ในคราวนี้เราจะขอกล่าวถึงกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะ ที่มีความเป็นการเมื้องการเมืองมากที่สุด อีกกระแสหนึ่งในประวัติศาสตร์

ย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ก่อให้เกิดความหายนะต่อผู้คนทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม มีกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะกระแสหนึ่งได้ก่อตัวขึ้นมาเป็นปฏิกิริยาตอบโต้สภาวะล่มสลายนี้ กระแสความเคลื่อนไหวนั้นมีชื่อว่า นอยเยอ ซาคลิชต์ไคต์ (Neue Sachlichkeit)

หรือ นิว อ็อบเจกทิวิตี (New Objectivity) หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘สัจนิยมใหม่’ ซึ่งเป็นกระแสความเคลื่อนไหวและกลุ่มทางศิลปะที่ก่อตัวขึ้นในเยอรมนีในช่วงปี 1920s โดยพวกเขากลับมาเน้นความเหมือนจริง ชัดเจน กระจ่างแจ้ง และคมชัด ซึ่งสวนทางกับกระแสศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ที่เน้นความพร่าเลือนและการแสดงออกของฝีแปรงหรือร่องรอยบนผืนผ้าใบเพื่อขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกอันท่วมท้นล้นหลั่ง ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในยุคนั้น

ศิลปินนิว อ็อบเจกทิวิตี นำเสนอความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา ไร้อารมณ์ฟูมฟาย เพื่อตั้งคำถามกับสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย พวกเขาสนใจวิถีชีวิตในเยอรมนีช่วงหลังสงครามอันยากเข็ญของเหล่าบรรดาคนนอกคนชายขอบของสังคม ซึ่งมีทั้งปัญญาชน และเพื่อนศิลปิน ไปจนถึงชนชั้นแรงงาน โสเภณี และทหารผ่านศึกพิการ ขับเน้นด้วยการใช้การล้อเลียนเสียดสี

พวกเขามุ่งเน้นในการถ่ายทอดธรรมชาติอันไม่จีรังของร่างกายมนุษย์อย่างโจ่งแจ่งไร้การประนีประนอม และถ่ายทอดความงดงามในความน่ารังเกียจของสังคมเมืองใหญ่ในช่วงหลังสงคราม และมุ่งเน้นในการแสดงออกถึงความเป็นจริงรอบตัว รวมถึงตีแผ่ให้เห็นถึงความอยุติธรรมลำเอียงที่ปรากฏขึ้นในสังคม และแสดงให้เห็นถึงความวิปริตทางการเมืองที่กำลังจะก่อตัวกลายเป็นระบอบทรราชย์ของสาธารณรัฐไวมาร์ อย่างจะแจ้ง ท้าทาย โดยไม่หวั่นเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ศิลปินในกลุ่มนี้ก็เช่น มักซ์ เบ็คมันน์ (Max Beckmann) จอร์จ โกรสซ์ (George Grosz) ออกัสต์ แซนเดอร์ (August Sander) และ ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) เป็นต้น

มักซ์ เบ็คมันน์: The Night (1918-1919), สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพวาดที่แสดงถึงฉากอันน่าสะพรึงกลัวในเหตุการณ์อันสับสนวุ่นวายและความรุนแรง อันเป็นลักษณะเด่นของนิว อ็อบเจกทิวิตี โดยเป็นภาพกลุ่มผู้บุกรุกที่เข้ามาจับครอบครัวหนึ่งเป็นตัวประกัน และพันธนาการทรมานพวกเขา, ภาพจาก en.wikipedia.org

ออตโต ดิกซ์: Verwundeter (Wounded Soldier), 1924, ภาพพิมพ์โลหะ, หนึ่งในห้าสิบผลงานภาพพิมพ์จากชุด Der Krieg (The War) ที่ดิกซ์ถ่ายทอดภาพของทหารบาดเจ็บในสงครามท่ามกลางฝุ่นควันคละคลุ้งจากระเบิดในความมืดมิด ใบหน้าของตัวละครแสดงออกถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานและความกลัวต่อความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา, ภาพจาก www.facinghistory.org

ในกระแสเดียวกันนี้ ศิลปินในกลุ่มไม่จำเป็นต้องมีสไตล์หรือจุดร่วมในการทำงานแบบเดียวกัน หากแต่พวกเขาต่างมีความมุ่งมั่นในการเปิดโปงความเป็นจริงอันป่วยไข้ของสังคมร่วมสมัยของพวกเขามากกว่า

ศิลปินนิว อ็อบเจกทิวิตี โอบรับแนวทางการทำงานแบบเหมือนจริงของศิลปะสัจนิยม เพื่อต่อต้านแนวทางแบบจิตนิยมของศิลปะนามธรรม และละทิ้งการมุ่งสำรวจอารมณ์ความรู้สึกภายในที่แปลกแยกจากวิถีชีวิตประจำวันของกระแสศิลปะเยอรมัน เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์* ที่เฟื่องฟูในเยอรมันก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แล้วหันไปผสมผสานความเป็นจริงเข้ากับการจิกกัดเสียดสีเพื่อต่อต้านขนบในแบบของกระแสศิลปะดาดา และมักจะแสดงภาพและเรื่องราวธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนและวัตถุสิ่งของ

และพวกเขาก็ขับเน้นให้มันมีความชัดเจนแจ่มชัดอย่างล้นเกิน จนทำให้ความจริงถูกลบเลือนลงไป เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นนามธรรมที่อยู่ภายในสิ่งเหล่านั้น ศิลปินในกลุ่มนี้เชื่อว่า ถ้าหากวาดภาพภายนอกออกมาได้อย่างชัดเจนเฉียบคม สิ่งที่อยู่ภายในก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง

ดังนั้น ภาพวาดเหมือนจริงของพวกเขาจึงไม่ได้เป็นแค่การลอกเลียนแบบความเป็นจริงแบบเดิมๆ หากแต่เป็นการแสดงความเป็นจริงด้านมืดและเปิดเผยความบิดเบี้ยวและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมที่พวกเขาประสบพบเจอในสังคมเยอรมัน

*เยอรมัน เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (German Expressionism) (1905-1930) เป็นกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่มีลักษณะเน้นอารมณ์ความรู้สึกภายในของศิลปิน มากกว่าการถ่ายทอดความเป็นจริงภายนอก เน้นการใช้องค์ประกอบที่จัดจ้าน บางครั้งรุนแรงและไร้ตรรกะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ของผู้สร้างสรรค์ในห้วงขณะนั้นอย่างฉับพลัน ผ่านสื่อหลายแขนง ทั้งจิตรกรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวในการใช้แสงเงาตัดกันอย่างจัดจ้านเข้มข้น และฉากหลังอันพิสดารที่มีเหลี่ยมมุมเบี้ยวบิดผิดธรรมชาติ

งานของศิลปินนิว อ็อบเจกทิวิตี วิพากษ์วิจารณ์สังคมร่วมสมัยของเยอรมันในยุคนั้นอย่างหนักหน่วง โดยมุ่งความสนใจไปยังความมืดหม่นสิ้นหวังของชีวิต ด้วยการถ่ายทอดภาพของสงคราม ความรุนแรง เซ็กส์ ความชราภาพ และความตายอย่างจะแจ้งไร้การผ่อนปรน และเปิดเผยด้านอัปลักษณ์ที่ถูกเพิกเฉยหรือหลงลืมไปในสังคมเยอรมันร่วมสมัย (ในยุคนั้น) อย่างไร้ความกระดากอาย

อนึ่ง ชื่อกลุ่ม นอยเยอ ซาคลิชต์ไคต์ หรือที่มักจะแปลว่า นิว อ็อบเจกทิวิตี (สัจนิยมใหม่) นั้นถูกบัญญัติขึ้นโดย กุสตาฟ ฟรีดิช ฮาร์ทล็อบ (Gustav Friedrich Hartlaub) ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในเมืองมันน์ไฮม์ (Kunsthalle Mannheim) โดยใช้เป็นชื่อของนิทรรศการในปี 1925 ที่สำรวจผลงานศิลปะในยุคหลังเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ของศิลปินหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ออตโต ดิกซ์, จอร์จ โกรสซ์, มักซ์ เบ็คมันน์, กีออค ชริมฟ์ (Georg Schrimpf) อเล็กซานเดอร์ คาโนลด์ (Alexander Kanoldt) และ คาร์โล เมนเซอ (Carlo Mense)

และถึงแม้ผลงานในนิทรรศการจะมีรูปแบบในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ศิลปินทุกคนต่างก็มีเป้าหมายในการนำเสนอมุมมองของชีวิตที่เป็น ‘ความเป็นจริงที่จับต้องได้’ มากขึ้น ดั่งอีกความหมายหนึ่งของคำว่า Sachlichkeit ที่แปลว่า ‘ความเป็นจริงอันถ่องแท้’ ที่นำเสนอเรื่องราวรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันและความเรียบง่ายตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกัน ความเป็นจริงอันเปิดเผยโจ่งแจ้งเหล่านั้น ก็ทำหน้าที่เปิดโปงความผิดปกติของสังคมด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จักรวรรดิเยอรมันบอบช้ำอย่างหนักจากความพ่ายแพ้ ผู้คนนับล้านต้องตายจากความอดอยากและโรคภัย ประเทศชาติเสียหายยับเยินจากสงคราม ประกอบกับความไม่มั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ (ประชาธิปไตย) เและก่อตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ขึ้นในปี 1919

ถึงแม้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเยอรมนีครั้งแรกจะมุ่งเน้นในการฟื้นฟูและกำหนดนิยามของประเทศขึ้นมาใหม่ด้วยแนวทางการเมืองและเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่ปีต่อมา สาธารณรัฐไวมาร์ก็ต้องประสบกับสภาวะเงินเฟ้อครั้งมโหฬาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 1921 และ 1923 ส่งผลให้เงินมาร์คเยอรมันไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง วิกฤติทางเศรษฐกิจนี้ยิ่งส่งผลให้เกิดความอดอยากและโรคภัยหนักกว่าเดิม เยอรมนีตกอยู่ในความเสื่อมโทรมเป็นหนี้สินก้อนใหญ่ ทั่วทั้งประเทศเต็มไปด้วยคนอดยากไร้ โสเภณี และขอทาน

ในขณะที่สถานการณ์เลวร้ายกระจายตัวไปทั่วทั้งประเทศ ศิลปินนิว อ็อบเจกทิวิตี ก็ตีแผ่และเปิดโปงความเป็นจริงอันเลวร้ายเหล่านี้ออกมาด้วยเนื้อหาและเรื่องราวที่สะท้อนถึงความกังวลของพวกเขาอย่างโจ่งแจ้ง ดังคำกล่าวของ ออตโต ดิกซ์ ศิลปินคนสำคัญของกลุ่มที่ว่า “ศิลปินทุกคนในกลุ่มนี้ต้องการมองสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจนเปลือยเปล่าและตรงไปตรงมา จนแทบจะไม่มีความเป็นศิลปะเลยด้วยซ้ำไป”

ซึ่งการปฏิเสธความโรแมนติกเพ้อฝันและความเป็นอุดมคติในงานศิลปะ และเปิดเผยความเป็นจริงแบบตรงไปตรงมาของศิลปินกลุ่มนิว อ็อบเจกทิวิตี นี้เองก็ได้รับการตอบรับเป็นอันดีจากเหล่าปัญญาชนในสาธารณรัฐไวมาร์ ผู้ต้องการขจัดความบอดใบ้ในสังคมยุคนั้น

แต่ถึงกระนั้น ในทางการเมือง ศิลปินกลุ่มนิว อ็อบเจกทิวิตี ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยในปี 1922 กุสตาฟ ฟรีดิช ฮาร์ทล็อบ ได้ทำการระบุแนวทางของศิลปินนิว อ็อบเจกทิวิตีออกเป็นสองกลุ่มหลัก โดยแบ่งเป็นปีกขวาและปีกซ้ายทางการเมือง

โดยเรียกขานกลุ่มปีกขวา หรือเหล่าศิลปินกลุ่มอนุรักษนิยมว่า ‘เดอะ คลาสซิซิสตส์’ (The Classicists) โดยมีศิลปินอย่าง กีออค ชริมฟ์, อเล็กซานเดอร์ คาโนลด์, คาร์โล เมนเซอ และ คริสเตียน แชด (Christian Schad) เป็นต้น

และเรียกขานกลุ่มปีกซ้าย หรือเหล่าศิลปินร่วมสมัยผู้เกรี้ยวกราด (ซึ่งฮาร์ทล็อบนิยามว่า “เป็นใบหน้าที่แท้จริงแห่งยุคสมัยของเรา” —ลำเอียงกันเห็นๆ) ว่า ‘แวริสม์’ (verism) ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Verus ที่แปลว่า ‘ความจริง’  โดยมีศิลปินอย่าง จอร์จ โกรสซ์ และ ออตโต ดิกซ์​ รวมถึงผลงานในยุคแรกๆ ของ มักซ์ เบ็คมันน์ เป็นต้น

 

ออตโต ดิกซ์: Portrait of the Journalist Sylvia von Harden (1926), สื่อผสมบนแผ่นไม้, ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างอันสำคัญของงานศิลปะแบบนิว อ็อบเจกทิวิตี ภาพของนักข่าว/กวีสาวชาวเยอรมัน ซิลเวีย ฟอน ฮาร์เดน ผู้เป็นตัวแทนของ ‘ผู้หญิงยุคใหม่’ ที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคสาธารณรัฐไวมาร์ พวกเธอไว้ผมสั้น ท่าทีก๋ากั่น สูบบุหรี่จัด ดื่มค็อกเทล มีอิสระเสรีทางเพศ รวมถึงกำหนดวิถีชีวิตการทำงานของตัวเองได้ และไม่ดิ้นรนที่จะทำตัวให้สวยงามในสายตาของเพศชาย หากแต่เผชิญหน้าพวกเขาอย่างท้าทาย ซึ่งดิกซ์ถ่ายทอดภาพของเธอออกมาอย่างจะแจ้งตรงไปตรงมา โดยไม่แยแสต่อความงามตามขนบ,  ภาพจาก karipetroschmidt.blogspot.com

จอร์จ โกรสซ์: Eclipse of the Sun (1926), สีน้ำมันบนผ้าใบ, โกรสซ์วิพากษ์วิจารณ์เหล่าชนชั้นปกครองและผู้นำทหารผู้มีอำนาจที่ร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจสงครามท่ามกลางความบาดเจ็บล้มตายของประชาชนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยภาพของวีรบุรุษสงครามที่กลายเป็นรัฐมนตรีเยอรมัน ที่กำลังกระซิบข้างหูผู้นำทหารที่กลายเป็นนักอุตสาหกรรม และเหล่าข้าราชการไร้ศีรษะที่เป็นลูกขุนพลอยพยักเห็นดีเห็นงามกับการลงนามในนโบายที่กอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าผู้มีอำนาจ ในขณะที่ทางซ้ายบนของภาพมีดวงอาทิตย์ที่กำลังถูกบดบังด้วยสัญลักษณ์ดอลลาร์อยู่, ภาพจาก www.tate.org.uk

ศิลปินปีกซ้ายอย่าง แวริสม์ นั้นมุ่งเน้นในการนำเสนอรูปแบบความเป็นจริงที่อ้างอิงถึงบุคคลร่วมสมัย และแฝงเอาไว้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ภาพวาดของพวกเขามักจะเสนอภาพความเป็นจริงอย่างชัดเจนจนล้นเกินและช็อกความรู้สึก เต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง ขมขื่น

พวกเขาเลือกที่จะทำงานใกล้ชิดกับชนชั้นล่าง มักนำเสนอภาพความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม ความเสื่อมถอยทางศีลธรรมของคนในเมืองใหญ่ ความหายนะทางสังคม ด้วยภาพของชนชั้นแรงงาน ทหารผ่านศึกพิการ คนทุพพลภาพ โสเภณี คนขี้เหล้าเมายา และคนจรหมอนหมิ่น บ้างก็เป็นภาพความเสื่อมโทรมของชนชั้นสูง ซึ่งทั้งหมดถูกถ่ายทอดในรูปแบบเหมือนจริงอย่างจะแจ้งไปจนถึงอัปลักษณ์ เพื่อเสียดสีถากถางและวิพากษ์วิจารณ์สังคม ผู้มีอำนาจ มุมมองอันคมกริบและเย็นชาของพวกเขาตอกหน้าสังคมไวมาร์อันเสื่อมโทรมได้อย่างถึงแก่น

ในขณะที่ศิลปินปีกขวาอย่าง เดอะ คลาสซิซิสตส์ นั้นวางรากฐานตัวเองในแนวทางของศิลปะคลาสสิค และเสาะหาภาษาทางศิลปะอันเป็นสากล และประกาศตัวในการแสวงหาหนทางกลับคืนสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย อันเป็นแนวคิดปกติทั่วไปของสังคมยุโรปในช่วงหลังสงคราม และมักจะหลีกเลี่ยงการเสียดสีล้อเลียนและการแสดงออกถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างชัดเจนจะแจ้งแบบศิลปินกลุ่มแวริสม์ หากแต่แสดงออกถึงการหวนหาอดีตอันรุ่งเรื่องเสียมากกว่า

กีออค ชริมฟ์: Child Portrait (Peter in Sicily) (1925), สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพลูกชายของศิลปิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเสาะหาความเป็นจริงในเชิงกวี ด้วยความเชื่อว่างานศิลปะที่แสดงออกถึงความสงบและความสอดประสานกลมกลืนอันไร้กาลเวลาจะสามารถถ่วงดุลสถานการณ์อันระส่ำระสายของอาณาจักรไวมาร์ลงได้, ภาพจาก commons.wikimedia.org

คริสเตียน แชด: Self-portrait (1927), สีน้ำมันบนแผ่นไม้, ภาพเหมือนตัวเองของศิลปินที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ในเชิงอุปมาและความลึกลับเหนือจริง เขาพัฒนาภาษาศิลปะที่ผสมผสานทั้งรูปแบบของเดอะ คลาสซิซิสตส์ และ เมจิก เรียลลิสม์ เข้าไว้ด้วยกัน, ภาพจาก artillerymag.com

กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบนิว อ็อบเจกทิวิตี ยังมีแนวทางการทำงานที่แตกต่างออกไปอีก อาทิแนวทางที่เรียกว่า เมกิเชอ เรียลลิสมิส (Magischer Realismus) หรือ เมจิก เรียลลิสม์  (Magic Realism) ที่นำเสนอข้อเท็จจริงในสังคมด้วยแง่มุมที่ลึกลับและเหนือจริง ดังเช่นในผลงานของ อัลเบิร์ต คาร์เรล วิลลิง (Albert Carel Willink) ที่ผสมผสานวัตถุสิ่งของแปลกตาจากต่างวัฒนธรรมเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ในทิวทัศน์อันเวิ้งว้าง หรืองานในช่วงหลังของ มักซ์ เบ็คมันน์ และ คริสเตียน แชด ที่ผสมผสานลักษณะอันแปลกประหลาดเหนือจริงเข้ากับภาพความเป็นจริงเพื่อแสวงหาความเป็นจริงผ่านมุมมองใหม่ๆ

ซึ่งแนวทางศิลปะนี้เองที่ส่งอิทธิพลข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และแตกหน่อต่อยอดจนเกิดงานจิตรกรรม หรือแม้แต่งานวรรณกรรมที่มีชื่อเรียกว่า เมจิกคัลเรียลลิสม์ (Magical Realism) หรือ สัจนิยมมหัศจรรย์ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนั่นเอง

นอกจากนั้น นิว อ็อบเจกทิวิตี ยังมีรูปแบบของศิลปะภาพถ่าย ที่บันทึกภาพความจริงทั่วไปในชีวิตประจำวันอันธรรมดาสามัญเอาไว้ด้วยมุมมองที่คมชัด กระจ่างแจ้ง ตรงไปตรงมา และโดยมากมักจะเป็นภาพของวัตถุที่ถูกวางซ้ำๆ อย่างเป็นระเบียบ เพื่อนำเสนอภาพชีวิตในระบบบอุตสาหกรรม ดังเช่นในผลงานของ อัลเบิร์ต เรงเงอร์-แพตส์ (Albert Renger-Patzsch) ทั้งยังมีงานสถาปัตยกรรม ที่เน้นประโยชน์ใช้สอย และแสดงออกถึงความจริงอย่างตรงไปตรงมาผ่านโครงสร้างของมัน รวมถึงศิลปะการละครและดนตรีด้วยเช่นกัน

อัลเบิร์ต เรงเงอร์-แพตส์: Flat Irons for Shoe Manufacture, Fagus Factory I (1926) ภาพถ่ายเจลาติน ซิลเวอร์ปรินต์, ภาพถ่ายของเตารีดเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าที่แสดงถึงความเป็นระบบระเบียบในระบบอุตสาหกรรม เพื่อแสดงออกถึงความจริงแท้ในวัตถุธรรมดาสามัญ, ภาพจาก artillerymag.com

กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบนิว อ็อบเจกทิวิตี ถึงจุดสิ้นสุดเมื่อพรรคนาซีเถลิงอำนาจในปี 1933 อันเป็นจุดจบของสาธารณรัฐไวมาร์ด้วย

วิลเฮล์ม ฟริค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งไรซ์ในคณะรัฐมนตรีของฮิตเลอร์ ออกคำสั่ง ‘จุดจบของการบ่อนทำลายจิตวิญญาณ’ โดยกล่าวว่า “สิ่งที่ไม่มีความเป็นเยอรมันอย่างสิ้นเชิงที่อยู่ภายใต้ชื่อ นิว อ็อบเจกทิวิตี จะต้องถึงจุดจบ”

ในปี 1937 กลุ่มนิว อ็อบเจกทิวิตี ถูกยุบทิ้งภายใต้แคมเปญการกวาดล้าง ‘ศิลปะเสื่อมทราม’ (degenerate art) (ซึ่งในที่นี้รวมถึง ศิลปะสมัยใหม่ ด้วยเหมือนกัน) ผลงานของพวกเขาถูกห้ามแสดงไปจนถึงห้ามทำขึ้นมา ศิลปินในกลุ่มต่างถูกหมายหัวในฐานะศิลปินชั้นต่ำที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเยอรมันต้องมัวหมอง ผลงานของพวกเขาหลายชิ้นถูกเผาทำลาย บ้างก็ถูกขายเป็นทุนให้พรรคนาซี ศิลปินหลายคนอย่าง ออตโต ดิกซ์ ถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมในสภาวิจิตรศิลป์ของอาณาจักไรซ์ และถูกบังคับให้วาดแต่ภาพทิวทัศน์อันเรียบง่าย และภาพเชิดชูอุดมการณ์ของลัทธินาซี ศิลปินอีกหลายคนอย่าง มักซ์ เบ็คมันน์ และ จอร์จ โกรสซ์ ต้องหลบลี้หนีภัยออกจากประเทศ

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมนี กระแสศิลปะนิว อ็อบเจกทิวิตี ก็ห่างหายไปจากความนิยมของนักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิจารณ์อยู่หลายปี ด้วยเหตุที่มันขาดความเป็นเอกภาพจนถูกมองข้ามไป แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 1960 กระแสเคลื่อนไหวนี้ก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกคำรบหนึ่ง และส่งอิทธิพลและแรงบันดาลใจต่อกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะและศิลปินรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็น แคปิตอลลิสต์ เรียลลิสม์ (Capitalist Realism) และโฟโต้ เรียลลิสม์ (Photorealism)

มันยังส่งอิทธิพลมาสู่งานศิลปะภาพถ่ายแบบสัจนิยมร่วมสมัย อาทิเช่น ในผลงานของศิลปินภาพถ่ายคู่สามีภรรยา แบร์น และ ฮิลลา เบเคอร์ (Bernd & Hilla Becher) ผู้ก่อตั้งสถาบัน Dusseldorf School และเป็นอาจารย์ของศิลปินช่างภาพชาวเยอรมันชื่อดังอย่าง อันเดรียส กอร์สกี้ (Andreas Gursky) คันดิดา ฮูฟเฟอร์ (Candida Höfer) โธมัส รูฟฟ์ (Thomas Ruff) และ โธมัส สตรูธ (Thomas Struth)

รวมถึงยังส่งแรงบันดาลใจต่อไปถึงคนทำภาพยนตร์ เช่น ในผลงาน A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence (2014) ของ รอย แอนเดอร์สัน (Roy Andersson) ที่รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของศิลปินในกลุ่มนิว อ็อบเจกทิวิตี อย่าง ออโต ดิกซ์ และ จอร์จ โกรสซ์ นั่นเอง

A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence (2014) ภาพจาก www.coolconnections.ru

 

 

ภาพหน้าแรก : มักซ์ เบ็คมันน์, Paris Society (Gesellschaft Paris) (1931) สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพวาดของผู้อพยพ ชนชั้นสูง นักธุรกิจ และปัญญาชน ที่เข้าร่วมในงานเฉลิมฉลองของอาณาจักรไรช์ที่สาม เบ็คมันน์จับภาพของชั่วพริบตาอันเรื่องรองของโลกก่อนที่จะร่วงหล่นลงสู่ห้วงอเวจี (ภาพจาก https://www.guggenheim.org/artwork/503)

ข้อมูล

Tags: , , , ,