วันที่ 7 กรกฎาคม 2023 เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) นักร้อง-นักแต่งเพลงสาวชาวอเมริกัน ปล่อยอัลบั้ม Speak Now (Taylor’s Version) ซึ่งเป็นการนำอัลบั้มเก่าอย่าง Speak Now (2010) มาบันทึกเสียงใหม่ เพื่อให้ได้ครอบครองลิขสิทธิ์เพลงของตัวเอง 100% แบบไม่โดนเอาเปรียบจากค่ายเก่า
เดิมที Speak Now ปล่อยออกมาเมื่อเดือนตุลาคม 2010 ถือเป็นอัลบั้มที่ 3 ของเทย์เลอร์ และเป็นอัลบั้มแรกที่เธอแต่งเนื้อเพลงเองคนเดียวโดยไม่มีผู้ช่วย แม้ขณะนั้นอายุเพียง 19 ปีก็ตาม
Speak Now (Taylor’s Version) ที่แฟนคลับกำลังจะได้ฟังในวันนี้ จึงน่าสนใจในแง่การนำผลงานของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในวัย 19 ปี มาอัดใหม่อีกครั้ง ซึ่งเมื่อเทียบกับผลงานปัจจุบันของเทย์เลอร์วัย 33 ปี ก็จะเห็นร่องรอยการเติบโตของเธอ ทั้งในฐานะศิลปินและมนุษย์คนหนึ่ง
The Momentum ขอพาผู้อ่านย้อนเวลาสู่ปี 2010 วิเคราะห์เนื้อเพลง Speak Now (Taylor’s Version) และแกะรอยพัฒนาการของศิลปินดาวค้างฟ้าคนนี้ไปด้วยกัน
รักที่โตขึ้นตามอายุ จาก ‘ความลุ่มหลง’ กลายเป็น ‘ความสบายใจ’
หากวัยรุ่นยุคนี้มี Blue Neighbourhood (Troye Sivan, 2015) หรือ SOUR (Olivia Rodrigo, 2021) เป็นอัลบั้มประจำตัว ย้อนกลับไปในยุคนั้นก็คงมี Speak Now ที่สื่อถึงอารมณ์ว้าวุ่นของ ‘วัยรุ่น’ ออกมาได้อย่างซื่อตรง โดนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความรัก
The way you move is like a full on rainstorm
And I’m a house of cards
You’re the kind of reckless that should send me running
But I kinda know that I won’t get far
(เธอเหมือนกับพายุฝนอันหนักหน่วง
ส่วนฉันก็พร้อมจะพังทลายอยู่ทุกเมื่อ
เธอเป็นคนบุ่มบ่าม แบบที่พอฉันเจอแล้วควรจะหนีไป
แต่ฉันก็รู้ดีว่าฉันหนีได้ไม่ไกลหรอก)
— Sparks Fly (Speak Now, 2010) —
เพลง Sparks Fly ซึ่งเป็นเพลงที่สองของอัลบั้ม ถ่ายทอดมุมมองความรักแบบตื่นเต้นเร้าใจ เทย์เลอร์อุปมาฝ่ายชายเป็นพายุฝนรุนแรง ที่เจอครั้งแรกก็รู้ทันทีว่าอันตราย ส่วนตัวเธอเองคือไพ่ที่นำมาต่อเป็นรูปบ้าน (House of Cards) ช่างเปราะบาง เพียงแตะเบาๆ ทุกสิ่งก็พร้อมจะพังครืนลงมา
เรื่องราวที่เกิดขึ้นคือการการันตีว่า สุดท้ายฝั่งเทย์เลอร์จะต้องเจ็บปวดในท้ายที่สุด แต่เธอยินยอม เพราะเธอตกหลุมรักหนุ่มคนนี้เข้าเต็มเปา ถึงขั้นมองเห็นประกายไฟลอยกลางอากาศทุกครั้งที่เขายิ้ม (I see sparks fly whenever you smile)
สำหรับเทย์เลอร์วัย 19 ปี ในวันนั้นความรักไม่ต้องการเหตุผลมากเท่าอารมณ์ เธอไม่สนใจว่าอีกฝ่ายเป็นคนอย่างไร มีพื้นเพแบบไหน อาจเจ้าชู้หรือนิสัยเสียจนเธอต้องเจ็บหรือไม่ ขอแค่เธอชอบเขา เธอก็พร้อมจะวิ่งไล่ตามรักนั้นแบบสุดตัว เรียกได้ว่าเป็น ‘ความลุ่มหลง’ ตามประสาวัยรุ่นก็คงได้
Everyone’s up to something
I find myself running home to your sweet nothings
Outside, they’re push and shoving
You’re in the kitchen humming
(ทุกคนต่างมีแผนในใจกันหมด
ฉันเลยวิ่งกลับบ้านมาหาความเรียบง่ายแสนหวานของเธอ
ข้างนอกนั่น พวกเขากำลังผลักกันไปมา
ส่วนเธอแค่ยืนฮัมเพลงอยู่ในห้องครัว)
— Sweet Nothing (Midnights, 2022) —
เมื่อเทียบกับเพลงในอัลบั้มล่าสุดของเทย์เลอร์อย่าง Sweet Nothing จะเห็นว่าความรักสำหรับเทย์เลอร์วัย 33 ปี เปลี่ยนไปมากทีเดียว จากที่เคยโหยหาชายหนุ่มผู้เป็นเหมือนพายุฝน เร้าใจและอันตราย พอเติบโตขึ้นเธอพบว่า
ความ ‘ไม่มีอะไร’ ต่างหากทำให้เธอสบายใจที่สุด
หากเรามีคนรักเป็นพื้นที่ปลอดภัย แม้แต่ละวันที่อยู่ด้วยกันจะผ่านไปอย่างเรียบง่าย แต่ก็เป็นความเรียบง่ายแสนหวาน (Sweet Nothing) ที่เราสามารถกลับมาหลบภัยได้เสมอ ยามโลกภายนอกสับสนวุ่นวาย เหมือนกับว่าเราก็ต้องการเพียงแค่คนรักที่สามารถยืนฮัมเพลงในห้องครัวกับเราได้เท่านั้นเอง
ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า มูฟออน ≠ ให้อภัย
ผู้ติดตามสื่อบันเทิงฝั่งตะวันตกหลายคนคงจำได้ดีว่า เมื่อปี 2009 เกิดตำนานขึ้นกลางงาน Video Music Awards ระหว่างเทย์เลอร์กำลังพูดสปีชรับรางวัล คานเย เวสต์ (Kanye West) ศิลปินฮิปฮอปได้บุกขึ้นเวทีมาขัดจังหวะ พร้อมกล่าวใส่ไมค์ว่า บียอนเซ่ (Beyoncé) คู่ควรกับรางวัลมากกว่า
พฤติกรรมของคานเยเรียกเสียงวิจารณ์มากมาย นอกจากเขาเสียมารยาทต่อเพื่อนร่วมวงการแล้ว เทย์เลอร์ ณ ขณะนั้นยังอายุแค่ 19 ปี ส่วนคานเยอายุ 32 ปี หลายคนจึงมองว่าเขาไม่ต่างจากผู้ใหญ่ที่รังแกเด็ก
1 ปีหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เทย์เลอร์แต่งเพลง Innocent ลงอัลบั้ม Speak Now ให้คานเย เพื่อปลอบโยนเขาและบอกสังคมว่าเธอให้อภัยเขาแล้ว
It’s okay, life is a tough crowd
32 and still growing up now
Who you are is not what you did
You’re still an innocent
(ไม่เป็นไรนะ ชีวิตมันก็เอาใจยากอย่างนี้แหละ
อายุ 32 แล้วก็ยังต้องเติบโตไปเรื่อยๆ อยู่เลย
ตัวตนของคุณไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณเคยทำมา
คุณยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นะ)
— Innocent (Speak Now, 2010) —
อย่างไรก็ตาม การให้อภัยของเทย์เลอร์คล้ายจะสูญเปล่า มิตรภาพระหว่างเธอกับคานเยถึงคราวแตกหักอีกครั้งในปี 2016 เมื่อคานเยเรียกเทย์เลอร์ว่า ‘Bitch’ ผ่านเนื้อเพลง Famous พอเทย์เลอร์แสดงออกว่าไม่พอใจ เธอกลับโดนถล่มด่าจนต้องเฟดหายจากโซเชียลมีเดียไปเป็นปีๆ
อาจเป็นเหตุการณ์นี้บวกกับอีกหลายเหตุการณ์ในชีวิต (เช่น โดนค่ายเก่าเอาเปรียบ) ที่ทำให้มุมมองการให้อภัยของเทย์เลอร์เปลี่ยนไป ในสัมภาษณ์ปี 2019 เธอกล่าวว่า “ผู้คนชอบบอกว่าเราต้องรู้จักให้อภัยและลืมเพื่อที่จะก้าวข้ามสิ่งหนึ่ง แต่ไม่หรอก เราไม่จำเป็นต้องให้อภัย และเราก็ไม่จำเป็นต้องลืม คนเราสามารถมูฟออนได้โดยไม่ต้องทำทั้งสองอย่างนั้น”
ถ้อยคำนี้สอดคล้องกับเนื้อเพลงอัลบั้มหลังๆ ของเทย์เลอร์ ซึ่งเธอมักพูดถึงคนที่เคยทำร้ายเธอควบคู่ไปกับเรื่อง ‘กรรม’
Karma’s gonna track you down
Step by step from town to town
(กรรมจะตามสนองคุณเอง
ตามติดทุกฝีก้าว ตามไปทุกเมือง)
— Karma (Midnights, 2022) —
Past me, I wanna tell you not to get lost in these petty things
Your nemeses will defeat themselves before you get the chance to swing
(ตัวฉันในอดีต ฉันอยากบอกเธอว่าอย่าไขว้เขวไปกับเรื่องหยุมหยิมเหล่านั้นเลย
ศัตรูของเธอจะทำลายตัวเองก่อนที่เธอจะได้มีโอกาสแกว่งดาบเสียอีก)
— long story short (evermore, 2020) —
เทย์เลอร์วัย 33 ปี ไม่ลืม ไม่ให้อภัย แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอมูฟออนไม่ได้
เธอแค่ทดเรื่องเก่าเอาไว้ในใจ มีชีวิตดีๆ ของเธอต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับคนร้ายๆ อีก ประหยัดทั้งพลังงาน ทั้งสุขภาพจิต แค่รอให้กฎแห่งกรรมทำงาน เฝ้าดูคนเหล่านั้นแพ้ภัยตัวเองไปทีละคน
ส่วนเธอก็ยังสามารถร้องเพลง Innocent (Taylor’s Version) ในปี 2023 ได้อย่างสบายใจ เพราะสุดท้ายแล้วมันยังคงเป็นเพลงน้ำดี และฝ่ายที่ควรรู้สึกรู้สาอะไรกับเพลงนี้ไม่ใช่เทย์เลอร์ แต่เป็นคนที่หักหลังความเชื่อใจอันบริสุทธิ์ของเธอต่างหาก
บางที นี่อาจเป็นวิธีก้าวข้ามอดีตที่เจ๋งที่สุดก็ได้
บาดแผลบางอย่างไม่เคยเลือนหาย ต่อให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่
นอกจากเพลงรักแนวลุ่มหลง อัลบั้ม Speak Now ยังขึ้นชื่อเรื่องเพลงอกหักด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเพลง Dear John ซึ่ง ‘สวิฟตี้’ กลุ่มแฟนคลับเห็นตรงกันว่า เป็นเพลงเศร้าอันดับต้นๆ ของเทย์เลอร์
Dear John เป็นที่พูดถึงมานานนับตั้งแต่ปล่อยครั้งแรกปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะเนื้อเพลงเล่าประสบการณ์ ‘เสียรู้’ ให้ชายอายุมากกว่าได้อย่างซื่อตรงจนปวดใจ ไม่ว่าผู้ฟังเคยเผชิญเรื่องราวคล้ายกันหรือไม่ก็สามารถมีอารมณ์ร่วมได้ง่ายๆ
You are an expert at sorry and keeping the lines blurry
Never impressed by me acing your tests
(เธอเก่งเหลือเกิน เรื่องการกล่าวขอโทษและทิ้งให้ทุกสิ่งคลุมเครือ
ไม่ว่าฉันจะเอาชนะบททดสอบไหนของเธอ เธอก็ไม่เคยพอใจ)
— Dear John (Speak Now, 2010) —
พฤติกรรมต่างๆ ของฝ่ายชายใน Dear John ทั้งขอโทษซ้ำๆ โดยไม่ยอมปรับปรุงตัว ทั้งหาเรื่องทดสอบคนรักอยู่เรื่อย แสดงถึงความกลับกลอกและพยายามควบคุมเทย์เลอร์ชัดเจน แต่เพราะเขาโตกว่าเธอเป็นสิบปี มีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่า แน่นอนว่าเด็ก 19 ปีในขณะนั้น ย่อมตกหลุมพรางผู้ใหญ่ ในท่อนฮุกเราจึงได้เห็นนักร้องสาวตัดพ้อว่า
Don’t you think 19’s too young to be played by
your dark, twisted games when I loved you so?
(เธอไม่คิดเหรอว่าอายุ 19 ยังเด็กเกินไปกับการโดนปั่นหัว
ด้วยเกมอันมืดหม่นบิดเบี้ยวของเธอ ทั้งที่ฉันรักเธอจริงๆ)
— Dear John (Speak Now, 2010) —
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า กับอดีตบางอย่าง กับศัตรูบางคน เทย์เลอร์ในวัย 33 ปี ปล่อยวางและมูฟออนได้แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ใช่ว่าเธอจะสามารถปล่อยวางครบหมดทุกเรื่อง ชีวิตมนุษย์ไม่ง่ายเป็นเส้นตรงขนาดนั้น
เราทุกคนล้วนมีบาดแผลประเภทที่หายได้ กับบาดแผลที่ไม่ว่าจะนานเท่าไรก็คงจะยังเหลือรอยแผลเป็นไว้
ความสัมพันธ์ในเพลง Dear John คือแผลเป็น ความจริงข้อนี้เห็นได้ชัดจากเนื้อเพลงอัลบั้มล่าสุดของเทย์เลอร์
If you’d never looked my way
I would’ve stayed on my knees
And I damn sure never would’ve danced with the devil at 19
(หากตอนนั้นเธอไม่ได้มองมาทางฉัน
ฉันคงจะอยู่แบบเจียมตัวต่อไป
และฉันจะไม่กล้ากระโจนเข้าหาอันตรายตอนอายุ 19 แน่ๆ)
— Would’ve, Could’ve, Should’ve (Midnights, 2022) —
เทย์เลอร์เคยอธิบายว่า ตนเริ่มเขียนอัลบั้ม Midnights กลางดึก นี่คืออัลบั้มเกี่ยวกับฝันหวานและฝันร้ายในค่ำคืนนอนไม่หลับ ความรักวัย 19 ปีเองก็เป็นฝันร้ายหนึ่งของเธอ ยามใช้ชีวิตกลางวันปกติอาจไม่นึกถึงมันเท่าไร แต่เมื่อฟ้ามืด เมื่อสรรพสิ่งรอบกายเงียบสงัด ช่วงเวลาดังกล่าวมักย้อนกลับมารบกวนจิตใจอีกครั้ง
Now that I’m grown, I’m scared of ghosts
Memories feel like weapons
(ตอนนี้ฉันโตแล้ว แต่ฉันยังรู้สึกหวั่นกลัวผีร้าย
ความทรงจำต่างๆ เหมือนอาวุธที่โจมตีเข้ามา)
— Would’ve, Could’ve, Should’ve (Midnights, 2022) —
แม้เวลาผ่านมา 14 ปี แม้เทย์เลอร์ในตอนนี้โตแล้ว แต่เธอกลับยังกลัวผี (scared of ghosts) ในจุดนี้สามารถตีความได้หลายแบบ นัยหนึ่งอาจหมายถึงจิตใจเธอยังไม่โตตามอายุ เพราะการกลัวผีดูเป็นพฤติกรรมของเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่ง สามารถแปลว่าเธอรู้สึกกลัวอดีตซึ่งตามหลอกหลอนเธอเหมือนผีหลอกได้เช่นกัน
สุดท้าย ไม่ว่าตีความแง่ไหน ก็ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ที่ผิดพลาดเมื่ออายุ 19 ปี กลายเป็นความเจ็บปวดที่ฝังใจ และส่งผลกระทบต่อเทย์เลอร์มาถึงทุกวันนี้
สำหรับเหล่าสวิฟตี้ การได้กลับมาฟัง Dear John (Taylor’s Version) ปี 2023 จึงชวนให้รู้สึกเศร้ายิ่งกว่าฟังเวอร์ชันแรกเสียอีก
พัฒนาการด้านภาษา จากเด็กเขียนไดอารีสู่กวีเอกแห่งยุค
เทย์เลอร์เคยบอกอยู่บ่อยๆ ว่าเพลงของเธอเปรียบเสมือนไดอารี ในขณะที่คนอื่นเขียนเรื่องราวส่วนตัวลงสมุด หรือสมัยนี้อาจพิมพ์ลงทวิตเตอร์ เทย์เลอร์เลือกเล่ามันผ่านเพลง
อัลบั้ม Speak Now ก็ไม่ต่างจากไดอารีของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ด้วยเพราะเป็นอัลบั้มแรกๆ ภาษาจึงยังเรียบง่ายกว่าปัจจุบัน แต่ทว่ากินใจ เป็นเนื้อเพลงประเภทที่ฟังแล้วรู้สึกตามเจ้าของเพลงได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดเยอะ
ยกตัวอย่างเช่น ในเพลง Enchanted อันโด่งดัง เทย์เลอร์ถ่ายทอดความรู้สึกตกหลุมรักจนโงหัวไม่ขึ้นออกมาอย่างตรงตัวว่า
I was enchanted to meet you
(ฉันรู้สึกต้องมนตร์เมื่อได้พบเธอ)
— Enchanted (Speak Now, 2010) —
ปัจจุบันทักษะการแต่งเนื้อเพลงของเทย์เลอร์พัฒนาขึ้นตามอายุ แน่นอนว่าเธอยังคงนำเรื่องในชีวิตจริงมาเป็นแรงบันดาลใจอยู่บ้าง ผสมปนเปกับเรื่องแต่ง แต่หลักๆ คือเธอใช้สัญญะและอุปมาอุปไมยเก่งกว่าเมื่อก่อนมาก เช่น
My house of stone, your ivy grows
(บ้านหินของฉัน มีเถาไอวีของเธอเติบโตขึ้นมา)
— ivy (evermore, 2020) —
ท่อนฮุกเพลง ivy บรรยายความรู้สึกรักเช่นเดียวกับ Enchanted แต่แทนที่จะบอกว่าตกหลุมรักหรือรู้สึกต้องมนตร์ตรงๆ เทย์เลอร์เลือกอุปมาอีกฝ่ายเป็น ‘ไอวี’ ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ตัวตนของเขาค่อยๆ เลื้อยเข้ามาควบคุม ‘บ้าน’ หรือพื้นที่ในใจเธอ จนรู้ตัวอีกทีเธอก็ตกหลุมรักเต็มเปา ดั่งบ้านที่ถูกไม้เลื้อยปกคลุมไปทั่วนั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งของพัฒนาการด้านภาษาคือเพลง Haunted อัลบั้ม Speak Now เทียบกับเพลง Maroon ในอัลบั้มล่าสุด โดยทั้งสองเพลงพูดถึงผู้หญิงที่ยังลืมแฟนเก่าไม่ได้เหมือนกัน
Can’t breathe whenever you’re gone
Can’t turn back now, I’m haunted
(เมื่อไรก็ตามที่เธอไม่อยู่ ฉันหายใจไม่ออกเลย
ไม่สามารถหันกลับไปได้แล้ว เพราะฉันถูกอดีตหลอกหลอน)
— Haunted (Speak Now, 2010) —
สำหรับเพลง Haunted เทย์เลอร์วัย 19 ปี เปรียบเปรยความรู้สึกโหยหาและคิดถึงคนเก่าเสมือนการถูกหลอกหลอน ไม่กล้าหันกลับไปข้างหลังเพราะกลัวจะเห็นภาพอดีตบาดตาบาดใจ
เทย์เลอร์ใช้รูปประโยคตรงตัว เช่น “หายใจไม่ออกเมื่อเธอไม่อยู่” เพื่อให้ผู้ฟังทุกเพศทุกวัยเข้าใจอารมณ์อกหักเจียนตายของเธอ ส่วนท่อน “ฉันถูกหลอกหลอน” แม้จะต้องตีความหน่อยแต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนเกินไปนัก
The mark they saw on my collarbone
The rust that grew between telephones
The lips I used to call home
So scarlet, it was maroon
(รอยที่พวกเขาเห็นบนไหปลาร้าของฉัน
สนิมที่เริ่มเกาะบนโทรศัพท์
ริมฝีปากที่ฉันเคยเรียกขานว่าบ้าน
ทั้งหมดนั่นยังคงตราตรึงไม่จางหาย เป็นสีแดงเข้มอมน้ำตาล)
— Maroon (Midnights, 2022) —
กลับกัน เมื่อลองพิจารณาเนื้อเพลง Maroon จะเห็นความลุ่มลึกกว่านั้นมาก
ในเพลงนี้ เทย์เลอร์ระลึกถึงแฟนเก่าด้วยการไล่รายชื่อสิ่งต่างๆ ที่เป็น ‘สีแดง’ และเป็นความทรงจำระหว่างเธอกับเขา เช่น รอยคิสมาร์ก สนิมบนโทรศัพท์ (สื่อว่าทั้งคู่ขาดการติดต่อกันเป็นเวลานาน) ตลอดจนริมฝีปากของอีกฝ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเพลง Maroon ซึ่งก็คือสีแดงเข้มอมน้ำตาล
ประโยคสุดท้าย “So scarlet, it was maroon” มีคำที่แปลว่าสีแดงเหมือนกันถึง 2 คำ ได้แก่ ‘scarlet’ และ ‘maroon’ แค่เป็นแดงคนละเฉด เมื่อแปลประโยคนี้ตรงตัวจึงออกมาแปร่งๆ ชอบกล
“มันเป็นสีแดงสด จนเป็นสีแดงเข้มเลย”
อ่านอย่างไรก็ดูไร้ความหมาย
แต่สำหรับผู้ที่รู้จักวรรณกรรมคลาสสิกอยู่บ้าง คงพอสันนิษฐานได้ว่า scarlet ในที่นี้ เทย์เลอร์ไม่ได้ตั้งใจสื่อถึงสีแดงตรงๆ เธอน่าจะอ้างอิงถึงนิยายอเมริกันเรื่อง The Scarlet Letter มากกว่า
ในนิยาย The Scarlet Letter มีกฎว่าผู้ทำผิดต้องถูกตราด้วยตัวอักษรสีแดงชั่วชีวิต วลี Scarlet Letter จึงกลายเป็นสำนวนในภาษาอังกฤษ แปลว่าความผิดติดตัวแบบลบไม่ออก
ดังนั้น เมื่อนำบริบทจาก The Scarlet Letter มาใช้กับเพลง Maroon ประโยค “So scarlet, it was maroon” อาจหมายถึง ความสัมพันธ์ที่จบไปแล้วยังคงตราตรึงอยู่ในใจเทย์เลอร์ เป็นเหมือนตราบาปซึ่งเธอจำไม่ลืมและหวนนึกถึงอยู่ตลอด
เพียงแค่ประโยคเดียวก็สามารถตีความได้ซับซ้อนหลายตลบขนาดนี้ ไม่แปลกที่ปัจจุบันผู้คนยกย่องเทย์เลอร์เป็นกวีเอกแห่งยุค บ้างก็แซวถึงขั้นว่าเป็นเชกสเปียร์แห่งศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว
สำหรับบางคน Speak Now (Taylor’s Version) อาจเป็นเพียงอีกอัลบั้มหนึ่งซึ่งปล่อยออกมาท่ามกลางหลายร้อยอัลบั้มอื่นๆ ในสัปดาห์เดียวกัน แต่สำหรับเหล่าสวิฟตี้ นี่คือหลักฐานที่พิสูจน์การเติบโตของศิลปินสาวได้ดีที่สุด กลับมาฟังเมื่อไรยังคงเต็มไปด้วยความทรงจำหลากรสชาติเสมอ
This album is flawless, don’t you let it go
I’m wonderstruck, dancing around all alone…
อ้างอิง
https://genius.com/artists/Taylor-swift
https://www.youtube.com/watch?v=nDzhoofkRJI&t=500s
https://www.npr.org/2014/10/31/359827368/anything-that-connects-a-conversation-with-taylor-swift
Tags: Lyricism, Taylor Swift, Screen and Sound, Taylor’s Version, Speak Now, เนื้อเพลง