ในตอนที่แล้ว บทความได้กล่าวถึงกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่หยิบเอาข้าวของดาษดื่นไร้ค่ามาสร้างงาน ในคราวนี้ เราจะกล่าวถึงกระแสการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ทำงานกับสิ่งธรรมดาสามัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือผืนแผ่นดินโลกนั่นเอง ศิลปะกระแสนั้นมีชื่อว่า ‘แลนด์อาร์ต (Land art)’ หรือเรียกอีกชื่อว่า เอิร์ธอาร์ต (Earth art) หรือ เอิร์ธเวิร์กส์ (Earthworks)

แลนด์อาร์ตเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา (เป็นส่วนใหญ่) ในราวปลายยุคทศวรรษ 1960s ถึงปลายยุค 1970s ที่ใช้พื้นที่หรือภูมิทัศน์ในธรรมชาติสร้างงานศิลปะอย่างเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ (site-specific)

กระแสเคลื่อนไหวนี้พัฒนามาจากศิลปะมินิมอลลิสม์และคอนเซ็ปชวลอาร์ต ผนวกกับการเริ่มต้นของกระแสเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม และความเป็นธุรกิจการค้าอย่างหนักของวงการศิลปะอเมริกันในช่วงปลายยุค 1960s ซึ่งส่งอิทธิพลให้ศิลปินมีแนวคิดต่อต้านความเป็นธุรกิจของศิลปะ และทำงานที่หลีกหนีจากการตลาดในโลกศิลปะ โดยการใช้วัตถุเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียดและการประดับประดาอันเกินจำเป็น ซึ่งเป็นแนวทางของศิลปะมินิมอลลิสม์ และการใช้วัสดุดาษดื่นสามัญที่คนส่วนใหญ่มองว่าต่ำต้อยด้อยค่า ซึ่งเป็นแนวทางของ อาร์เต้ โพเวร่า และการสร้างความมีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ชุมชน สังคม กับศิลปะ จากแนวคิดประติมากรรมสังคม (Social Sculpture) ของ โจเซฟ บอยส์ ที่มุ่งเน้นการรีดเร้นประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในทุกสภาพแวดล้อม ศิลปินแลนด์อาร์ตยังได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่าง สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) อีกด้วย

โรเบิร์ต สมิธสัน: Broken Circle and Spiral Hill (1971) เอ็มเมน, เนเธอร์แลนด์ ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Emmen_Smithson_Broken_Circle.JPG

แลนด์อาร์ต ศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ

ศิลปินแลนด์อาร์ต มักจะนำวัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติโดยตรงมาใช้ทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น ดิน หิน ก้อนกรวด ต้นไม้ใบหญ้า กิ่งไม้ (ที่เก็บตกได้) หรือแม้แต่น้ำ พวกเขามักจะสร้างงานศิลปะในพื้นที่หรือภูมิทัศน์ในธรรมชาติ และมักจะเป็นงานชั่วคราว หรือบางครั้งก็เป็นงานที่ทําขึ้นถาวรแต่ปล่อยทิ้งไว้ให้เปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ แล้วบันทึกแต่เพียงภาพถ่ายหรือวิดีโอเอาไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ด้วยการทำงานที่ไม่คงทนถาวร เสื่อมสลายง่าย และมีอายุสั้นเช่นนี้ ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากความเป็นธุรกิจในตลาดศิลปะกระแสหลักนั่นเอง

ศิลปินแลนด์อาร์ต มักจะใช้วัสดุที่พบได้ในพื้นที่ที่พวกเขาเลือกทำงานเท่านั้น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อความเฉพาะตัวของสถานที่แต่ละแห่ง และสถานที่เหล่านั้นก็ถูกเลือกด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แนวคิดของการทำงานศิลปะที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่นี้เอง ที่เป็นสิ่งที่ศิลปินแลนด์อาร์ตเป็นผู้บุกเบิกขึ้นในโลกศิลปะ

การทำงานศิลปะที่ต้องการพื้นที่ธรรมชาติอันกว้างใหญ่ เปิดโล่ง ทำให้ผลงานของพวกเขาไม่ใช่งานที่ทุกคนจะดูกันได้ง่ายๆ (อย่างเช่นบางงานต้องดูจากที่สูง ถึงจะเห็นได้ทั้งหมด) ด้วยเหตุนี้เอง แลนด์อาร์ตจึงเป็นการตั้งคำถามกับจุดประสงค์เบื้องต้นที่สุดของงานศิลปะ นั่นคือการเป็นสิ่งที่ ‘ถูกดู’ นั่นเอง

แลนด์อาร์ตกับภูมิทัศน์

อนึ่ง ศิลปินแลนด์อาร์ต ไม่ได้ทํางานศิลปะที่ ‘วางอยู่’ ในภูมิทัศน์ธรรมชาติ หากแต่ใช้ภูมิทัศน์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ‘เป็นปัจจัย’ สําคัญที่ก่อให้เกิดงานศิลปะ

นิยามอันเด่นชัดของศิลปินแลนด์อาร์ต คือการปฏิเสธพื้นที่แสดงงานศิลปะตามแบบแผนเดิมอย่างหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ ปฏิเสธความเป็นธุรกิจการค้าที่ครอบงำศิลปะอย่างสิ้นเชิง และท้าทายขนบเดิมๆ ของนิยามความเป็นศิลปะที่เป็นเพียงสิ่งซื้อ-ขายเพื่อผลกำไร

ในช่วงปลายยุค 1960s และ 1970s ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงเวลาแห่งการทดลองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ด้วยกระแสเคลื่อนไหวอันหลากหลาย และศิลปินทำงานในหลายรูปแบบหลากสไตล์ไปพร้อมๆ กัน ทำให้บางครั้งแยกแยะได้ยากว่าศิลปินคนไหนทำงานแบบใด หรือเป็นงานศิลปะประเภทไหน

รูปแบบของแลนด์อาร์ตเองก็มีลักษณะแบบเดียวกับศิลปะมินิมอลลิสม์ ในแง่ที่มุ่งเน้นการแสดงออกถึงการครอบครองพื้นที่ของวัตถุ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับงานศิลปะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเรียบง่ายและลดทอนของรูปทรง แต่ถึงจะรับรูปแบบทางสนุทรียะบางประการมาจากมินิมอลลิสม์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ศิลปินแลนด์อาร์ตมักจะให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการบันทึกข้อมูลเป็นอย่างมาก และบางครั้งก็ให้ความสำคัญกับท่วงทีการแสดงออกในการทำงานแบบเดียวกับศิลปะแสดงสด ซึ่งทำให้มันมีลักษณะใกล้เคียงกับงานศิลปะในยุคหลังมินิมอลลิสม์ อย่างโพรเซสอาร์ต (Process art) ศิลปะจัดวาง (Installation art) และศิลปะแสดงสด (Performance art) เสียมากกว่า และเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัวที่สุดของแลนด์อาร์ต

คือมักจะเป็นงานที่ทำขึ้นในพื้นที่กลางแจ้งและใช้วัสดุธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการ และย่อยสลายผุพังตไปตามกาลเวลา ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดและสุนทรียะแบบอุตสาหกรรมและสังคมเมืองของศิลปะมินิมอลลิสม์

ศิลปะ การค้า จักรกล และสงคราม

และเช่นเดียวกับคอนเซ็ปชวลอาร์ต แลนด์อาร์ตปฏิเสธคุณค่าของความงามและสุนทรียะ ปฏิเสธความเป็นธุรกิจการค้าในศิลปะ รวมถึงการแสดงนิทรรศการศิลปะตามแบบแผนในสถาบันทางศิลปะทั้งหลาย

พวกเขาให้ความสำคัญกับความไม่จีรังยั่งยืนของศิลปะ และถึงแม้ผลงานศิลปะแบบแลนด์อาร์ตมักจะใหญ่โตมโหฬารและดูน่าตื่นตา แต่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่สุดของมันเสมอ ก็คือ ‘ความคิด’ ศิลปินแลนด์อาร์ตโดยส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของยุคสงครามเวียดนาม หลายคนถูกเกณฑ์ทหารไปรบ แต่พวกเขาก็ได้สิทธิเล่าเรียนฟรีตามกฎหมาย GI Bill (กฏหมายสิทธิประโยชน์สำหรับทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2) นี่เป็นเหตุผลที่พวกเขาปฏิเสธสุนทรียะแบบอุตสาหกรรมและจักรกล ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนสงครามนั่นเอง

ศิลปินแลนด์อาร์ตผู้โดดเด่นและทรงอิทธิผลที่สุดคนหนึ่งคือ โรเบิร์ต สมิธสัน (Robert Smithson) หนึ่งในผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะนี้ให้แพร่หลาย ในช่วงแรก สมิธสันทำผลงานจิตรกรรมในแบบแอ็บสแตร็กเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ก่อนที่จะได้พบกับศิลปินมินิมอลลิสม์และคอนเซ็ปชวล อย่าง คาร์ล อังเดร (Carl Andre) โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) คเลยส์ โอเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) และแนนซี โฮลต์ (Nancy Holt) (ซึ่งกลายเป็นภรรยาของเขาในภายหลัง) ในต้นทศวรรษ 1960s ซึ่งส่งอิทธิพลให้เขาหันมาทำงานประติมากรรมที่ใช้วัสดุอุตสาหกรรมและวัสดุธรรมชาติ

Spiral Jetty ศิลปะกับสิ่งแวดล้อมเมื่อมองจากมุมสูง

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960s เขาเริ่มขยายขอบเขตการทำงานศิลปะของเขาออกจากพื้นที่หอศิลป์สู่พื้นที่กลางแจ้ง และทำงานศิลปะบนผืนแผ่นดินโลก ด้วยการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีผู้อุปถัมภ์และนักสะสมงานศิลปะชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลอย่าง เวอร์จิเนีย ดอว์น (Virginia Dwan) ทายาทแห่งเครือบริษัท 3M ที่มีส่วนสำคัญในการจุดกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแลนด์อาร์ตขึ้นมา

โดยในตอนแรก สมิธสันวางแผนจะทำโครงการศิลปะที่เรียกว่า แอเรียลอาร์ต (Aerial Art) หรือศิลปะกลางเวหา ซึ่งเป็นงานศิลปะขนาดใหญ่มหึมาที่ทำในพื้นที่ว่างของรันเวย์สนามบิน เพื่อให้คนดูระหว่างเครื่องบินบินขึ้นและลง ถึงแม้โครงการนี้จะไม่เกิดขึ้นจริง แต่เขาและเพื่อนๆ ศิลปินก็ได้แรงบันดาลใจจากไอเดียการสำรวจพื้นที่รกร้างซึ่งไม่ถูกใช้ประโยชน์ในนิวเจอร์ซีย์และอีกหลายรัฐทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งอันกว้างใหญ่ไพศาล

สมิธสันวางแนวคิดทางศิลปะแบบแลนด์อาร์ตของเขาเป็นสองแบบคือ ‘Site’ (ศิลปะบนพื้นที่) และ ‘Nonsite’ (ศิลปะที่ไม่ได้อยู่บนพื้นที่) โดย ‘Nonsite’ หรือ ‘แลนด์อาร์ตในร่ม’ หมายถึงการแสดงงานแลนด์อาร์ตในหอศิลป์ ด้วยการนำวัสดุธรรมชาติจากพื้นที่จริงมาวางในหอศิลป์ พร้อมกับภาพร่างหรือภาพถ่ายของสถานที่จริง ส่วน ‘Site’ หรือ ‘แลนด์อาร์ตกลางแจ้ง’ หมายถึงผลงานที่สร้างนอกหอศิลป์บนพื้นที่จริงๆ โดยเฉพาะเจาะจง และตัวผลงานต้องทำจากวัสดุที่มาจากสถานที่นั้นๆ เท่านั้น โดยสมิธสันมักจะทำงานร่วมกับนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่

โรเบิร์ต สมิธสัน: Spiral Jetty (1970) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Spiral_Jetty

 

ผลงานแลนด์อาร์ตที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดของสมิธสันก็คือ Spiral Jetty (1970) ประติมากรรมจัดวางรูปขดก้นหอย ที่ทำขึ้นบนพื้นที่ธรรมชาติของทะเลสาบเกรตซอลต์ รัฐยูทาห์ ในพื้นที่ทางทิศเหนือของทะเลสาบ ซึ่งถูกปนเปื้อนจากการก่อสร้างทางรถไฟแปซิฟิกใต้ในปี 1959 การปนเปื้อนไปกระตุ้นให้แบคทีเรียและสาหร่ายที่ทนต่อเกลือได้ดีเติบโตและขยายตัวเป็นจำนวนมาก จนทำให้น้ำกลายเป็นสีม่วงแดง สาเหตุที่เขาเลือกใช้พื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำลายเช่นนี้ ก็เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งการฟื้นคืนและการเกิดใหม่

โรเบิร์ต สมิธสัน: Spiral Jetty (1970) © Estate of Robert Smithson / licensed by VAGA, New York, NY; Collection: DIA Center for the Arts, New York ภาพโดย Gianfranco Gorgoni ภาพจาก http://www.tate.org.uk/art/research-publications/the-sublime/timothy-d-martin-psychosis-and-the-sublime-in-american-art-rothko-and-smithson-r1136831

การติดตั้งงานประติมากรรมจัดวาง Spiral Jetty ลงไปบนพื้นที่ส่วนที่ปนเปื้อนของทะเลสาบ รวมถึงการใช้เพียงวัสดุธรรมชาติที่พบในพื้นที่ทะเลสาบของสมิธสัน ดึงดูดความสนใจของสาธารณชนให้หันมามองปัญหาเกี่ยวกับการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ผลงานชิ้นนี้ของเขายังสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของห้วงเวลา ในการกัดกร่อนและเปลี่ยนสภาพแวดล้อมบนโลกของเรา

โครงสร้างรูปขดก้นหอยที่ดูคล้ายกับเครื่องหมายคำถามของงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปแบบการเติบโตของผลึกแก้วในธรรมชาติ นอกจากนั้นมันยังดูคล้ายกับสัญลักษณ์ในยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งทำให้ภูมิทัศน์ในผลงานดูเก่าแก่โบราณ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูล้ำยุคล้ำสมัยไปพร้อมๆ กัน

ด้วยงานศิลปะรูปแบบใหม่นี้ สมิธสันเปิดหนทางใหม่ๆ ในการละทิ้งขนบธรรมเนียมของการทำงานศิลปะแบบเดิมๆ และสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้ว ที่ทางของศิลปะควรจะอยู่ที่ไหนกันแน่?

สิ้นสุดที่สูญสลาย และคำถามต่องานศิลปะ

นอกจากทำงานศิลปะแล้ว สมิธสันยังเป็นนักเขียนและนักวิจารณ์ผู้ทรงอิทธิพล เขาเขียนบทความให้กับนิตยสารศิลปะชั้นนำของอเมริกา อาทิ Artforum

บทความชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาคือ ‘Entropy and the New Monuments’ (1969) ที่ว่าด้วยความสนใจเกี่ยวกับเอนโทรปี (กฎข้อที่สองของอุณหพลศาสตร์) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกายภาพที่เกิดขึ้นเองทางธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้ความแตกต่างของอุณหภูมิ แรงดัน ความหนาแน่น หรือค่าอื่นๆ ในระบบของสิ่งต่างๆ ค่อยๆ น้อยลงจนกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน (ยกตัวอย่างเช่นการละลายของน้ำแข็งในน้ำ เป็นต้น)

ในบทความแสดงการเปรียบเทียบระหว่างเหมืองแร่ ห้างสรรพสินค้า และบ้านจัดสรรในนิวเจอร์ซีย์ ว่าท้ายที่สุดแล้ว วันหนึ่งสถานที่เหล่านี้ก็จะเสื่อมสลายและกลายสภาพไปเป็นกองหินกองกรวดไปในที่สุด

แนวคิดในการสร้างงานบนพื้นที่นอกหอศิลป์ และการบันทึกภาพและเก็บข้อมูลเพื่อนำมาแสดงในหอศิลป์ในภายหลังของสมิธสัน เป็นแนวทางสำคัญที่กำหนดรูปแบบของการทำงานแลนด์อาร์ตในช่วงปี 1960 จนถึงปัจจุบัน ข้อถกเถียงของเขาเกี่ยวกับความเที่ยงแท้ถาวรและความเสื่อมสลายของวัตถุทางศิลปะ มีส่วนกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นหลังหลายคนตั้งคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับบทบาทของงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ

อิทธิพลต่อศิลปินอื่นๆ

น่าเศร้าที่ในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1973 ขณะที่กำลังเดินทางสำรวจพื้นที่ทำงานศิลปะแห่งใหม่บนท้องฟ้าด้วยเครื่องบิน ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เครื่องบินที่เขาโดยสารเกิดอุบัติเหตุตกลงที่เมือง อมาริลโล รัฐเท็กซัส เป็นเหตุให้สมิธสันเสียชีวิตลงในวัยเพียง 35 ปีเท่านั้น ถึงแม้จะมีอายุและช่วงเวลาการทำงานศิลปะที่แสนสั้น แต่ผลงานของเขาก็สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นหลัง รวมถึงนักสร้างสรรค์ในสาขาอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน

ผลงานของศิลปินอเมริกัน ไมเคิล ไฮเซอร์ (Michael Heizer) อย่าง Double Negative (1969-70) ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างสโตนเฮนจ์ และสุสานชาวอเมริกันพื้นเมืองขนาดใหญ่โตโอฬาร ซึ่งเขาได้ไปเยี่ยมชมกับพ่อผู้เป็นนักโบราณคดีเมื่อครั้งยังเด็ก งานชิ้นนี้ เป็นการตัดเจาะหน้าผาหินไรโอไลต์และหินทรายบนภูเขามอร์มอน เมซา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ โอเวอร์ตัน รัฐเนวาดา ออกไปเป็นจำนวน 240,000 ตัน จนเกิดเป็นร่องลึกรูปแถบเส้นตรงยาว 457.2 เมตร ผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นการสำรวจบริบทและความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม และศิลปะวัตถุโบราณขนาดใหญ่มหึมา กับกระบวนการทางวิศวกรรมสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรม

ไมเคิล ไฮเซอร์: Double Negative (1969–70) © Summitridge Pictures and RSJC LLC ภาพจาก http://artjournal.collegeart.org/?p=7379

ไมเคิล ไฮเซอร์: Double Negative (1969–70) ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=7UvD4zup3pw

หรือผลงานของศิลปินอเมริกัน แนนซี โฮลต์ อย่าง Sun Tunnels (1973-76) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสโตนเฮนจ์เช่นเดียวกัน ประติมากรรมกลางแจ้งรูปท่อคอนกรีตทรงกระบอกขนาดใหญ่โตเส้นผ่าศูนย์กลางสองเมตร วางทิศทางของอุโมงค์ภายในท่อให้สอดคล้องกับทิศทางขึ้นและตกของพระอาทิตย์ในระหว่างช่วงครีษมายัน (วันในฤดูร้อนที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี) และเหมายัน (วันในฤดูหนาวที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี) เธอเจาะรูบนท่อคอนกรีตในขนาดที่แตกต่างกันเพื่อสร้างเงาของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าบนผนังอุโมงค์ ผลงานชิ้นนี้แสดงความสนใจหลงใหลในดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และระบบนิเวศวิทยา อันเป็นลักษณะอันโดดเด่นเฉพาะตัวของศิลปะแลนด์อาร์ตนั่นเอง

 

แนนซี โฮลต์: Sun Tunnels (1973-76) ภาพจาก https://umfa.utah.edu/land-art/sun-tunnels

แนนซี โฮลต์: Sun Tunnels (1973-76) ภาพโดย Nancy Holt © Holt-Smithson Foundation/Licensed by VAGA, New York, provided by Summitridge Pictures and RSJC LLC ภาพจาก http://artjournal.collegeart.org/?p=7379

หรือผลงานของศิลปินอเมริกัน วอลเธอร์ เดอ มาเรีย (Walter de Maria) The Lightning Field (1977) ที่ประกอบด้วยเสาสูงราว 4-7 เมตร จำนวน 400 ต้นที่ปักเป็นรูปตารางขนาด 220 เมตร ถึงแม้เสาสแตนเลสที่มันวาวและการจัดวางรูปทรงตารางอันเรียบง่าย จะดูคล้ายกับงานศิลปะมินิมอลลิสม์ แต่หน้าที่ของมันจริงๆ คือการเป็นสายล่อฟ้า ดังนั้น ประสบการณ์ในการชมงานนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของศิลปินโดยสิ้นเชิง

วอลเธอร์ เดอ มาเรีย:The Lightning Field (1977) ภาพจาก https://ribbonaroundabomb.com/2013/07/26/arts-bombast-walter-de-marias-lightening-field/

แลนอาร์ต ศิลปะเพื่อธรรมชาติหรือชนชั้นสูง?

นอกจากศิลปินแลนด์อาร์ตที่ทำงานที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภูมิทัศน์ในธรรมชาติและผืนโลกอย่างมาก ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีศิลปินที่ทำงานในรูปแบบตรงกันข้าม ที่ให้ความเคารพต่อพื้นที่ภูมิทัศน์ในธรรมชาติที่พวกเขาเข้าไปทำงานโดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

อาทิ ผลงานของศิลปินอเมริกัน ริชาร์ด ลอง (Richard Long) อย่าง A Line Made by Walking (1967) ที่ศิลปินเดินกลับไปกลับมาบนเส้นทางเดิมบนพื้นสนามหญ้า จนเกิดรอยทางเดินเป็นเส้นตรงขึ้นมา ผลงานนี้ของเขาเป็นการเน้นย้ำถึงปัจจัยทางธรรมชาติผ่านการเดิน และกระบวนการทำงานศิลปะที่ส่งผลต่อผืนโลก ผลงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นในความเรียบง่ายและความไม่จีรังยั่งยืน เพราะมันอาจหายไปในไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมง และที่สำคัญ งานชิ้นนี้ไม่มีคุณค่าทางธุรกิจโดยสิ้นเชิง

หรือผลงานของศิลปินแลนด์อาร์ตชาวอังกฤษรุ่นหลังๆ อย่าง แอนดี โกลด์สเวิร์ทธี (Andy Goldsworthy) ที่ทำงานศิลปะจัดวางเฉพาะที่ในพื้นที่ธรรมชาติด้วยมือเปล่า โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้จากพื้นที่บริเวณนี่น ผลงานของเขาแสดงให้เห็นถึงความงดงามของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างอ่อนโยน ผ่านแพทเทิร์นและรูปทรงซ้ำๆ ของวงกลม ลายก้นหอย รูปทรงเส้นโค้ง เติมแต่งด้วยรสนิยมและสุนทรียะของเขา โดยไม่รบกวนและทําลายสิ่งแวดล้อม

สำหรับศิลปินหลายคน การเคลื่อนไหวทางศิลปะแลนด์อาร์ตนับเป็นการหลีกหนีจากแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ของ คเลเมนต์ กรีนเบิร์ก ที่ผลักให้ศิลปะห่างไกลจากชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะตะวันตกมาอย่างยาวนาน

แต่สิ่งที่ย้อนแย้งอย่างยิ่งก็คือ ในขณะที่ศิลปินแลนด์อาร์ตพยายามหลีกหนีจากสถาบันและความเป็นธุรกิจของศิลปะ แต่พวกเขาก็ต้องการเงินทุนสนับสนุนในการทำงานจากเหล่าบรรดาผู้อุปถัมภ์ ซึ่งก็มาจากสถาบันและองค์กรธุรกิจที่ว่านั้นอยู่ดี (เพราะงานของพวกเขาขายไม่ได้อยู่แล้ว) ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานแลนด์อาร์ตบางชิ้นทำขึ้นในพื้นที่ห่างไกลและสามารถดูได้จากเครื่องบินส่วนตัวเท่านั้น ก็ยิ่งทำให้กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะนี้ถูกกระแนะกระแหนว่าเป็นศิลปะสำหรับชนชั้นสูงไปเลยด้วยซ้ำ

 

ผลงานของ แอนดี โกลด์สเวิร์ทธี ภาพจาก https://www.top13.net/land-artworks-andy-goldsworthy/

ผลงานของ แอนดี โกลด์สเวิร์ทธี ภาพจาก https://www.top13.net/land-artworks-andy-goldsworthy/

ผลงานของ แอนดี โกลด์สเวิร์ทธี ภาพจาก https://www.top13.net/land-artworks-andy-goldsworthy/

อย่างไรก็ดี แลนด์อาร์ตก็ยังคงท้าทายแนวคิดเดิมๆ ของศิลปะในฐานะสินค้าและของซื้อของขาย ด้วยความไม่จีรังยั่งยืนและเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติของมัน อีกทั้งยังส่งอิทธิพลอย่างสูงในการใช้วัสดุธรรมชาติในการทำงานศิลปะทั้งในพื้นที่นอกและในหอศิลป์ รวมถึงมีบทบาทต่อพัฒนาการแนวคิดทางศิลปะในยุคหลัง อย่างศิลปะเจาะจงพื้นที่ (Site-specific art) และศิลปะจัดวางเฉพาะกาล (Temporary Installation) นั่นเอง

 

ข้อมูลจาก:

Tags: , , , ,