ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไร้สิทธิไร้เสียง ไร้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการพูด เขียน หรือสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่การแสดงออกทางศิลปะ ศิลปินที่ทำงานไม่ต้องตรงกับอุดมการณ์ของรัฐ หรือขัดต่อกรอบ กฎเกณฑ์ และระเบียบบังคับที่รัฐกำหนดไว้ต้องประสบกับความยากลำบากและเภทภัยนานัปการ ตั้งแต่ระดับเบาะๆ อย่างการถูกเซ็นเซอร์ เบลอ แบน สั่งห้ามแสดง หรือปลดผลงาน ที่หนักข้อก็มีศิลปินบางคนถึงกับถูกจับ ถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ถูกจองจำ หรือต้องหลบลี้หนีภัยจากบ้านเกิดเมืองนอน

ในประวัติศาสตร์โลกมีเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินในประเทศต่างๆ ที่ต้องประสบเหตุเภทภัยหรือตกอยู่ในเงื้อมเงาของเผด็จการในทำนองเดียวกัน

ในสารคดี The Rape of Europa – Hitler & Art แสดงให้เห็นว่า ห้องใต้ดินของแผนกเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์สงครามในวอชิงตัน ดี.ซี. เก็บงานภาพเขียนของนาซีที่ค่อนข้างอื้อฉาวเกินกว่าจะแสดงออกสู่สาธารณชน หนึ่งในนั้นคือ ภาพเขียนสีน้ำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเผด็จการของเยอรมนี

ภาพ 1-3 : ผลงานภาพวาดของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ภาพจากเว็บไซต์ www.catinwater.com

ผลงานนี้แสดงให้เห็นว่า ฮิตเลอร์เป็นจิตรกรที่มีฝีมือพอใช้ ไม่ถึงกับดีเยี่ยม แต่ก็ไม่เลวร้าย ฮิตเลอร์เชื่อว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ จนทำให้เขาสมัครเข้าเรียนที่ Academy of Fine Art ที่เวียนนา แต่อนิจจา ถูกปฏิเสธการเข้าเรียน ว่ากันว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่ในสถาบันนั้นเป็นยิว จึงทำให้เชื่อกันว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฮิตเลอร์เป็น antisemitism หรือมีความเป็นอคติต่อชาวยิวมานับแต่นั้น

กว่า 20 ปี ที่ฮิตเลอร์และพรรคสังคมชาตินิยมเยอรมัน หรือ พรรคนาซี เถลิงอำนาจ ฮิตเลอร์ยังคงลุ่มหลงในศิลปะตลอดมา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในอุดมการณ์ทางการเมืองของเขา

ในช่วงต้นทศวรรษ 1930s ฮิตเลอร์มีอำนาจบังคับทิศทางค่านิยมทางศิลปะในประเทศเยอรมนี รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบนาซีต้องการชำระล้าง ‘สิ่งสกปรก’ ไม่ว่าจะเป็น ยิว รักร่วมเพศ รวมถึงงานศิลปะที่ต่างไปจากรัฐนิยมที่ถูกต้องและสะอาด ด้วยความที่ฮิตเลอร์เกลียดโมเดิร์นอาร์ต หรือศิลปะสมัยใหม่ เขากล่าวว่าศิลปะเหล่านั้นบิดเบือนความเป็นจริง มองไม่เห็นสีสันรูปทรงที่แท้จริงของธรรมชาติ ถ้าคนเยอรมันเสพจะทำให้จิตใจบิดเบี้ยว แปดเปื้อน ดังนั้นจึงต้องกำจัดทิ้งแบบเดียวกันกับเชื้อโรค

เขากล่าวถึงเรื่องนี้ในสุนทรพจน์ของเขาว่า “จากนี้ไปเราจะเริ่มต้นทำสงครามอย่างไม่หยุดหย่อน สงครามแห่งการชำระล้าง สงครามที่จะไล่ล่าทำลายล้างอะไรก็ตามที่จะมาเป็นปฏิปักษ์ต่อศิลปะของเรา”

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจ นอกจากเขาจะสังหารชาวยิวจำนวนมหาศาล เขายังสังหารศิลปะวัตถุอีกนับไม่ถ้วน ทั้งเผาทำลาย รวมถึงนำมาเป็นทรัพย์สมบัติเพื่อขายเป็นทุนรอนสนับสนุนค่าใช้จ่ายของพรรคนาซี ปล้นชิงงานศิลปะชั้นครูยุคโบราณเพื่อรวบรวมมาสร้างอาณาจักรศิลปะของตัวเอง

โชคดีที่มีหน่วยราชการลับเรียกว่า Monuments Men ซึ่งก็คือภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์งาน ฯลฯ ที่มีหน้าที่ตามงานศิลปะที่ฮิตเลอร์ขโมยจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในยุโรปแล้วเอาไปซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ จนมีงานรอดเงื้อมมือนาซีมาให้เราได้ดูชมเป็นบุญตาได้หลายชิ้น

 

ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) ผู้ตีแผ่ไวมาร์เยอรมัน

หนึ่งในบรรดาศิลปินคนสำคัญของโลกที่ประสบภัยจากเงื้อมมือนาซีนั้นมีชื่อว่า ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) จิตรกรและศิลปินภาพพิมพ์ชาวเยอรมัน ผู้เป็นที่รู้จักจากการตีแผ่สังคมในยุคไวมาร์ของเยอรมันและความโหดร้ายของสงครามผ่านภาพวาดเหมือนจริงอันเกรี้ยวกราดไร้ความรอมชอม ด้วยความที่เขามีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกและเห็นความเลวร้ายของมัน นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างผลงานศิลปะที่พูดถึงความงามในความอัปลักษณ์ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เพียงการจิกกัดเสียดสีหรือตีแผ่เท่านั้น หากแต่เป็นการสำรวจความเป็นมนุษย์และสังคมอย่างลึกซึ้งด้วย เขาเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของกลุ่ม Neue Sachlichkeit หรือ New Objectivity ที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมใหม่

ออตโต ดิกซ์, Sturmtruppe geht unter Gas vor (Stormtroops advancing under a gas attack), 1924, ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก kdoutsiderart.com

ในปี 1915 เขาต้องเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประสบการณ์ในสงครามส่งผลกระทบต่อเขาอย่างมาก ภายหลัง เขาบรรยายถึงฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ต้องปีนป่ายอยู่บนซากศพของม้า เขาถ่ายทอดประสบการณ์อันเลวร้ายลงในผลงานหลายชิ้นในเวลาต่อมา

ออตโต ดิกซ์ สนใจวิถีชีวิตอันยากลำบากช่วงหลังสงครามของเหล่าคนชายขอบในสังคมเยอรมนี ซึ่งมีทั้งปัญญาชนและเพื่อนศิลปิน แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาลุ่มหลงวิถีชีวิตของชนชั้นแรงงาน โสเภณี และทหารผ่านศึกผู้พิการ ด้วยทัศนคติทางการเมืองที่เอียงซ้ายอย่างชัดเจน

เขามุ่งเน้นถ่ายทอดธรรมชาติอันไม่จีรังของร่างกายมนุษย์อย่างโจ่งแจ่งไร้การประนีประนอม ตีแผ่ให้เห็นความอยุติธรรมในสังคม แสดงให้เห็นถึงความวิปริตทางการเมืองที่ต่อมาก่อตัวกลายเป็นระบบทรราชย์ของสาธารณรัฐไวมาร์

เขาร่วมกับศิลปินอีกหลายคน ทำงานศิลปะที่วิพากษ์สังคมเยอรมันยุคนั้นอย่างหนักหน่วง ดิกซ์มุ่งความสนใจไปยังความมืดหม่นสิ้นหวังของชีวิต ด้วยการถ่ายทอดภาพของโสเภณี ความรุนแรง ความชราภาพ และความตาย เขาเปิดเผยด้านอัปลักษณ์ของสงครามที่ถูกเพิกเฉยหรือหลงลืมไปในสังคม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองที่กำลังก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างพรรคนาซีรับไม่ได้อย่างยิ่ง

ออตโต ดิกซ์, Verwundeter (Wounded Soldier), 1924, ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก www.facinghistory.org

เมื่อฮิตเลอร์เห็นภาพวาดของดิกซ์ที่แสดงในสถาบันศิลปะในเมืองเดรสเดินที่เขาอาศัยและทำงานอยู่ ฮิตเลอร์ก็ประกาศกร้าวว่า “มันเป็นความอัปยศอย่างมากที่เราไม่สามารถจับคนเหล่านี้เข้าคุกได้”

ในปี 1937 เมื่อนาซีเรืองอำนาจ พวกเขาหมายหัวดิกซ์ในฐานะศิลปินชั้นต่ำที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสาธารณรัฐเสื่อมทราม และกดดันให้ดิกซ์ถูกไล่ออกจากงานในสถาบันศิลปะเดรสเดิน ผลงานของดิกซ์หลายชิ้นถูกเผา เช่นเดียวกับศิลปินเยอรมันหลายคนในยุคนั้นที่ถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมในสภาวิจิตรศิลป์ของอาณาจักไรซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ชายคาของกระทรวงวัฒนธรรม ในการควบคุมของ โยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbel) รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารและโฆษณาชวนเชื่อ ผู้เป็นเสมือนมือซ้ายของฮิตเลอร์ ดิกซ์ถูกบังคับและสาบานว่าจะวาดแต่ภาพทิวทัศน์อันเรียบง่าย ไม่ก้าวร้าวรุนแรง เขายังถูกบังคับให้วาดภาพเชิดชูอุดมการณ์ของลัทธินาซี แต่เขาก็ยังคงแอบวาดภาพอัน ‘เสื่อมทราม’ ตามทัศนคติของเผด็จการลับหลังนาซีอยู่ดี ภาพเหล่านั้นถูกเก็บซ่อนให้พ้นสายตาโดยนักค้างานศิลปะและลูกชายของเขาเป็นจำนวนกว่า 1,500 ภาพเลยทีเดียว

ออตโต ดิกซ์, Gastpte – Templeux-la-Fosse, August 1916 (Gas Victims – Templeux-la-Fosse, August 1916), 1924, ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก kdoutsiderart.com

ดิกซ์ถูกจับกุมหลายครั้งในฐานะผู้ต้องสงสัยที่เข้าร่วมในขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาในภายหลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกเกณฑ์เข้ากองกำลังโฟล์คสตุร์ม (Volkssturm – กองกำลังรักษากรุงเบอร์ลินที่เกณฑ์มาจากคนชราและเด็ก) และถูกจับกุมตัวโดยกองทัพฝรั่งเศสในช่วงสงครามยุติ และได้รับการปล่อยตัวในปี 1946

หลังสงคราม เขากลับมาอาศัยอยู่ในเดรสเดินจนกระทั่งปี 1966 และเสียชีวิตในปี 1969 ที่เมืองซิงเง่น โฮเฮนวิลล์ ประเทศเยอรมนี เมื่ออายุได้ 77 ปี

 

Bauhaus สถาบันศิลปะใต้เงาเผด็จการ

แม้แต่สถาบันศิลปะและการออกแบบอันเลื่องชื่อ ที่เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญและประสบความสำเร็จที่สุดในด้านศิลปะและการออกแบบของโลก ก็ไม่พ้นเป็นหนึ่งในเหยื่อใต้เงื้อมมือเผด็จการอย่างพรรคนาซีเช่นกัน สถาบันแห่งนั้นมีชื่อว่า เบาเฮาส์ (Bauhaus)

สถาบันเบาเฮาส์ ในเมืองเดสเซา, ภาพจาก zh-min-nan.wikipedia.org

เบาเฮาส์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1919 ณ สาธารณรัฐไวมาร์ เยอรมนี จากการหลอมรวมของสถาบันสองแห่งอย่าง Weimar Institute of Fine Arts และ Weimar School of Arts and Crafts โดยการก่อตั้งของสถาปนิกชาวเยอรมัน วอลเตอร์ โกรปิอุส (Walter Gropius) มีจุดมุ่งหมายที่จะหลอมรวมศิลปะทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างงานวิจิตรศิลป์และงานศิลปะประยุกต์ รวมถึงยกระดับงานฝีมือและงานออกแบบให้ทัดเทียมกับงานศิลปะประเภทอื่นๆ และผลิตบุคลากรที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและงานออกแบบที่ตอบสนองต่อสังคม ชุมชน ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งสุนทรียะ

เอกลักษณ์อันโดดเด่นในแนวคิดของเบาเฮาส์คือความเรียบง่าย กำจัดการตกแต่งประดับประดา เน้นประโยชน์ใช้สอย และแนวคิดที่มองวัสดุสำเร็จรูปที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม อาทิ ท่อเหล็ก คอนกรีต กระจก ว่ามีความงามได้โดยเนื้อแท้ตัวมันเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความงามกับประโยชน์ใช้สอยสามารถอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิตที่ชัดเจน สีสันที่เป็นแม่สีพื้นฐาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ใช้กันอย่างมากในงานศิลปะนามธรรม รวมถึงยังได้ศิลปินนามธรรมคนสำคัญของโลกอย่าง วาสซิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky) มาเป็นครูผู้สอนอีกด้วย

วาสซิลี คานดินสกี, Composition VIII, 1923, ภาพจาก www.bauhaus-movement.com

ในช่วงแรก เบาเฮาส์ยังไม่ข้องแวะกับการเมือง แต่ในปี 1928 โกรปิอุสลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ และแต่งตั้งสถาปนิกชาวสวิส ฮานส์ ไมเยอร์ (Hannes Meyer) ขึ้นรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการรุ่นที่สอง แม้ว่าไมเยอร์จะพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้ก้าวหน้าและทำให้การเงินของสถาบันดีขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง เขาเป็นคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้มข้นในฝ่ายคอมมิวนิสต์ และสอดแทรกแนวคิดแบบมาร์กซิสต์เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนในสถาบันส่วนใหญ่มีแนวคิดที่เอนเอียงไปทางปีกซ้ายทางการเมืองอย่างชัดเจน

เรื่องนี้ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจในหมู่นักการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดและพรรคนาซีเป็นอย่างมาก โกรปิอุสพยายามคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการปลดไมเยอร์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งสถาปนิกชาวเยอรมันชื่อดังอย่าง ลุดวิก มีส ฟาน เดอร์ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ฟาน เดอร์ โรห์ ปฏิรูปหลักสูตรใหม่ ละเลิกแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในสถาบันอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าเขาจะพยายามกำจัดภาพลักษณ์และแนวคิดทางการเมืองที่ไมเยอร์ปลูกฝังเอาไว้อย่างสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจทำให้สถาบันรอดไปจากกรงเล็บของพรรคนาซีที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจและสั่งปิดสถาบัน

ถึงแม้ ฟาน เดอร์ โรห์ จะพยายามเปิดสถาบันขึ้นใหม่ในกรุงเบอร์ลินในปี 1932 ด้วยทุนรอนกับคณาจารย์ที่หลงเหลืออยู่และดำเนินงานในรูปแบบสถาบันอิสระ แต่เพียงหกเดือนให้หลัง นาซีก็ตามไปปิดจนได้ ร้ายไปกว่านั้น ฟาน เดอร์ โรห์ก็ต้องลี้ภัยออกจากเยอรมนีไปด้วย นั่นเป็นจุดจบของสถาบันที่วางรากฐานของงานออกแบบและการเรียนการสอนทางการออกแบบที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ไป

ศิลปินนามธรรมคนสำคัญที่เป็นครูผู้สอนในสถาบันเบาเฮาส์อย่างคานดินสกี ก็มีชะตากรรมไม่ผิดกันเท่าไรนัก ในช่วงปี 1933 ที่สถาบันปิดตัวลง คานดินสกีเองก็ประสบภัยจากพรรคนาซี จนต้องลี้ภัยจากเยอรมนีไปอยู่ฝรั่งเศส และในช่วงปี 1937 พรรคนาซียึดภาพวาดของเขาจำนวน 57 ภาพในระหว่างปฏิบัติการกวาดล้าง ‘ศิลปะชั้นเลว’ ตามนโยบายของผู้นำเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ที่เกลียดชังศิลปะสมัยใหม่อย่างเข้าไส้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะนามธรรม เพราะมันกระตุ้นให้คนใช้สมอง และเปิดโอกาสให้คนแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ไม่ต้องการ คานดินสกีใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในประเทศฝรั่งเศสจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

อ้างอิง:
ART IS ART, ART IS NOT ART: อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สำนักพิมพ์แซลมอน
สารคดี The Rape of Europa – Hitler & Art
หนังสือ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผู้เขียน ภาณุ ตรัยเวช, สำนักพิมพ์มติชน

 

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด​

 

FACT BOX:

  • Neue Sachlichkeit หรือ New Objectivity แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมใหม่ เป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ก่อตัวขึ้นในเยอรมนีช่วงปี 1920 เป็นแนวทางที่เน้นความเหมือนจริง ชัดเจน กระจ่างแจ้ง และคมชัด ซึ่งสวนทางกับกระแสศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในยุคนั้น ศิลปิน New Objectivity นำเสนอภาพและเรื่องราวธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ของผู้คน และวัตถุสิ่งของ แต่ในบางครั้ง จะขับเน้นให้แจ่มชัดอย่างล้นเกินจนทำให้ความจริงถูกลบเลือนลงไป เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นนามธรรมที่อยู่ภายในสิ่งเหล่านั้น

    แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนกล่าวว่า ออโต ดิกซ์ ไม่ได้เป็นศิลปินในกลุ่ม New Objectivity หากแต่อยู่ในกลุ่มแวริสม์ (verism) ซึ่งเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ชื่อของแวริสม์ มีความหมายแบบเดียวกับสัจนิยม (Realism) โดยรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า verus ที่แปลว่า ‘ความจริง’

    ศิลปินแวริสม์เลือกที่จะทำงานใกล้ชิดกับชนชั้นแรงงานและชนชั้นล่าง พวกเขามักนำเสนอภาพความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม ความเสื่อมถอยทางศีลธรรมของคนในเมืองใหญ่ ความหายนะทางสังคม ด้วยภาพของทหารผ่านศึกพิการ คนทุพพลภาพ โสเภณี ปีศาจสุรา และคนจรหมอนหมิ่น แต่ก็มีบางครั้งที่เป็นภาพความเสื่อมโทรมของชนชั้นสูง ซึ่งทั้งหมดถูกถ่ายทอดในรูปแบบเหมือนจริงอย่างจะแจ้งไปจนถึงอัปลักษณ์ เพื่อการเสียดสีถากถางและขับเน้นจนล้นเกินความเป็นจริงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมนั่นเอง

  • อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ The Monuments Men ได้ในหนังสือ The Monuments Men: Allied Heroes, Nazi Thieves, and the Greatest Treasure Hunt in History โดย Robert M. Edsel หรือในภาพยนตร์ The Monuments Men (2014) ที่กำกับโดย จอร์จ คลูนีย์

 

Tags: , , , , , , , , ,