หากลองไปถามชาวต่างชาติที่เสพดนตรีว่า รู้จักศิลปินไทยคนไหนบ้าง ชื่อของ ภูมิ วิภูริศ มักเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวถึงเสมอ
นับตั้งแต่อัลบั้ม Manchild ถูกปล่อยออกมาในปี 2560 มาจนถึงปรากฏการณ์ Lover Boy ในปี 2562 บัดนี้ ภูมิเติบโตกลายเป็นศิลปินหนุ่มที่เดินสายเก็บประสบการณ์มาแล้วหลายแห่งทั่วโลก จนปีนี้ที่อยู่ในวัย 28 ปี เขามองว่าตนเองพัฒนาความสามารถในการเป็นนักดนตรีจนใกล้เคียงกับ ‘ระดับ’ ที่อยากจะเป็นมากที่สุด
ในมุมหนึ่ง ภูมิคือ Third Culture Kid หรือเด็กที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมที่ต่างจากบ้านเกิด ส่งผลให้กับการสร้างสรรค์งานเพลงของเขาในยุคแรก ก่อนที่วันเวลาของการกลับมาสู่บ้านเกิด บรรยากาศรอบข้าง ผู้คน และความคิดในวัยที่เติบใหญ่ใกล้เลขสาม จะทำให้เขาเริ่มมองหา ‘ความเป็นไทย’ ในตนเองมากขึ้น และนำเสนอมันผ่านอัลบั้มล่าสุด The Greng Jai Piece (2566)
นี่เป็นปีที่ภูมิมีทั้งอัลบั้มใหม่และคอนเสิร์ตของตัวเอง ไม่นับระยะเวลาของการออกทัวร์มาตั้งแต่ปี 2018 ที่ทำให้เขาบอกกับเราในตอนหนึ่งของบทสนทนาว่า ‘รู้สึกผ่านจุดพีกของการออกทัวร์มาแล้ว’
“เราเต็มอิ่มกับอาชีพดนตรีมาก เหมือนทุกอย่างที่มาหลังจากนี้เป็นการใส่วิปครีมลงกาแฟ”
วันนี้เราชวนภูมิมาทบทวนเส้นทางดนตรีและมุมมองความคิดในปีนี้ ที่เขาบอกว่าเป็น ‘ปีแห่งการกลับมาทำงานและใช้ชีวิต’ กันอีกครั้ง พร้อมกับภาพของตนเองในปีหน้า ที่อยากจะเป็นในฐานะศิลปินและมนุษย์คนหนึ่ง
นี่เป็นบทสนทนาในวันที่ภูมิกลับมาอยู่ไทยแล้วกว่า 8 ปี และบอกกับเราว่า “รู้สึกว่าความเป็นไทยในตัวสูงขึ้นเยอะ”
อยากเริ่มต้นด้วยการให้คุณรีแคปชีวิตวัย 28 ปี ในพาร์ทดนตรีให้ฟังหน่อย
ปีนี้เราปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 2 แต่จะเรียกว่าเป็นอัลบั้มที่ 3 ในชีวิตก็ได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีปล่อยเป็นอีพี มีการปล่อยอัลบั้มแรก แล้วก็ได้ออกทัวร์เอเชียเป็นรอบที่ 3 ได้ไปออสเตรเลีย ไปนิวซีแลนด์และไปทัวร์ที่จีนครั้งแรกในชีวิต กลับไปทัวร์อเมริกากับแคนาดาในรอบที่ 3 ในชีวิต
ถือว่าเป็นการกลับมาทำงานฟูลไทม์แบบเต็มแม็กซ์อีกครั้งหลังโควิด รู้สึกเติมเต็มดี เหมือนเราได้ทำงานในด้านครีเอทีฟที่เราตั้งสแตนดาร์ดให้ตัวเองทางด้านดนตรี
สแตนดาร์ดที่คุณพูดถึงเป็นแบบไหน
เราว่าสแตนดาร์ดมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่ารสนิยมแต่ละปีของเราเป็นอย่างไร งานหรืออัลบั้มที่ออกมาก็อยากให้เป็นไปตามรสนิยมช่วงนั้นของชีวิต
แล้วรสนิยมของคุณในปีนี้เป็นอย่างไร
รสนิยมปีนี้คือ ตั้งใจจะทำอัลบั้มให้ตรงกับแนวดนตรีที่เราฟังมากขึ้น เลยสะท้อนมาเป็นซาวนด์ดนตรีที่อยู่ในอัลบั้มชุดล่าสุด มีเพลงที่เราแทบไม่ร้องเลย เพลงที่เล่าเรื่องช้ากว่าเดิม เพลงที่เกิน 5 นาที คือเราอยาก Take Time กับดนตรี และนำไปเล่นบนเวทีสดมากกว่า
ปีนี้คุณออกทัวร์ในประเทศหรือต่างประเทศมากกว่ากัน
ถ้านับเป็นตัวโชว์ เราเล่นในต่างประเทศมากกว่า แต่ในช่วงท้ายปีจะอยู่ในโซนไทยกับโซนเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นตามงานเฟสติวัลในประเทศไทย ส่วนต่างประเทศปีนี้ ถ้าเป็นเอเชีย อเมริกา และจีน เราได้เล่นตามไลฟ์เฮาส์เยอะ เหมือนเดินทางข้ามเมืองไปเรื่อยๆ เพื่อเล่นดนตรีตามไลฟ์เฮาส์ต่างๆ
มีที่ไหนที่รู้สึกว่าประทับใจเป็นพิเศษไหม
ปีนี้ชอบที่ฮ่องกง เราไปเล่นประมาณเดือนพฤษภาคม เป็นไลฟ์เฮาส์ที่ไม่ได้ใหญ่มาก เป็นวันธรรมดาแต่คนคึกคักมาก อีกที่ที่ประทับใจคือ ไลฟ์เฮาส์ The Fillmore ที่ซานฟรานซิสโก เป็นที่ที่วงนอกกระแสในยุคหนึ่งไปเล่นกัน ตั้งแต่ Jimi Hendrix จนถึง Arctic Monkeys เรารู้สึกว่าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งวันที่ไปเล่นคนดูก็สนุกมาก
ฮ่องกงกับซานฟรานซิสโก คือฝั่งเอเชียกับอเมริกาที่น่าจะมีความแตกต่างกันในแง่วัฒนธรรม แล้วคุณสังเกตเห็นความแตกต่างในเรื่องการเสพดนตรีของสองสถานที่นี้บ้างไหม
เราว่าสองโซนนี้ใกล้เคียงกันมาก คือเขาเอนจอยเต็มที่ ในฮ่องกงก็เป็นคนฮ่องกง แต่ในซานฟรานซิสโกก็จะมีคนเอเชียบ้าง เอเชียน-อเมริกันบ้าง คนอเมริกันบ้าง มีหลายเชื้อชาติมากกว่า แต่เรื่องความสนุกและเอเนอจี้ของคนทั้ง 2 โชว์นี้พอๆ กันเลย
ถึงตอนนี้ คุณรู้สึกอย่างไรที่ดนตรีพาคุณเดินทางไปไกลมาก
ถ้าย้อนไปช่วงปี 2018-2019 ที่ได้ออกทัวร์รอบแรก ตื่นเต้นมาก ทุกวันนี้ก็ยังตื่นเต้น แต่ไม่ได้รู้สึกเหมือนเราเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกอีกต่อไป รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราได้ทำเพราะเขาฟังเราจริงๆ เราเลยมีโอกาสพวกนี้ ความตื่นเต้นอาจจะน้อยลง แต่รู้สึกเป็นเกียรติเสมอที่ได้ทำ
ที่ไหนที่คุณอยากไป แต่ยังไม่ได้ไป
อยากไปอเมริกาใต้ เป็นทวีปเดียวในโลกที่รู้สึกว่ามีผู้ฟังพอสมควร แต่ยังไม่เคยไปเล่นที่นั่น เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา อะไรแบบนี้ มันไปยาก แต่เราจำได้ว่าเคยเห็นวง 4MIX ที่เป็นวงบอยแบนด์ของบ้านเรา ไปเล่นที่เม็กซิโก คูลมาก คนที่นั่นน่าจะมีแพสชันกับดนตรีสูง
คุณจินตนาการภาพการเล่นไลฟ์ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
คิดว่าน่าจะคึกคักดี ยิ่งเราไปทวีปหรือประเทศไหนครั้งแรก คนดูจะยิ่งตื่นเต้น เราเองก็น่าจะตื่นเต้นด้วย ไม่รู้ว่ามันจะไม่ดีได้อย่างไรเลย
ทุกวันนี้คุณขึ้นเวทีไปด้วยความรู้สึกแบบไหน หรือบอกอะไรกับตัวเองไหม
เราพยายามไม่คิดถึงอะไร อยากขึ้นเวทีไปแบบเคลียร์ๆ ไม่ต้องกังวลถึงสิ่งที่ต้องทำพรุ่งนี้ หรือกลับไปคืนนี้ต้องอีเมลหาใครหรือเปล่า แค่อยู่กับตรงนั้น พูดคุยกับผู้คนในวง นั่งคุยกับผู้จัดการ ทำอย่างไรก็ได้ให้เราผ่อนคลายที่สุด แต่ไม่ได้มีรูทีนว่าต้องวอร์มเสียง ต้องสวดมนต์ แค่ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ผ่อนคลายที่สุด
ในปีนี้มีการทัวร์ครั้งไหนที่คุณรู้สึกเฟลมากๆ ไหม
เราเจอมาเยอะมากตั้งแต่เริ่มทัวร์ต่างประเทศ ถ้าเล่าแบบรวมๆ คือ เราเคยไปเล่นอิตาลีปี 2018 ที่เมืองตูริน เขาพาเราไปเล่น 4 เมือง คือมิลาน ตูริน เจนัว และโบโลญญา ความจริงเราเล่นที่มิลานที่เดียวก็ได้ แต่เอเจนซีในยุคนั้นเขาจัดให้เราทัวร์ ตอนที่ไปเล่นเมืองตูริน มันเป็นห้องที่บรรจุคนได้ 150-200 คน คนมาดูเราประมาณ 5-6 คนเอง ครึ่งในนั้นที่มาดูไม่รู้จักเราด้วยซ้ำ เราก็คิดว่าเรามาทำไม แต่ก็เป็นประสบการณ์ เป็นการฝึกว่า ไม่ว่าคนจะมาดูเราเยอะน้อยแค่ไหน เราต้องแสดงให้ถึงมาตรฐานของเรา
จำได้ว่าทริปนั้นแม่ให้เราติดแม่เหล็กรูปช้างไป เผื่อเอาไปแจกคน แต่ตอนนั้นคิดว่าการทัวร์น่าจะขาดทุน เลยเอาแม่เหล็กไปขายคนที่นั่นแทน (หัวเราะ)
ส่วนปีนี้ไม่มีเหตุการณ์เฟล มีแต่คนมาไม่เต็มฮอลล์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติของคอนเสิร์ตยุคหลังโควิด คือมีคอนเสิร์ตล้น เราก็ต้องปรับตัวมากขึ้น เพราะมันเป็นปีที่คนกลับมาแย่งตลาดกันทำงาน
ออกทัวร์มาเยอะตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปีนี้ เคยรู้สึกอิ่มตัวหรือไม่ค่อยตื่นเต้นบ้างไหม
ช่วงปีแรกๆ หลังเพลงเพิ่งเริ่มทำงาน ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ เราทัวร์เมืองนอกและกลับมารับงานในไทยถี่ๆ ด้วย แต่พอเราอายุมากขึ้น ดนตรีของเราก็เติบโตมากขึ้น ตารางการทำงานก็ไปตามนั้นเหมือนกัน อาจดูว่าเราทัวร์เมืองนอกเยอะ แต่สมมติเราไป 40 วัน พอกลับมาไทยก็พักแบบไม่ทำอะไรเลย 1-2 เดือน จึงเป็นบาลานซ์ที่โอเคกับเรามากๆ เป็นตารางงานที่โอเคสำหรับตัวเอง
ช่วงที่เบิร์นเอาต์น่าจะตอนปลายปี 2018 จากคนที่เพิ่งเรียนจบ มีงานดนตรีหนึ่งหรือสองเดือนครั้ง กลายเป็นเดือนละ 4-8 โชว์ อีกเดือนก็ไปทัวร์ทั้งเดือนหรือเดือนครึ่ง เหมือนไม่สามารถหนีจากดนตรีได้ แต่พอมาปีนี้มันโอเคขึ้น มีเวลาให้เราไปคิดงาน มีเวลาให้ทำคอนเซปต์อัลบั้มใหม่
บางคนมองว่าเพลงคุณทำงานกับต่างประเทศมากกว่าในประเทศ รู้สึกอย่างไรกับสิ่งนี้
เราว่าน่าจะจริง เพราะดูได้ว่าคนที่มา Interact กับผลงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์หรือการแชร์ มาจากคนนอกประเทศมากกว่า เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้อยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่เราค่อนข้างปล่อย คือถ้าใครชอบ เขาก็ฟัง
ตั้งแต่ปีแรกที่ออกทัวร์จนถึงปีนี้ ความรู้สึกของการอยู่บนเวทีเล่นดนตรีให้คนดูฟังมันเปลี่ยนไปบ้างไหม
เราคุม Energy ของคนดูได้ดีขึ้นเยอะ อาจจะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าความสามารถในการเป็นนักดนตรี ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักกีต้าร์ หรือมือกลอง ทักษะพัฒนาจนใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเคยมองว่า เราอยากเป็นนักดนตรีในระดับนี้ พออายุมากขึ้น รู้สึกนิ่งขึ้น ค่อนข้างมั่นใจในสิ่งที่จะพูด สิ่งที่จะทำ มันเลยดูเหมือนเราไม่ได้เป็นคนที่ล่กหรือตื่นเวที แต่เราก็เป็นคนที่ขี้เขินหรือพูดน้อยอยู่ดี แต่ก็รู้สึกว่า เป็นอย่างนี้ก็ไม่เห็นเป็นไร
จากที่ได้มีโอกาสไปโชว์ในหลายประเทศ ถ้าให้เทียบระหว่างการเสพดนตรีของต่างประเทศกับบ้านเรา มีความต่างกันเยอะไหม
เราว่าคนไทยก็ Appreciate ดนตรีไม่แพ้ใครบนโลกนะ แค่เวลาที่คุณไปพูดคุยกับคนจากเมืองนอก เขาจะบอกว่า ทำไมคนไทยดูไม่เอนจอย ดูนิ่ง คืออาจจะไม่ได้เป็นกลุ่มคนดูที่โยกย้ายหรือมีการปฏิสัมพันธ์กับศิลปิน ซึ่งเราคิดว่าเป็นแค่ธรรมชาติของคนไทย คนไทยอาจจะมีมุมมองว่าต้องสำรวม ไม่ออกอาการเท่าไร แต่ถ้าเป็นที่อื่นบนโลกที่ไม่ใช่เมืองไทย เขาจะมีการออกอาการมากกว่านี้ แล้วแต่ประเภทดนตรีที่เราเล่นด้วย สำหรับเราจะชอบกลุ่มคนดูที่ส่งเสียง มีมูฟเมนต์ ส่งเอนเนอจี้ให้เรา เพราะเราจะได้ส่งกลับให้เขาเท่าๆ กัน
เหมือนบางคนชอบแซวคนญี่ปุ่นว่าชอบนิ่งเวลาดูคอนเสิร์ตหรือเปล่า
คนญี่ปุ่นไม่นิ่ง ถ้าเป็นดนตรีนิ่งๆ เขานิ่ง แต่ถ้าเป็นดนตรีที่สนุก เราปรบมือ เขาจะปรบมือตาม เราเคยเจอที่ยืนนิ่งในไทย ก็คิดว่า เราเล่นไม่ดี เล่นเพี้ยน หรืออะไร แต่เราปล่อยไปตามฟีลเสมอ ไม่รู้สิ อยากให้คนรีแอคกับดนตรีเราแบบเป็นธรรมชาติ ถ้าเขาสนุกเขาคงโดดเอง
ปีนี้คุณได้ออกอัลบั้ม The Greng Jai Piece ด้วย อัลบั้มนี้มีความหมายต่อชีวิตอย่างไร
อัลบั้มนี้เริ่มทำตอนเพิ่งรู้ว่าจะไม่ได้ทัวร์ช่วงโควิด ตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำอัลบั้ม แต่ว่าแรงบันดาลใจมาจากการที่เราออกไปไหนไม่ได้เลย แล้วไม่รู้ว่าอาชีพจะไปอย่างไรต่อ เราอยากทำอัลบั้มที่อาจจะไม่ได้มีจังหวะเร็วหรือครึกครื้นขนาดนั้น และอยากนำเสนอความไทยเข้าไปในเพลงแบบไม่ Force ความเป็นไทยที่อยู่ในชีวิต อยู่ในตัวเรา และไม่เคยนำมาพรีเซนต์เป็นเพลง กลายมาเป็นเป็นอัลบั้ม The Greng Jai Piece แปลเป็นภาษาไทยคือ ‘ชิ้นเกรงใจ’ เหมือนเวลากินข้าวด้วยกันกับกลุ่มเพื่อน มักจะไม่มีใครกล้ากินชิ้นสุดท้าย เพราะว่าเกรงใจ คอนเซปต์นี้มาจากการที่เพื่อนเคยบอกเราว่า จะมีตอนหนึ่งในซีรีส์ The Bigbang Theory ที่ตัวละครอธิบาย ‘ชิ้นเกรงใจ’ ให้ฝรั่งฟัง เป็นครั้งแรกเลยที่มีใครอธิบายคำว่าเกรงใจให้เราฟัง
แต่พอโตมา เราก็ได้รับรู้ว่า ความเกรงใจอยู่ในคนไทยทุกคน แต่ไม่มีใครเคยบอกเลยว่าทำไมเราต้องเกรงใจ ทำไมเราไม่พูดในสิ่งที่ควรจะพูดในสถานการณ์ต่างๆ ก็เลยเป็นคอนเซปต์หลักที่เอามาทำอัลบั้ม เป็นอัลบั้มที่ไม่ค่อยมีเรื่องเล่าส่วนตัวขนาดนั้น แต่จะดึงแรงบันดาลใจมาจากเรื่องรอบตัวที่อยู่ใกล้ตัวเราในช่วงโควิด
ความเกรงใจในมุมคุณมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน
เราว่าแล้วแต่เคส สมมติว่าเราไปนั่งเสนองาน ผู้กำกับกำลังจะตกลงกับไอเดีย แต่เรารู้สึกว่า มันน่าจะมีอะไรที่พัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ แต่เราเลือกไม่พูด เพราะอาจจะเป็นอะไรที่ไม่ดี อาจจะกลัว ไม่กล้าเสนอไอเดียกับคนที่อายุเยอะกว่า เขาเป็นผู้กำกับ เราเป็นแค่เด็กฝึกงาน ทั้งที่มันควรเป็นสิ่งที่ได้พูด
แต่ความเกรงใจบางทีก็น่ารัก อย่างเช่นเวลาที่กินข้าวแล้วทิ้งเทมปุระชิ้นสุดท้ายไว้ให้เพื่อนที่อยากกิน ฉะนั้นมันเป็นเคสบายเคส ไม่คิดว่าดีหรือไม่ดี แต่เพลงในอัลบั้มก็มีการพูดถึงทั้งในแง่ดีและไม่ดี อยากให้เอาไปคิดกันเองมากกว่า
อัลบั้มนี้ส่งผลกับการใช้ชีวิตของคุณเยอะไหม
ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราในทุกวันนี้ ตอนนี้เรากลับมาอยู่ไทยได้ประมาณ 8 ปี ตั้งแต่ย้ายกลับมาจากนิวซีแลนด์ รู้สึกว่าความเป็นไทยในตัวสูงขึ้นเยอะ และความเป็นนิวซีแลนด์ในตัวเองก็น้อยลง ตั้งแต่โตมาเราก็ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหน ถ้าให้มองว่าในอนาคตอยากใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน ก็ยังไม่ได้คิดปักหลักขนาดนั้น
ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ไหนส่งผลต่อการใช้ชีวิตไหม
อาจจะเป็นความคิดแบบ Long-Term ว่าเราจะปักหลักที่ไหนได้จริงหรือเปล่า ในช่วงที่เราอายุ 28 ปี เราสามารถที่จะยืดหยุ่นในการที่จะย้ายตัวเองไปทำงานในหลายๆ ประเทศได้ การที่เราเป็น Third Culture Kid ทำให้เราเชื่อมโยงกับคนที่อาจจะเดินทางมาเยอะในชีวิตเหมือนกัน ในตอนนี้เรามองว่ามันดีนะ
คุณรู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเองเวลาอยู่ที่เมืองนอกหรือเมืองไทยมากกว่ากัน
ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม สมัยก่อนจะคิดว่าอยู่เมืองนอกเป็นตัวของตัวเองมากกว่า แต่ตอนนี้เราเจอที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย ไม่ได้มีใครแคร์ขนาดนั้นว่าเราเป็นใครมาจากไหน
ตลอดทั้งปีนี้ ถ้าให้นึกย้อนแบบเร็วๆ เหตุการณ์แรกที่นึกขึ้นมาคืออะไร
ปีนี้ที่ระทึกใจที่สุดคือ ติด ตม.ที่แคนาดา กำลังขับรถจากนิวยอร์กไปเล่นที่โตรอนโต แล้วก็ติด ตม.ขอไม่เล่ารายละเอียดแล้วกันว่าทำไมติด (หัวเราะ) แต่ติดอยู่ประมาณ 5 ชั่วโมง เราคิดว่าจะไม่ได้ไปเล่นดนตรีแล้ว เขาจะยกเลิกวีซ่าเราหรือเปล่า แต่สุดท้ายไม่มีอะไร อาจจะเป็นโมเมนต์แบบซนๆ ในชีวิตปีนี้ แต่เราผ่านมันมาได้แล้ว
แล้วถ้าพูดถึงเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดในปีนี้ล่ะ
อาจไม่ได้เป็นเหตุการณ์ใหญ่ขนาดนั้น คือเราเพิ่งพาหมาไปทำหมันมา (หัวเราะ) เรื่องที่ทำให้เราจำได้มีแต่เรื่องเจ้าหน้าที่ ตม.ที่อินโดนีเซีย ตม.ที่แคนาดา แต่เรื่องใหญ่สุดในปีนี้น่าจะเป็นการได้จัดคอนเสิร์ตตัวเองในกรุงเทพฯ ที่สยามวัน เป็น Homecoming จริงๆ นับตั้งแต่ 2014
ความรู้สึกหลังจากมีคอนเสิร์ตเป็นอย่างไร แตกต่างกับสิ่งที่คิดก่อนจะจัดคอนเสิร์ตไหม
แตกต่างนะ รู้สึกว่าเราทำ Milestone นี้เสร็จไปแล้ว เราเต็มอิ่มกับอาชีพดนตรีมาก เหมือนทุกอย่างที่มาหลังจากนี้เป็นการใส่วิปครีมลงกาแฟ เป็น Extra Topping ด้วยความที่เราไม่มีความคาดหวังขนาดนั้น คิดว่าถ้าได้ไปต่างประเทศคงดีมาก แต่ไม่คิดว่าจะได้ไปในสเกลที่ได้ไปในปัจจุบัน ทุกอย่างมันค่อนข้างล้น ตอนนี้กลับมาหาจุดศูนย์กลางของตัวเองว่า ‘ทุกอย่างมันก็แค่นั้น’ อย่าไปฟุ้งกับสิ่งที่เข้ามา เพราะมันมาแล้วก็ไป ซึ่งพอดึงตัวเองกลับมา เรารู้สึกว่าทำงานดนตรีได้ดีขึ้น ได้ทำดนตรีที่ตรงกับสิ่งที่เราเป็นมากขึ้น
คุณคิดว่าตัวเองผ่านจุดพีกในการเป็นศิลปินมาหรือยัง
ในแง่การเดินทาง เราว่าใช่ เราผจญภัยสู้กับ ตม.มาเยอะมาก สู้กับการทัวร์ที่ไม่ค่อยมีวงในยุคทัวร์ ในเส้นทางที่เราทำ เรารู้สึกว่าเราพีกในด้านนั้น แต่ในแง่อัลบั้มหรือเพลง คิดว่าไม่มีวันพีก เพราะถ้าบอกว่าพีก เราคงเลิกทำแล้ว เราอยากทำอะไรที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือให้ตรงกับทุกช่วงชีวิตที่เราเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะอายุ 30-35-40-45 ก็ตาม
ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่คุณค่อนข้างยุ่ง แล้วคุณได้มีเวลาคิดหรืออยู่กับตัวเองมากน้อยขนาดไหน
ค่อนข้างเยอะ โควิดคิดว่าเยอะแล้ว ปีนี้ยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ฟุ้งซ่านไปกับความคิดพวกนี้ เราคิดว่าต่อไปอยากจะทำงานครีเอทีฟอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร
ตอนนี้คุณอายุ 28 ใกล้จะ 30 แล้ว คุณมองเลข 3 อย่างไร กลัวไหม
เรารู้สึกเหมือนอายุ 30 ตั้งแต่ตอนอายุ 25 แล้ว คิดว่าตอนที่อายุ 30 คนจะไม่ค่อยมายุ่งกับเราเยอะ เหมือนอยากทำอะไรก็ทำ อาจจะเป็นมุมมองที่ Conservative แบบไทย แต่เราไม่รู้สึกกลัวอายุ 30, 32, 35 หรือมากกว่านั้นเลย เพราะว่าเป็นคนที่ค่อนข้างใช้ชีวิตแบบลุงคนหนึ่งมาสักพักแล้ว (หัวเราะ) ชีวิตเราเปลี่ยนตั้งแต่จบมหาวิทยาลัย พอจบปุ๊บ ทำงานส่งออกทันทีเลย
ฉะนั้นตอนที่อายุ 30 เราอาจใช้ชีวิตช้าลง อยู่เบื้องหลังมากขึ้น ยังไม่แน่ใจ หรือตอน 30 อาจอยากไปทัวร์ Middle-East ก็เป็นไปได้
ในฐานะที่คุณเองเป็นตัวแทนของเด็กไทยที่เติบโตในเมืองนอก คุณอยากแนะนำคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับคุณอย่างไรบ้าง
เราว่าเอนจอยให้มากที่สุด คนที่เคยใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่บ้านเกิด หรือในที่ที่อาจจะเป็นคนกลุ่มน้อย เราจะได้มองโลกจากอีกมุมมองหนึ่ง จะได้ซึมซับหลายวัฒนธรรม หลายอิทธิพล อาจจะไม่ได้รู้สึกสะดวกสบายตลอดเวลา แต่สุดท้ายมันดีมากกับการที่เราได้ซึมซับสิ่งนี้ตั้งแต่เด็กๆ เพราะต่อไปไม่ว่าจะได้กลับมาบ้านเกิดหรือทำงานต่อที่นู่นเลย หรือเดินทางต่อไปเรื่อยๆ เราจะเป็นคนที่เห็นโลกที่กว้างกว่า
ถ้าให้นิยามสั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตของคุณในปีนี้ อยากนิยามว่าอย่างไร
(นิ่งคิด) ปีแห่งการกลับมา สำหรับเรามันคือการกลับมาทำงาน ใช้ชีวิตที่มีตารางมากขึ้น
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากปีนี้จะส่งผลต่อคุณในปีหน้าอย่างไรบ้าง ทั้งในการใช้ชีวิตและการทำงาน
เราจะทำตารางตัวเองให้ดีกว่านี้ในการทำงานครีเอทีฟ ตอนนี้เราทำงานแบบไม่มีเดดไลน์ เลยทำให้เราจบงานไม่ได้สักที ปีหน้าเราจะวางไว้เลยว่า มกราคม กุมภาพันธ์ จะรับงานให้น้อย และทำเพลงให้เสร็จไปเลย ส่วนด้านการใช้ชีวิต ถ้าเราใจเย็นมากกว่านี้จะดีมาก แล้วก็ไม่คาดหวังให้คนปฏิบัติกับเราเหมือนกับที่เราปฏิบัติกับเขา จะได้ไม่ต้องผิดหวังกับการพบเจอผู้คน และอยากจะไม่อารมณ์ร้อนกับ ตม.ที่เราต้องเจอ (หัวเราะ)
หลายคนมองว่าคุณไม่ใช่คนใจร้อน จริงๆ เป็นคนใจร้อนเหรอ
เราเพิ่งประสบอุบัติเหตุเมื่อต้นปีที่แล้ว ทำให้เราเป็นคนที่มีอารมณ์เดือดมากขึ้น แต่คิดว่าดีแล้ว เพราะแต่ก่อนเราอาจใจดีเกินไป ตอนนี้ถ้าใครมาเอาเปรียบหรือไม่แฟร์กับเรา เราค่อนข้างไม่โอเค ไม่ยอมคนแล้ว
Tags: Phum Viphurit, The Greng Jai Piece, ภูมิ วิภูริศ, Music, Close-Up, Another Year Another Milestone