วันนี้ (15 กรกฎาคม 2565) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดและคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคม จึงต้องเร่งแก้ไขในทันที

ด้านคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ซึ่งมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อร่างเสร็จจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินการในขั้นต่อไป

“รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการละเมิดและคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมที่ฝังรากลึกมานาน ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการและขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วน องค์กรต่างๆ ต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะ 12 มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานที่รัฐบาลเห็นชอบไปแล้วนั้น นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้จัดการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเคร่งครัด มีมาตรฐาน จัดการกับผู้กระทำผิดให้เข็ดหลาบ รวมถึงเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว”

แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศที่จะดำเนินการร่างนั้น เป็นการต่อยอดจาก 12 มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอในปี 2563 ที่ผ่านมา เช่น ต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วม หรือหน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ และกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ รวมถึงหน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน และต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง

ทั้งนี้ใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศที่จะดำเนินการนั้น เน้นการดำเนินงาน 3 ส่วน ประกอบด้วย

1. ปรับความรู้และทัศนคติของสังคม โดยมีเป้าหมาย อาทิ สร้างกลไกการป้องกันและเฝ้าระวังความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ ปรับระบบความคิดที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ และลดมายาคติของสังคม สร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยต่อทุกเพศวัย

2. ปรับปรุงระบบงานเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยมีเป้าหมาย อาทิ ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพ เข้าถึงบริการที่เป็นมิตรและเป็นธรรม ปรับพฤติกรรมผู้กระทำความผิดและป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

3. ปรับมาตรการทางวินัย กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยมีเป้าหมายไปที่การปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศ ปรับกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพผู้เสียหายให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรการให้สามารถลงโทษทางวินัยร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล่วงละเมิดทางเพศ

Tags: , ,