การประชุมสุดยอดอาเซียนประจำ 2023 เริ่มต้นในวันที่ 4-7 กันยายน 2023 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมี 10 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม รวมถึงติมอร์-เลสเต ว่าที่ประเทศสมาชิกรายต่อไปที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา

การประชุมครั้งนี้ยังมีอาคันตุกะจากกลุ่มประเทศในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่ได้รับเชิญตามธรรมเนียม เช่น กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีหญิงสหรัฐอเมริกา หลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีจีน และฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

ข้อสังเกตสำคัญคือทั้ง โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน ต่างไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ท่ามกลางการรายงานจากสื่อต่างชาติว่า ไบเดนตัดสินใจร่วมการประชุม G-20 ในอินเดีย ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายนที่กำลังจะถึง ขณะที่สี จิ้นผิง นิ่งเงียบไม่เข้าร่วมทั้งสองการประชุม สร้างความสงสัยให้กับสาธารณชนที่เหลือ

รอยเตอร์ (Reuters) วิเคราะห์ว่า การไม่ให้ความสำคัญของไบเดนครั้งนี้ อาจทำให้อาเซียนเริ่มสั่นคลอนความเชื่อใจต่อสหรัฐฯ ในฐานะผู้พิทักษ์ประเด็นด้านความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) ตรงกับการรายงานของนิกเคอิ (Nikkei) ว่า นักการทูตอินโดนีเซียรายหนึ่งแสดงความผิดหวังและไม่เชื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า สี จิ้นผิงกำลังให้ความสำคัญกับความมั่นคงแห่งชาติเป็นอันดับแรก และการไม่มาเข้าร่วม G20 คือกลยุทธ์ตอกย้ำการมีอยู่ของกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ว่าชาติเอเชียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ และจีนก็มีระเบียบโลกเป็นของตนเอง

วาระหลักในการประชุมสุดยอด: วิกฤตเมียนมาและการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้

ทว่าการประชุมอาเซียนครั้งนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหาที่ชวนปวดหัว และยังไม่มีทางออก นับตั้งแต่วิกฤตทางมนุษยธรรมในเมียนมา เมื่อประเทศในอาเซียนมองว่า รัฐบาลไทยกำลังให้การสนับสนุนระบอบเผด็จการในเมียนมาร่วมกับจีน และไม่เห็นความสำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะการไม่เคารพต่อหลักฉันทมติทั้งห้า (5 Point Consensus) 

ดังแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ด้วยข่าวคราวการพบปะระหว่าง ดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับผู้นำทหารเมียนมา รวมถึงอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) โดยไม่มีประเทศสมาชิกอื่นเข้าร่วม

ขณะที่ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ก็กำลังคุกรุ่น เมื่อจีนขยายแผนที่เพื่ออ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ไปยังอินเดีย เนปาล และเวียดนาม สร้างความไม่พอใจให้กับชาติอาเซียนอย่างมาก

อีกทั้งการเผชิญหน้ากันระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนกำลังรุนแรงขึ้น หลังมีรายงานในช่วงที่ผ่านมาว่า จีนใช้ปืนฉีดน้ำใหญ่โจมตีเรือนอกชายฝั่งบริเวณจุดที่เรียกว่า ‘หินโสโครกโธมัสที่สอง’ (Second Thomas Shoal) ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) ของฟิลิปปินส์

วิกฤตเมียนมา: ท่าทีตรงไปตรงมา เมื่ออาเซียนไร้การตอบสนอง

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของการประชุมครั้งนี้ คือหน่วยงานและประเทศในอาเซียนพูดถึงประเด็นวิกฤตทางมนุษยธรรมในเมียนมาตรงไปตรงมา ต่างจากอดีตที่มักแสดงท่าทีอ้อมค้อม

เริ่มจาก ชาร์ลส์ ซานติอาโก (Charles Santiago) ประธานรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ระบุว่า ความนิ่งเงียบของอาเซียนต่อปัญหาหลายอย่าง กำลังทำให้ทั่วโลกตั้งคำถาม โดยเฉพาะวิกฤตทางมนุษยธรรมในเมียนมา เมื่อฉันทมติทั้งห้าไม่มีความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

“อาเซียนจะมีความสำคัญอย่างไร หากเราไม่ร่วมมือแก้ไขปัญหาและความกดดันที่สำคัญในภูมิภาค? ใครกันแน่ที่ตัดสินกิจการระหว่างประเทศของอาเซียน ประเทศสมาชิกหรือจีน?” ซานติอาโกแถลงการณ์ในวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา

รวมถึงท่าทีของมาเลเซียที่ ‘ไม่เคยพบเห็น’ มาก่อน เมื่อ แซมบรี อับดุล (Zambry Abdul) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ยืนกรานขอให้แก้ไขปัญหาในเมียนมา โดยระบุให้ทุกฝ่ายร่วมกันขจัด ‘อุปสรรค’ อะไรก็ตามที่ขวางกั้นวิกฤตครั้งนี้ 

“มาเลเซียและประเทศสมาชิกอื่นๆ ต่างลงความเห็นกันว่า พวกเราไม่สามารถให้สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยปราศจากมาตรการที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่งเพื่อลงโทษกลุ่มทหาร”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียกล่าว โดยระบุว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นมาจาก ‘ระบอบเผด็จการทหาร’

เช่นเดียวกับท่าทีของติมอร์ ว่าที่สมาชิกของอาเซียน หลังมีโอกาสได้พบรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government of Myanmar: NUG) ที่ยืนหยัดสู้เพื่อประชาธิปไตย โดย ชานานา กุฌเมา (Xanana Gusmão) นายกรัฐมนตรีติมอร์ แสดงความคิดเห็นในเดือนที่แล้วว่า

“ติมอร์จะไม่เข้าร่วมอาเซียน ถ้าอาเซียนยังไม่สามารถโน้มน้าวใจให้เผด็จการเมียนมายุติปัญหานี้ได้” กุฌเมาระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ เลติเตีย ฟาน เดน อัสสัม (Laetitia van den Assum) อดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำเมียนมา ไทย กัมพูชา และลาว ให้ความเห็นว่า ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Centrality) กำลังตกอยู่ในวิกฤต เพราะรัฐบาลทหารเมียนมาทำให้ความคิดเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย

ปัญหาทะเลจีนใต้: ความขัดแย้งที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นบนเวทีการประชุม

ตามรายงานของสื่อข่าวหลายสำนักยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด เกี่ยวกับเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ในการประชุมครั้งนี้มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: CoC) หรือข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ยังคงไม่ลุล่วงท่ามกลางความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือประเทศสมาชิกที่มีพรมแดนทะเล ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และอินโดนีเซีย ต่างแสดงท่าทีต่อต้านและวิจารณ์จีนตรงไปตรงมาอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่ประเทศในภาคพื้นทวีป ไม่ว่าจะเป็นไทย กัมพูชา ลาว และเมียนมา กลับนิ่งเงียบเป็นพิเศษ 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นจากท่าทีของกัมพูชาที่ลงคะแนนเสียงยับยั้ง (Veto) ข้อเสนอของอินโดนีเซียในอาเซียน สำหรับการซ้อมรบบริเวณทะเลนาทูนาตอนเหนือ (North Natuna Sea) ซึ่งเป็นเขตทับซ้อนในข้อพิพาททะเลจีนใต้ 

ยังไม่รวมถึงอิทธิพลของจีนที่อาจส่งผลต่อการประชุมอาเซียนครั้งหน้า เมื่อลาว ในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน 2024 กำลังพึ่งพาผลประโยชน์จากจีนอย่างหนัก 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนให้ความเห็นว่า ประเทศในอาเซียนกำลังพูดถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้ในที่ประชุมอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น แม้ว่าจะพบเจอความลำบากบางอย่างก็ตาม

หรือไทยจะเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหา?

ฮันเตอร์ มาร์สตัน (Hunter Marston) นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) มองว่า ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนจะถูกตัดสินจากรัฐบาลใหม่ของไทยด้วยการนำของ เศรษฐา ทวีสิน โดยเฉพาะความสนิทสนมระหว่างจีนกับเมียนมาที่มีมาแต่เดิม

เขาอธิบายว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาก็เห็นศักยภาพของรัฐบาลไทยชุดใหม่ แสดงให้เห็นจากท่าทีแสดงความยินดีกับเศรษฐา และคำร้องขอให้ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้น

สำหรับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ชญาภา สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และอดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เคยแสดงท่าทีสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา และออกโรงประณามรัฐบาลทหาร เมื่อกลางปี 2022 หลังมีคำสั่งประหารชีวิตนักโทษการเมือง อีกทั้งยังวิจารณ์การทำงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แสดงความใกล้ชิดกับมิน อ่อง หลาย (Min Aung Hlaing)

รัฐบาลไทยไม่ควรอิหลักอิเหลื่อจนอาจถูกมองว่า ผู้นำไทยมีความคิดใกล้เคียงกับรัฐบาลทหารเมียนมา คือไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หรือศีลเสมอกันหรือไม่” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า รัฐบาลไทยชุดใหม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำด้วยการทูตเชิงรุก ผ่านการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้และวิกฤตเมียนมา

“ไทยควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างบทบาทเป็นตัวกลางเจรจา ไม่ได้บอกว่าเราจะถือหางอาเซียนหรือสหรัฐฯ แต่ถ้าจะเป็นมหาอำนาจกลาง นี่คือบทบาทของสถานะนี้ที่ต้องดึงทุกฝ่ายมาพูดคุยกันได้ 

“ถ้าคุณอ้างว่ามีความใกล้ชิดกับจีน เราควรคิดไปถึงการหาหนทางยุติความขัดแย้งไหม? หรือขั้นตอนการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ จีนยอมได้มากน้อยแค่ไหน เราควรจะแสดงบทบาทตรงนั้น 

“หรือแม้แต่กรณีในเมียนมาก็ตาม เราสามารถใช้วิธี ‘หมูไปไก่มา’ เช่น บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยใช้วิธีลดการคว่ำบาตร หากเมียนมามีความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศ ชาติอาเซียนอาจจะใช้วิธีนี้ต่อรองเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางด้านพรมแดนก็ได้”

ในทางตรงกันข้าม ฟาน เดน อัสสัมระบุว่า ความคาดหวังต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยในแก้ไขปัญหาอาจไม่เพียงพอ หากเทียบกับความเสียหายระยะยาว ที่เกิดขึ้นกับจุดยืนของอาเซียนไปแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคาดหวังของนานาชาติและประชาชนส่วนหนึ่งต่อรัฐบาลชุดใหม่ ถึงการดำเนินนโยบายที่อาจแตกต่างจาก 9 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นการต่างประเทศของไทย ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการไม่มีหลักการ และภาวะไร้ความเป็นผู้นำ

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2023/sep/04/china-signals-xi-jinping-will-not-attend-g20-summit-in-india

https://www.reuters.com/world/biden-unlikely-attend-asean-summits-september-trip-asia-sources-2023-08-09/

https://www.aljazeera.com/news/2023/9/4/severe-stress-myanmar-south-china-sea-push-asean-to-breaking-point?traffic_source=KeepReading

https://www.france24.com/en/asia-pacific/20230904-myanmar-crisis-south-china-sea-to-headline-asean-summit-in-indonesia

https://www.aljazeera.com/news/2023/9/5/malaysia-calls-for-strong-measures-on-myanmar-as-asean-meets

https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/ASEAN-summit-begins-as-China-s-new-territorial-map-fuels-tensions

https://www.facebook.com/pheuthaiparty/posts/625110328984620?ref=embed_post

https://prachatai.com/journal/2022/07/99733

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,