“คิดว่าตัวเองโตเร็วไปไหม?”

เราถามคำถามนี้กับ หยก-ธนลภย์ ครั้งแรกที่เจอหน้า หลังติดตามข่าวคราวเธอมาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะโดนคดี ม.112 ถูกบีบออกจากโรงเรียน ถูกสังคมก่นด่า แปะป้ายว่าเป็นเด็กก้าวร้าวไม่มีสัมมาคารวะ และใช้อารมณ์เป็นหลัก

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาพตีตราหยกไปโดยปริยาย จนหลายครั้งเราหลงลืมกันไปว่า เธอเป็นเด็กคนหนึ่ง (เคย) เป็นนักเรียน มีเพื่อน มีสังคม มีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ มีสิ่งที่ทำถูกและผิด ซึ่งเป็นปกติสามัญของมนุษย์ 

ณ  ปัจจุบัน เด็กคนนี้กลับถูกภาพจำต่างๆ ฉายทาบทับจนกลบมุมมอง ตัวตนอื่นๆ ของเธอไปเสียหมด และหลายครั้งภาพจำเหล่านั้นก็คล้ายกับใบเบิกทางให้ใครอยากจะพูดถึงเธออย่างไรก็ได้ (ซึ่งก็พิจารณากันเองว่าควรกระทำหรือไม่)

เราชวนหยกมาโยนทิ้งป้ายตีตรา ‘เด็กเลว’ ออก และปล่อยบทสนทนาให้ดำเนินเรื่อยเปื่อย ตั้งแต่สิ่งที่เธอเผชิญมาตลอดทั้งปี สิ่งที่เรียนรู้ และหยกในวัย 15 ปี มีความฝัน ความชอบ มีชีวิตธรรมดาเหมือนวัยรุ่นคนอื่น ที่ไม่ใช่ภาพเด็กแสบที่ถ่ายทอดตามข่าวและหน้าโซเชียลมีเดียอย่างไรบ้าง

“เรารู้ว่าเรามีทั้งข้อดีและข้อเสีย หนูยอมรับข้อเสียของตัวเอง ข้อเสียหนูคือเรื่องอารมณ์ เวลารู้สึกอย่างไรก็จะแสดงไปโต้งๆ และไม่ได้อธิบายให้สังคมเข้าใจ ส่วนข้อดีหนูคิดว่าหนูเป็นคนที่รับฟังนะ เชื่อในหลักการ เชื่อในตัวเอง กล้าที่จะลอง”

แน่นอนว่า ‘อารมณ์’ คือคำต่อว่า หรือคำตำหนิแรกๆ เมื่อหลายคนพูดถึงหยก ซึ่งเธอยอมรับและพร้อมแก้ไข โดยบรรจุเป็นหมุดหมายหลักในปีหน้า แต่หากเราลองเอาตัวเองไปเทียบเคียงสถานการณ์เดียวกันกับหยกลองย้อนกลับไปเมื่อเราอายุ 15 ปี ทั้งความเครียด สิ่งที่ต้องแบกรับ และต้องผ่านมันไปด้วยตัวคนเดียว ทั้งหมดทั้งมวลที่ต้องเผชิญ ‘อารมณ์’ ที่ว่าเราจะจัดการตัวเองได้ไหม รวมถึงจัดการสิ่งต่างๆ ที่มากระทบกระทั่งจิตใจได้ดีเท่ากับหยกหรือเปล่า

“นั่งรถไฟแล้วเปรียบปีนี้เป็นเหมือนการเดินทาง

คิดทบทวนความทรงจำที่มันเริ่มเลือนราง

พบกับความก้าวหน้าที่เหมือนถูกเจือจาง

สิ่งบางสิ่งคำบางคำก็เลือกที่ต้องปล่อยวาง”

“ไรม์ (Rhyme) นี้หยกแต่งเอง คิดว่าสามารถบอกช่วงชีวิตที่ผ่านมาได้ เพราะเราโดนคอมเมนต์ด่าเยอะใช่ไหม ก็เหมือนบอกกับตัวเองว่าต้องปล่อยวาง ตอนนั้นหนูนั่ง MRT คิดเนื้อเพลงได้ก็จดเอาไว้ พอมาถึงบ้านก็นั่งคิดต่อว่า เราเปรียบทั้งปีนี้ของเราเหมือนอะไร”

หยกเล่าให้ฟังว่าปี 2566 ถือเป็นปีที่หนักที่สุดในชีวิตของเธอ เพราะโดนทั้งหมายเรียก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และต้องเตรียมตัวเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนทำให้เธอเครียดมาก และ ณ ขณะนั้น เรียกได้ว่าโดดเดี่ยว ไม่รู้จะปรึกษาใคร เธอจึงก้าวข้ามทุกอย่างมาด้วยตัวเอง โดยวิธีรับมือกับปัญหาของหยกคือ อยู่กับตัวเอง ฟังเพลง หาอะไรทำเรื่อยเปื่อย ออกกำลังกาย และใช้เวลาตั้งสติกับตัวเองให้มากที่สุด 

“ร้องไห้เยอะไหมปีนี้”

“ช่วงโดนหมาย ม.112 ก็ร้องอยู่ (พูดเสียงเบา) มันเหนื่อย แบบจะเอาอย่างไรดี จะจบอยู่แล้ว อยากเรียนให้จบก่อน ก็อยากเข้าเรียน ม.4 หลังจากนั้นค่อยว่ากันตอนนี้ก็เต็มที่

“คือตอนนั้นมันเหนื่อยมากๆ เราใกล้จะจบ ม.3 แล้ว กำลังจะมีสอบปลายภาค ทำอย่างไรดี ก็นั่งทบทวนกับตัวเอง หนูคิดเยอะมาก ท้อด้วย เหนื่อยด้วย เรากลัวตัวเองเรียนไม่จบ ตอนนั้นไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหนดี ไม่รู้จะเดินหน้าไปที่ไหน มีหลายทาง เราต้องเลือกและไม่รู้จะทักหาใครได้บ้าง เพราะเกรงใจ กลัวจะไปกวนเขาหรือเปล่า เลยลองทำด้วยตัวเอง พอเราผ่านช่วงนั้นมาได้ ก็เหมือนเราโตขึ้นเรื่อยๆ”

หยกบอกกับเราว่า ตอนนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ อยากกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ไม่เสียใจ เพราะไม่มีใครควรถูกขับออกจากระบบการศึกษา จริงๆ แล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับวิธีการของหยกหรือไม่ แต่ไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกขับออกจากโรงเรียน

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการศึกษาไว้ว่า รัฐมีหน้าที่จัดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยไม่จํากัดเฉพาะเด็กที่มีสัญชาติไทย แต่ครอบคลุมไปถึงเด็ก ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย […] เนื่องจากการสร้างคนดีมีวินัย เป็นพื้นฐานอันสําคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป แล้วการที่โรงเรียนไม่อนุญาตให้หยกเรียนต่อ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไหมนะ?

“เขาละเลยการศึกษาของเด็กไทย เด็กสอบได้แล้ว มีสิทธิที่จะเรียนต่อแล้ว แต่มาใช้เหตุผลมามอบตัวไม่ทัน ก็ตอนนั้นหนูติดคุกอยู่ จะให้มามอบตัวได้อย่างไร 

“หนูจำได้ว่ายังไม่เคยเล่าที่ไหน วันแรกตอนหนูย้อมสีผมไปโรงเรียน ตอนยังเรียนอยู่ เขา (บุคลากรในโรงเรียน) เดินมาบอกหนูว่า ทำตัวแบบนี้ระวังจะเรียนไม่จบ ม.4 นะ รู้ไหม เรียนจบแค่วุฒิ ม.3 ทำอะไรไม่ได้เลยนะ เขาพูดประมาณนี้”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่การห้ามเด็กนักเรียนไม่ให้ไปโรงเรียนเป็นสิ่งที่ประหลาด เป็นการกระทำที่ผิดมหันต์เท่าที่จะสามารถกระทำต่อเด็กคนหนึ่งได้ เราถามหยกต่อว่า ถ้าตอนนี้ยังเรียนหนังสืออยู่ หยกอยากทำอะไร และหยกในชั้นมัธยมปลายจะมีชีวิตแบบไหน

เธอตอบอย่างเรียบง่ายว่า “มีเพียงความคิดอยากเรียนให้จบ พร้อมกับค้นหาตัวเองไปตลอดทาง และใช้ชีวิตทั่วไปอย่างเช่นตอนนี้ เวลาว่างก็ดูหนัง ฟังเพลง วาดรูป ออกไปท่องเที่ยว เริ่มค้นพบว่าตัวเองชอบศิลปะ และบทเพลง

“จริงๆ เราก็เป็นเด็กทั่วไป คุยเล่นกับเพื่อน เวลาหนังเข้าใหม่ก็จะโทรชวนเพื่อนไปดูด้วยกัน”

“เวลาออกไปข้างนอก กังวลเรื่องความปลอดภัยไหม” เราถาม

“จริงๆ เราไม่ค่อยกลัว เวลาเขาตามก็รู้สึกอึดอัด แต่สิ่งที่ไม่โอเค คือวันไหนเรานัดเพื่อนไปเที่ยวแล้วอยู่ๆ เราโดนตามขึ้นมา สิ่งนี้แหละเพราะเราไม่อยากดึงเพื่อนมาเกี่ยวด้วย จริงๆ มันก็กระทบชีวิตเหมือนกัน เช่นบางครั้งเราจะไปดูหนัง ต้องพยายามดูว่าวันนี้มีอะไรหรือเปล่า มีใครจะเสด็จฯ ไหม เพราะเคยไปดูหนังแล้วบังเอิญไปเจอขบวนเสด็จฯ ก็กลายเป็นว่าโดนตามทั้งวัน”

ทั้งโดน ม.112 ถูกขับออกจากโรงเรียน เจอ Hate Speech รายวัน สิ่งเหล่านี้นับว่าหนักมาก จนเราอดพูดแซวหยกไม่ได้ว่า ปกติคนอื่นจะเจอเบญจเพศตอนอายุ 25 ปี แต่หยกคงเจอเบศจเพศตอนอายุ 15 ปี 

“คิดว่ามันหนักไปไหมกับคนอายุ 15 ปี” เราถาม

“หนักอยู่นะ พอมองย้อนกลับไปตอนช่วงต้นปีคือหนักที่สุด

“บางทีหยกก็อ่านคอมเมนต์ แต่บางทีมันเยอะไป หยกเข้าใจว่าบางครั้งมันไม่ได้อะไรเลย และหยกก็ได้เรียนรู้ว่าตราบใดที่เราปรับตัวเองแล้ว แต่ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น คนยังวิจารณ์อยู่อย่างเดิม เขาจดจำภาพเราไปแบบนั้นแล้ว สุดท้ายหยกก็จะมาตั้งสติกับตัวเองว่าเราเป็นอะไร อย่างตอนพรรคเพื่อไทย ที่หยกโวยวายตอนนั้นมีเพื่อนหยก พี่หยกโดนอุ้มไป มันชุลมุน เครียด พอมันเครียด เราก็คุมอารมณ์ไม่ไหว เวลาได้รับฟีดแบกกลับมา ไม่ใช่ว่าเราไม่รับฟัง เราพยายามและปรับมาตลอด แต่บางครั้งด้วยความที่เราเป็นเด็ก บางมุมเราก็ไม่ได้คิดและแสดงออกมาตรงๆ”

หลายคอมเมนต์ หลายคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่หากเป็นการสื่อสาร ชี้แนะ หรือตักเตือนที่ปราศจากคำด่าทอ และมานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หยกกล่าวว่า เธออ้าแขนรับฟังคำแนะนำเหล่านี้เสมอ 

นอกจากข้อเสียเรื่องอารมณ์ที่หยกบอกกับเราแล้ว เธอยังแชร์ต่อว่า เธอมีนิสัยขี้ลืม ชอบลืมหยิบนั่นหยิบนี่ เป็นคนเบื่อง่าย และเป็นคนทำอะไรเร็ว บางครั้งก็รีบจนเกินไป ส่วนความฝันในวัย 15 ปี เธออยากทำเพลง มีบทเพลงเป็นของตัวเอง

“หากขอพรตอนนี้ได้ อยากขออะไร”

“ต้องการส่วนสูง (หัวเราะ) หนูสูง 145-146 ซม. ขอเพิ่มอีก 10 เซนติเมตร ก็พอใจแล้ว ถ้าได้มากกว่านี้ก็เอา แต่ได้มาสัก 5 เซนติเมตร จริงๆ ก็ดีใจ ตอนเด็กหนูชอบเทนมทิ้ง (ขำ) และขอให้ผมยาวเร็วขึ้น ตอนนั้นทำผมเอง ฟอกผมเอง ทิ้งไว้นานเกินจนผมขาด”

เราถามหยกต่อว่า ในวัย 15 ปี ที่ดูจะประสบพบเจอหลายอย่าง มีอะไรอยากบอกคนรุ่นเดียวกันหรือไม่ ซึ่งเธอกล่าวว่า “อยากให้ทุกคนเต็มที่กับชีวิตเป็นตัวเองให้มากที่สุด อยากทำอะไรก็ทำ โดยคิดถึงข้อดีข้อเสียรับสิ่งที่จะเกิดมาให้ได้”

ส่วนหยกในปี 2567 เธออยากเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการณ์และเหตุผล เป็นคนไม่ละทิ้งความฝันอุดมการณ์ ความเป็นตัวเอง และนี่คือคนในแบบที่เธอชอบ

พร้อมกับเลือกเพลง CHINCHINCHIN x Z TRIP – TRAVEL (การเดินทาง) มาบอกเล่าเป้าหมายในปีหน้าของเธอว่า เธอจะมุ่งศึกษากรณีตากใบ ที่ใกล้จะหมดอายุความในเร็ววัน

“แล้วคิดว่าตัวเองโตเร็วไปไหม?” 

“ไม่ค่ะ คนเรามันเติบโตตลอดอยู่แล้ว ไม่คิดว่าเสียหายอะไรที่เราจะโตเร็วและรู้เท่าทันตัวเอง” นี่คือคำตอบทิ้งท้ายที่หยกมอบให้แก่เรา

Tags: , , , , , ,