แม้การเลือกตั้งของประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวที่ตามมาจากการลงคะแนนเสียงยังไม่จบไม่สิ้น เริ่มจากสถานการณ์ที่ไม่แน่ชัดของการรวบรวมคะแนนในรัฐสภาถึง 376 ที่นั่ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ของการเลือกตั้ง ต้องวางแผนอย่างถี่ถ้วน เพื่อไปสู่เส้นชัยที่หวังไว้ หลังจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลา 9 ปีเต็ม

รวมถึงกระแสดราม่าการแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่าง 2 แกนนำหลักการจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย สื่อมวลชนและประชาชนต่างจับตามองเป็นพิเศษถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า ทั้งสองพรรคจะได้ข้อสรุปที่มีความคืบหน้า หรือการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกอย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงความขัดแย้งนอกรัฐสภา หนึ่งในกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างเหลือเชื่อ คือ ‘กระแสการต่างประเทศไทย’ แม้ว่าจะประกอบด้วยทั้งทิศทางเชิงบวกและลบก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือ ‘การตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา’ จนเกิดการชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หรือ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับทหารเมียนมา’ ที่อาจชะงักลง หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ประกาศแนวทางนโยบายต่างประเทศในหน้าสื่อที่เรียกว่า สวนทางกับการต่างประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จึงสร้างความฮือฮาให้กับประชาชนทุกฝ่าย

ไม่ว่าจะเป็นการยุติแนวทาง ‘การทูตไผ่ลู่ลม’ ในการต่างประเทศไทยที่ดำเนินมายาวนานหลายชั่วอายุคน การส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม รวมถึงการเจรจาเพื่อยุติวิกฤตในเมียนมาที่กำลังดำเนินอย่างยืดเยื้อ จนทำให้ผู้บริสุทธิ์มากมายเสียชีวิต 

นอกจากนี้ พิธากำลังแสดงให้เห็นถึงบทบาทการต่างประเทศของไทยในมิติ ‘เชิงรุก’ มากขึ้น แม้ว่ากำลังเผชิญกับข้อท้าทายบางอย่างที่ต้องจับตามองกันต่อไป

เพื่อตอบคำถามถึงสถานการณ์นี้ The Momentum ชวนทุกคนอ่าน ‘การต่างประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2566’ และคลายความสงสัยไปกับ ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies: ISIS) ถึงการต่างประเทศไทยในอดีต และวิเคราะห์แนวโน้มที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต หากฝ่ายประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นจริง

คุณคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทั้งในฐานะประชาชนและนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ถ้าเป็นในมุมประชาชน ค่อนข้างมีความปีติยินดี พูดตามตรง อย่างน้อย เราเห็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ยังดำเนินการต่อไปได้ เหมือนกับที่หลายคนเปิดเผยความรู้สึกถึงความหวังในการเมืองไทย ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะผลคะแนนที่มีการประกาศว่า พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสจะได้เป็นรัฐบาล ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด (หัวเราะ) ดังนั้นการลงคะแนนเสียงในปี 2023 น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับประเทศ 

สำหรับมุมนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเราฟังนโยบายของหลายพรรคการเมืองผ่านสื่อ ทั้งเรื่องนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง พวกเขามีความกระตือรือร้นมากขึ้นในด้านการต่างประเทศ ซึ่งปกติแล้ว นโยบายนี้ไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากเท่าที่ควร เพราะไม่ได้มีความหวือหวาจะดึงดูดผู้ลงคะแนนเสียง ฉะนั้นการพูดเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นการดึงให้เรื่องการต่างประเทศเข้ามาสู่บทสนทนาของสังคมในวงกว้างมากขึ้น

ในมุมกลับกัน รู้สึกอย่างไรกับการทำงานขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.)

ผมพูดคุยกับหลายคนถึงเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งสำหรับบทบาทของ กกต. ที่อาจไม่เหมาะสม หรือทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่กระบวนการจัดหีบการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ผมไม่ทันเอะใจหลายอย่างที่หลายคนบอกว่า ควรจะระวัง หลังจากมีกระแสความตุกติกในการลงคะแนนเสียงหลายอย่าง ผมรู้สึกขัดใจหลายอย่างพอสมควร

บทบาทของ กกต.สำคัญก็จริง แต่ภาระหน้าที่ของพวกเขาถูกทำให้เป็นการเมืองมากขึ้น (Politicize) เพื่อสนองอำนาจต่อบางกลุ่ม ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วิกฤตทางการเมืองของไทยในช่วง 10 ปีที่แล้ว ดังนั้น มันจึงเป็นข้อกังขา ทั้งๆ ที่ กกต.หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ควรจะเป็นกลางตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญในปี 2540

ในฐานะที่คุณทำงานกับต่างชาติ หรือเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยากทราบว่านานาชาติมองการเลือกตั้งไทยครั้งนี้อย่างไรบ้าง

ผมว่าเขามองคล้ายกับคนไทยในประเทศ มีความตื่นเต้นถึงการเปลี่ยนแปลง หลังจากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมา 9 ปี ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามสำหรับต่างชาติ

อย่างที่สอง เขาไม่เข้าใจในระบบที่ย้อนแย้งและซับซ้อนในการเลือกตั้งของไทย ตั้งแต่การนับคะแนน วิธีการจัดตั้งรัฐบาล เช่น ทำไมคนที่ได้เสียงอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลโดยอัตโนมัติ ทำไมถึงต้องใช้เวลาขนาดนี้ ผมก็ต้องอธิบายว่า พอดีประเทศมีอุบัติเหตุทางการเมืองในช่วงหนึ่ง ทำให้เรามีรัฐธรรมนูญที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้ามามีบทบาทเลือกนายกรัฐมนตรี

ในแง่หนึ่ง ถ้ากลับมาพูดถึงในมุมการต่างประเทศ ในอดีต ไทยเคยมีบทบาททั้งเวทีระหว่างประเทศและภูมิภาคนี้ แต่วิกฤตการเมือง ตั้งแต่หลังรัฐประหารรัฐบาลคุณทักษิณในปี 2549 เป็นต้นมา ส่งผลให้สถานการณ์ในเมืองไทยไม่มั่นคง บทบาทการต่างประเทศไทยก็ถอยหลังลงเป็นสิบปี 

ขณะที่ปัจจุบัน มีพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายต่างประเทศค่อนข้างชัดเจนในการหาเสียง ต่างชาติก็มีความหวังว่า ไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อการเมืองปัจจุบันบนเวทีระหว่างประเทศ  

ก่อนจะพูดถึงนโยบายต่างประเทศของแต่ละพรรคการเมือง อยากให้ช่วยอธิบายพื้นฐานการต่างประเทศไทยที่เรียกว่า ‘ไผ่ลู่ลม’ (Bamboo Diplomacy) ให้ฟังหน่อย

การทูตแบบไผ่ลู่ลม คือการทูตที่แปรผันตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศ ไม่มีหลักการตายตัวที่ต้องปฏิบัติ เน้นความยืดหยุ่น การปฏิบัติได้จริง และดูโลกความจริงเป็นหลัก เปรียบเสมือนไผ่ที่ลู่ตามแรงลม 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติที่ได้รับนิยามว่าเป็นแกนกลางของชาติ ไม่ว่าจะเป็นอธิปไตย สถาบันหลักของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ ไผ่ลู่ลมมักนำไปพิจารณาความสัมพันธ์ของไทยกับมหาอำนาจเป็นหลัก 

เช่น ในช่วงที่ชาติตะวันตก อังกฤษ ฝรั่งเศส พยายามแสวงหาอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยรัชกาลที่ 5 ไทยมีท่าทีไม่เอนเอียงข้างใดข้างหนึ่ง แต่พยายามจะรับมือกับความต้องการของมหาอำนาจเพื่อรักษาสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest)

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยแบบไผ่ลู่ลม ดำเนินเช่นนี้ตลอด เห็นได้ชัดเจนที่สุดในยุคร่วมสมัย คือสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าตอนแรกเราจะเข้าร่วมฝ่ายอักษะ แต่ก็สามารถ ‘พลิก’ กลับมาสนับสนุนสหรัฐฯ ในสงครามเย็นได้ 

นอกจากนั้น ลักษณะสำคัญของไผ่ลู่ลม คือต้องสามารถ ‘เอนกลับมา’ หรือปรับตัวเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ เมื่อผลประโยชน์ของเราได้รับผลกระทบ แม้ว่าหลายคนมองคำนี้ในเชิงลบ ซึ่งหมายถึงการเข้าข้างมหาอำนาจใด มหาอำนาจหนึ่ง

แล้วไผ่ลู่ลมที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะช่วงการรัฐประหาร 9 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงรัฐประหาร การทูตแบบไผ่ลู่ลมเสียสมดุล เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่แท้จริงของเราได้ ทุกคนทราบดีว่าเกิดการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลจีนไม่ได้ออกมาประณามการรัฐประหาร หรือไม่ได้คว่ำบาตรไทย และสนับสนุนรัฐบาลของคุณประยุทธ์ 

ผมไม่แน่ใจว่าคณะรัฐประหารรู้สึกเป็น ‘หนี้บุญคุณ’ จีนหรือไม่ แต่พวกเขาทำตามสิ่งที่จีนเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับ สุดท้ายก็มากระทบกับเราหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย หรือภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีโลก 

ผมว่าทั้งหมดคือการประเมินนโยบายต่างประเทศที่ไม่ได้ชั่งน้ำหนักอย่างดีพอ เพราะหากยึดตามหลักไผ่ลู่ลมจริงๆ แม้ว่าเราจะได้ผลประโยชน์จากจีนในด้านเศรษฐกิจจริง แต่หากสิ่งเหล่านี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีระหว่างประเทศเสีย และสูญเสียความเป็นอิสระในการตัดสินใจไปด้วย ดังนั้นลักษณะสำคัญของการทูตไผ่ลู่ลมคือต้องมีความสามารถ ‘ลู่ลมกลับมา’ ได้ หรือมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนเหมือนกัน 

จากที่คุณอธิบายมา เป็นไปได้ไหมว่าปัญหาของไผ่ลู่ลม คือการนิยามผลประโยชน์แห่งชาติ

เป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่ว่าใครนิยามผลประโยชน์แห่งชาติไว้อย่างไร คณะรัฐประหารอาจนิยาม ‘ผลประโยชน์ของตนเอง’ เท่ากับผลประโยชน์แห่งชาติ เขาก็อาจจะทำตามสิ่งที่เขาคิดว่ารักษาผลประโยชน์ของทุกคน จนมหาอำนาจที่พยายามกดดันไทยไม่สามารถมีอิทธิพลในช่วงเวลานั้นได้

ให้คุณประเมินนโยบายต่างประเทศของไทยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา คิดว่าไทยรักษาสมดุลได้ดีหรือเปล่า

ก็คงไม่ดี เพราะเราทำความร่วมมือกับจีนค่อนข้างลึกซึ้ง หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สงสัยว่า ทำไมรัฐบาลไทยค่อนข้างใกล้ชิดกับจีนพอสมควร เพราะจากเดิมบทบาทของไทยที่เคยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างจีนกับคู่กรณีอาเซียน เช่น กรณีความขัดแย้งการอ้างสิทธิบริเวณทะเลจีนใต้ (South China Sea) ไทยเคยเป็นผู้อำนวยความสะดวกในช่วงแรกๆ ซึ่งสามารถทำให้จีนเข้ามาร่วมโต๊ะเจรจาหรือคุยกับอาเซียนได้ ถึงแม้ว่านี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย และผมมองว่า ปัญหานี้จะยังคงดำเนินไปอีก 10 ปี 

แต่อย่างน้อยก็ทำให้ความขัดแย้งจากระดับที่มีการใช้กำลังปะทะกันเปลี่ยนแปลงเป็นความร่วมมือกัน นั่นคือความพยายามเบี่ยงเบนปัญหาความขัดแย้งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยเฉพาะหากฟังความเห็นของกลุ่มประเทศอื่นที่มีโอกาสเข้าไปร่วมเจรจา เขามองว่าไทยไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก นิ่งเงียบ ไม่พูดถึงปัญหาทะเลจีนใต้ อาจคงเพราะกลัวว่า ถ้าดำเนินการหรือพูดอะไรที่รัฐบาลจีนไม่เห็นชอบ อาจจะกระทบฐานะทางการเมืองของรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร

ไทยจึงถูกจัดกลุ่มเป็นพวกสนับสนุนจีน นับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา ทั้งที่สมัยก่อนเราใกล้ชิดจีนพอสมควร แต่ไม่ได้เด่นชัดขนาดนี้ใน 9 ปีที่ผ่านมา

พูดถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้สถานการณ์การเมืองยังไม่แน่นอน แต่ถึงตรงนี้ก็พูดได้เกือบเต็มปากแล้วว่า พรรคฝ่ายค้านเดิมน่าจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องจัดการกับ ‘การต่างประเทศไทย’ เป็นอันดับแรก ท่ามกลางปัญหามากมายที่กำลังเกิดขึ้น

ผมว่าสิ่งแรกคือต้องมียุทธศาสตร์ เริ่มมาจากตัวรัฐบาลเองด้วย ในการเจรจาหรือการวางยุทธศาสตร์ของการต่างประเทศไทยให้มีความชัดเจน เพราะที่ผ่านมาหลายคนวิจารณ์ว่าเราไม่มีจุดยืนในหลายปัญหาของโลก โดยเฉพาะปัญหาที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของเราในภูมิภาคอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทะเลจีนใต้ บทบาทของอาเซียนในกระบวนการสันติภาพในเมียนมา หรือบทบาทของจีนในลุ่มแม่น้ำโขง 

ไทยอาจจะมียุทธศาสตร์ก็ได้ แต่กลับไม่เคยแสดงให้เราเห็นว่า มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนอย่างไร ต้องการอะไรจากบทบาทหรืออิทธิพลของมหาอำนาจในปัญหาข้างต้น แล้วเราจะวางตัวอย่างไร มีหลักการเช่นใด เช่น กรณีเมียนมา แม้ว่าจะมีฉันทามติทั้งห้า (5-Point Consensus) แต่เราก็ไม่ได้ทำตามอย่างเคร่งครัด และยังเล่นบทบาทตามความต้องการของเราเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีโลก 

ดังนั้น ควรจะวางยุทธศาสตร์ให้ดีๆ นับตั้งแต่การจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ รวมถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศเอง ไม่ใช่แค่ทำตามเจ้ากระทรวง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร หรือแม้แต่การต่างประเทศ ไม่ได้ดำเนินนโยบายด้วยคนที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาของไทยจริงๆ 

จากที่คุณพูดมา เป็นไปได้ไหมว่าอาจจะต้องปฏิรูปกระทรวงการต่างประเทศ 

อาจจะเป็นไปได้ คือจริงๆ แล้ว ไม่น่าจะถึงกับปฏิรูป คนในกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ หากเทียบกับกระทรวงอื่นๆ ผมเข้าใจว่าหลายคนก็อึดอัดกับนโยบายที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงนโยบายในภายหลังการตัดสินใจร่วมกัน นโยบายที่เราเห็นจึงไม่มีทิศทาง แม้ว่าข้าราชการบางส่วนจะเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็ตาม

อยากให้คุณประเมิน นโยบายต่างประเทศของแต่ละพรรคบ้าง อย่างพรรคก้าวไกลเสนอแนวคิดใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น ปฏิรูปกองทัพ การยกเลิก กอ.รมน. เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงมุมมองความมั่นคงของไทยที่มีผลต่อโลกระหว่างประเทศอย่างไร

ต้องเริ่มจากความหมายของความมั่นคงที่ผ่านมาก่อน เพราะไม่ได้รับการให้ความหมายอย่างชัดเจนว่าคืออะไร รวมถึงบทบาทของกองทัพว่า พวกเขาควรจัดการกับอะไรได้บ้าง 

หากดูตามแนวปฏิบัติของประเทศพัฒนาแล้ว กองทัพและทหารควรมีบทบาทแค่การป้องกันภายนอกประเทศ ไม่ควรมายุ่งกับกิจการภายใน แม้จะมีการนิยามว่าสิ่งเหล่านั้นคือความมั่นคงก็ตาม ซึ่งอันที่จริง เราสามารถจัดการเองได้ด้วยการใช้พลเรือน หรือการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ 

ดังนั้น สิ่งที่พรรคการเมืองเสนอมา (การปฏิรูปกองทัพ) จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐทั้งหลาย มองความมั่นคงในภาพกว้างมากขึ้น ไม่ใช่ความมั่นคงแบบทหารเท่านั้น โดยเฉพาะการศึกษาแบบทหาร ซึ่งถูกฝึกสอนให้ฟังผู้บังคับบัญชา และรับมือกับภัยคุกคาม แต่ต้องเข้าใจว่า บางอย่างไม่ใช่ภัยคุกคามที่ทำให้เอกราชของเราสูญเสียไปเลย 

ผมคิดว่าการมีพลเรือนเข้ามาสร้างนิยามความมั่นคง เราจะเห็นความมั่นคงที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม รวมถึงการเปิดทางออกใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาวุธเสมอไปในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

เช่น หากย้อนกลับไปในอดีต มีความพยายามเปลี่ยนแนวคิดความมั่นคงในช่วงปี 2533 (หรือทศวรรษ 1990) เป็นต้นไป หลังสงครามเย็นจบ ความขัดแย้งในกัมพูชาจบ ทหารพยายามลดบทบาทตนเองลง พลเรือนเริ่มเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการต่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งในอดีตทหารเป็นผู้นำการจัดการ ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสนใจภูมิภาคใหญ่ๆ ประเทศห่างไกล 

ในเวลานั้น เราได้เห็นพลเมืองหลายคนนั่งเก้าอี้กระทรวงกลาโหม หรือมีหน่วยงานอื่นๆ สามารถแสดงความคิดเห็น แนะนำเรื่องราวด้านความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ความมั่นคงจึงมีนิยามที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องผูกกับทหารหรือการใช้กำลังอย่างเดียว เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 

แต่หลังจากรัฐประหาร หรือหากจะให้ย้อนกลับไปนานกว่านั้น คือช่วงเหตุการณ์ตากใบเป็นต้นมา บทบาททหารกลับเข้ามามากขึ้น เพราะเขาเห็นว่า นี่คือปัญหาความมั่นคงของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข 

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความมั่นคง หลายคนมักพูดถึง ‘บทบาทของสหรัฐฯ ในการเมืองไทย’ ที่จะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล คุณคิดว่า มีโอกาสที่นโยบายต่างประเทศของไทยจะเอนเอียงหาสหรัฐฯ และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนจะถดถอยลงหรือไม่

สิ่งนี้เป็นแนวโน้มมากกว่า อย่างที่เราคุยกันว่า ภาพลักษณ์ของไทยภายใต้รัฐบาลคุณประยุทธ์เข้าหาจีนอย่างชัดเจน ในขณะที่พรรคก้าวไกลพยายามใช้นโยบายรักษาสมดุล (Rebalancing) ด้วยการถอยลงมาก้าวหนึ่ง เพื่อพูดคุยหรือต่อรองกับจีนได้บ้างว่า สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง ไทยไม่ต้องการนะ

ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี คล้ายกับหลายประเทศในอาเซียนด้วยซ้ำ เช่น สิงคโปร์ เขาพึ่งพาเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน ผู้นำสิงคโปร์สามารถบอกจีนได้ว่า บางสิ่งเป็นอันตรายต่อภูมิภาค ปฏิเสธ และวิพากษ์วิจารณ์จีนได้ในหลายมิติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิงคโปร์จะสนับสนุนสหรัฐฯ เพราะหลายครั้ง เขาก็วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ เหมือนกัน

ดังนั้น ผู้นำไทยต้องชัดเจนว่า จุดยืนของเราอยู่ตรงไหน ผลประโยชน์แห่งชาติอยู่ตรงไหน อะไรยอมได้หรือยอมไม่ได้ เพราะการทูตคือการเจรจาต่อรอง 

เราไม่มีความสามารถในการบอกจีนว่าอันนี้ไม่ได้ แต่กลับใช้วิธีอื่นอ้อมๆ ที่ทำให้เราอาจเสียผลประโยชน์ในระยะยาว เช่น การเจรจารถไฟความเร็วสูง มันมีประโยชน์นะ แต่ผลประโยชน์ตกอยู่ที่จีนมากกว่า เขาสามารถระบายสินค้ามาทางภูมิภาคเราได้ง่ายมากขึ้น ขณะที่คนไทยไปเที่ยวจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงไม่ง่ายขนาดนั้น ไม่ต่างจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน

หากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ มากขึ้น นั่นก็จะเสริมสร้างผลประโยชน์ของเราด้วย เช่น การปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ ผมมองว่านี่น่าจะเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ดี 

เพราะถ้าเราไม่ยึดหลักการพวกนี้เลย เวลามีปัญหาอะไร จะยากในการตัดสินใจ รวมถึงภาพลักษณ์ประเทศของเราจะแย่มาก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน พื้นฐานของเรื่องนี้ คือรัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน แต่ทุกชาติงงกับจุดยืนของไทยที่ผ่านมาว่า ครั้งนี้จะโหวตอย่างไร ทำไมครั้งนี้ถึงงดออกเสียง (Abstain) เขามองว่าประเทศไทยมีอะไรหรือเปล่า หากมองตามความจริง มันไม่ควรจะเป็นคำถามเลย เราควรคิดว่า ถ้าประเทศเล็กๆ แบบไทยโดนบุกแบบนี้บ้าง เราจะมีจุดยืนอย่างไร 

ถ้าเราปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ แล้วหลายคนมองว่าสนับสนุนสหรัฐฯ ก็ยอมไปเถอะ ไม่เช่นนั้น เราก็ไม่มีหลักการสำคัญยึดถือเลยเวลาต้องตัดสินใจบางอย่าง ต้องมัวแต่เกรงใจชาติอื่น ซึ่งในทางการต่างประเทศไม่ควรมีคำว่าเกรงใจ นี่คือเรื่องผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ เราควรบอกจีนได้ว่า ต่อจากนี้เราควรคุยกันในฐานะประเทศที่เท่าเทียม มากกว่าการใช้ความสัมพันธ์แบบ ‘บ้านพี่เมืองน้อง’ 

ถ้าย้อนดูในอดีต ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนก็จริง แต่เรายังมีหลักการบางอย่าง และสามารถต่อรองกับจีนได้ เช่น วิธีการรับมือรัฐบาลจีนในสมัยคุณชวน (ชวน หลีกภัย) เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2536 ตอนนั้นมีการประชุมรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในวาระการประชุม คือการประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่จับอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ขังในบ้าน ซึ่งก็เชิญดาไลลามะ (Dalai Lama) มา 

ถ้าเป็นปัจจุบัน รัฐบาลคุณประยุทธ์ไม่ทำแน่นอน อ้างหลักการจีนเดียว (One China Principle) ในทางกลับกัน รัฐบาลคุณชวนให้วีซ่าดาไลลามะ ทางการจีนจึงไม่พอใจและสอบถามว่า เกิดอะไรขึ้น? นี่มันคือการละเมิดหลักการจีนเดียวหรือเปล่า?

แต่รัฐบาลคุณชวนตอบไปว่า นี่คือการจัดงานด้วยกลุ่มเอกชนหรือ NGO เขามีสิทธิในการดำเนินการ รวมถึงข้อโต้แย้งเรื่องดาไลลามะ แม้ว่าจะติดบัญชีดำ (Black List) ของประเทศจีน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะส่งผลกระทบต่อไทย ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศมีสิทธิให้วีซ่า 

ผลกระทบเอนเอียงนี้ยังมีเอี่ยวไปถึงรัฐบาลทหารเมียนมาด้วย แต่รัฐบาลชุดนั้นก็รับมือด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นประชาธิปไตยเช่นกัน

นี่คือสิ่งที่ควรจะมีในนโยบายต่างประเทศไทย เราต้องสามารถตอบเขาและให้เหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอในการสนับสนุนการกระทำได้ เวลามีใครไม่พอใจในนโยบายของเรา โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจ

จากที่คุณยกตัวอย่างมา อาจกล่าวได้ว่า การมีหลักการจะนำไปสู่การกอบกู้สถานะของไทยบนเวทีโลกผ่านมิติการทูตเชิงรุกหรือไม่ เช่น การสร้างบทบาทมหาอำนาจระดับกลาง (Middle Power)

ได้ การเป็นมหาอำนาจกลางต้องมีคุณสมบัติการรักษาระเบียบในภูมิภาค ถ้าเรายึดถือหลักการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอธิปไตยของชาติ การใช้กำลัง หลักสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ในกรณีของทะเลจีนใต้ เพราะทุกประเทศเขาอ้างสิทธิกันหมด

ไทยควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสร้างบทบาทเป็นตัวกลางเจรจา ไม่ได้บอกว่าเราจะถือหางอาเซียนหรือสหรัฐฯ แต่ถ้าจะเป็นมหาอำนาจกลาง นี่คือบทบาทของสถานะนี้ที่ต้องดึงทุกฝ่ายมาพูดคุยกันได้ 

มากกว่านั้น ถ้าคุณอ้างว่ามีความใกล้ชิดกับจีน เราควรคิดไปถึงการหาหนทางยุติความขัดแย้งไหม? หรือขั้นตอนการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: CoC) จีนยอมได้มากน้อยแค่ไหน เราควรจะแสดงบทบาทตรงนั้น 

หรือแม้แต่กรณีในเมียนมาก็ตาม เราสามารถใช้วิธี ‘หมูไปไก่มา’ เช่น บารัก โอบามา (Barack Obama) เคยใช้วิธีลดการคว่ำบาตร หากเมียนมามีความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศ ชาติอาเซียนอาจจะใช้วิธีนี้ต่อรองเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางด้านพรมแดนก็ได้

ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไทยสำคัญกับสหรัฐฯ มากแค่ไหน เมื่อพิจารณาจากทฤษฎีสมคบคิดเรื่อง ‘การตั้งฐานทัพ’ หรือ ‘การแฮ็กระบบเลือกตั้งประเทศไทย’

 (หัวเราะ) ผมว่าเราสำคัญตัวผิด หากเราดูยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา ประเทศภาคพื้นทวีปไม่ได้สำคัญขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว ซึ่งหลักๆ ยุทธศาสตร์นี้ผันแปรไปกับปัญหาที่สหรัฐฯ ต้องเจอ เริ่มจากในช่วงเวลาหลังสงครามเย็น สหรัฐฯ ต้องพบเจอกับปัญหาความมั่นคงทางทะเล ที่กระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค หรือชาติพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 

สำหรับตอนนี้ สิ่งที่สหรัฐฯ สนใจมากที่สุด คือการรักษาความปลอดภัยทางทะเลของเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโจรสลัด การก่อการร้าย หรือแม้แต่การค้ามนุษย์ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับสงครามเลย ยกเว้นเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ สนใจความมั่นคงเป็นพิเศษเพื่อจัดการกับผู้ก่อการร้าย ตอนนั้นเขามองว่า ไม่สำคัญแล้วว่าใครเป็นใคร ขอแค่ทุกคนร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายก็พอ ซึ่งนี่รวมทุกภูมิภาคบนโลกทั้งหมด

แต่โดยทั่วไปแล้ว ความปลอดภัยทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกสำคัญที่สุด เพราะอย่าลืมว่า อำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออก คืออำนาจด้านนาวีมากกว่าทางบก 

แม้ว่าหลายคนจะโต้แย้งว่า ไทยคือประเทศภาคพื้นทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ในอดีตเคยช่วยเหลือสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม หรือสหรัฐฯ สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในอู่ตะเภาได้ รวมถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างเราสองประเทศที่เขาก็อยากจะรักษาไว้ เพราะมันสามารถช่วยเหลือประเด็นบางอย่างได้ เช่น การค้ามนุษย์หรือการค้ายาเสพติด แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดที่สหรัฐฯ จะสนใจ 

เทียบให้ชัดเจนที่สุด เช่น บทบาทของสหรัฐฯ ต่อประเด็นลุ่มแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับจีน ผมมองว่า ค่อนข้างจะผันผวนด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับบทบาททางทะเล ช่องแคบมะละกา ทะเลจีนใต้ ช่องแคบไต้หวัน เรื่องเหล่านี้ มันยิ่งมีความสำคัญขึ้นมาเรื่อยๆ

สหรัฐฯ มีฐานทัพให้เลือกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ที่มีข้อตกลงนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การหวนกลับมายังฐานทัพฟิลิปปินส์อีกครั้ง รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนาม เพราะปัญหาทะเลจีนใต้รุนแรงมากขึ้น ผมว่าตรงนี้คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิก ไทยมีความสำคัญในลำดับชั้นรองจากเรื่องเหล่านี้ด้วยซ้ำ แม้ว่าเราอาจจะเป็นประโยชน์กับการคานอำนาจต่อจีนก็ตาม 

เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงทางทะเล สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพรรคไทยสร้างไทยเสนอเรื่องการขุดคลองในประเทศ หากให้คุณประเมิน นโยบายการขุดคลองในยุคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และการขุดคลองของไทยจะช่วยดึงดูดชาติมหาอำนาจในประเด็นทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

เริ่มจากคำถามว่า การขุดคลองเป็นไปได้หรือไม่ ยุคนี้ก็เป็นไปได้ เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่าโปรเจกต์นี้ราคาสูงมากๆ เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เราจะได้รับในอนาคต 

ผมว่าเราไม่ได้ผลประโยชน์เยอะ ถ้ามองไปถึงรายได้ของท่าเรือสิงคโปร์ ช่องแคบมะละกา และการพัฒนาท่าเรือของมาเลเซียด้วย รวมถึงเส้นทางการเดินเรือทั่วโลกกระจุกอยู่บริเวณนี้หมดเลย ค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนแปลง

สำหรับข้อโต้แย้งว่า การขุดคลองจะนำไปสู่การสร้างงาน หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผมประเมินว่า นี่คือผลลัพธ์ระยะสั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย 

โดยเฉพาะ ผมคิดว่ารัฐบาลไม่อยากขุดคอคอดกระหรือคลองไทย ด้วยการใช้เงินตัวเอง 100% ขนาดนั้น เขาไม่อยากจะใช้เงินคนไทย แต่พยายามแสวงหาเงินทุนจากต่างประเทศมาร่วมด้วยมากกว่า ซึ่งนี่คือแนวคิดที่ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อรักษาสมดุล แต่ใครจะมาร่วม นอกจากจีน เพราะเราไม่เห็นบทบาทเอกชนอื่นๆ ที่เป็นไปได้เลย ญี่ปุ่นไม่สนใจ สหรัฐฯ หรือชาติตะวันตกก็เช่นกัน

ดังนั้น คำถามต่อจากนั้น คือถ้าเกิดเป็นจีนจริงๆ เขาจะทำเหมือนกับการเจรจาในโครงการ BRI (Belt and Road) หรือไม่ เช่น จีนจะแบ่งผลประโยชน์อย่างไร ใครลงทุนเท่าไร ซึ่งหากจัดอยู่ในกรณีลงทุนแบบ 100% จีนจะขอผลประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมยังมองว่า แรงงานทำงานก่อสร้างน่าจะเป็นคนจีนมากกว่าคนไทย นั่นรวมถึงการเข้ามาของทุนจีนที่ครอบงำอีกด้วยเช่นกัน อ้างอิงจากประสบการณ์หลายๆ ประเทศในโครงการนี้ ยิ่งถ้าเราไม่ยอม จีนก็ทำต่อไม่ได้ สมมติขุดไปครึ่งหนึ่ง แล้วชะงักหยุดไปเลย มันก็เป็นตราบาปกับประเทศ 

ประเด็นนี้ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทย เมื่อทุนจีน หรืออาจจะรวมถึงมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการขุดคลอง แน่นอนว่ารัฐบาลของชาตินั้นๆ ก็ต้องการเข้ามามีอิทธิพลหรืออำนาจในการจัดการคลองไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่การควบคุมการเดินเรือ ซึ่งสิ่งนี้กระทบต่อความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายความมั่นคงของไทย 

โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนาฐานทัพของจีน อาจทำให้เราคาดการณ์อะไรได้บางอย่าง เพราะท่าเรือของจีนในเกาะเรียม ประเทศกัมพูชา ที่หลายคนสงสัยว่าคืออะไร มันอาจเชื่อมโยงกับการสร้างคลองไทยได้ เพราะจีนสามารถเดินทางผ่านทะเลอันดามันโดยไม่ต้องผ่านเส้นทางอิทธิพลของสหรัฐฯ ในช่องแคบมะละกา หากดูจากเส้นทางจากฐานทัพกัมพูชามายังคลองไทย กลายเป็นว่าเขาได้ผลประโยชน์จากเรา โดยที่ไทยไม่สามารถพูดอะไรได้เลย

หรือการขุดคลองครั้งนี้ไม่ต้องหมายถึงจีนอย่างเดียวก็ได้ อาจจะรวมถึงสหรัฐฯ แม้ว่าไทยไม่ได้สำคัญทางยุทธศาสตร์ขนาดนั้น แต่ถ้ามีพื้นที่นี้ไว้ เขาก็มีความสามารถในการควบคุมสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เหมือนกัน

เราเห็นตัวอย่างชัดเจนจากการขุดคลองปานามา สหรัฐฯ เข้าไปมีอิทธิพลในพื้นที่นั้น ซึ่งได้รับเอกสิทธิ์ในการจัดการเต็มที่ สถานการณ์นี้จึงอาจเกิดขึ้นกับคลองไทยเช่นกัน

นอกจากนั้น อีกเหตุผลที่ผมว่าไม่คุ้ม ในแง่การจัดการ เราไม่มีองค์ความรู้มากนัก หากเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าเรือนานาชาติมาหลายทศวรรษมาแล้ว โดยเฉพาะข้อจำกัดลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทย คือระดับน้ำทะเลของไทยตื้น เราจึงไม่สามารถรับมือกับเรือใหญ่ๆ บางชนิดได้ หรือแม้แต่เรือลำเล็กหรือขนาดกลาง โดยเฉพาะเวลาเข้าคลอง เรือต้องลดระดับความเร็ว ไม่สามารถผ่านอย่างรวดเร็วได้เลย เพราะอาจจะกระทบกับสองฝั่งของคลอง 

รวมถึงมิติการย่นระยะเวลาในการเดินเรือที่ไม่ได้แตกต่างกับประเทศอื่นมากนักด้วย สรุปเรามีแต่เสียกับเสียทั้งยุทธศาสตร์ความมั่นคงและนโยบายทางเศรษฐกิจเลย

ถ้าประเทศไทยมีผู้นำที่มาจากประชาธิปไตยจริงๆ ปัจจัยนี้จะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการประชาธิปไตยในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) 

อาจไม่ได้สร้างผลกระทบโดยตรง แต่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นได้ เช่น เขาอาจมองว่า “ดูกรณีไทยสิ ผ่านการรัฐประหารมาหลายปี แต่สามารถกลับมาเป็นประชาธิปไตยได้” โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว เราอาจมอบความหวังให้เขาได้ในจุดนี้ เราสามารถเป็นต้นแบบในวิธีการต่อสู้ได้

อย่างไรก็ตาม ที่แน่ๆ ผมว่า ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยโดยตรง แต่เป็นเรื่องหลักการสำคัญ เช่น การเคารพสิทธิมนุษยชน ไทยอาจมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันประเด็นข้อถกเถียงบางอย่างในอาเซียนถึงเรื่องนี้ เช่น การจัดการกับปัญหาค้ามนุษย์ด้วยการใช้กฎหมาย หรือการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ 

ผมว่าการสร้างประชาธิปไตยยาก เพราะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศนั้นๆ โดยตรง โดยเฉพาะอาเซียนยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Non-Inference Principle) หากเราทำจริงๆ หรือไปสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยที่ต่อต้านรัฐบาล เราก็จะถูกประเทศในอาเซียนด่าเอา

สำหรับกลุ่มประเทศ CLMV ก็ไม่น่าจะมีผลเช่นกัน พูดถึงเวียดนาม ผมว่าไม่มีผลมาก เปรียบเทียบชัดเจนง่ายๆ สถานะของเวียดนามเปรียบเหมือนไทยในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เศรษฐกิจเจริญก็จริง แต่คนไม่ได้สนใจการเมืองขนาดนั้น เพราะผู้นำในภูมิภาคนี้ สนใจการรักษามาตรฐานการสร้างเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตมาก เพราะสิ่งนี้สร้างความชอบธรรมการอยู่ในอำนาจของพวกเขา 

ตราบใดที่เศรษฐกิจเวียดนามยังเจริญเติบโต มีต่างชาติมาลงทุน และรัฐบาลยังสามารถต่อกรกับจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ได้ ตราบนั้น การเมืองเวียดนามก็ยังมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์เพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม

ไม่ได้บอกว่าไม่มีความหวัง แต่คล้ายกับหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ แต่ในกรณีของไทยนั้นต่างกัน หากคุณประยุทธ์สามารถบริหารประเทศจนเศรษฐกิจโต 10% ผมคิดว่าหลายคนก็ยังไม่เปลี่ยนใจ 

สุดท้าย คุณอยากเห็นการต่างประเทศไทยเป็นอย่างไร

อย่างที่บอก ผมอยากให้ไทยมีวิสัยทัศน์ว่า เราต้องการเห็นตัวเองมีสถานะไหนบนเวทีระหว่างประเทศ เพราะถ้าเรากำหนดวิสัยทัศน์ได้แล้ว ก็จะสามารถสร้างยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนตามมา เช่น ถ้าอยากมีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนโยบายต่างประเทศที่รักษาผลประโยชน์ เราต้องตื่นตัวมากขึ้นบนเวทีระหว่างประเทศภายใต้กฎระเบียบที่นานาชาติเห็นพ้อง ไทยควรมีหลักการ เพราะบทบาทที่จะแสดงออกมา มันต้องสอดคล้องกับหลักการที่เรายึดด้วยเช่นกัน

ถ้ามีหลักการ เราจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การค้าเสรี โดยเฉพาะการแสดงออกอย่างสม่ำเสมอ และคาดการณ์ล่วงหน้าได้ 

อีกอย่างนี่คือการส่งเสริมอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ของไทยอย่างแท้จริง เพราะเรายึดหลักการที่นานาชาติเขายึดถือ หรือการวางตัวอย่างชัดเจนต่อนโยบายต่างประเทศ ไม่ทำตัว ‘พูดอย่างทำอย่าง’ เหมือนกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

รวมถึงปัญหาเมียนมา ภาพลักษณ์ของเราไม่ดีมาก การดำเนินนโยบายก็ผันผวน เพราะเราแสดงออกว่า สนับสนุนฉันทามติทั้งห้า แต่ดันไปเจรจากับเมียนมาทั้งการเจรจาแบบ 1 ต่อ 1 แบบ G to G (รัฐบาลทั้งสองฝ่ายเจรจากัน) หรือแม้แต่การดำเนินการทูตแบบนิ่งเงียบ (Quiet Diplomacy) ไปจัดการประชุม ‘Track 1.5’ โดยไม่หารือกับประเทศอื่นในอาเซียน อีกทั้งการประชุมก็ไม่มีประเด็นหลักที่จะเจรจา จึงไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนตามมา หรือแม้แต่การต่อรองที่เกิดประโยชน์ทั้งเราและอาเซียน

การมีหลักการชัดเจนที่ชาติอื่นยึดถือ จะสร้างน้ำหนักในการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ เชื่อถือเราได้ ไม่ว่าเราจะเสนอการแก้ไขปัญหาหรือนโยบายอะไรก็ตาม เนื่องจากสิ่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดจากอำนาจโน้มนำที่ดี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศทำได้ นอกเหนือจากการสนับสนุนการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy)

เพราะการขายข้าวเหนียวมะม่วง มวยไทย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทำให้เรามีอำนาจหรืออิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นตามนิยามของการสร้างอำนาจโน้มนำที่แท้จริง

Fact Box

  • ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศไทย การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการต่างประเทศจีน
  • สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) เป็นหนึ่งในหน่วยงานของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเผยแพร่ประเด็นความมั่นคงและการต่างประเทศทั่วโลกโดยการเข้าร่วมจากนักวิชาการระดับนานาชาติ
Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,