เมื่อนึกถึงป่าแถบแอฟริกา ยีราฟคงเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่คนติดภาพว่าเราสามารถพบเห็นมันได้ไม่ยากนัก เพราะมันมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES ที่ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการลงมติให้ยีราฟเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ โดยจำนวนยีราฟในธรรมชาติมีเหลือน้อยกว่าช้างแอฟริกันด้วยซ้ำ 

วิกฤติการณ์ของยีราฟ หลักๆ แล้วมาจากการล่าเพื่อนำชิ้นส่วนไปขาย ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ หนัง หรือกระดูก รวมถึงการถูกรุกล้ำที่อยู่อาศัย และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีการสำรวจตั้งแต่เมื่อปี 2016 ที่ระบุว่าภายในเวลา 30 ปี จำนวนยีราฟในธรรมชาติลดลงกว่า 40% 

นับตั้งแต่ปี 1985 มียีราฟอยู่กว่า 157,000 ตัว จนกระทั่งปี 2015 เหลือยีราฟอยู่เพียง 97,000 ตัว และก่อนหน้าการประชุม CITES ครั้งที่ผ่านมา การล่ายีราฟยังคงเป็นสิ่งถูกกฎหมายและสามารถส่งชิ้นส่วนไปขายทั่วโลกได้อย่างเสรี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงมติ จะยังไม่ได้มีการห้ามล่ายีราฟโดยสิ้นเชิงแต่ประการใด เพียงแต่จะมีการเพิ่มมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบการซื้อขายชิ้นส่วนยีราฟทั่วโลก และ 6 ประเทศแถบแอฟริกาก็ยินยอมที่จะออกกฎหมายคุ้มครองประชากรยีราฟ อันได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ชาด, เคนย่า, ไนเจอร์, มาลี และเซเนกัล ขณะที่ยังมีบางประเทศที่มีประชากรยีราฟเพิ่มขึ้น ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายจำกัดการล่ายีราฟ เนื่องจากกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับตลาดใหญ่ที่สุดที่รับซื้อชิ้นส่วนยีราฟ ได้แก่สหรัฐอเมริกา โดยระหว่างปี 2006 – 2015 มีการนำเข้าชิ้นส่วนยีราฟกว่า 40,000 ชิ้น นับเป็นยีราฟอย่างน้อย 3,751 ตัว นั่นทำให้ทางสภาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (NRDC) เรียกร้องให้สหรัฐฯ ให้ความร่วมมือในการจำกัดการนำเข้าชิ้นส่วนยีราฟด้วย

อ้างอิง:

https://www.bbc.co.uk/newsround/49445119 

https://news.mongabay.com/2019/08/giraffe-trade-to-be-monitored-strictly-regulated/

https://time.com/5659332/giraffes-endangered-species/’

ภาพ: unsplash / Wolfgang Hasselmann