“รัฐบาลเดิม เพิ่มเติมคือเพื่อไทย”

“ทุกอย่างเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจากประยุทธ์เป็นเศรษฐา”

“เราจะคาดหวังอะไรได้จากรัฐบาลชุดนี้?”

ทั้งหมด คือเสียงวิจารณ์เมื่อโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ออกมา และปรากฏหน้าตาของ ‘คนเดิมๆ’ นั่งอยู่ในรัฐบาล คุมกระทรวงหลักๆ ไปทั้งหมด

เป็นผลพวงจากการเมืองว่าด้วยคณิตศาสตร์ เมื่อเสียงของพรรคเพื่อไทย 141 เสียง ต้องหาเสียงจากทั้งสภาล่างให้ครบ 250 คน และสภาสูงอย่าง ส.ว.ให้ได้เสียงรวมในรัฐสภาเกิน 376 เสียง

เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยต้องชวนพรรคของทั้ง ‘2 ลุง’ ได้แก่ รวมไทยสร้างชาติและ พลังประชารัฐ เข้าร่วมรัฐบาลและพ่วงเอาคนหน้าเดิมๆ มาเต็มคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา

ข้อมูล ณ วันนี้ (29 สิงหาคม 2566) และค่อนข้าง ‘ลงตัว’ ก็คือในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 35 คน จะมีคนหน้าเดิมมากกว่า 9 คน หรือคิดเป็นกว่า 25.7% ของคณะรัฐมนตรีทั้งหมด

เป็นความจำเป็นที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าต้อง ‘สลายขั้ว’ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อให้ได้ แม้พรรคเพื่อไทยจะต้องจ่ายต้นทุนมหาศาล

คำถามก็คือแล้วคนเหล่านี้สำคัญเพียงใด เพราะเหตุใดไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้าง คนเหล่านี้ก็ยังอยู่ยงคงกระพัน

ทั้งหมดเป็นเหตุผลในเชิงคณิตศาสตร์ เชิง ‘ทุน’ และเชิงอำนาจ

1. อนุทิน ชาญวีรกูล 

รัฐบาลประยุทธ์: รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

รัฐบาลเศรษฐา: รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

อันที่จริง อนุทินต้องการกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นกระทรวงที่ไม่ได้มีใครอยากได้มากนัก แต่หากอยู่ต่อได้ การทำงานก็จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บรรดาคนที่วางไว้ก็เป็นข้าราชการชุดเดิม ‘อะไรๆ’ ก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น

แต่เมื่อเสียง ‘ยี้’ ดังออกมาจากกระทรวง บรรดาหมอ-พยาบาลเริ่มแสดงความไม่พอใจ กอปรกับพรรคเพื่อไทยเองต้องการสานต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น อนุทินก็ต้องหันไปหากระทรวง ‘เกรดเอ’ กระทรวงอื่น หันซ้ายหันขวาเลยขอไปที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงที่ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้เป็นพ่อ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีเมื่อภูมิใจไทยเปลี่ยนขั้วรัฐบาล 16 ปีที่แล้ว

ด้วยอำนาจต่อรอง 70 เสียง จึงทำให้อนุทินได้กระทรวงที่ใหญ่ขึ้น ดำรงตำแหน่ง มท.1 คุมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ

เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าจริงๆ

 

2. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า 

รัฐบาลประยุทธ์: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

รัฐบาลเศรษฐา: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ชื่อของร้อยเอกธรรมนัสนับเป็นแมว 9 ชีวิต ด้วยอำนาจทางการเมืองและอำนาจทุน เขาเคยถูกซักฟอกจนเรื่อง ‘มันคือแป้ง’ และคดีที่ถูกจำคุกในประเทศออสเตรเลียหลายทศวรรษก่อน เป็นประเด็นทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ก็ไม่สะทกสะท้านตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในเวลาต่อมา เมื่อการ ‘ก่อกบฏ’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลว เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ด้วย ‘มุ้ง’ ส.ส.ในมือและด้วยอำนาจทุน ก็ทำให้เขายังอยู่ข้างกาย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตลอดเวลา เมื่อพรรคพลังประชารัฐสร้างผลงานได้น่าพอใจ และอยู่ในวิสัยที่จะต่อรองกับพรรคเพื่อไทยได้ ร้อยเอกธรรมนัสจึงได้กลับเข้ามานั่งกระทรวงใหญ่

เก้าอี้กระทรวงเกษตรฯ ถือเป็นเก้าอี้ที่คนในพรรคเพื่อไทยต่างหมายปอง เพราะผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนมากเป็นฟากเกษตรกร ในเชิงนโยบายสามารถขับเคลื่อนได้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร และในเชิง ‘อำนาจ’ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีกรม ‘เกรดเอ’ อย่างกรมชลประทาน อีกทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยังมีอำนาจในการจัดซื้อ จัดจ้างจำนวนมาก

 

3. วราวุธ ศิลปอาชา 

รัฐบาลประยุทธ์: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลเศรษฐา: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วราวุธเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยภาพลักษณ์ที่ดี เป็นนักเรียนนอก พูดภาษาอังกฤษสำเนียงบริติชชัดแจ๋ว ซ้ำยังผลักดันเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเลิกใช้ถุงพลาสติก หรือการให้เรื่อง Net Zero Carbon กลายเป็นวาระแห่งชาติ กลายเป็นภาพรัฐมนตรี ‘รักโลก’ ติดตัว

กระนั้นเอง เรื่องที่วราวุธปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องอื้อฉาวภายในกระทรวงช่วงท้ายของรัฐบาล อย่างการพบเงินจำนวนมากในห้องของ รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งทำให้หลายคนในฝ่ายจัดรัฐบาลเกรงว่าหากให้ ‘ท็อป’ กลับไปยังกระทรวงเดิม เรื่องเดิมๆ จะถูกขุดขึ้นมาอีกรอบ และส่งผลเสียหายได้

อันที่จริงกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ไม่ใช่กระทรวงใหญ่อะไร ภารกิจส่วนมากคือดูแลผู้สูงอายุ เด็ก-เยาวชน ผู้พิการ และมีรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่าง ‘การเคหะแห่งชาติ’ แต่ด้วยเสียงต่อรองมีราว 10 เสียง น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จึงอาจทำให้วราวุธต่อรองได้เท่านี้

 

4. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 

รัฐบาลประยุทธ์: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

รัฐบาลเศรษฐา: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เรื่องที่เซอร์ไพรส์ในการเลือกตั้งรอบนี้ ก็คือการที่ สุริยะ ที่เพิ่งย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐกลับบ้านเดิมคือพรรคเพื่อไทยไม่นาน คว้ากระทรวงใหญ่อย่างกระทรวงคมนาคม แซงหน้าคนที่จองกระทรวงนี้มาก่อนอย่าง ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.นครราชสีมา จนประเสริฐต้องไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จนทำให้หลายคนสงสัยว่า สุริยะมี ‘ของดี’ อะไรและต่อรองแบบไหนจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

กระทรวงคมนาคมถือเป็น ‘กระทรวงเกรดเอ’ เพราะมีกรมสำคัญอย่างกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง กรมท่าอากาศยาน กรมการขนส่งทางราง และมีรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่างการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ และการรถไฟแห่งประเทศไทย

พรรคภูมิใจไทยเองอยากกลับมาได้กระทรวงนี้ แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่อาจพลาดนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเช่นกัน ถึงขั้นยอม ‘แลก’ กระทรวงมหาดไทยไปให้พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทยได้กระทรวงนี้แทน

 

5. สมศักดิ์ เทพสุทิน 

รัฐบาลประยุทธ์: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

รัฐบาลเศรษฐา: รองนายกรัฐมนตรี

ประเด็นของสมศักดิ์ก็คือการที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหน สมศักดิ์ก็ได้เป็นรัฐมนตรี หากค้น ‘เรซูเม่’ ของสมศักดิ์ก็จะพบว่า เขาอยู่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกพรรคเสมอ และเมื่อสมศักดิ์ตัดสินใจย้ายจากพรรคพลังประชารัฐกลับมายังบ้านเก่าที่พรรคเพื่อไทย ก็หนีไม่พ้นที่ต้องได้อะไรติดมือไปบ้าง

เดิม สมศักดิ์หวังไว้ว่าจะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเดิมที่เคยนั่งสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทว่ากระทรวงเกษตรฯ ถูกแบ่งให้คนอื่นไปแล้ว ครั้นจะให้ไปนั่งกระทรวงอื่นก็ไม่สมศักดิ์ศรี จึงต้องไปนั่งลอยๆ เป็นรองนายกฯ

นับว่าผิดคาดพอสมควร ประเด็นก็คือสมศักดิ์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านใด-กระทรวงไหน ซึ่ง ณ เวลานี้ คาดว่าน่าจะดูแลกระทรวงแนว ‘สังคม’ 

 

6. พิพัฒน์ รัชกิจประการ 

รัฐบาลประยุทธ์: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

รัฐบาลเศรษฐา: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ชื่อของพิพัฒน์ถูกเรียกขานในฐานะทั้ง ‘นายทุน’ และ ‘บ้านใหญ่’ ของพรรคภูมิใจไทย เพราะหากไม่ได้พิพัฒน์และตระกูลรัชกิจประการซึ่งพื้นเพเป็นคนจังหวัดสตูล ภูมิใจไทยก็คงไม่อาจเปิดตลาดในภาคใต้ได้ คราวที่แล้ว เขาได้รับปูนบำเหน็จให้ดูแลกระทรวงสำคัญอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และในครั้งนี้ ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้น่าเกลียด

กระทรวงแรงงานมีกรมเกรดเออย่าง ‘กรมการจัดหางาน’ ที่ดูแลแรงงานข้ามชาติ การจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศทั้งระบบ และยังมีพื้นที่เงินถุงเงินถังอย่าง ‘สำนักงานประกันสังคม’ ซึ่งท้าทายความสามารถของพิพัฒน์ในระยะยาวต่อไป

 

7. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 

รัฐบาลประยุทธ์: เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลเศรษฐา: รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงานถือเป็นกระทรวงสำคัญที่บรรดา ‘นายทุน’ ผู้อยู่รัฐบาลชุดนี้หมายปอง ด้วยตัว ‘นโยบาย’ ที่เกี่ยวข้องกับสองเรื่องสำคัญ คือเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้า ราคาแก๊ส-ราคาน้ำมัน รวมไปถึงอำนาจในการดูแลรัฐวิสาหกิจใหญ่ อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. 

เมื่อดีลทุกอย่างลงตัวระหว่าง ‘นายทุน’ กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ รวมไทยสร้างชาติจึงได้เก้าอี้นี้ไปครอง พร้อมๆ กับเสียง ส.ว.ฟาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยกมือกันพรึ่บพรั่บ และมอบให้พีระพันธุ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็น ‘มือขวา’ และ ‘คนรู้ใจ’ ของ พลเอกประยุทธ์นั่งเก้าอี้นี้ ท่ามกลางความคาดหวังจากสังคมว่า จะแก้ปัญหา ‘ค่าไฟแพง’ และแก้ปัญหา ‘น้ำมันแพง’ ได้บ้าง

แต่เมื่อคนดูแลกระทรวงอยู่จากกลุ่มเดิม และกลุ่มทุนข้างหลังก็อาจจะเป็นคนเดิม ความคาดหวังเรื่องการลดราคา ลดค่าครองชีพ จึงดูค่อยๆ ‘เลือนราง’ ออกไปทุกที 

 

8. สันติ พร้อมพัฒน์

รัฐบาลประยุทธ์: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

รัฐบาลเศรษฐา: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สันติถือเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ดูเรื่อยๆ มาเรียงๆ แต่ยังคงสภาพความเป็น ‘นายทุน’ และเจ้าของ ส.ส.ในมือได้ดี ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพชรบูรณ์ พื้นที่ของสันติมีเสียง ส.ส.ทั้งสิ้น 6 คน เป็น ‘แลนด์สไลด์’ ยกจังหวัด ทิ้งห่างอันดับสองชัดเจน

ทว่าเรื่องยากลำบากก็คือ สันติเองที่เคยเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ในทศวรรษก่อน หากระทรวงลงลำบาก เมื่อนายกฯ เศรษฐาตัดสินใจนั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอง จึงต้องอาศัย ‘รัฐมนตรีช่วย’ ที่มีความรู้ความสามารถ สันติจึงเหลือเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่อาจจะไม่ใช่ ‘เกรดเอ’ นัก แต่ก็ยังมีพื้นที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี

 

9. อนุชา นาคาศัย 

รัฐบาลประยุทธ์: รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลเศรษฐา: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าชื่อของอนุชา เป็นชื่อที่ ‘ผู้ใหญ่’ ในพรรครวมไทยสร้างชาติฝากไว้ว่าให้พีระพันธุ์ดูแลต่อ จากเดิมที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดี แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ ‘เหมาะ’ กับอนุชา ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ชัยนาท พื้นที่ ‘น้ำ’ และ พื้นที่ ‘นา’ เป็นจำนวนมาก 

อันที่จริง พรรคนี้มีชื่อของแคนดิเดตรัฐมนตรีอยู่หลากหลายคน ไม่ว่าจะโควตาของกลุ่มทุน โควตาของนักการเมืองท้องถิ่น และโควตาของลุงตู่ ทำให้ต้องแบ่งสันปันส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคนี้ให้ดี 

Tags: , , , , ,