เชื่อเหลือเกินว่าความฝันของเหล่า ‘สวิฟตี้ชาวไทย’ หรือแฟนตัวยงของนักร้องสาว เทย์เลอร์ สวิฟต์ คือการได้ดูคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่อลังการของเธอแบบสดๆ ในเมืองไทย
วันที่ 9 มิถุนายน 2557 คือวันที่ฝันของสวิฟตี้ทั้งหลายเคยเกือบเป็นจริงแล้ว เพราะเดิมที ทัวร์คอนเสิร์ต ‘The Red Tour’ ของเธอควรต้อง Live in Bangkok ขึ้นวันนี้ที่อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งสามารถขายตั๋วหมดในเวลาไม่นานด้วย
แต่อย่างที่รู้กันว่า สุดท้ายคอนเสิร์ตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเดียว ประเทศไทยดันเกิดเหตุรัฐประหารเสียก่อน ด้วยสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้จึงต้องยกเลิกการจัดงานไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นรอยด่างพร้อยเพิ่มอีกว่า นี่คือการยกเลิกคอนเสิร์ตเพียงครั้งเดียวในชีวิตของเธอด้วย
นับแต่นั้น แฟนชาวไทยก็ได้แต่รอคอยว่า เมื่อไรนักร้องสาวเสียงดีจะได้ฤกษ์มาเยือนอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่านักร้องสาวสุดรักจะจัดทัวร์คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ ‘The Eras Tour’ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายคนก็คาดหวังว่าประเทศไทยน่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่เธอต้องมาเยือนด้วยแน่นอน ก่อนจะชีช้ำอีกรอบเมื่อประกาศสถานที่จัดคอนเสิร์ตโซนเอเชียออกมา แล้วจัดอยู่แค่ที่ประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเท่านั้น จนเกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานาว่า เพราะอะไรกันแน่?
หากจะพอมีโชคอยู่บ้าง ก็คงเป็นการที่ตัวแม่ของยุครู้ว่า มีแฟนๆ อยากดูคอนเสิร์ตของเธอ แต่ไม่สามารถตบตีแย่งชิงตั๋วมาได้มากแค่ไหน เธอจึงตัดสินใจส่งบันทึกการแสดงสดของโชว์สุดท้ายที่ SoFi Stadium ในสหรัฐอเมริกาออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกไปเลย แม้ปัจจุบันทัวร์นี้จะยังไม่สิ้นสุดก็ตาม (กำหนดโชว์ครั้งสุดท้าย จะอยู่ช่วงปลายปี 2024)
ผลลัพธ์ก็คือ นี่อาจเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงสุดแล้วของการได้ดูคอนเสิร์ตของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในเมืองไทย แม้จะไม่ใช่การดูสดก็ตาม และถึงคนดูจะได้แค่ยลโฉมโปรดักชันอลังการงานสร้างผ่านจอสี่เหลี่ยมผืนผ้า มันก็พอจะชดเชยความผิดหวังและความคาดหวัง ที่รอคอยมานานได้ไม่มากก็น้อย
ผมเองแม้จะไม่ถึงกับเป็น ‘สวิฟตี้’ ตัวยง แต่ก็อยากดูคอนเสิร์ตนี้มากๆ เช่นกัน เพราะติดตามผลงานของเธอมาตั้งแต่เพลง Love Story ในอัลบั้ม Fearless มองเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนมากมาโดยตลอด จึงอยากสัมผัสด้วยตาตัวเองว่า ในช่วงเวลาที่เธอกำลังอยู่ในจุดพีกขั้นสุด โชว์ของเธอจะสามารถสร้างความประทับใจได้สมกับที่รอคอยหรือไม่
หากย้อนกลับไป สวิฟต์เริ่มต้นอาชีพในฐานะนักร้องเพลงแนวคันทรี มีอัลบั้มแรกชื่อ Taylor Swift ที่มาพร้อมกับเพลงเพราะๆ อย่าง Tearsdrops On My Guitar ก่อนจะมีชื่อเสียงแบบก้าวกระโดดจากเพลง Love Story ในอัลบั้ม Fearless
แต่จุดเปลี่ยนในอาชีพของเธอมาเกิดขึ้นอัลบั้ม 1989 ที่เปลี่ยนแนวเพลงไปหาโทนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แสบแซ่บมากขึ้น พาผู้ฟังไปอยู่ในจุดที่แปลกใหม่มากขึ้น ก่อนสานต่อออกมาถึงอัลบั้ม Reputation, Lover, Folklore, Evenmore และ Midnight
ซึ่งหากมองย้อนกลับไป ถือเป็นเส้นทางการเติบโตทางดนตรี ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนและน่าสนใจมากทีเดียว
การดู The Eras Tour ในครั้งนี้ ยังถือเป็นบทสรุปผลงานครั้งสำคัญ เพราะสวิฟต์เรียงร้อยบทต่างๆ ของชีวิตผ่านบทเพลงทั้งหมดถึง 44 เพลง โดยแต่ละช่วงจะเล่นเพลงตาม ‘ยุค’ หรือตามอัลบั้มใดอัลบั้มหนึ่งไปเลย เรียกได้ว่าดูคอนเสิร์ตนี้จบ ก็เหมือนได้ย้อนสำรวจเส้นทางชีวิต และเส้นทางอาชีพของเธอแบบคร่าวๆ ไปในตัว
และนับตั้งแต่เปิดเพลงแรก Miss Americana & the Heartbreak Prince ไปจนถึงเพลงสุดท้าย Karma ตัวคอนเสิร์ตมีหลายไฮไลต์ที่ผมประทับใจเป็นการส่วนตัว เริ่มจากแสงสีเสียงสุดอลังการ โปรดักชันแต่ละส่วนคิดมาอย่างละเอียดบรรจงว่า จะใช้ประสิทธิภาพของฉาก เวที คอสตูม แดนเซอร์ และจอภาพทั้งหลายให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร
หนึ่งในช่วงเวลาที่น่าตื่นตามากๆ คือจังหวะที่มีกราฟิกงูสามมิติขนาดยักษ์ที่สมจริงมากๆ ค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นบนเวที (ถ้าใครเป็นแฟนตัวยงน่าจะรู้ทันทีว่า นี่คือสัญญาณเริ่มต้นของยุค Reputation อันลือลั่น) จนอยากเห็นของจริงเลยว่า ภาพดังกล่าวในคอนเสิร์ตของจริงมันน่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน
ไม่เพียงแค่นั้นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ยังเป็นการที่กล้องจับจ้องโฟกัสไปที่ตัวของสวิฟต์ในทุกอิริยาบถแบบใกล้ชิด หากดูในคอนเสิร์ตตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดูใน SoFi Stadium อาจไม่มีทางที่เราจะเห็นความสวย และเสน่ห์ของเธอชัดเจนแบบนี้หากไม่ใช้กล้องส่องทางไกลเข้าช่วย
สารภาพว่า ถึงแม้เพลงในยุคหลังๆ ของเธอจะแสดงพัฒนาการแบบก้าวกระโดด แต่ยุคที่เธอได้ใจผมมากๆ ก็ยังเป็นยุค Fearless และ Red ซึ่งในคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็ขนเพลงที่ผมชอบมากมาโชว์แบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเพลง Fearless, You Belong With Me, Love Story, 22, We Are Never Ever Getting Back Together, I Knew You Were Trouble, All Too Well เวอร์ชัน 10 นาที รวมถึง Our Song แต่ละบทเพลงเหมือนได้หวนย้อนไปในช่วงที่เธอยังมุ่งเป็นนักร้องเพลงคันทรีตัวเล็กๆแสดงให้เห็นว่าเธอไม่เคยลืมรากเหง้าความสำเร็จเลย
อีกช่วงที่ชอบมากคือช่วงท้ายของภาพยนตร์ ที่เอาเพลง Long Live จากยุค Speak Now มาใช้เป็นเพลง End Credit พร้อมขึ้นภาพ Outtake หลุดๆ จากการเล่นคอนเสิร์ตหลายครั้งว่ามีการผิดคิวอะไรบ้าง ซึ่งบ่งบอกอย่างดีว่าต่อให้เป็นศิลปินระดับโลก แต่จริงๆ แล้วเธอก็เป็นมนุษย์ปุถุชนที่ทำอะไรผิดพลาดเป็นเหมือนกัน
The Eras Tour มีหลายช่วงน่าประทับใจ แต่พอเอามาฉายจอใหญ่แล้วก็อาจไม่สามารถบันทึกทุกสิ่งอย่างออกมาได้ มิฉะนั้นอาจไปลดมนตร์ขลังของคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบของจริง มีหลายเพลงที่ไม่ได้อยู่ในเซตลิสต์ตั้งแต่แรก มีหลายเพลงโดนตัดออกไปตอนเข้าฉาย รวมถึงมีการตัดจังหวะเปลี่ยนฉากระหว่างแต่ละยุคให้มีความกระชับขึ้น จนเวอร์ชันภาพยนตร์มีความยาวเพียง 2 ชั่วโมง 49 นาที จากความยาวจริงประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งหากใครอยากเติมเต็มประสบการณ์ขั้นสุดจริงๆ ก็อาจจะต้องหาทางไปดูคอนเสิร์ตจริงเท่านั้น
แต่นี่ก็อาจไม่ใช่คอนเสิร์ตที่สมบูรณ์แบบที่สุด สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการเรียงเพลงและเรียงยุคต่างๆ มีความกระโดดไปมาพอสมควร หากยุคไหนเล่นเพลงที่ผมชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (เช่น ยุค Fearless และ Red) ช่วงนั้นจะมีผลทางใจกับผมมากเป็นพิเศษ แต่พอเป็นยุคที่ผมชอบแค่บางเพลง ไม่ได้ชอบองค์รวมทั้งหมด เช่น Folklore กับ Evenmore กราฟทางอารมณ์ก็อาจตกลงมาเล็กน้อย ไม่ได้ไต่ระดับไปถึงความพีกอย่างที่ควรจะเป็น
แต่นั่นอาจจะเป็นปัญหาของผมคนเดียว เพราะจากที่เห็นบรรยากาศในโรง สวิฟตี้ทุกคนดูอิ่มเอมใจ และมีอารมณ์ร่วมไปกับภาพตรงหน้าตั้งแต่ต้นจนจบ หลายคนร้องเพลงตาม หลายคนลุกขึ้นมาเต้นตาม ช่วยปลุกให้บรรยากาศยิ่งสนุกขึ้นไปใหญ่
สำหรับใครที่เป็นแฟนตัวยงของสวิฟต์ บันทึกการแสดงสด The Eras Tour ครั้งนี้ถือเป็นภาพยนตร์ที่คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ หากใครไม่เคยตามผลงานของเธอมาก่อน คอนเสิร์ตนี้น่าจะทำให้หลายคนตกหลุมรัก และสนใจเพลงยุคต่างๆ ของเธอเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม ถึงภาพยนตร์จะดีงาม แต่เมื่อคำนึงว่าสุดท้ายแล้ว เราก็มาไกลได้เพียงเท่านี้ เราสามารถดูคอนเสิร์ตของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในเมืองไทยได้เพียงแค่นี้ สุดท้ายแล้ว การได้ดูคอนเสิร์ตจริงๆ ก็ยังเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้
ไม่มีใครรู้ว่าต้องรอคอยอีกนานแค่ไหน กว่าความฝันของสวิฟตี้ชาวไทยทั้งหลายจะกลายเป็นจริง และจะน่าเสียดายมากๆ หากโอกาสได้เห็นเธอโชว์ที่สยามประเทศหลุดลอยไปตลอดกาล ก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่ง เมื่อเมืองไทยมีความ ‘นิ่ง’ และ ‘มั่นคง’ พอ เทย์เลอร์ สวิฟต์จะตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่ช่วยให้สวิฟตี้ชาวไทยได้ตายตาหลับของจริงเสียที
ก็หวังว่าเราจะมีชีวิตอยู่ถึงวันนั้นนะ
Tags: Swifty, Taylor Swift, เทยเลอร์ สวิฟต์, Screen and Sound