มหากาพย์การเมืองไทยในปี 2023 กำลังจะเริ่มต้น หลังจาก ‘พรรคก้าวไกล’ ได้รับคะแนนเสียงมากสุดด้วย 14,136,838 คะแนน ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 113 เก้าอี้ รวมถึงแบบบัญชีรายชื่อ 39 คน

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พรรคก้าวไกล นำโดย ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม แม้ว่าอนาคตทางการเมืองยังคงมืดหม่นและเดาทิศทางไม่ออก ท่ามกลางการคงอยู่ของตัวแปรสำคัญ ‘สมาชิกวุฒิสภา’ หรือ ส.ว. ที่มีท่าทีเชื่อมั่นในเอกสิทธิ์ของตน โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนอยู่ก็ตาม

นอกเหนือจากชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะนำมาสู่สิ่งที่ประชาชนโหยหาตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ปี ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ทุกคนสมควรได้รับในฐานะพลเมืองไทยหนึ่งคน 

สิ่งหนึ่งที่หลายคนละเลย แต่เพิ่งได้รับความสนใจในเร็ววันนี้ นั่นก็คือ ทิศทางการต่างประเทศของไทยรูปแบบใหม่ หลังจาก ทิม-พิธา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ ตอบคำถามนักข่าวต่างประเทศถึงการจัดวางตำแหน่งของไทย ในการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนว่า จะไม่มี ‘การทูตแบบไผ่ลู่ลม’ (Bamboo Diplomacy) หรือสภาวะไร้จุดยืนที่แน่ชัดในการต่างประเทศไทยอีกต่อไป 

ในทางกลับกัน รัฐบาลจะยึดถือระเบียบโลกแบบเสรีนิยมเป็นหลักการสำคัญ และสนับสนุนชาติมหาอำนาจทั้งสอง โดยมี ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ (National Interest) ของแต่ละฝ่ายเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่ง พิธาเคยยกตัวอย่างกับ The Momentum ว่า ‘ประเทศเวียดนาม’ เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพราะมีนโยบายไม่เลือกข้าง แต่ยึดหลักการตามองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เท่านั้น รวมถึงไทยควรริเริ่มการทูตเชิงรุกมากกว่านิ่งเฉยเหมือนในปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพราะสื่อต่างชาติยังมองว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีนัยลึกซึ้งต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ตัวของไทย คือเมียนมา หลังจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลยืนยันกับสื่อว่า รัฐบาลพร้อมผลักดันฉันทามติทั้งห้า (5-Point Consensus) ของประชาคมอาเซียน การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อกดดันให้เกิดการแก้ไขวิกฤตในเนปิดอว์ 

รวมถึงพรรคเพื่อไทยก็มีจุดยืนเช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล หลังจากเคยออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว 4 คนในปีที่แล้ว โดยย้ำว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนต่อสิทธิในการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่ และการชุมนุมควรได้รับการคุ้มครองโดยหลักนิติธรรม รวมถึงการพิจารณาคดีอย่างเสรี เป็นธรรม และพลเมืองทุกประเทศต้องมีสิทธิได้รับการประกันตัว

นั่นจึงไม่เกินความคาดหมาย หากปรากฏความคาดหวังของชาวเมียนมาเชิงบวกถึงชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้เปราะบางหนีความโหดร้ายของรัฐบาล ซึ่งวิวาทะทั้งหมดนี้ได้รับการถ่ายทอดผ่านแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @Thailand4Burma

“มีความหวังอยู่มาก แต่คิดว่าจะไม่เกิดการยึดอำนาจทางทหารเหมือนพม่า ที่สำคัญคือเป็นการเมืองไทย ก็หวังว่าขอให้เลือกรัฐบาลที่สามารถพัฒนาการศึกษาและสุขภาพเพื่อประชาชนไทย สำหรับเรา เราหวังว่ารัฐบาลที่มีมนุษยธรรมที่เห็นประชาชนในฐานะประชาชน และสามารถช่วยผู้ลี้ภัยที่ติดอยู่ในประเทศ และไม่ส่งพวกเขากลับประเทศเมียนมา” โอลิเวีย หมอประจำกลุ่มเคลื่อนไหว Civil Disobedience Movement 

“ฉันหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงในเมียนมาด้วย สำหรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ฉันคิดว่าคงมีความหวังมาก หากพรรคฝ่ายค้านเท่านั้นที่จะชนะ” ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวอย่างมีนัยสำคัญถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมา

The Momentum ชวนทุกคนย้อนดูความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับไทย รวมถึงโอกาสการเติบโตของประชาธิปไตยในอาเซียนจากการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงเฉพาะเมียนมาอย่างเดียว

 

พี่ใหญ่กับน้องเล็ก: ย้อนดูข้อครหาถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของรัฐบาลทหารระหว่างไทยกับเมียนมา

อัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารไทยกับเมียนมาว่า จากความนิยมลดลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของ มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ในปี 2021 และ ‘บุตรชายบุญธรรม’ ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี 

ที่มา: Reuters 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดข้อครหาถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ได้รับการค้ำจุนโดยรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์กำลังสนับสนุนต่อเผด็จการทหารเมียนมาบนเวทีโลกอย่างเปิดเผย 

นับตั้งแต่ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ตัดสินใจใช้ ‘ไม้อ่อน’ กับเมียนมา หลังจากเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อหารือการยุติวิกฤตในเนปิดอว์ โดยมีประเทศสมาชิก ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา

ในทางกลับกัน สมาชิกของอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ กลับไม่ได้เข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ประเทศผู้ก่อตั้งมักใช้ท่าทีแข็งกร้าว กีดกันไม่ให้แม้แต่ มิน อ่อง หล่ายได้มีที่ยืนในบนเวทีการประชุมความร่วมมือระดับภูมิภาค 

รายงานจากรอยเตอร์ (Reuters) เผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์แสดงความไม่พอใจในการประชุมครั้งนี้ เพราะเป็นการประชุมที่ไม่ได้อยู่ในกำหนดการ อีกทั้งอาเซียนมีมติกีดกันเมียนมาในกิจกรรมของภูมิภาค ดังนั้น การเข้าร่วมของเนปิดอว์ในข้างต้น จึงอาจมีความหมายถึงการหักฉันทามติของอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจร่วมกัน 

ความแนบแน่นดังกล่าวยังรวมไปถึงการนัดพบระหว่างผู้นำและข้าราชการระดับสูงของ 2 ประเทศ โดยมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19-21 มกราคม 2023 พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย และมิน อ่อง หล่าย นัดพบ ณ รีสอร์ตแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ 

แม้ว่าการประชุมของคณะกรรมการระดับสูงระหว่างทหารไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสาธารณชน หากแต่การนัดพบครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หลังจากพบทรัพย์สินของลูกชายและลูกสาวผู้นำรัฐประหารเมียนมา ระหว่างการจับกุม ตุน มิน ลัต (Tun Min Latt) ด้วยข้อหายาเสพติดและฟอกเงิน ซึ่งสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า การพบกันครั้งนี้เพื่อขอร้องให้รัฐบาลไทยถอนชื่อลูกของมิน อ่อง หล่าย จากความผูกพันในคดีดังกล่าว

ที่มา: Reuters

หรือการพบกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย กับผู้นำเผด็จการเมียนมา ที่เปิดเผยโดยสื่อท้องถิ่น ย่างกุ้งนิวเอจ (Yangon Khit Thit News Agency) โดย มิน อ่อง หล่าย ขอให้รัฐบาลไทยปฏิเสธการรับรองกองกำลังต่อต้านรัฐประหารที่อยู่บริเวณชายแดนของประเทศ

นอกเหนือจากนั้นยังปรากฏรายงานของสื่อถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยที่ส่งมอบให้แก่ทหารเมียนมาอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสบียงหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

 

บทวิเคราะห์: การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศต่อเมียนมาจากชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย

นักวิชาการจำนวนมากให้ความเห็นกับอัลจาซีราถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของไทย หากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

โดย มะ คีเน เตะ (Ma Khine Thet) นักวิชาการชาวเมียนมา ผู้ลี้ภัยรัฐบาลทหารมายังประเทศไทย ให้ความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะความสัมพันธ์ของรัฐบาลทหารไทยกับพม่าเปรียบเสมือน ‘พี่ใหญ่กับน้องเล็ก’ จากการอุปถัมภ์ค้ำชูระหว่างกัน โดยมีผลประโยชน์เป็นปัจจัยสำคัญ อีกทั้งยังมีชาติมหาอำนาจ ซึ่งเป็นสมการลับเข้ามาข้องเกี่ยวในความสัมพันธ์ดังกล่าว

“หากฝ่ายค้านของไทยจัดตั้งรัฐบาล พวกเขาอาจจะสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยของเมียนมา โดยอาจร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา แต่ฉันกังวลว่า จีนผู้สนับสนุนมิน อ่อง หล่าย จะกดดันรัฐบาลชุดใหม่ของไทย

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่รักษาความสัมพันธ์ทางการทูตอันแน่นแฟ้นกับรัฐบาลทหารพม่า และมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย เช่น กิจการก๊าซในทะเลอันดามัน ซึ่งบ่อนทำลายการปฏิวัติของเรา” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า หากรัฐบาลไทยได้รับชัยชนะ อาจยุติการสนับสนุนของเครือข่ายเผด็จการทหาร และส่งเสริมฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG)

“หากพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะ หรือพรรคใดก็ตามที่อุทิศตนเพื่อค่านิยมที่เรากำลังต่อสู้ พวกเราพร้อมจะยินดีกับพวกเขาอย่างมีความสุข และสร้างสรรค์วิธีการที่มีความหมายเพื่อทำงานร่วมกันในประเด็นต่างๆ มากมายที่สร้างปัญหาให้กับทั้งสองประเทศ” ตัวแทนจากฝ่าย NUG ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา โดยอธิบายว่าพวกเขาเอาใจช่วยฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศ รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยของ ‘พันธมิตรชานมไข่มุก’ (Milk Tea Alliance) แม้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ ในไทยก็ตาม

ที่มา: Reuters

อย่างไรก็ตาม ซัค อาบูซา (Zach Abuza) ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยเนชันแนลวอร์ (National War College) แห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.) มีข้อกังขาถึงความท้าทายในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐบาลทหารไทยกับเมียนมา 

“รัฐบาลใหม่ของไทยจะต้องเดินเกมและเลือกการต่อสู้อย่างระมัดระวัง พวกเขาจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกองทัพไทย ซึ่งทุกคนรู้กันดีว่านิยมชมชอบต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

“นักการเมืองไทยหลายคนมีจุดยืนมั่นคงมากต่อวิกฤตของเมียนมา และพวกเขาควรตระหนักว่า มันกำลังสร้างปัญหามากมายให้กับไทย ทั้งปัญหายาเสพติดผิดกฎหมาย อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ลี้ภัยมหาศาล การควบคุมพิเศษของจีนในเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นแหล่งกบดานของอาชญากรข้ามชาติ” อาบูซาแสดงความคิดเห็น พร้อมเสริมว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์จงใจเพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านั้น

 

คลื่นลูกใหม่แห่งความหวัง: ประชาธิปไตยในไทยที่อาจส่งความเป็นเอกภาพและประเด็นสิทธิมนุษยชนของอาเซียน?

ไม่เพียงแต่กระแสประชาธิปไตยจุดประกายความหวังให้กับเมียนมา แต่ยังรวมไปถึงชาติอาเซียน หลังจากมีรายงานโดยวิทยุเสียงอเมริกา (VOA) ว่า รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยที่ยึดถือแนวคิดเสรีนิยมอาจส่งเสริมประเด็นสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดียิ่งขึ้น

“มันแสดงให้เห็นว่าคนไทยตื่นขึ้นแล้วจริงๆ พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานต่อการปกครองในประเทศ และรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย

“นี่เป็นสิ่งที่ดีมาก มันเป็นช่วงเวลาแห่งการตื่นตัวที่สำคัญสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ความสัมพันธ์กับรัฐบาลเมียนมาจะเปลี่ยนแปลงทันที นั่นหมายถึงบทบาทของอาเซียนก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย ผมคิดว่าคุณน่าจะเห็นการแก้ไขปัญหาในเมียนมาที่รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่อยู่ในทางตัน” ชาร์ลส์ ซานติอาโก (Charles Santiago) สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) กล่าว โดยระบุว่า พวกเขายินดีกับรัฐบาลใหม่และจุดยืนอันมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะสนับสนุนการเจรจาในเมียนมา รวมถึงเป็นสารสำคัญที่จะส่งไปยังระบอบเผด็จการที่ครอบงำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เป็นที่รู้กันว่า ชาติอาเซียนมักความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง จนบางครั้งไม่สามารถออกฉันทามติเพื่อหาข้อสรุปเพียงหนึ่งเดียว อีกทั้งยังปราศจากเอกภาพในการดำเนินนโยบายต่างประเทศร่วมกัน หลังจากประเทศภาคพื้นทวีป ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม มีท่าทีสนับสนุนจีน และระบอบเผด็จการทหารของมิน อ่อง หล่าย ของเมียนมา

ในขณะที่กลุ่มประเทศเกาะ คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน มีข้อแย้งกับจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ และไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในเมียนมา นั่นจึงทำให้ประชาคมอาเซียนเกิดความตึงเครียดอยู่บ่อยครั้ง

“มิน อ่อง หล่าย และกองทัพพยายามสร้างความหวังในการเลือกตั้งของเขาด้วยโมเดลของประเทศไทย แต่ในเร็วๆ นี้ ประเทศไทยถูกกีดกันอย่างมากทั้งในอาเซียนและภายนอก หลังจากพยายามก้าวข้ามแผนการของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน” อดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำเมียนมาและไทยอธิบายถึงสภาวะความขัดแย้งของไทยและอาเซียน

ที่มา: Reuters

แบรดลีย์ เมิร์ก (Brandley Merg) นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเพื่อความร่วมมือและสันติภาพกัมพูชา แสดงความคิดเห็นว่า หากพรรคก้าวไกลสามารถเป็นรัฐบาลได้ โดยผ่านด่าน ส.ว. ซึ่งถือสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี ภูมิภาคนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 “หากพวกเขาขึ้นสู่อำนาจ มันจะเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ถึงสภาวะระบอบอำนาจนิยมในหมู่ประเทศภาคพื้นทวีปของอาเซียน และการแตกแยกระหว่างกลุ่มภาคพื้นทวีปกับหมู่เกาะในอาเซียน จะต้องได้รับการพิจารณาเสียใหม่” เขากล่าว

มีการวิเคราะห์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยจะดีขึ้นในประเด็นสิทธิมนุษยชนและโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนยังคงยืนยันว่า รัฐบาลใหม่ของไทยจะไม่ใกล้ชิดทั้งสหรัฐฯ และจีนมากจนเกินไป สืบเนื่องจากพื้นฐานการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย

ไม่ว่าข้อสรุปทั้งหมดจะมีผลลัพธ์อย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันในอนาคต โดยเฉพาะบทบาทของ ส.ว.และเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม ซึ่งเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของฝ่ายประชาธิปไตยและอนาคตของประเทศไทย 

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการต่างประเทศไทยในอดีต โดยเฉพาะ ‘บทบาทความเป็นผู้นำ’ ของภูมิภาคในฐานะประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน ที่ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา รวมถึงการหันกลับมาพิจารณาต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศในอนาคต คือ ‘การทูตเชิงรุก’ และ ‘การยึดถือค่านิยมตามหลักสากล’ ของไทยเช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง

https://twitter.com/WPabuprapap/status/1657998004140539906

https://twitter.com/thailand4burma/status/1657415330912948225

https://www.thaipbsworld.com/thai-militarys-close-ties-with-myanmar-junta-compromising-asean-efforts-to-resolve-crisis/

https://prachatai.com/journal/2023/04/103659

https://www.facebook.com/themomentumco/photos/a.1636533129971718/3234310313527317/

https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/2938642136386167/

https://mgronline.com/indochina/detail/9650000086419

https://www.voanews.com/a/victory-by-move-forward-in-thailand-could-move-asean/7093814.html

Tags: , , , , ,