หากเทียบเรื่องราวชีวิตของ บรรยง พงษ์พานิช เป็นหนังสักเรื่องหนึ่ง คงไม่ต่างกับหนังภาคต่อขนานยาวที่มีครบทุกรสชาติ ผ่านทุกเรื่องราว ก่อนที่จะตกตะกอนและจบเรื่องได้อย่างงดงาม  เพราะตลอดเส้นทางชีวิต ชายคนนี้คลุกคลีอยู่กับหลากหลายแวดวงตั้งแต่การเป็นนักกีฬาในระดับโรงเรียนมัธยม การท้าชนกับระบบราชการและการเมือง รวมถึงในภาคธุรกิจและการเงิน ที่ส่งผลให้เขาเป็นนักคิดนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจที่แหลมคมจนถึงปัจจุบัน

ในวันนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากพิษเศรฐกิจโลก รวมไปถึงการบริหารของภาครัฐ ที่ยังไม่สามารถเป็นพระเอกกอบกู้สถานการณ์ได้ แต่บรรยงมองว่า ยังพอมีหนทางในการจะใช้ชีวิตและแก้ปัญหา หากอยากเห็นประเทศไทยฟื้นตัวและแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้หลังจากนี้

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ จึงได้รวบรวมคำแนะนำจากชายลายคราม ในการรับมือกับเหตุการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งภาวะการเงินถดถอย การลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย กระทั่งการเข้ามาของทุนจีนเทา ว่าจะส่งอย่างไรกับคนไทยต่อในปี 2567

อีกทั้งสำหรับคนในช่วงวัย 60-70 ที่เป็นน้องใหม่วัยเกษียณ บรรยงยังมีคำแนะนำในการบริหารจัดการสินทรัพย์ รวมถึงวิธีกำหนดเป้าหมายของชีวิตหลังจากนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่อย่าง ‘มั่นคง มั่งคั่ง’ ทั้งในแง่ของสินทรัพย์ ชีวิต และปัญญา

หากวิเคราะห์ถึงทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทย หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ

ผมมองว่า เศรษฐกิจไทยก็จะเป็นเหมือนที่เป็นมาโดยตลอด คืออยู่กับที่เหมือนเดิม โดยมีหนึ่งเหตุผลที่ผู้คนไม่ค่อยเห็นความสำคัญคือ เรื่องชาตินิยม

หากให้พูดอย่างกว้าง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังยึดติดกับความไทยๆ ต้องให้คนไทยมาถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ทั้งธนาคาร โทรคมนาคม สายการบิน สื่อ เดินเรือ ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วยังไม่กล้าเปิดรับการเข้ามาของความรู้และการลงทุนจากต่างประเทศเลย คือเรายังไม่รับเอาประโยชน์ของโลกาภิวัตน์มาใช้ได้อย่างเต็มที่

ที่สำคัญคือ ประเด็น ‘รัฐไทย’ ที่ใหญ่เกินไป ทั้งในแง่ของขนาด บทบาท และอำนาจ ที่มันกัดกินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่

ในส่วนของขนาด ปัจจุบันเรามีงบประมาณที่เอาไปบริหารกับข้าราชการถึง 2,500,000 กว่าคน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่น เขามีประชากรมากกว่าเรา 2 เท่านะ แต่มีข้าราชการแค่ 500,000 คนเอง หรือในสิงคโปร์ก็มีข้าราชการแค่ 120,000 คน ที่ทั้งเก่ง มีคุณภาพ และได้รับเงินเดือนมากกว่าขาราชไทยหลายเท่าด้วย

ส่วนเรื่องบทบาท ผมจะขอเจาะไปถึงสิ่งที่ใหญ่กว่ารัฐราชการคือ รัฐวิสาหกิจ ที่มีมากกว่า 56 แห่ง และมีงบประมาณในการใช้จ่ายและลงทุนปีละ 6 ล้านล้าน นี่คุณ คือมันสองเท่าของงบประมาณประเทศเลยนะ และคนกลุ่มนี้ยังได้รับเงินเดือนมากกว่า 3 เท่าของราชการไทย ดังนั้นผมตั้งคำถามให้คุณคิดเล่นๆ แล้วกัน ว่าเวลาที่บอกว่าข้าราชการกินเงิน กินภาษีประเทศไปเยอะ คุณเห็นตัวเลขพวกนี้แล้วคิดว่า เม็ดเงินของบ้านเรามันหลุดไปที่ไหนมากกว่า 

สุดท้ายคือเรื่องอำนาจ ผมว่ารัฐไทยอำนาจเยอะไป จนทำให้เศรษฐกิจโตไม่ได้ จะขยับตัวทำอะไรก็ลำบาก ซึ่งมันส่งผลเสียต่อการเติบโตทางธุรกิจ เช่นเรื่องใบอนุญาตที่ในประเทศไทยมีมากกว่า 5,000 ชนิด สวนทางกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่แนะนำว่าประเทศควรมีใบอนุญาตเพียงแค่ 300 ชนิดเอง

นอกจากเรื่องความชาตินิยม มันมีปัจจัยอื่นเพิ่มเติมอีกไหม

ความจริงแล้วไม่มีจุดเปลี่ยนสำคัญ (Turning Point) อะไร ทั้งหมดล้วนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างโดยรวม ทั้งทัศนคติและวัฒนธรรม รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่สะสมมา ตั้งแต่วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ปี 2550 ช่วงน้ำท่วมปี 2554 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจนถึงช่วงโควิด-19 ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ติดลบต่อเนื่องมากันหมด

แต่น่าสนใจที่พวกวิกฤตใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ เช่น โควิด-19 ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามปีต่อมาเขาก็ฟื้นมาเท่าเดิมแล้ว นี่ของเรา 3 ปีแล้ว ยังไม่กลับมาที่เดิมเลย 

ในปี 2567 ประเทศไทยจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจแบบไหน  

เราจะเจอเศรษฐกิจที่โตช้า และมีทางเลือกในการรับมืออยู่ 3 แบบคือ แก้ ทน หนี 

อันดับแรกต้องเริ่มด้วยการแก้ก่อน เคยได้ยินคำว่า People Get The Government They Deserve ไหม คือจะเปลี่ยนภาครัฐให้ดีได้ ก็ต้องเริ่มปรับตัวจากภาคประชาชนก่อน ต้องหาวิธีลดอำนาจของผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำโดยประชาชนคนเดียว หรือเหตุการณ์เดียวไม่ได้ ของแบบนี้มันต้องสื่อสาร ต้องสร้างองค์ความรู้ให้คนในประเทศได้เข้าใจและเห็นภาพ

ซึ่งในกระบวนการแก้จะใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน จะหาจุดจุดเดียวที่จะพลิกสถานการณ์เลยไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความอดทนค่อนข้างมากหลังจากนี้

และสุดท้าย หากใครที่รู้สึกว่าไม่สามารถทนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศไทยได้แล้ว ทางเลือกที่เขาสามารถทำได้คือ การหนีไปหาสิ่งที่ดีกว่า จุดที่สร้าง Productivity ได้ดีกว่า

เรื่องการหนี การย้ายประเทศ ผมไม่ได้มองว่าเป็นผิดแปลกอะไร แต่ผมอยากให้คำแนะนำว่า ในวันที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะย้ายไปประเทศที่เจริญแล้ว ถ้าเป็นผม ผมจะย้ายไปประเทศที่กำลังพัฒนาต่อ เพราะอะไรรู้ไหม คุณลองไปดูพวกต่างชาติเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วสิ พอเขาย้ายมาประเทศที่อยู่ในอาณานิคม เขารวย เขาได้ดีทุกคน เพราะเขารู้มากกว่า กลับกันถ้าไปประเทศที่พัฒนาแล้ว คราวนี้เป็นเรื่องยากเลย เพราะต้องไปแข่งกับคนที่เก่งกว่าเรา 

ทิศทางของตลาดหุ้นหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ 

แย่ เพราะศักยภาพของเราแย่จริง ในการแข่งของโลกวันนี้ มันไม่มีตลาดหุ้นไทยเลย มีแต่ตลาดหุ้นโลก แล้วยิ่งชาวต่างชาติก็เริ่มถอยออกไป ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยถอยลงไปเรื่อยๆ อีก 

คุณต้องเข้าใจว่า จะเอาเงินทุนจากต่างชาติต้องแข่งขัน คุณต้องพิสูจน์ว่ามีศักยภาพดีกว่า ใช้เงินได้ดีกว่า มีการเติบโตดีกว่า เขาถึงจะให้เงินคุณ 

ดังนั้น แม้เมื่อก่อนประเทศไทยจะเป็นประเทศเกิดใหม่ที่น่าสนใจ แต่วันนี้มีประเทศอื่นๆ เช่นเวียดนาม ที่โตปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไทยโตแค่ปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ พอเป็นแบบนี้ โอกาสเลยกระจายไปหาที่อื่น

ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยมากน้อยแค่ไหน 

ถ้าถามว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไหม ผมจะบอกว่าได้แน่ แต่คำถามต่อคือ จะคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ใส่ลงไปหรือเปล่า

คือนโยบายนี้มันอ้างอิงมาจากเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) เป็นนโยบายในการอัดฉีดเงิน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เพื่อให้วงล้อเศรษฐกิจมันหมุนต่อ แต่การที่จะทำให้สำเร็จ ให้คนออกมาใช้เงิน ออกมาบริโภค เขาหวังว่าเงินจะหมุน 6 ถึง 7 รอบ แต่ตัวอย่างที่ผ่านมาในหลายประเทศไม่ถึงรอบด้วยซ้ำ

อีกทั้งยังมีคนบอกอีกว่า ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องกำลังซื้อ แต่อยู่ที่เรื่อง Productivity และ Supply ที่ทำให้การผลิตและผลิตภัณฑ์ออกมาไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรมและอื่นๆ ดังนั้นแทนที่จะเอาเงินไปอัดฉีดให้กับวงล้อเศรษฐกิจ ผมว่าเราเอาไปปรับปรุงเรื่องการผลิตในประเทศจะดีกว่า

สุดท้ายไม่ต้องกังวลไปหรอก เดี๋ยวผลก็จะปรากฏเองว่าฝั่งใดคิดถูก และพรรคเพื่อไทยน่าจะทำเรื่องนี้ต่อไปแน่ๆ แต่ที่ต้องดูกันต่อคือ มันจะส่งผลกระทบกับสถานะการคลังอย่างไร จะคุ้มไหม และจะมีการกระตุ้นตามมาอีกหลังจากนี้ไหม 

การเข้ามาของทุนจีนในประเทศไทย มีความน่ากังวลแค่ไหน 

ลำพังการเข้ามาของทุนจีนไม่น่ากลัว แต่คำถามสำคัญกว่าคือเข้ามาทำอะไร ถ้าเข้ามาทำกิจกรรมในประเทศอย่างเดียว อย่างน้อยก็เกิดผลดีในเชิงเศรษฐกิจกับประเทศ แต่ถ้ามีผลประโยชน์แอบแฝงก็อีกเรื่องหนึ่ง

ในปีนี้ที่อายุ 69 ปี คุณประเมินและมองตัวเองเอาไว้อย่างไร

ผมมองว่าตัวเองเป็นคนปลายทางแล้ว หน้าที่วันนี้คือดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวให้มั่นคง ตอนนี้เงินทองไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม แต่เราต้องดูแลไม่ให้มันเสียหาย ต้องจัดสรรทรัพยากรให้เป็น คือเอาทรัพยากรไปอยู่ในที่มันสร้างประโยชน์สูงสุด ทำให้โลกดีขึ้น 

วันนี้ผมไม่มีอะไรปิดบัง ทรัพย์สินผม 60% เป็น Financial Asset  ส่วน 40% เป็น Property Asset 

แต่ Financial Asset ใน 60% ของผม กว่า 75% อยู่ต่างประเทศ เพราะมันปลอดภัยและให้ผลตอบแทนดีกว่า วันนี้ผมทำแบบนี้นะ 

สำหรับคนอายุ 60-70 วัยเพิ่งเกษียณเช่นนี้ จะจัดการสินทรัพย์อย่างไรดี 

ผมแนะนำให้มืออาชีพจัดการ รวมไปถึงการซื้อ Fund (กองทุน) ก็เป็นวิธีที่เข้าท่า 

ที่ผมแนะนำแบบนี้ เพราะผู้จัดการกองทุนเขาเก่งกว่าเราเยอะ เก่งกว่าเรามหาศาล เขาทำงานเป็นทีม ใช้เวลาวันหนึ่งกว่าสิบชั่วโมงเพื่อเรื่องพวกนี้ มีนักวิเคราะห์ มีเครื่องมือที่พร้อมกว่า ผมเคยเขียนบทความว่า 6 เหตุผลทำไมเราไม่ควรซื้อหุ้นด้วยตัวเอง คุณไปดูได้ 

ส่วนเรื่องการใช้ชีวิต ผมมองว่าเรื่องการดูแลตัวเองให้ดี มีทรัพยากรให้พอเพียง ทำให้มันมั่นคง (Secured) และถ้ามีทรัพยากรเหลือ คุณก็ควรทำอะไรที่ตัวเองรู้สึกได้ช่วยเหลือ (Contribute) ก็ดีนะ เพราะความภูมิใจเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์

คำว่าทรัพยากรเหลือไม่ใช่เงินอย่างเดียว มันรวมถึงเวลาและปัญญาของเราด้วย 

ในวันนี้ ผมมีธุรกิจเหลืออยู่ 2 ที่ แต่เป็นกรรมการองค์กรไม่แสวงหากำไร 6 แห่งเลยนะ ทั้งเกี่ยวข้องกับความรู้ กับศาสนา กับการศึกษา ซึ่งก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ ได้พัฒนา ทั้งที่อายุขนาดนี้แล้ว ก็เป็นวิธีที่ผมใช้ในการบริหารตัวเอง

สำหรับกลุ่มคนในช่วงอายุอื่นๆ มีคำแนะนำเพิ่มเติมไหม 

หมั่นเรียนรู้ หาแพสชัน และสนองความต้องการของตัวเองให้ได้ ต้องระวังไม่ให้ความต้องการของตัวเองไปทำร้ายคนอื่น เท่านี้ก็พอแล้ว

Tags: , , , , ,