ‘ผู้ลี้ภัย’ คนสำคัญที่ได้กลับบ้านคนเดียวชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
วันหนึ่งในฤดูหนาวกลางกรุงปารีส หลังจัดตั้งรัฐบาลมาได้นาน 3 เดือน ผมนัดเจอกับ จรัล ดิษฐาอภิชัย พี่จรัล ผู้ลี้ภัยวัย 76 ปี ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน อดีตบัณฑิตปริญญาโทมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่ ณ ปัจจุบัน เป็นผู้ลี้ภัยจากหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในฝรั่งเศสเป็นเวลากว่า 9 ปี
ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บเช่นนี้ พี่จรัลยอมขึ้นรถไฟจากปารีสนานกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อมาเปิดบทสนทนาเล็กๆ กับ The Momentum
หลังจากให้บุรุษผู้อยู่ในทุกหน้าประวัติศาสตร์พาเดินชมเมือง เราค่อยๆ นั่งในคาเฟ่ เพื่อย้อนถึงความคิดที่พี่จรัลตกผลึกภายในปีนี้ แล้วย้อนถามถึงเรื่องใหญ่ที่สุดในปีนี้ ว่าด้วย ‘ความเป็นไปได้’ ที่เมื่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ได้ชัยชนะ โอกาส-ความหวังของเขา และของผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกคงมีมากขึ้น
“ไม่ – ผมรู้กฎการเมือง ผมรู้กฎการต่อสู้นี้ดี”
นักเคลื่อนไหว นักปฏิวัติผู้นี้ ผู้ซึ่ง ‘แพ้’ มากกว่าชนะ บอกว่าอีก 4-5 ปี เขาคงตาย แต่ก่อนตาย เขาอยากเห็นชัยชนะที่ ‘ใหญ่’ สักหน่อยสำหรับประเทศไทย
และนี่คือบทสนทนาเคล้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารใจกลางกรุงปารีส ระหว่าง The Momentum กับ ‘พี่จรัล’
อ่านบทสัมภาษณ์ ทุกการต่อสู้ ทำให้ชีวิตยังมีความหมาย ได้ทาง https://themomentum.co/anotheryear-jaran/
Tags: Another Year Another Milestone